xs
xsm
sm
md
lg

ลดประตูคลองสามวา"ปู"ตั้งกก.คุมเปิด-ปิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ยิ่งลักษณ์" ครวญปัญหาคลองสามวา ไม่ใช่แค่มวลชน ติดด้านเทคนิค-ประตูพัง เผยลดบานประตูน้ำคลองสามวาลงแล้ว หลังเข้าเจรจาชาวบ้าน ส่วนการระบายฝั่งตะวันตกยังยาก สั่งระดมสูบน้ำกู้นิคมอุตสาหกรรม คาดเสร็จใน 2-3 เดือน หวังสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติ เตรียมใช้เวทีเอเปกแจงนานาชาติ ปัดสไกป์ปรึกษา"แม้ว"

เมื่อเวลา 09.45 น. วานนี้ ( 2 พ.ย. ) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ดินโคลนถล่ม และภัยแล้ง แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและแก้ปัญหาน้ำท่วม เพื่อติดตามการเปิด-ปิดประตูน้ำต่างๆ เพื่อจัดระบบการระบายน้ำว่า ถ้าเรามัวไปยึดตัวเลขเปิดประตูน้ำกี่เซนติเมตร จะทำให้ผู้ปฏิบัติทำงานลำบาก จึงตั้งคณะกรรมการประกอบด้วย กระทรวงเกษตรฯ กทม. และกรมชลประทาน เพื่อลงไปดูในพื้นที่ และให้ทั้ง 3 ฝ่าย ตกลงกันในเรื่องทางเทคนิค เพราะมีปัญหาว่า จะเปิดประตูระบายน้ำเท่าไร เนื่องจากบางครั้งไม่สามารถพูดแค่ว่า เปิดประตูนี้แล้วจะดี เพราะต้องดูว่าหากเปิดประตูนี้แล้ว จะมีผลต่อประตูอื่นหรือเปล่า นั่นคือที่มาของการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว เพื่อต้องการให้ลงไปดูหน้างานจริงว่าเป็นอย่างไร และการหารือกับมวลชน เพื่อให้มีผลกระทบน้อยที่สุด

** ย้ำเปิดประตูน้ำต้องดูจุดสมดุล

ผู้สื่อข่าวถามว่า มวลชนที่ออกมากดดันให้เปิดประตูระบายน้ำ ทำไมรัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะเข้าไปช่วยเหลือ เพื่ออำนวยความสะดวกกับประชาชนในพื้นที่รับน้ำ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ในทางปฏิบัติ เราทำทั้งหมด เรามีเจ้าหน้าที่เตรียมอพยพและดูแลเยียวยา แต่ประชาชนอาจเกิดความเครียด ไม่ใช่เป็นเรื่องของการชดเชย แต่เป็นเรื่องความเครียดจากภาวะที่น้ำอยู่ที่คอ แล้วทุกคนจะรู้สึกว่าไม่มีความหวังว่าน้ำจะระบายหมดเมื่อไร เราถึงต้องอธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งบางคนก็รับได้ แต่บางคนอาจจะรับไม่ได้ แต่เราจำเป็นในแง่ของภาครัฐก็ทำงานร่วมกัน

ขั้นแรกเรื่องเทคนิคต้องตกลงกันให้ได้ว่าเป็นอย่างไร คนปฏิบัติเท่านั้นที่จะบอกว่าเปิดเท่าไร จะไม่กระทบต่อส่วนรวม เปิดเท่าไรจะรักษาความสมดุลได้ เพราะหากเราปิดประตูหนึ่งไม่ได้ เราอาจจะปิดอีกประตูหนึ่งได้ ในทางปฏิบัติเราจึงให้คณะกรรมการเข้าไปดู และหาทางแก้ไข และถ้าจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการอะไร หรือถึงขั้นที่ต้องออกกฎหมาย ก็ทำได้ เราไม่ได้นิ่งนอนใจ ไม่ได้ละเลย หรือไม่ได้อ่อนแอในการตัดสินใจ

วันนี้มีปัญหาอยู่ 2 ส่วนคือ

1. เรื่องมวลชนอาจจะบอกว่ารัฐบาลไม่สามารถใช้อำนาจตัดสินใจ ก็ต้องเรียนว่าในเชิงข้อกฎหมาย การบังคับใช้ไม่อยาก แต่วันนี้เราต้องทำเป็นขั้นตอน โดยการทำให้เข้าใจถึงข้อเท็จจริง หากข้อเท็จจริงไม่ถูกกฎหมาย ต้องบังคับใช้ ตนถึงได้ใช้มาตรา 31 ของพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งถือเป็นกฎหมายสูงสุดแล้ว และจะหารือในมาตรการต่อไป

