ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เมื่อสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ลุกลามบานปลายเกือบครึ่งประเทศจนเกิดวิกฤตสุดๆ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีมือใหม่ถึงตัดสินใจนั่งหัวโต๊ะบัญชาการกู้สถานการณ์ด้วยตัวเอง หลังมุขแป๊กจาก “บางระกำโมเดล” และโยนปัญหาให้รัฐมนตรี ผู้ว่าฯ คณะกรรมการ คณะทำงาน คณะอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นจำนวนมากจนการบริหารจัดการแก้ไขปัญหามั่ว ซ้ำซ้อน ล่าช้า ต่างคนต่างทำ ประเมินสถานการณ์ผิดพลาดจนเกิดความสูญเสียใหญ่หลวง
รายงานสถานการณ์พื้นที่ประสบอุทกภัยจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2554 ระบุว่า ยังคงมีพื้นที่ประสบประสบอุทกภัย 30 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี เชียงใหม่ ร้อยเอ็ด ลำปาง เลย นครราชสีมา บุรีรัมย์ กำแพงเพชร และจังหวัดตาก 223 อำเภอ 1,532 ตำบล 10,130 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 784,097 ครัวเรือน 2,388,286 คน และมีผู้เสียชีวิต 269 ราย สูญหาย 4 คน เป็นข้อบ่งชี้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมยังลุกลามขยายวงออกไปกินพื้นที่กว้างขึ้นตามลำดับ
ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ของประเทศขณะนี้จำนวน 28 แห่งจากทั้งหมด 33 แห่ง รับน้ำไว้เกิน 80% แล้ว และมี 7 - 8 แห่ง ที่มีน้ำเก็บกักเต็มเกือบ 100% รวมแล้วกว่า 6.8 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบกับปีที่ผ่านมามีปริมาณ 4.97 ล้านลูกบาศก์เมตร ล่าสุด เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำ 99% เขื่อนสิริกิติ์ 99% เขื่อนแควน้อย 101% และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 133% ซึ่งปริมาณน้ำที่ท่วมทะลักภาคเหนือและกลางจะไหลบ่าเข้ากรุงเทพฯและปริมณฑลภายใน 1 - 2 สัปดาห์นี้ นั่นหมายความว่า ความพยายามปกป้องพื้นที่เศรษฐกิจเขตกรุงเทพฯ และรอบนอก จะสำเร็จหรือไม่ยังต้องลุ้นกันชั่วโมงต่อชั่วโมง
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำหลายหน่วยงานยอมรับและเตือนภัยล่วงหน้าแล้วว่าปีนี้น้ำมากจริงๆ ทั้งอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และพายุที่โหมกระหน่ำเข้านับแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้น ปริมาณน้ำฝนที่ท่วมท้นทำให้เขื่อนและพื้นที่เก็บกักน้ำตามธรรมชาติเจิ่งนอง ไหลบ่าท่วมบ้านเรือนประชาชนมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่เขตภาคเหนือและภาคกลาง
แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศได้ไม่นาน ดูเหมือนจะไม่ได้ใส่ใจกับปัญหานี้อย่างจริงจัง เพราะภารกิจสำคัญของคณะรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย มีเป้าหมายอยู่ที่การช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โยกย้ายข้าราชการ ท้ารบกับทหาร ปูนบำเหน็จให้รางวัลตอบแทนคนเสื้อแดง ผลักดันนโยบายประชานิยมตามสัญญา ขณะที่ประชาชนที่ถูกน้ำท่วมถูกปล่อยให้จมน้ำโดยไร้การเหลียวแล
กระทั่งเสียงระงมจากประชาชนผู้เดือดร้อนจากน้ำท่วมดังขึ้นเรื่อยๆ เพราะพื้นที่น้ำท่วมขยายวงออกไปไม่หยุดยั้งตามปริมาณน้ำที่มากขึ้นทุกขณะ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้อาศัยมาร์เก็ตติ้งการเมืองชู “บางระกำโมเดล” เพื่อโฆษณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แต่ถึงที่สุดแล้ว “บางระกำโมเดล” ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า หนำซ้ำยังตามติดด้วยข่าวฉาวรีดค่าหัวคิวจากผู้ทุกข์ร้อนอีกต่างหาก
บทเรียน “บางระกำโมเดล” ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เรียนรู้ว่าการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมไม่สามารถทำได้ด้วยการโฆษณา
