คณะทำงานจัดการระบายน้ำ ศปภ. ระบุหากไม่มีคันกั้นน้ำพังเสียหายเพิ่ม หลัง 6 พ.ย.มีทางรอด ชี้น้ำทะเลจะอยู่ในช่วงขาลง เหลือเพียงน้ำเหนือ-น้ำทุ่ง เท่านั้น มั่นใจกรุงเทพฯ รอด ชี้พื้นที่ฝั่งตะวันออกควบคุมน้ำไว้ได้แล้ว ยันหลังน้ำทะเลหนุนเร่งผันน้ำออกพื้นที่รับน้ำได้
วันนี้(29 ต.ค.) นายวีระ วงศ์แสงนาค ประธานคณะทำงานจัดการระบายน้ำในพื้นที่สาธารณภัยร้ายแรง ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์นี้ไปจนถึงวันที่ 6 พ.ย.54 ต้องช่วยกันลุ้นไม่ให้คันกั้นน้ำ หรืออาคารชลประทานใดๆ ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เสียหายเพิ่มอีก เพราะหลังจากนั้นน้ำทะเลจะเริ่มเป็นขาลง และสถานการณ์น้ำจะคลายความวิกฤต เพราะน้ำ 3 ทัพ จะเหลือเพียงแค่ 2 ทัพ คือน้ำเหนือในแม่น้ำเจ้าพระยา และน้ำทุ่งเท่านั้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นถือได้ว่ากรุงเทพฯจะเข้าสู่ระยะปลอดภัย และมั่นใจว่าจะไม่มีการสูญเสียอีกทั้งสนามบินสุวรรณภูมิและนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ทางด้านฝั่งตะวันออก เช่น นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เพราะขณะนี้ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ สามารถพูดได้ว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมสถานการณ์น้ำได้แล้ว
"ตอนนี้จะเห็นว่าเจ้าหน้ากรมชลประทาน ได้ใช้โครงการชลประทานรังสิตเหนือ หรือแนวถนนพหลโยธิน ไปจนถึงคลองรังสิต 13 โดยมีแนวคลองรังสิตประยูรศักดิ์เป็นแนวรับ บริหารพื้นที่แบบแก้มลิง โดยสามารถโปรยน้ำเข้ากรุงเทพฯในปริมาณที่กทม.สามารถระบายน้ำออกได้ทันแล้ว ถือว่าปริมาณน้ำเข้าออกกรุงเทพฯด้านตะวันออกสมดุลแล้ว ส่วนแผนการเจาะถนนเลียบคลองระหว่างคลองรังสิต 9 และคลองรังสิต 10 เป็นการเปิดปากคลอง จะเป็นตัวช่วยเร่งระบายน้ำออกจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ให้ไหลลงสู่คลองหกวาให้เร็วขึ้นลดความเสี่ยงประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์"นายวีระ กล่าว
ทั้งนี้ จากการประเมินพบว่าการระบายน้ำออกจากคลองหกวา สามารถระบายน้ำผ่านระบบลำคลองตามปกติได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องตัดถนนให้น้ำไหลผ่านแต่อย่างใด ส่วนปัญหาน้ำจากคลองหกวา ไม่สามารถระบายผ่านคลองต่างๆ ลงไปอ่าวไทยนั้น เป็นเพราะสภาพคลองต่างๆในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นคลองส่งน้ำมาตั้งแต่ดั้งเดิม ไม่ใช่คลองระบายน้ำ ใต้คลองจึงมีตัวสต๊อปล็อก หรือฝายใต้น้ำ ทำให้น้ำไหลไม่สะดวก แต่กทม.และนายกรัฐมนตรีได้สำรวจพื้นที่ด้วยตัวเองแล้ว ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จแก้ปัญหาจุดนี้ได้แน่นอน
