xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ลั่นไม่ได้อ่อนแอแก้น้ำท่วม ปัดสไกป์ปรึกษา “ทักษิณ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
“ยิ่งลักษณ์” แจงปัญหาคลองสามวาต้องแก้วทีละส่วน ชี้ปัญหาไม่ใช่แค่มวลชน อาจชะงักด้านเทคนิค-ประตูพัง ยืนยันไม่ได้อ่อนแอในการตัดสินใจ เผยระบายน้ำ กทม.ติดขัดเครื่องสูบเจ๊ง สั่งระดมสูบน้ำกู้นิคมอุตสาหกรรมแล้วคาดเสร็จใน 2-3 เดือนหวังเตรียมทำมาสเตอร์แพลนประเทศ กู้ความเชื่อมั่นต่างชาติ ปฏิเสธสไกป์ปรึกษาพี่ชาย



วันนี้ (2 พ.ย.) เมื่อเวลา 09.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่คณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ดินโคลนถล่ม และภัยแล้ง แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและแก้ปัญหาน้ำท่วมเพื่อติดตามการเปิด-ปิดประตูน้ำต่างๆ เพื่อจัดระบบการระบายน้ำว่า ในรายละเอียดถ้าเราไปยึดตัวเลขเปิดประตูน้ำกี่เซนติเมตร จะทำให้ผู้ปฏิบัติทำงานลำบาก เวลาเราประชุมจะประชุมกันในหลักการ ดังนั้นจึงต้องมีการตั้งคณะกรรมการที่น่าจะมีทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กทม. และกรมชลประทาน เป็นส่วนประกอบ เพื่อลงไปดูในพื้นที่ และให้ทั้ง 3 ฝ่ายตกลงกันในเรื่องทางเทคนิค เพราะมีปัญหาว่าจะเปิดประตูระบายน้ำเท่าไหร่ เนื่องจากบางครั้งไม่สามารถพูดแค่ว่าเปิดประตูนี้แล้วจะดี เพราะเขาต้องดูว่าหากเปิดประตูนี้แล้วจะมีผลต่อประตูอื่นหรือเปล่า นั่นคือที่มาของการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว เพื่อต้องการให้ลงไปดูหน้างานจริงว่าเป็นอย่างไร และการหารือกับมวลชนเพื่อให้มีผลกระทบน้อยที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า มวลชนที่ออกมากดดันให้เปิดประตูระบายน้ำ ทำไมรัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะเข้าไปช่วยเหลือ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชในพื้นที่รับน้ำ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ในทางปฏิบัติเราทำทั้งหมด และเราพร้อม ในบางชุมชนเรามีเจ้าหน้าที่เตรียมอพยพ และการดูแลเยียวยา แต่ในความเป็นจริงประชาชนอาจเกิดความเครียด ไม่ใช่เป็นเรื่องของการชดเชยแต่เป็นเรื่องความเครียด ซึ่งเป็นภาวะที่น้ำอยู่ที่คอแล้วทุกคนจะรู้สึกว่าไม่มีความหวังว่าน้ำจะระบายเมื่อใด เราถึงต้องใช้วิธีการอธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งบางคนอาจจะอยู่ในสภาวะที่รับได้ แต่บางคนอาจจะบอกว่ารับไม่ได้ แต่เราจำเป็นในแง่ของภาครัฐก็ทำงานร่วมกัน ขั้นแรกเรื่องเทคนิคต้องตกลงกันให้ได้ว่าเป็นอย่างไร คนปฏิบัติเท่านั้นที่จะบอกว่าเปิดเท่าไหร่จะไม่กระทบต่อส่วนรวม เปิดเท่าไหร่ที่จะรักษาความสมดุลได้ เพราะหากเราปิดประตูหนึ่งไม่ได้เราอาจจะปิดอีกประตูหนึ่งได้ ในทางปฏิบัติเราจึงให้คณะกรรมการเข้าไปดูและหาทางแก้ไขมา และถ้าจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการอะไร หรือถึงขั้นที่ต้องออกกฎหมายก็ทำได้ เราไม่ได้นิ่งนอนใจ ไม่ได้ละเลย หรือไม่ได้อ่อนแอในการตัดสินใจ

