xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.เผยยอดบริจาคน้ำท่วม 36 ล้าน เสียงแตกตั้งกระทรวงน้ำคุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา (แฟ้มภาพ)
ประธานวุฒิฯ เผยยอดบริจาคน้ำท่วมรวมกว่า 36 ล้าน “หมอเจตน์” เสนอประชุมร่วมอภิปรายอุทกภัย แนะรัฐอย่าทำเป็นน้ำเต็มแก้ว ชี้ประชาสัมพันธ์ชาวบ้านห่วย จี้ทบทวนตั้งกระทรวงน้ำบริหารจัดการและคุมภัยพิบัติ ด้าน “ส.ว.สุรศักดิ์” ค้าน หวั่นกว่าจะเสร็จนานเกิน แนะตั้งกองทุนแทน แต่ชี้รัฐแก้ไม่ได้สะท้อนประสิทธิภาพงาน “ส.ว.ตรึงใจ” หนุนตั้งสภาการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานและการผังเมือง จัดระเบียบพื้นที่


วันนี้ (10 ต.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมวุฒิสภา โดยมี พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งก่อนหน้าเข้าสู่วาระการประชุม พล.อ.ธีรเดชได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา วุฒิสภาได้จัดรายการ “ร่วมใจช่วยภัยน้ำท่วม” ผ่านทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 โดยได้รับยอดเงินบริจาคทั้งสิ้น 36,0046,909 บาท ซึ่งจะมีการนำเงินส่วนนี้ไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมต่อไป

จากนั้น นพ.เจตน์ ศิรธารนนท์ ส.ว.สรรหา ได้เสนอญัตติด่วนเพื่อให้ที่ประชุมร่วมอภิปรายถึงปัญหา และแนะนำแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด โดย นพ.เจตน์กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลนำข้อคิดเห็นของวุฒิสภาไปปฏิบัติเป็นแผนแก้ไขและฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย อย่าทำตัวเป็นน้ำที่เต็มแก้ว และคิดว่าข้อเสนอของ ส.ว.นั้นรัฐบาลได้ทำอยู่แล้ว รวมทั้งแนวทางการจัดการปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งตลอด 3-4 วันที่ผ่านมา ตนได้ติดตามข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ พบว่ามีข้อมูลที่ดี แต่กลับไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้ เพื่อติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์ และหาทางป้องกันตัวเอง ทำให้เกิดสภาพของประชาชนที่หนีน้ำท่วมไม่ทัน เป็นภาพที่ปรากฏทางสื่อโทรทัศน์และวิทยุ ทั้งที่รัฐบาลมีแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของชาติ พ.ศ. 2553-2557 ที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ และมีหน่วยงานดูแลโดยตรง คือ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย แต่ไม่สามารถสื่อสารข้อมูลถึงชาวบ้านได้ จึงถือเป็นความบกพร่องที่หน่วยงานราชการต้องแก้ไข

นพ.เจตน์ยังได้เสนอให้รัฐบาลทบทวนการตั้งกระทรวงน้ำ เพื่อมาเป็นหน่วยงานที่จะเข้ามาบริหารจัดการเรื่องน้ำและภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยชี้แจงว่าการตั้งกระทรวงน้ำไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยมี ส.ส.ร่วมกันเข้าชื่อเสนอมาตั้งแต่ปี 36 แล้ว ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการตั้งกระทรวงใหม่ที่สิ้นเปลืองงบประมาณ เพียงแต่ให้ดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาจากระทรวงอื่น เช่น กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า และการประปานครหลวง เป็นต้น หรืออาจจะดึงหน่วยงานที่เกี่ยวกับภัยพิบัติเข้ามาร่วมด้วย เช่น ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมอุตุนิยมวิทยา และสำนักการระบายน้ำ กทม.เป็นต้น อีกทั้งขอเสนอให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการปรับปรุง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกฎหมายฉบับอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันล้าสมัยไปมาก ทำให้มีการใช้น้ำอย่างไร้ระบบ และการเบิกใช้งบประมาณเป็นไปด้วยความล่าช้า

“สถานการณ์วันนี้สุกงอมแล้ว มีความจำเป็นเพียงพอต่อการตั้งกระทรวงน้ำขึ้น เพื่อให้การจัดการน้ำครอบคลุมทุกด้าน เพราะงานทุกงานที่เกี่ยวกับน้ำกระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ ทำให้ขาดการบูรณการ ซ้ำซ้อนสิ้นเปลืองงบประมาณ หากมีการตั้งกระทรวงน้ำได้จะทำให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และการทำงานมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด มีข้อมูลฐานเดียวกัน จึงขอให้รัฐบาลเร่งทบทวนว่าถึงเวลาหรือยัง” นพ.เจตน์ระบุ

ขณะที่ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการตั้งกระทรวงน้ำ เพราะกว่าที่จะแก้กฎหมาย หรือจัดตั้งกระทรวงขึ้นมาแล้วเสร็จ ก็ไม่ทันต่อการแก้ปัญหา ที่ผ่านมาประเทศไทยมักหลงทางเมื่อมีปญหาก็จัดตั้งกระทรวงหรือหน่วยงานใหม่ขึ้น แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ในเรื่องของปัญหาอุทกภัยนั้นเชื่อว่ากรมชลประทานมีข้อมูลที่เพียงพอ แต่ยังขาดในส่วนของบุคลากรและงบประมาณ ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งสนับสนุนให้แก่กรมชลประทาน การที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพการบริหารงานของรัฐบาล ทั้งที่ประชาชนได้มอบความไว้วางใจให้ และมีการโยกย้ายข้าราชการได้ภายใน 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ในอนาคตที่โลกกำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อนอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นควรเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อรับมือภัยที่กำลังจะเกิดขึ้น

ด้าน นางตรึงใจ บูรณสมภพ ส.ว.สรรหา ได้เสนอให้มีการตั้งหน่วยงานในเดียวกับสภาการพัฒนาเศรษจกิจแห่งชาติ ภายใต้ชื่อสภาการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานและการผังเมือง เพื่อดูแลการใช้พื้นที่ให้เหมาะสมในอนาคตที่จะมีประชากรมากขึ้น และป้องกันไม่ให้มีการสร้างหมู่บ้านจัดสรร หรือนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่ไม่ควรสร้าง และเป็นผลให้ประสบปัญหาอุทกภัยขนาดใหญ่ ซึ่งเห็นตัวอย่างแล้วจากสภาพของ จ.พระนครศรีอยุธยาในขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น