xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” จ้อออกทีวี เยือนจีน-ญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (แฟ้มภาพ)
นายกฯ จัดรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” โวเยือนจีนประสบความสำเร็จ นักธุรกิจสนใจลงทุนในไทย พร้อมย้ำมีแผนป้องกันภัยพิบัติ ขณะเดียวกัน ขอจีนช่วยจัดการน้ำ รถไฟความเร็วสูง ตั้งเป้าดึงคนจีนเที่ยวไทย 2 ล้านคนใน 1 ปี ส่วนการเยือนญี่ปุ่น ดูรถไฟความเร็วสูง สินค้าโอทอป เตรียมนำมาปรับใช้กับประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันนี้ (28 เม.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จัดรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” ตามปกติ โดยนายธีรัตถ์ รัตนเสวี เป็นผู้ดำเนินรายการ โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เล่าถึงการเดินทางไปเยือนประเทศจีนว่า ได้รับความร่วมมือจากจีนอย่างดีในลักษณะการเยือนของผู้นำระดับสูง มีโอกาสได้พบประธานาธิบดีหู จิ่น เทา รวมทั้ง นายสี จิ้น ผิง รองประธานาธิบดี เวิน เจีย เป่า นายกรัฐมนตรี และประธานสภา โดยมีการหารือแบบทวิภาคีกับจีนต่อเนื่องจากที่นายสี จิ้น ผิง รองประธานาธิบดีจีนที่มาเยือนไทย ในกรอบความร่วมมือทางยุทธศาสตร์รอบด้านระหว่างไทยกับจีน ทั้งการค้า ท่องเที่ยว พลังงาน การศึกษา วัฒนธรรม และในกรอบของการหารือก็จะลงรายละเอียดมากขึ้น เช่น เพิ่มมูลค่าการค้าขายอย่างน้อย 20% ต่อปี การลงทุน 15% ต่อปี การท่องเที่ยว 20% ต่อปี

ในด้านการค้าก็จะมีการกำหนดกลุ่มคณะทำงาน เช่น ข้าว มันสำปะหลัง หรือเรื่องของพลังงาน จีนก็ให้ความสำคัญเรื่องพลังงานสีเขียว มีการหารือเรื่องพลังงานทดแทน และมีการลงนามเอ็มโอยูถึง 7 ฉบับ

นอกจากนี้ มีสิ่งที่เป็นความคืบหน้า คือ ความร่วมมือรถไฟความเร็วสูง ก็มีการลงนามที่จะศึกษาความต้องการของทั้งสองประเทศใน 3 เดือน และความร่วมมือในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ มีโอกาสไปดูแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำของจีนด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเดินทางครั้งนี้เชิญนักธุรกิจไปหารือถึง 107 บริษัท และมีนักธุรกิจที่จีนเข้ามาหารือกันถึง 800 บริษัท จีนก็ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น เราก็อาศัยเวทีนี้ และจีนก็ให้ความสำคัญกับไทยในฐานะบ้านพี่เมืองน้อง ยกระดับการเยือนกันบ่อยขึ้น ยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างภาคเอกชน และประชาชนของทั้งสองประเทศ รวมถึงกรณีของหมีแพนด้าที่เราจะต้องส่งคืนในปี 2556 ทางจีนก็ให้อยู่ต่อ เป็นสัญลักษณ์ความเชื่อมโยงต่อเนื่องในเรื่องนี้ด้วย

ในเรื่องการค้าเราจะได้มีข้อตกลงที่ชัดเจนในการค้าขายกับจีน ไม่ว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจ ข้าว มันสำปะหลัง ผลไม้ จะเพิ่มจำนวนสินค้าและลดอุปสรรคต่างๆ ก็จะต้องเพิ่มหน่วยในการดูแล ในส่วนของการท่องเที่ยวก็อยากเห็นเป้าหมายจีนเข้ามาท่องเที่ยวไทยเพิ่มเป็น 2 ล้านคนภายในอีก 1 ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.7 ล้านคน

ส่วนเป้าหมายการค้าตั้งเป้าประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์ ใน 5 ปี ซึ่งทางจีนบอกว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย แต่เขาก็เชื่อว่าจะบรรลุได้ตามที่หวังไว้ ส่วนเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ความกังวลจะต่างจากญี่ปุ่น แต่เราก็ใช้โอกาสนี้ชี้แจง เขาก็เข้าใจเพราะเขาก็เคยเจอสภาพนี้มานาน เขาทำเรื่องการบริหารจัดการน้ำมานานแล้วเกินกว่า 20 ปี

นอกจากนี้ ได้พบนักธุรกิจลงทุนของจีนที่จะลงทุนในไทยประมาณ 14 บริษัท มีเป้าหมายลงทุนในไทย หลายบริษัทสำรวจพื้นที่แล้วและมีแนวโน้มลงทุนตัดสินใจลงทุนในอุตสาหกรรมใหญ่