ต่อเมื่อถามว่า ขณะนี้ดูเหมือนกรมชลประทาน กทม. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ทำงานร่วมกัน ประชาชนจึงไม่แน่ใจว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เราต้องแก้เป็นเปลาะๆ ต้องเรียนว่าวันนี้มีปัญหาอยู่ 2 ส่วน 1.เรื่องมวลชนอาจจะบอกว่ารัฐบาลไม่สามารถใช้อำนาจตัดสินใจ ก็ต้องเรียนว่าในเชิงข้อกฎหมายการบังคับใช้ไม่ยาก แต่วันนี้เราต้องทำเป็นขั้นตอน โดยการทำให้เข้าใจถึงข้อเท็จจริง หากข้อเท็จจริงไม่ถูกกฎหมายต้องบังคับใช้ ตนถึงได้ใช้มาตรา 31 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งถือเป็นกฎหมายสูงสุดแล้ว และเดี๋ยวเราจะหารือในมาตรการต่อไป 2.เรื่องเทคนิค ซึ่งบางอย่างประชาชนไม่ได้เป็นอุปสรรค

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวต่อว่า ต้องเรียนว่าบางครั้งมีหลายจุดคือเราแก้จุดนี้สำเร็จไม่ได้หมายความจะพ้นหมด เช่น ประตูระบายน้ำคลอง 1 เราเคลียร์มวลชนหมด ซึ่งมวลชนไม่มีประเด็นแล้ว แต่มีประเด็นที่น้ำเชี่ยวปิดประตูไม่ได้ ต้องไปแก้ที่คลองอื่น มันจึงเป็นที่มาไม่ใช่ว่ารัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจ ส่วนคลองรังสิต 9 เราทำได้ เราก็ทำ เราทำแล้วน้ำก็ระบาย แต่มันช่วยบางส่วน ดังนั้นมาตรการต้องตรึงหลายตัว ประตูระบายน้ำต้องดูหลายประตูไม่ใช่ว่าประตูเดียวจะสามารถแก้ทุกอย่างได้ อย่างกรณีที่ประตูระบายน้ำคลองสามวาก็มี 2 ส่วน คือ ระดับน้ำ ซึ่งเราให้หลักการคณะทำงานดูว่าระดับไหนที่จะไม่ให้กระทบ แต่จะเปิดกี่เซนติเมตรต้องให้คณะทำงานเสนอมา อีกทั้งยังมีปัญหาประตูหลุดอีก ปัญหามันไม่ใช่มวลชนร้อยเปอร์เซ็นต์ มันมีเรื่องเทคนิคด้วย เราต้องพยายามแกะทีละส่วน

เมื่อถามว่า ต้องมอบความรับผิดชอบให้หน่วยงานต่างๆ ให้ชัดเจนลงไปปฏิบัติหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า มอบไปแล้ว ถามว่าในส่วนของประตูระบายน้ำน่าจะระบายน้ำได้ทั้ง 2 ส่วนหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า วันนี้ทาง กทม.จะเข้าไปทำ ซึ่งเขารับปากแล้วว่าจะเข้าไปซ่อมแซม เราอำนวยความสะดวกเพื่อเข้าไปดูแลเพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าไป บางครั้งมีความจำเป็นที่ต้องขอความร่วมมือประชาชน เราขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่เข้าไปทำงาน เพราะการทำงานวันนี้เราคำนึงภาพรวม และคำนึงว่าประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมมีความทุกข์ทรมาน เราไม่ได้บอกว่าจะต้องมาให้ประชาชนประสบกับน้ำท่วมตลอดเวลา แต่มันต้องชะลอส่วนใดส่วนหนึ่งเพื่อให้น้ำค่อยๆ ระบายไป และวันนี้ระดับน้ำทะเลกำลังลดลง ซึ่งหลังจากที่น้ำทะเลลดต่ำกว่าน้ำในคลองเมื่อไหร่ น้ำในคลองจะระบายไป เหมือนกรณีในจังหวัดนครสวรรค์ที่เราบอกว่ามวลน้ำก้อนใหญ่ได้ถูกออกไปตามคลองต่างๆ ดังนั้นใน กทม.จะเป็นกรณีเดียวกัน