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ หรือทางเขตฝั่งธนบุรี มีแผนการสำหรับรับมือน้ำทุ่งปริมาณมากที่ไหลบ่าท่วมทั้งอ.บางบัวทอง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี อ.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม และเขตทวีวัฒนาแล้ว โดยแผนการเบื้องต้น แนวตั้งรับที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของการระบายน้ำออกจากฝั่งธนบุรีอยู่ที่คลองภาษีเจริญ โดยจะใช้แนวคลองนี้เป็นตัวรับน้ำทุ่งทั้งหมดของฝั่งธนบุรี และสูบน้ำออกไปทางแม่น้ำท่าจีน และแก้มลิงสมุทรสาคร คือ แก้มลิงอเนกประสงค์คลองสนามชัย - มหาชัย อ.มหาชัย จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผันน้ำออกสู่ทะเลได้โดยตรง ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงต้องเร่งสูบน้ำสู้ออกกับน้ำทุ่งที่ไหลลงมาฝั่งธนบุรีที่จุดนี้
ส่วนการจัดการกับน้ำเหนือในแม่น้ำเจ้าพระยาของฝั่งธนฯ เพื่อป้องกันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาทะลักตลิ่งเข้ามาท่วมพื้นที่ ซึ่งมีคันกั้นน้ำไม่ครบตลอดแนว หรือคันกั้นน้ำฟันหลอนั้น ในวันนี้ (30ต.ค.54) จะมีการประชุมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมชลประทานและกทม. เพื่อสรุปรายละเอียดและแผนปฏิบัติการสร้างคันกั้นน้ำอุดแนวฟันหลอริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งกรุงเทพตะวันตกทั้งหมด ตามที่ตนได้มอบหมายไว้ โดยจะเริ่มต้นอุดแนวคันกั้นน้ำตั้งแต่จ.ปทุมธานี นนทบุรี ฝั่งธนบุรีของกรุงเทพฯ ไปจนถึงปลายแม่น้ำ ซึ่งแผนการอุดคันกั้นน้ำนี้จะเริ่มดำเนินการทันทีเมื่อเข้าสู่ช่วงน้ำทะเลเป็นขาลงประมาณวันที่ 6 พ.ย.นี้ เพราะกระแสน้ำเจ้าพระยาจะลดความแรงลง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย.เป็นต้นไป ซึ่งน้ำทะเลเป็นขาลงแล้ว ประตูระบายน้ำต่างๆ ในคลองของกทม. ที่ไหลลงสู่ทะเลจะต้องเปิดออกทั้งหมด เพื่อระบายน้ำทุ่งและน้ำเหนือลงสู่อ่าวไทยให้ได้เร็วที่สุดและมากที่สุด ซึ่งหากเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้ตามแผนการที่เตรียมไว้ทั้งหมดนี้ เชื่อว่ากรุงเทพฯ ทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก จะไม่มีน้ำท่วมเพิ่มขึ้นอีก และระดับน้ำที่ท่วมในกรุงเทพฯทั้งหมดจะเริ่มลดลงในช่วงปลายเดือนพ.ย.เป็นต้นไป และในที่สุดจะเหลือเพียงน้ำท่วมขังเล็กน้อยในบางพื้นที่เท่านั้น ซึ่งสามารถสูบออกและใช้ระบบระบายน้ำได้ตามปกติ เช่นเดียวกับน้ำท่วมขังที่เกิดหลังฝนตก
"ส่วนข้อมูลที่บอกว่ามวลน้ำก้อนใหญ่ขนาดเท่านั้น เท่านี้จะลงมาถล่มกรุงเทพฯ เป็นระลอกนั้น ผมอยากให้ประชาชนเข้าใจว่าไม่มีหรอก น้ำที่จะมาเป็นระลอก มาทีละก้อน เพราะธรรมชาติของน้ำก็จะไหลต่อเนื่องกันมาโดยตลอดอยู่แล้ว ผมอยากให้ประชาชน โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ เข้าใจว่าตอนนี้น้ำท่วมทางด้านเหนือของกรุงเทพฯเริ่มลดลงแล้ว คนนครสวรรค์เริ่มทำความสะอาดบ้านกันแล้ว ดังนั้นน้ำเหนือที่ไหลบ่ามาตามทุ่งและที่อยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาจะเคลื่อนตัวอย่างต่อเนื่องมายังปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ ซึ่งวันนี้ตอบได้ว่าเจ้าหน้าที่มีแผนรับน้ำเหนือเหล่านั้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนแล้ว"นายวีระ กล่าว