“ยิ่งลักษณ์” ประชุม กยน.วางแผนแก้ปัญหาน้ำ 6 ด้าน จี้ อนุกรรมการส่งแผนเร่งด่วน ภายใน 2 สัปดาห์ ตั้ง “สุเมธ-ดิศนัดดา” เป็นอนุ กก.ดูเเลป่าไม้-ต้นน้ำ เล็งจัดประชุมนานาชาติระดมความเห็น ก.พ.ปีหน้า
เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 6 ธ.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ (กยน.) โดยใช้เวลาประชุม 2 ชั่วโมงครึ่ง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะเลขาธิการ กยน.กล่าวภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมพิจารณาแผนปฏิบัติงานใน 6 ด้าน คือ แผนเร่งด่วน โดยอนุกรรมการแผนนี้ต้องเร่งจัดทำแผนและเสนอเข้ามายังที่ประชุมภายใน 2 สัปดาห์ แผนการจัดการระบบข้อมูล แผนจัดการพื้นที่รับน้ำ แผนการพัฒนาพื้นที่เฉพาะ แผนจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการน้ำในระยะยาว และแผนการใช้งบประมาณ
“ที่ประชุมได้แต่งตั้งอนุกรรมการอีกชุดหนึ่งขึ้นมา คือ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูป่าไม้และต้นน้ำโดย ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ เป็นประธานอนุกรรมการ และมี นายสุเมธ ตันติเวชกุล ที่ปรึกษา กยน.เป็นที่ปรึกษาอนุกรรมการชุดนี้” นายอาคม กล่าว
นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการ กยน.กล่าวหลังการประชุม ว่า การประชุมครั้งนี้มีการหารือกรอบ 6 แผน เช่น แผนวิศวกรรม แผนข้อมูล ฯลฯ สิ่งสำคัญคือ จะต้องหาวิธีการดำเนินการให้แผนระยะสั้นและแผนระยะยาวสอดคล้องกัน รวมทั้งการจัดประชุมทางวิชาการเพื่อระดมความคิดเห็น โดยน่าจะจัดประชุมกันในช่วงเดือน ก.พ.ปีหน้า โดยประเทศไทยอาจจะจัดประชุมนานาชาติและเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาร่วมประชุมด้วย แต่จะไม่อิงกับกรอบการจัดประชุมขององค์กรอื่นๆ ที่จะดำเนินการ เพราะทางนั้นยังไม่ค่อยพร้อม
“วันนี้คุยกันเรื่องกรอบการทำงาน 6 พื้นที่ ส่วนแผนฟลัดเวย์ยังไม่ได้คุยกันในวันนี้เพราะเรื่องนี้ต้องใช้วางแผนเวลาเป็นเดือนๆ แล้วจึงจะนำมาหารือกันอีกครั้ง นายกฯ ต้องการที่จะเรียกประชุมกันทุกสัปดาห์” นายอานนท์ กล่าว
ด้าน นายเสรี ศุภราทิตย์ กรรมการ กยน.กล่าวว่า นายกฯ มีความจริงใจในการแก้ปัญหา ตรงนี้สำคัญมาก เพราะทุกคนรอสิ่งนี้อยู่ว่าความมั่นใจมันจะเกิดขึ้นจากจุดนี้ ฉะนั้น อนุกรรมการ 2 ชุดที่ตั้งขึ้นมานั้นต้องดำเนินการวางแผนปฏิบัติการให้เป็นรูปธรรมในสองสัปดาห์cล้วส่งให้นายกฯ ฉะนั้น ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า แผนนี้จะทำได้จริงและมีประสิทธิภาพ แต่ควรรอสักนิดเพราะข้อมูลทางวิชาการต่างๆ นั้นมีความละเอียดในการประเมิน
“สาระหลักของแผนนี้ คือ ลดมวลน้ำที่จะเข้า กทม.และปริมณฑล และต้องมีกลไกการทำงานจะปล่อยให้มีการดำเนินการโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายไม่ได้ เช่น การเปิดประตูระบายน้ำในพื้นที่ต่างๆ มันต้องบอกได้ทันทีว่าจะเปิดเท่าใด ไม่ต้องรอประเมินจุดนั้นจุดนี้ก่อน กรรมการต้องมีอำนาจทางกฎหมาย” นายเสรี กล่าวและว่า ในวันนี้ยังมีการคุยเรื่องการตั้งกระทรวงน้ำกันบ้าง แต่ยังไม่ชัดเจน ทั้งนี้ นายสุเมธ ได้เสนอเรื่องการทำฟลัดเวย์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญด้วย