นายกฯ กล่าวต่อว่า วันนี้เราคุยกันบอกว่ามวลน้ำก้อนใหญ่รู้สึกว่าลดลง แต่ใน กทม.ยังไม่รู้สึก เพราะว่า กทม.เจอ 2 ส่วน คือ น้ำที่เข้ามาแล้วที่ล้นมาจากระดับน้ำทะเลสูง ซึ่งจะเอ่อล้นคลองมา และมีส่วนของน้ำทะเลที่เบียดเข้ามาด้านใต้ทำให้คลองต่างๆ เต็ม เลยทำให้การระบายยาก ซึ่งช่วงนี้ระดับน้ำทะเลค่อยๆ ลดลงวันละ 2-3 เซนติเมตร ซึ่งจากการที่ฟังคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำบอกว่า น้ำทะเลจะลดลงเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 8 พ.ย. ตรงนี้เรามีความหวังว่าช่วงนี้จะเร่งระบายน้ำในทุกส่วน อย่างคลองแสนแสบวันนี้ยังรับน้ำได้อีก แต่ว่าน้ำไม่ไปต้องเร่งเรื่องเครื่องผลักดันน้ำ เราก็ไปถอดจากจุดอื่นเข้ามา ซึ่งวันนี้เราระดมเครื่องสูบน้ำ แต่เครื่องสูบน้ำไม่สามารถใช้ได้ทุกตัว เพราะต้องเป็นเครื่องขนาดใหญ่มีกำลังพอ บางครั้งระดับน้ำเสมอเท่ากันก็ไม่มีผลอีก ซึ่งมันมีปัญหาเทคนิคหลายอย่าง ไม่ใช่เรื่องการบริหารจริง ขอเรียนว่าประชุมกับคณะทำงานทุกวัน และติดตามทุกวัน เราพร้อมให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุน และถ้ามาตรการที่จำเป็นก็ต้องทำ

ผู้สื่อข่าวถามว่า วันนี้เราประเมินสถานการณ์น้ำเข้าท่วมพื้นที่ชั้นใน กทม.น้ำจะมีปริมาณมาก น้อยแค่ไหน น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขณะนี้ในส่วนการระบายน้ำของฝั่งตะวันออกทำได้ดีขึ้น ส่วนฝั่งตะวันตกมีปัญหาตรงที่มวลน้ำที่เข้าไปแล้วรอยต่อต่างๆ ไม่ใช่แค่ส่วน ของประตูระบายน้ำเท่านั้น แต่วันนี้ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามีรูออกเยอะมากถึง 7 กิโลเมตร เราได้เตรียมแท่งเหล็กชีตไพล์กั้นไว้แต่เข้าไม่ได้ ขณะนี้กรมชลประทานรับหน้าที่ดำเนินการโดยใช้ชีตไพล์ตอกซึ่งจะเริ่มทำงานได้ ในวันที่ 4 พ.ย.คาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางเดือน พ.ย.นี้ ทั้งนี้การระบายในฝั่งธนจะช้าบ้างหากเทียบกับบริเวณอื่น

เมื่อถามว่า ภาพลักษณ์ประเทศเป็นส่วนสำคัญกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงเรื่องน้ำท่วม ต่อนานาชาติบ้างหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เราได้เชิญทุกประเทศเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ ซึ่งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้ชี้แจงถึงความมั่นใจในการเตรียมความพร้อมที่จะฟื้นฟูประเทศ รวมทั้ง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะ ผอ.ศปภ. นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา คณะทำงานบริหารจัดการระบายน้ำในพื้นที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรง ได้ชี้แจงเรื่องการระบายน้ำ ซึ่งภาพรวมต่างประเทศเข้าใจแล้วว่าเป็นภัยธรรมชาติ แต่วันนี้สิ่งที่เราจะทำนอกเหนือจากชะลอไม่ให้น้ำท่วมมากขึ้น คือการเร่งฟื้นฟู เพราะว่าหลายจังหวัดเริ่มเข้าสู่ภาวะน้ำลดแล้ว เราต้องฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อเรียกความมั่นใจจากนานาประเทศ ซึ่งวันนี้ จ.พระนครศรีอยุธยา น้ำลดลงมากแล้ว และเรากำลังเตรียมแผนในการฟื้นฟู โดยระดมกู้สูบน้ำออกจากนิคม คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือน ซึ่งจะรวมถึงการฟื้นฟูเรื่องเครื่องจักรต่างๆ เราได้ลดหย่อนภาษีการนำเข้าอุปกรณ์ต่างๆ โดยประสานกับญี่ปุ่นซึ่งทางเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นให้ความร่วมมืออย่างมาก ทางธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (เจบิก) ได้ออกเงินกู้ให้ และพร้อมส่งช่างเทคนิคมาช่วยเหลือควบคู่กันไป วันนี้เราสู้กับน้ำมาเยอะ ขณะเดียวกัน เราต้องให้กำลังใจเพื่อให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้าเพราะเราต้องก้าวเดิน และทำให้ดีที่สุด แต่เราไม่สามารถจะหยุดน้ำได้ทุกจุด น้ำจะต้องมีบ้างสิ่งที่เราต้องทำคือเร่งระบายน้ำให้เร็วที่สุด และเร่งฟื้นฟูประเทศให้กลับสู่สภาวะปกติ