2. เรื่องเทคนิค ซึ่งบางอย่างประชาชนไม่ได้เป็นอุปสรรค

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า บางครั้งเราแก้จุดนี้สำเร็จ ไม่ได้หมายความจะพ้นหมด เช่น ประตูระบายน้ำคลอง 1 เราเคลียร์มวลชนหมด ซึ่งมวลชนไม่มีประเด็นแล้ว แต่มีประ เด็นที่น้ำเชี่ยว ปิดประตูไม่ได้ ต้องไปแก้ที่คลองอื่น ไม่ใช่ว่ารัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจ

ส่วนคลองรังสิต 9 เราทำได้เราก็ทำ เราทำแล้วน้ำก็ระบาย ประตูระบายน้ำต้องดูหลายประตู ไม่ใช่ว่าประตูเดียวจะสามารถแก้ทุกอย่างได้ อย่างกรณีที่ประตูระบายน้ำคลองสามวา ก็มี 2 ส่วน คือ ระดับน้ำ ซึ่งเราให้หลักการคณะทำงานดูว่าระดับไหนที่จะไม่ให้กระทบ แต่จะเปิดกี่ซม. ต้องให้คณะทำงานเสนอมา อีกทั้งยังมีปัญหาประตูหลุดอีก ปัญหามันไม่ใช่มวลชนร้อยเปอร์เซ็นต์ มันมีเรื่องเทคนิคด้วย เราต้องพยายามแกะทีละส่วน

** ยอมรับฝั่งธนบุรีระบายน้ำได้ช้า

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ขณะนี้การระบายน้ำของฝั่งตะวันออก ทำได้ดีขึ้น ส่วนฝั่งตะวันตก มีปัญหาตรงที่มวลน้ำที่เข้าไปแล้วรอยต่อต่างๆไม่ใช่แค่ส่วนของประตูระบายน้ำเท่านั้น วันนี้ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เราได้เตรียมแท่งเหล็กชิพพลายกั้นไว้ กรมชลประทาน รับหน้าที่ดำเนินการโดยใช้ชิพพลายตอกจะเริ่มทำงานได้ ในวันที่ 4 พ.ย. คาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางเดือนพ.ย.นี้ การระบายในฝั่งธนฯ จะช้าบ้าง หากเทียบกับบริเวณอื่น

**เร่งแจงตปท.สร้างความเชื่อมั่น

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เราได้เชิญทุกประเทศเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ ซึ่งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ได้ชี้แจงถึงความมั่นใจในการเตรียมความพร้อมฟื้นฟูประเทศ รวมทั้งพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผอ.ศปภ. นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา คณะทำงานบริหารจัดการระบายน้ำในพื้นที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรง ได้ชี้แจงเรื่องการระบายน้ำ ซึ่งภาพรวมต่างประเทศเข้าใจแล้วว่า เป็นภัยธรรมชาติ วันนี้สิ่งที่เราจะทำนอกเหนือจากชะลอไม่ให้น้ำท่วมมากขึ้น คือ การเร่งฟื้นฟู เพราะว่าหลายจังหวัดน้ำเริ่มลดแล้ว เราต้องฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อเรียกความมั่นใจจากนานาประเทศ อย่างที่ จ.พระนครศรีอยุธยา น้ำลดลงมากแล้ว เรากำลังเตรียมแผนในการฟื้นฟู โดยสูบน้ำออกจากนิคมฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือน ซึ่งจะรวมถึงการฟื้นฟูเรื่องเครื่องจักรต่างๆ เราได้ลดหย่อนภาษีการนำเข้าอุปกรณ์ต่างๆ โดยประสานกับญี่ปุ่นซึ่งทางเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นให้ความร่วมมืออย่างมาก ทางธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (เจบิก) ได้ออกเงินกู้ให้ และพร้อมส่งช่างเทคนิคมาช่วยเหลือควบคู่กันไป

ต่อข้อถามว่า วันนี้พูดได้หรือไม่บางพื้นที่กทม.จะรอดจากน้ำท่วม น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ได้ แต่ไม่สามารถบอกได้ชัดว่ากี่เขต ขึ้นอยู่กับการเร่งอุดรอยรั่วต่างๆ แต่บางครั้งเราจะเจอรอยรั่วขึ้นมาใหม่ เป็นสิ่งที่บอกยาก เพราะเราไม่เคยสำรวจ เมื่อลงไปสำรวจแล้วได้รับรายงานว่า เครื่องสูบน้ำเสีย ทำให้ระบบการตัดสินใจทำงานไม่ได้จริงๆ เพราะมันมีปัจจัยใหม่ขึ้นมาทุกวัน

**"ปู"ปัดสไกป์ขอคำปรึกษา"แม้ว"

ต่อข้อถามว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค. นายกฯได้สไกป์ คุยกับพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่โรงแรมเอสซี ปาร์ค หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบเพียงว่า "เปล่าค่ะ" เมื่อถามว่า นายกฯ จะลงพื้นที่เพื่อสำรวจหลังน้ำลดหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เรื่องการลงพื้นที่ ทุกวันนี้เตรียมงานจึงไม่ได้ลงพื้นที่ เพราะเตรียมแผนฟื้นฟูเร่งด่วน และเรื่องการสร้างความมั่นใจกับนักลงทุนไทย และต่างประเทศ

ส่วนการเดินทางไปประชุมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย และแปซิฟิกหรือเอเปก ที่เกาะฮาวาย สหรัฐอเมริกา วันที่ 12-13 พ.ย. นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ไปเอเปก เราต้องชี้แจงเพื่อสร้างความมั่นใจ เมื่อถามว่า ก่อนจะเดินทางไปเอเปก นายกฯมั่นใจหรือไม่ว่าสถานการณ์น้ำจะดีขึ้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า "เชื่อว่าดีขึ้นค่ะ"

** ลดบานประตูน้ำคลองสามวาลงแล้ว

เมื่อเวลา 17.15 น. วานนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการซ่อมแซมพนังกั้นน้ำบริเวณคลองสามวา ว่า พนังกั้นน้ำที่หลุดไปได้มีการซ่อมฝั่งตะวันตกแล้ว ส่วนฝั่งตะวันออก กำลังซ่อมคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จวันที่ 2 พ.ย. ทั้งนี้ ตนได้ขอให้คณะทำงานได้ลงไปแต่พื้นที่ เพื่อหรี่ประตูน้ำ ช่วยลดแรงกดดันที่น้ำที่จะเข้ามาทางฝั่งตะวันออก

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ขณะนี้เราให้ลดบานประตูระบายน้ำคลองสามวาลงแล้ว โดยให้คณะทำงานเข้าไปเจรจาในพื้นที่ ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เบื้องต้น เราได้ทำความเข้าใจกับประชาชนไปบ้างแล้ว

ส่วนมาตรการการแก้ไขปัญหาน้ำฝั่งตะวันตกนั้น เราจะทำทุกอย่าง ซึ่งมาตรการแก้ไขปัญหาฝั่งตะวันตก เรื่องแรกคือ เรื่องที่รอยแตกในระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา เราจะดำเนินการซ่อม ซึ่งมีทั้งหมด 11 จุด และซ่อมเสร็จแล้ว 3 จุด คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางเดือนพ.ย.

ขณะเดียวกันจุดประตูระบายน้ำต่าง ๆ เราได้เข้าไปหรี่ประตูทุกบานลง เพื่อลดแรงกดดันนี้ทั้งหมด ซึ่งเราจะต้องให้ประตูระบายน้ำทุกประตูทำงานสัมพันธ์กัน เพื่อให้ไปถึงปลายทางได้เต็มที่ ทั้งหมดนี้ เป็นส่วนที่เราจะทำการชะลอน้ำ ขณะเดียวกันเราก็มีทีมลงไปเจรจากับมวลชนเพราะเชื่อว่า มวลชนจะให้ความร่วมมือ ร่วมถึงการส่งกองกำลังนอกพื้นที่ไปเฝ้าระวัง คันน้ำและประตูน้ำทั้งหมด

นายกฯ กล่าวว่า ปัญหาหลักคือ การระบายน้ำในฝั่งตะวันตกนั้น ระดับน้ำทะเลยังสูงกว่าแนวคันกั้นน้ำ ซึ่งยังมีการรั่วอีก ทำให้เป็นปัญหาหนัก ที่ต้องช่วยกันระมัดระวังเพื่อไม่ให้น้ำเข้าไป โดยมาตรการต่างๆ ที่เราทำอยู่ ซึ่งพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม นำบิ๊กแบ็ก ไปอุด ก็จะเร่งดำเนินการให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้ ดั้งนั้น ต้องขอเวลา 1 สัปดาห์แล้วจะเห็นความคืบหน้า

เมื่อถามว่า วันนี้การที่น้ำขยายวงกว้างเป็นผลมาจากจุดใด น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ประเด็นหลักคือ มวลน้ำซึ่งเราจะต้องไปหรี่ประตูระบายลง เพื่อเป็นการชะลอน้ำ ส่วนประเด็นใหญ่สุดคือ ปริมาณของน้ำทะเลสูงกว่าคันกั้นน้ำกว่า 1 ม. ซึ่งทำให้น้ำทะลักเข้ามา เราจึงต้องเร่งทำงานในทุกส่วน ต้องเรียนประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฝั่งธน ต้องเจอภาวะค่อนข้างหนัก เพราะการระบายน้ำค่อนข้างยาก รวมถึงแนวคลองทวีวัฒนา ทำให้การระบายน้ำฝั่งตะวันตกเป็นไปได้ยาก เพราะแนวแคบและการระบายน้ำค่อนข้างตัน เราจึงต้องรอให้น้ำทะเลลดลงแล้วจึงเร่งระบาย

เมื่อถามว่าจะมีการย้ายศปภ. จากกระทรวงพลังงานไปที่ท่าอากาศยานดอนเมืองหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ยังไม่มีการย้าย อยู่ตรงนี้ก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น