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า การไปครั้งนี้ มีโอกาสเยี่ยมศูนย์บรรเทาสาธารณภัย เหมือนที่ไทยกำลังตั้งเรื่องซิงเกิล คอมมาน แต่ของจีนเขารวมศูนย์จริงๆ ทั้งระบบน้ำและอุทกภัยเข้าไว้ด้วยกันภายใต้การทำงานของกระทรวงน้ำที่แยกต่างหากและมีกฎหมาย 3 ฉบับรองรับ รวมทั้งมีศูนย์วอรูมที่เชื่อมต่อจากเมืองทุกเมืองของจีน ติดตั้งวงจรปิด ซึ่งก็จะเป็นแนวทางที่ไทยวางไว้ แต่ของเราอาจไม่ไปเท่ากับจีน ณ วันนี้ เพราะเราต้องบูรณาการ 17 กระทรวงที่เกี่ยวกับน้ำ แต่เรายังไม่มีกฎหมายรองรับ มีกฎหมายภายใต้สำนักนายกฯที่มาใช้อยู่ หรืออย่างกรณีเกาหลีที่เจอภัยพิบัตเขาก็รวม แต่ของเรากระจายทุกที่ สิ่งที่เราต้องทำคือเอาข้อมูลทุกระบบมาเชื่อมที่เดียวกัน ดึงผู้เชี่ยวชาญ วางระบบคอมพิวเตอร์ในการเชื่อมต่อ และดูกฎหมายที่จะมารองรับ การทำงานต้องทำให้มีการวมศูนย์ที่เกิดเอกภาพที่ชัดเจน เบื้องต้นก็ต้องยืมตัวทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องมานั่งที่ศูนย์นี้ มาช่วยกันวิเคราะห์ข้อมูล

นอกจากนี้ สิ่งที่เราเห็นอีกส่วน คือ จีนมีระบบท่อส่งน้ำ เชื่อมต่อจากเขื่อน หรือบึงต่างๆ เพื่อใช้ในการเกษตรกรรมด้วย

“วันนี้เราได้ขอความร่วมมือให้จีนส่งผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำมาทำงานกับศูนย์กบอ. ในแง่ของรัฐต่อรัฐเข้ามาช่วยเราในลักษณะที่เป็นที่ปรึกษา ทำงานกับ กบอ.ซึ่งจะช่วยดูแลก่อนที่จะถึงฤดูฝนปีนี้”

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงกรณีที่ไปเยือนเมืองเทียนจินเป็นเมืองเกิดของนายกฯ เวิน เจีย เป่า เมืองที่เราไปเป็นการวางผังเมืองเทียนจีน มีการทำเป็นโซนนิ่ง เช่น โซนอิตาลี โซนอังกฤษ และยังมีรถไฟความเร็วสูงเข้าไปด้วย หลังจากที่มีรถไฟความเร็วสูงเศรษฐกิจของจีนก็โตขึ้นเยอะ และมีการเชื่อมโยงรถไฟ ถนน เรือ มีโซนนิ่งของท่าเรือ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำอย่างไรให้มีเครื่องมือของภาครัฐในการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน เป็นการวางผังเมืองที่น่าสนใจ การโยงเรื่องผังเมืองกับผังน้ำ กรณีของเราก็ต้องดูในเรื่องการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ซึ่งเราดูว่าเมื่อน้ำไหลแล้วไปเจอถนนแล้วจะทำอย่างไร โดยเฉพาะพื้นที่ปลายน้ำ เมื่อน้ำไหลไปแล้วเจอถนน สิ่งก่อสร้าง ขวางไว้แล้วน้ำก็ไม่ไป ก็ต้องมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ แต่ก็ไม่สามารถรองรับมวลน้ำขนาดใหญ่ เราก็ต้องมาวางแผนตรงนี้ด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มีโอกาสไปนั่งรถไฟความเร็วสูง 350 กม.ต่อชั่วโมง เป็นเส้นทางแรกของจีนและเส้นทางแรกของโลก ซึ่งรถไฟนี้ประกอบที่จีนทั้งหมด และจีนเป็นประเทศที่มีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงมากที่สุด ก็เป็นความชำนาญ และเราก็มีโอกาสไปนั่งรถไฟความเร็วสูงนี้ด้วย ซึ่งความเร็วที่ทำให้ระยะเวลาลดลง ทำให้รองรับนักท่องเที่ยวได้จำนวนมาก ซึ่งระบบรถไฟความเร็วสูงของจีนนั้น เขาก็จะใช้ลักษณะรองรับเมืองต่อเมือง ดังนั้น การวางผังรถไฟแต่ละสถานีก็ต้องจำเป็นต้องวางแผนในเรื่องจุดเชื่อมต่อของแต่ละสถานี ซึ่งถ้าเกิดขึ้นกับไทยความเจริญที่จะเข้าไปในแต่ละพื้นที่ก็จะมากขึ้น และต้องรองรับผู้โดยสารที่จะเดินทางโดยเฉพาะจังหวัดรอบนอกที่จะเข้ามาก็จะต้องสะดวกขึ้นหรือในเรื่องการขนส่งก็ต้องลดค่าใช้จ่ายเรื่องการขนส่งในระยะยาว เช่น ของจีนกลางวันใช้ระบบเก่าที่เขาจะใช้วิ่ง กลางคืนก็ใช้ในการขนส่งสินค้า และที่สำคัญทุกส่วนของการใช้รถไฟจะคำนึงถึงการประหยัดพลังงานและมลภาวะ

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวด้วยว่า มีเป้าหมายจะเพิ่มนักท่องเที่ยวจีนมาไทย จาก 1.7 ล้านคนเป็น 2 ล้านคน ภายในหนึ่งปี

จากนั้นนายกรัฐมานตรีได้เล่าถึงการเยือนประเทศญี่ปุ่น ที่ได้ไปเยี่ยมชมสินค้าโอทอป และศึกษาและทดลองนั่งรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมระหว่างเมือง โดยทั้งหมดจะนำมาปรับใช้กับประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น