ต่อข้อถามว่า วันนี้พูดได้หรือไม่บางพื้นที่ กทม.จะรอดจากน้ำท่วม น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ได้ แต่ไม่สามารถบอกได้ชัดว่ากี่เขต ขึ้นอยู่กับการเร่งอุดรอยรั่วต่างๆ แต่บางครั้งเราจะเจอรอยรั่วขึ้นมาใหม่ เป็นสิ่งที่ยากต้องบอก เพราะเราไม่เคยสำรวจเมื่อลงไปสำรวจแล้วได้รับรายงานว่า เครื่องสูบน้ำเสีย ทำให้ระบบการตัดสินใจทำงานไม่ได้จริงๆ เพราะมันมีปัจจัยใหม่ขึ้นมาทุกวัน เมื่อถามว่า เครื่องสูบน้ำสามารถนำเข้าจากต่างประเทศได้หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า วันนี้เรานำเข้าจากต่างประเทศหมด เรากวาดจากทุกที่ ตอนนี้เราได้จากจีนและเกาหลีเข้ามาช่วยเหลือ แต่บางส่วนต้องสั่งนำเข้ามาวันนี้นำเข้ามา 20 กว่าตัว ได้นำไปติดตั้งแล้ว แต่อย่าลืมว่าทุกครั้งเราคุยกันเรื่องน้ำท่วมจะท่วมทีละจังหวัดแต่วันนี้น้ำท่วมไปแล้ว 57 จังหวัด และยังประสบภัยอยู่ 27 จังหวัด อุปกรณ์ทุกอย่างถูกใช้ในเวลาเดียวกัน และเขื่อนที่ช่วยรับน้ำเต็มหมดแล้วเพราะเราเจอปัญหาพายุ 5 ติดต่อกัน ดังนั้นเราจะนำน้ำไประบายลงตรงไหน น้ำมันต้องล้นแน่นอน

เมื่อถามว่า การปล่อยน้ำที่ไม่สมดุลที่เป็นอยู่ในขณะนี้จะแก้ไขอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าววว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาหนึ่ง ถ้าเราแก้ปัญหานี้เสร็จเรียบร้อยแล้วเราคงต้องมาหาข้อเท็จจริงกัน และหาหนทางแก้ไขป้องกัน เมื่อถามต่อว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จำเป็นต้องตั้งกระทรวงน้ำดูแลเป็นการเฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นข้อเสนอหนึ่ง แต่สิ่งที่ตนจะเริ่มทำคือการจัดทำแผนหลัก หรือมาสเตอร์แพลนของประเทศ ซึ่งเราเตรียมงานกันอยู่เพราะสิ่งนี้ต่างหากที่คนไทย และต่างชาติต้องการเห็น เราต้องรวมผู้ที่มีความรู้จริงและหารือให้เป็นทิศทางเดียวกัน วันนี้เราต่างทิศทางกันมาก การทำงานคงทำไม่ได้ถ้าต่างทิศทางกัน และเป็นปัญหาเทคนิคที่ไม่มีใครรู้ในเรื่องข้อเท็จจริงได้ เมื่อถามว่า หลังเสร็จวิกฤตน้ำแล้วจะปรับครม.หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขอดูก่อน

ต่อข้อถามว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค.นายกฯ ได้สไกป์คุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โรงแรมเอสซีปาร์ค หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบเพียงว่า “เปล่าค่ะ” เมื่อถามว่า นายกฯจะลงพื้นที่เพื่อสำรวจหลังน้ำลดหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เรื่องการลงพื้นที่ทุกวันนี้เตรียมงานเลยไม่ได้ลงพื้นที่เพราะเตรียมแผน ฟื้นฟูเร่งด่วน และเรื่องการสร้างความมั่นใจกับนักลงทุนไทยและต่างประเทศ เมื่อถามว่า การเดินทางไปประชุมการประชุม​ผู้นำ​เขต​เศรษฐกิจ​เอเชียและแปซิฟิก หรือเอเปก ที่เกาะฮาวาย สหรัฐอเมริกา วันที่ 12-13 พ.ย.จะชี้แจงการแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยเฉพาะการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจให้นานาชาติเข้าใจหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ไปเอเปกเราต้องชี้แจงเพื่อสร้างความมั่นใจ จากนั้นจะไปชี้แจงในเวทีโลกในคราวเดียวกัน เมื่อถามว่า ก่อนจะเดินทางไปเอเปกนายกฯ มั่นใจหรือไม่ว่าสถานการณ์น้ำจะดีขึ้น น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เชื่อว่าดีขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น