xs
xsm
sm
md
lg

“ยงยุทธ” นำร่องตั้งสำนักฯ จัดการน้ำ เล็งขุดลอก-ทำแก้มลิงระยะยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยงยุทธ วิชัยดิษฐ์
รมว.มหาดไทยนำร่องจัดตั้งสำนักงานฯ จัดการน้ำระยะยาว ก่อนเปิดกระทรวงน้ำ เล็งขุดลอก-ทำแก้มลิงแก้ปัญหาระยะยาว ชี้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น-แม่วงก์ เรื่องใหญ่ต้องดูความจำเป็น อาจเสียมากกว่าคุ้ม ด้าน “ธีระ” เผยรับปาก “ปู” ซ่อมประตูบางโฉมศรีเสร็จไม่เกิน 10 วัน ยันน้ำไม่ท่วมสุวรรณภูมิ เร่งเสริมเครื่องสูบน้ำดันน้ำลงทะเล ประตูระบายน้ำบางโฉมศรีซ่อมได้แล้ว 40% ซัดชมรมลุ่มน้ำท่าจีนขวางไม่ให้ขุดคลองลัดแม่น้ำท่าจีน

วันนี้ (6 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการปัญหาอุทกภัยดินโคลนถล่มและภัยแล้งว่า การประชุมวันนี้เป็นการวางแผนในระยะยาว ซึ่งการแก้ไขแบบชั่วคราวจะต้องแก้ทุกปี เวลาก็จะใช้มาก เงินก็จะใช้มาก แต่ก็แก้ปัญหาถาวรไม่ได้ เป็นแบบปีต่อปีไปเรื่อยๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้บอกว่าเป็นความคิดของท่านโดยเฉพาะ ว่าถ้าแก้ปัญหาในลักษณะแบบนี้ ซึ่งประสบการณ์การทำงานของนายกฯ เป็นประสบการณ์การทำงานที่ต้องมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่วกวนอยู่ในวังวนของราชการ ที่เป็นไปตามระเบียบแก้ไขเป็นครั้งเป็นคราว ซึ่งนายกฯท่านทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะท่านต้องเอาประสิทธิภาพเป็นเรื่องใหญ่ และต้องแก้ปัญหาถาวรให้ได้ ประชาชนจะได้ไม่ต้องหวาดวิตกปีต่อปีเรื่อยๆ พอฝนมาทีก็ตกใจ วันนี้จึงมีการประชุมในเรื่องการแก้ปัญหาระยะยาวให้ได้ ซึ่งการประกาศตั้งสำนักงานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำที่จะมาดูแลแก้ไขปัญหาระยะยาว ในส่วนของเรื่องนี้นั้น กำลังจะลงในราชกิจจานุเบกษา แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เป็นไปตามระบบราชการ เพราะนายกฯก็ให้รีบประชุมเสียก่อน

“การประชุมในวันนี้ก็เพื่อที่จะกำหนดขอบเขต ว่าเราจะมีการประชุมเพื่อระดมสมองกับทุกๆ ฝ่ายที่ทำเนียบฯ จริงๆ แล้วระเบียบนี้ก็เหมือนกระทรวงน้ำ เป็นเงาของกระทรวงน้ำ ซึ่งถ้าเป็นกระทรวงน้ำจะใช้เวลามากและใช้งบประมาณมาก กรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่เป็นกระทรวงน้ำ เพื่อแก้ปัญหาถาวร โดยจะเริ่มต้นหาจุดแก้ให้ได้ ซึ่งจุดแก้จะต้องมาระดมความคิดกัน โดยจะเรียกระดมทุกฝ่ายและคาดว่าจะได้ผล” รองนายกฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ใครจะเป็นคนวางแผนและขอบเขตการทำงาน นายยงยุทธกล่าวว่า ต้องมีผู้เชี่ยวชาญทั้งฝ่ายเอกชน และภาครัฐทั้งหมด รวมทั้งคนที่มีชื่อเสียงเรื่องน้ำในประเทศไทย ก็จะมาร่วมกันเพื่อวางแนวทางแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพราะถ้ารอระเบียบก็จะช้า เมื่อถามว่า สามารถยกตัวอย่างได้หรือไม่ว่า สิ่งที่จะทำให้มองเห็นเป็นรูปธรรมคืออะไร นายยงยุทธกล่าวว่า เป็นเรื่องใหญ่จากลุ่มน้ำทั้งหมด 25 ลุ่มน้ำ และโครงการพระราชดำริอาจจะแค่คร่าวๆ ที่เราจะพูดตอนนี้ โดยอาจจะต้องทำแก้มลิงให้มากขึ้น ขุดลอกขุดแม่น้ำทั้งหมดในประเทศ แต่พื้นที่ลุ่มน้ำเป็นเรื่องยาก เพราะมีคนอาศัยอยู่ ซึ่งเรื่องการเวนคืนก็จะทำให้ประชาชนเดือดร้อน เราก็จะหลีกเลี่ยงเรื่องตรงนั้น

