“คมนาคม” ชงตั้งคณะคณะกรรมการกำกับการพัฒนารถไฟความเร็วสูง “ยิ่งลักษณ์” นั่งประธาน ดันรถไฟความเร็วสูงเกิดภายในรัฐบาลนี้อย่างน้อย 1 เส้นทาง ยอมรับประสิทธิภาพเทคโนโลยีของญี่ปุ่นและจีน “จารุพงศ์” ชี้เป้าหมายไทยศูนย์กลางเดินทางระบบรางของอาเซียน
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงร่วมกับ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ที่ประชุมจะเสนอให้มีคณะกรรมการกำกับการพัฒนารถไฟความเร็วสูง โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) เพื่อผลักดันการดำเนินโครงการ
โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นเลขานุการ และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข) เป็นผู้ช่วย และภายใต้คณะกรรมการฯ จะมีคณะทำงาน 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. คณะทำงานร่างกรอบความต้องการของประเทศเพื่อการดำเนินงานระบบรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะมีการตั้งวิสาหกิจรถไฟความเร็วสูงแห่งชาติ ดูแลการก่อสร้างและควบคุมงาน 2. ด้านเทคนิคและวิศวกรรม 3. ด้านการเงินและการลงทุน 4. ด้านสร้างมูลค่าเพิ่มโครงการ 5. ด้านบริหารการเดินรถ
ขณะนี้ ประเทศจีน และญี่ปุ่นแสดงความสนใจที่จะลงทุนในเส้นทางต่างๆ ร่วมกับไทย โดยญี่ปุ่นอยู่ระหว่างศึกษา ส่วนจีนจะเข้ามาศึกษาภายใน 3 เดือนหลังจากที่ได้มีการลงนามในเอ็มโอยูร่วมกันไปแล้ว ทำให้รูปแบบการดำเนินการร่วมกันยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งเบื้องต้นมีหลายรูปแบบที่คณะทำงานชุดต่างๆ ต้องดำเนินการ เช่น ลงทุนเองทั้งหมด จ้างทั้งหมด หรือร่วมทุนโดยการตั้งบริษัทร่วมทุน สัดส่วน 49-51 เป็นต้น จากนั้นก็จะต้องสำรวจ ออกแบบ ศึกษาและพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และบริหารการเดินรถ
“หลังจากนายกฯ ได้เดินทางไปเยือนจีนและญี่ปุ่นรู้สึกพอใจประสิทธิภาพรถไฟความเร็วสูงของทั้ง 2 ประเทศมาก จึงให้กระทรวงคมนาคมเดินหน้าโครงการ ซึ่งผมเห็นว่าต้องมองรถไฟความเร็วสูงในมิติของอาเซียนด้วย เพราะไทยเป็นศูนย์กลางสามารถเชื่อมในภูมิภาคได้จากจีนผ่านลาว ซึ่งขณะนี้ได้ร่วมมือกันไว้แล้ว ไปพม่า มาเลเซีย สิงคโปร์ได้ทั้งหมด ขณะที่รูปแบบการดำเนินงานคงไม่ใช่การให้สัมปทานแก่เอกชน เพราะเป็นเรื่องที่ยากในการคิด รูปแบบดังกล่าวเหมาะกับโครงการทางพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์)มากกว่า”นายจารุพงศ์กล่าว
พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.คมนาคมกล่าวว่า รถไฟความเร็วสูงใช้เงินลงทุนสูงจึงต้องเตรียมพร้อม ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการมาบ้างแล้วตอนนี้ถึงจุดสำคัญ คณะทำงานชุดต่างๆ จะเข้ามาจัดการด้านการเงิน ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเลือกเทคโนโลยีที่ดีถูก และหาผลประโยชน์เพิ่มจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตามสถานีรายทางเพื่อนำเงินมาพัฒนาโครงการและอุดหนุนไม่ให้ค่าโดยสารสูงเกินไป ซึ่งเชื่อว่าภายในระยะเวลา 4 ปีของรัฐบาลชุดนี้ ประชาชนจะได้ใช้บริการรถไฟฟ้าความเร็วสูงอย่างน้อย 1 เส้นทางแน่นอน
สำหรับรถไฟฟ้าความเร็วสูงตามนโยบายรัฐบาลมี 4 เส้นทาง คือ 1. กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 745 กิโลเมตร มูลค่า 229,000 แสนล้านบาท โดยระยะแรกจะดำเนินการจากกรุงเทพฯ-พิษณุโลกก่อน 2. กรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง 615 กิโลเมตร มูลค่า 201,449 ล้านบาท ระยะแรกจะดำเนินการจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ก่อน 3. กรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 221 กิโลเมตร มูลค่า 72,265 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยระยะแรกจะดำเนินการถึงพัทยา ระยะสองจึงจะขยายไปถึงระยอง และ 4. กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 982 กิโลเมตร เงินลงทุน 297,880 ล้านบาท โดยระยะแรกจะดำเนินการถึงหัวหินก่อน