นอกจากนั้น วิธีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตามหลักการทำงาน 2P2R ที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ได้มอบหมายให้นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย จัดทำแบบฟอร์มการตรวจสอบรายกิจกรรม ตามหลักการทำงาน 2P2R ให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดทำรายงานตามแบบฟอร์มที่กำหนดไว้ เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และรับทราบผลการดำเนินงาน รวมทั้งปัญหาเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไปนั้น มีแต่ความล่าช้าไม่ทันการณ์ กลายเป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาไปในที่สุด
หากถามประชาชนทั่วไป คงน้อยคนนักที่จะตอบได้ว่า 2P2R คืออะไร และจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างไร หลักการของ 2P2R ฟังดูดี มีความหมาย คือ การเผชิญเหตุที่ดี (Response), การเยียวยาฟื้นฟู (Recovery) เร่งฟื้นฟู ช่วยเหลือเยียวยาดูแลสุขภาพ เยียวยาเรื่องพื้นที่เกษตรกรรมที่เสียหาย, การป้องกันที่ยั่งยืน (Prevention) การวางแผนระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหา, การเตรียมความพร้อม (Preparation) ป้องกันภัยน้ำท่วมหรือภัยแล้งที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมป้องกันล่วงหน้าทุกขั้นตอน แต่นั่นเป็นเพียงหลักการที่ฟังดูดีแต่ล้มเหลวในทางปฏิบัติ
อย่างไรก็ตาม หลังจากรับฟังรายงานสถานการณ์ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในแต่ละสัปดาห์แล้วเริ่มรู้ว่าปัญหาน้ำท่วมไม่ได้คลี่คลายลง มีแต่จะหนักขึ้นเรื่อยๆ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็สั่งให้รัฐมนตรีลงไปนอนในพื้นที่จังหวัดน้ำท่วม เพื่อให้การประสานงานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่คล่องตัว โดยคิดว่าวิธีการแบบ “ทัวร์นกขมิ้น” จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ดูเหมือนฟ้าฝนไม่เป็นใจ พายุยังโหมกระหน่ำซ้ำเติม
ความสับสนในการบริหารจัดการน้ำท่วมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยังสะท้อนผ่านการจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่จัดตั้งขึ้นมา พร้อมกับการจัดตั้งคณะทำงาน คณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ที่ตามติดตามเป็นขบวน โดยแยกแยะไม่ชัดเจนว่า เวลานี้ควรทำอะไรก่อนหลัง ใครควรฟังใคร ต่างคนต่างสั่ง ต่างฝ่ายต่างทำ ซ้ำยังคิดไปไกลถึงขึ้นเสนอตั้งกระทรวงน้ำ ซึ่งถูกผลิตซ้ำทุกครั้งที่เกิดวิกฤตน้ำท่วมแต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็เลิกรากันไป
หากนับจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 แล้วเสร็จจากนั้นก็ยกคณะลงไปตรวจน้ำท่วมที่จังหวัดพิษณุโลกจนถึงบัดนี้ รัฐบาลได้ประกาศจัดตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างน้อย 5 -6ชุด โดยชุดแรกตั้ง “คณะกรรมการศูนย์อำนวยเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทักภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม”
ถัดจากนั้นไม่กี่วัน ก็ตั้งชุดที่สองชื่อ “คณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม” หรือ ศอส.
หลังจากนั้น ในการประชุมคณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ได้มีมติแต่งตั้ง “คณะทำงานบริหารจัดการน้ำ และการเตือนภัยในพื้นที่ 25 ลุ่มน้ำ” ขึ้นมาเป็นชุดที่สาม
คณะทำงานชุดนี้เป็นคณะทำงานร่วมจาก 5 กระทรวง คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กระทรวงไอซีที และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อดูแลบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯเป็นรองประธานคณะทำงาน มีหน้าที่เขียนร่างกรอบนโยบายเพื่อสร้างแนวทางบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศใหม่ทั้งหมด นายปลอดประสพ ให้สัมภาษณ์ว่า เบื้องต้นจะต้องผันน้ำอย่างเป็นระบบ ผลักดันลงสู่ทะเลโดยเร็วเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เร่งด่วน
ถัดจากนั้น กระทรวงมหาดไทย ก็เสนอคณะรัฐมนตรีตั้ง “คณะกรรมการบูรณาการแผนบริหารจัดการน้ำ” ขึ้นมาอีก นับเป็นชุดที่ 4 และตามด้วยคณะกรรมการชุดที่ 5 คือ “คณะกรรมการกลุ่มจังหวัดในการระบายน้ำ”
ในบรรดาคณะกรรมการและคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ตั้งขึ้นมาข้างต้นนั้น แม้จะมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน แต่นายกฯ ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีหรือรองประธาน ทำหน้าที่แทน โดยคณะกรรมการบริหารจัดการปัญหาอุทกภัยดินโคลนถล่มและภัยแล้ง มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่เป็นประธาน ส่วนคณะทำงานบริหารจัดการน้ำ และการเตือนภัยในพื้นที่ 25 ลุ่มน้ำ มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ออกมาแสดงบทบาทแทนนายกรัฐมนตรี
ศอส. ซึ่งถูกคาดหมายว่า จะเป็นหน่วยงานที่แก้ไขปัญหาภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะอย่างน้อยก็มี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นแม่งาน แต่ขนาดของปัญหารุนแรงเกินกว่าจะรับมือไหว ที่สำคัญทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้นั่งหัวโต๊ะ ไม่ได้ใช้กลไกนี้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างทันท่วงที ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ศอส.กลับใช้เวลาในภาวะวิกฤตเร่งด่วนประชุมออกระเบียบจัดตั้งสำนักงานและวางแผนแก้ไขปัญหาระยะยาวแทน
ยงยุทธ วิชัยดิษฐ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ คอส. เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ทำกันอยู่เป็นการแก้แบบชั่วคราว แก้ทุกปี ใช้เวลาและใช้เงินมาก แต่แก้ปัญหาถาวรไม่ได้ เป็นลักษณะวกวนอยู่ในวังวนของราชการ การประกาศจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งถือเป็นเงาหรือการนำร่องตั้งกระทรวงน้ำ โดยเปิดให้ทุกฝ่ายมาระดมความคิดกันคาดว่าจะได้ผลในการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร
ถัดจากนั้นเพียงหนึ่งวัน นายกรัฐมนตรี ได้ออกประกาศระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารจัดการแก้ปัญหาอุทกภัย ดินโคลนถล่มและภัยแล้ง พ.ศ. 2554 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เพื่อให้มีการบูรณาการการดําเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ดินโคลนถล่มและภัยแล้ง ให้เป็นไปอย่างมีเอกภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย สมควรให้มี “คณะกรรมการบริหารจัดการแก้ปัญหาอุทกภัย ดินโคลนถล่มและภัยแล้ง” เป็นกลไกในการดําเนินการดังกล่าว และให้มี “สํานักงานคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ปัญหาอุทกภัย ดินโคลนถล่ม และภัยแล้ง” ทําหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ปัญหาอุทกภัยฯ
คณะกรรมการฯ ชุดนี้ มีทั้งหมด 12 คน โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และรมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นรองประธานคนที่ 1 รมว.กระทรวงเกษตรฯ เป็นรองประธานคนที่ 2 ส่วนรมว.กระทรวงทรัพยากรฯ ซึ่งดูแลกรมทรัพยากรน้ำโดยตรง เป็นเพียงกรรมการ
การตั้งคณะกรรมการ คณะทำงานชุดแล้วชุดเล่า และการตระเวนลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมของนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นแต่อย่างใด
ความช่วยเหลือที่ยังไปไม่ถึง ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่น้ำท่วมและไม่ท่วมเพราะคันกั้นน้ำ การพังทลายของคันกั้นน้ำเข้าท่วมนิคมอุตสาหกรรม เรือกสวนไร่นา บ้านเรือนประชาชน ยังไม่มีทีท่าว่าจะบรรเทาเบาบางลง ล่าสุด นายกรัฐมนตรี ก็ประกาศตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นั่งหัวโต๊ะบัญชาการด้วยตนเอง และมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.กระทรวงยุติธรรม เป็นผู้อำนวยการ พร้อมด้วยรัฐมนตรีอีก 7 คน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงทีและทันต่อเหตุการณ์
การจัดตั้ง ศปภ. เพื่อกู้วิกฤตน้ำท่วมอย่างเร่งด่วนโดยประสานสิบทิศทั้งกองทัพที่เพื่อไทยพักรบ(ชั่วคราว)และกทม.ที่อยู่ต่างขั้วการเมือง จึงเป็นเหมือนปราการป้องกันวิกฤตรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่ให้มาเร็วเกินคาด เพราะยังไม่ทันไร ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ หลุดปากว่า ศปภ.ประเมินมวลน้ำหลากในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาผิดพลาดจึงเกิดเหตุน้ำท่วมสูงขึ้น ก่อนที่ ยิ่งลักษณ์ จะออกมาปัดพัลวัลว่าไม่ใช่การประเมินผิดพลาดของ ศปภ.แต่เกิดจากกรณีที่ประชาชนแต่ละพื้นที่สร้างคันกั้นน้ำไว้