เมื่อถามว่าจะมีการสร้างเขื่อนอีกหรือไม่ นายยงยุทธกล่าวว่า ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่ประเด็นแรกเราต้องทำสิ่งที่ง่ายก่อน และจะแก้ปัญหาระยะยาวได้ ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้น ก็เป็นอีกประเด็นที่จะต้องใช้เวลาในการศึกษา ให้รอบคอบก่อน

เมื่อถามว่า มีกำหนดวันเร่งด่วนหรือไม่ ว่าเรื่องไหนควรจะทำก่อนทำหลัง นายยงยุทธกล่าวว่า มี แต่จะต้องหลังที่เราระดมสมองกันแล้ว ซึ่งการประชุมในแต่ละครั้งก็ต้องมีความก้าวหน้า โดยในวันนี้ก็ก้าวหน้า ในส่วนเรื่องการที่มีการกำหนดให้มีการประชุมใหญ่ ตนขอยืนยันว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำจะเห็นผลแน่นอน

เมื่อถามว่า ขณะนี้ปัญหาค่อนข้างไกลกว่าที่จะมารองรับแผนในระยะยาว ซึ่งรัฐบาลกล้าที่จะตัดสินใจหรือยัง เช่น กรณีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น หรือเขื่อนแม่วงก์ นายยงยุทธ กล่าวว่า การตัดสินใจไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะทำอย่างเดียว แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า มันคุ้มหรือไม่กับการที่เราจะทำเขื่อน ค่าใช้จ่ายกับการที่จะต้องทำพื้นราบ โดยการกำจัดต้นไม้ออกไปบ้าง ซึ่งก็จะส่งผลทำให้พี่น้องประชาชนต้องขยับขยายออกไป และความเข้าใจของคนก็ยังไม่ตรงกัน ถ้าหากจะไปประกาศอย่างนั้นทีเดียว ไม่ใช่ว่าเรากล้าหรือไม่กล้าที่จะทำ ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ที่ความรอบคอบแค่ไหน ไม่ใช่แก้ปัญหาหนึ่งแต่ไปสร้างปัญหาอีกปัญหาหนึ่ง

เมื่อถามว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่มีการเตือนว่า ในวันที่ 10 เป็นต้นไปจะมีน้ำไหลลงมาเพิ่มอีก เราจะสามารถป้องกันในเขตอุตสาหกรรมอยู่หรือไม่ นายยงยุทธ กล่าวว่า ขณะนี้นายกฯก็ได้ลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และกำลังวางแผนแก้ไขอยู่ที่นั้น คาดว่าน่าจะมีผลในทางที่ขึ้น เมื่อถามว่า แก้มลิงที่บอกว่าจะแก้ไขในระยะยาว มีการดำเนินการไปถึงไหนแล้ว นายยงยุทธกล่าวว่า ก็ทุกจังหวัด ตั้งแต่เหนือจนถึง จ.สงขลา หาดใหญ่ ก็ดูจุดประสงค์ในภาพรวมความสำคัญ ซึ่งเราจะนึกถึงเรื่องที่เราจะทำได้ก่อน ก็ไม่ยากที่จะแก้ปัญหาได้ดีและได้ในระยะยาว

ด้าน นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการซ่อมประตูน้ำบางโฉมศรี จ.สิงห์บุรี ว่า ขณะนี้ดำเนินการไปแล้วร้อยละ 40 โดยทางกรมชลประทาน และทหารร่วมมือกันทำงานโดยรับปากนายกรัฐมนตรีว่า จะแล้วเสร็จไม่เกิน 10 วัน ส่วนที่เกรงว่า น้ำจะท่วมสนามสุวรรณภูมิยืนยันว่า ไม่เป็นปัญหาเพราะรอบสนามบินมีการจัดวางระบบระบายน้ำที่ดี

นายธีระยังกล่าวถึงข้อกังวลปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเต็มพื้นที่รับไม่ไหวจะทำให้น้ำท่วมใหญ่ กรุงเทพฯ นนทบุรี และปทุมธานี ว่าหวังที่จะให้น้ำแผ่ออกข้างบนก่อน เราบอกความจริงกับประชาชนดีกว่าไม่บอกความจริง ต้องยอมรับว่าประมาณวันที่ 13-14 ต.ค.น้ำที่ จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำที่ผ่านจะสูงกว่าวันนี้ที่อยู่ที่ระดับ 4,500 ล้าน ลบ.ม. ก็คาดว่าคงจะสูงขึ้นถึงประมาณ 5,000-5,500 ล้าน ลบ.ม. แต่ตัวเลขก็ค่อนข้างคาดการณ์ยาก เพราะน้ำแผ่เข้าไปในทุ่งต่างๆ ยอดน้ำสูงสุดในวันที่ 13-14 ต.ค.จะอยู่ที่ จ.นครสวรรค์ วันที่ 14-15 ต.ค.จะอยู่แถว จ.ชัยนาท วันที่ 16-17 ต.ค.จะอยู่แถว อ.บางไทร โดยปริมาณน้ำที่ผ่านจะอยู่ที่ประมาณ 3,700 ล้าน ลบ.ม. ถ้าน้ำมามากไปกว่านี้ก็อาจจะแผ่กระจายในส่วนบนก่อน เท่าที่รายงานให้นายกฯทราบจะแบ่งพื้นที่ ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่ม จ.สิงห์บุรีขึ้นไปข้างบน พื้นที่น้ำท่วมอาจจะขยายออกไป 2.พื้นที่ที่น้ำท่วมอยู่ในปัจจุบัน และ 3.พื้นที่ชายทะเล ซึ่งต้องเร่งผลักดันน้ำสู่ทะเลโดยเร็ว โดยเพิ่มเครื่องผลักดันน้ำและเครื่องสูบน้ำประมาณ 100 เครื่องจากกรมชลประทาน

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า คิดว่าพื้นที่บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิที่หลายคนเป็นห่วงไม่น่ามีปัญหา เพราะขณะนี้เรายังสูบน้ำเต็มศักยภาพเครื่องสูบน้ำที่มีอยู่ เมื่อใช้เต็มประสิทธิภาพเชื่อว่าไม่น่ามีปัญหา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตนเป็นห่วงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และจ.ลพบุรี โดยเฉพาะอยุธยาที่เป็นที่รวมของแม่น้ำ 4 สาย และเป็นด่านรับน้ำสุดท้ายก่อนที่จะเข้า กทม. และขณะนี้ทางทหารได้ส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยอย่างเพียงพอแล้วและตนได้รับปากกับนายกฯ ว่าจะซ่อมแซมประตูระบายน้ำบางโฉมศรี ให้เสร็จสิ้นภายใน 10 วัน ซึ่งขณะนี้ซ่อมแซมแล้ว 40% ทั้งนี้ ในการแก้ไขและบริหารจัดการน้ำจะต้องมีมาตรการหลายอย่างทั้งก่อสร้างแก้มลิง การขุดลอกคูคลอง รวมทั้งแนวพระราชดำริที่ทรงแนะนำว่าจะทำอย่างไรให้แม่น้ำต่างๆ เป็นเหมือนคลองลัดโพธิ์ เช่น แม่น้ำท่าจีนที่คดเคี้ยว ทำให้ระบายน้ำยากและช้า และทางกรมชลประทานได้รับงบประมาณแล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะประชาชนชมรมลุ่มน้ำท่าจีนไม่เห็นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น