xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ระดมกระสอบทรายอุดรังสิต-ตลิ่งชัน ปัดประกาศภาวะภัยพิบัติ - จีนช่วย 80 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกจากท่าอากาศยานดอนเมือง ไปยังสนาม ฮ.ชั่วคราว ที่อำเภอบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำท่วม
นายกฯ ประชุม ศปภ.สั่ง 10 ผวจ.แบ่งงาน 3 ด้าน เผยอพยพชาวลพบุรีเข้าค่ายทหารแล้ว 30,000 คน วอนเอกชนขายรัฐ คาด สัปดาห์นี้พายุยังเข้าไม่ถึงไทย ยันยังไม่ใช้ภาวะภัยพิบัติ ระบุจีนบริจาคร่วม 80 ล้าน “เพรียวพันธ์” ส่ง 50 ตร.ปากน้ำช่วยจราจรกรุงเก่า “ประชา” โยน รมว.อุตฯ หาหินฝุ่นแทนทราย ระดม 1.7 ล้านกระสอบทรายคุมโซนคลองรังสิต-ตลิ่งชัน ให้เสร็จก่อน 13 ต.ค. ระบายน้ำป่าสักลงแสนแสบ






วันนี้ (10 ต.ค.) ที่ศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ศปภ. สนามบินดอนเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ศปภ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหาและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ ก่อนแถลงว่า จากโดยรวมที่ได้มีการสั่งการให้ผู้ว่าราชการ 10 จังหวัดเข้าไปดำเนินการโดยแบ่งงานทั้งหมดออกเป็น 3 ด้าน คือ การปฏิบัติการป้องกันในพื้นที่ ด้านการอพยพ และด้านการสนับสนุนเสบียงอาหารและกำลัง สำหรับจังหวัดที่ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ เช่น จ.ลพบุรี ซึ่งวันนี้ได้มีการใช้ค่ายทหารทั้งหมด 9 ค่ายจึงจะสามารถรองรับประชาชนได้ถึง 57,000 คน แต่ในเวลานี้ ประชาชนได้ย้ายเข้าไปอยู่ในค่ายจำนวน 30,000 คนแล้ว

สำหรับจังหวัดนครสวรรค์ยังมีความต้องการในเรื่องของการอพยพ อาหาร และน้ำดื่มอยู่บ้าง ส่วนในเรื่องของเรือท้องแบนได้มีการประสานขอไปเรียบร้อยแล้ว ส่วน จ.พระนครศรีอยุธยา วันนี้สถานการณ์ล่าสุด นิคมอุตสาหกรรมที่แบ่งเป็น 3 โซน ซึ่งโซนที่ 1 น้ำได้เข้าไปแล้ว แต่ได้มีการนำเครื่องจักรออกไปก่อนหน้านี้แล้ว สำหรับโซนที่ 2 เริ่มมีน้ำซึม ซึ่งจะต้องมีการกู้และป้องกัน โดยทางแม่ทัพภาคที่ 1 รับผิดชอบพื้นที่ดังกล่าว แต่ยังขาดในเรื่องของการทำแนวป้องกั้นน้ำระยะทาง 50 เมตร แต่ยังมีปัญหากับชาวบ้าน ซึ่งตนได้สั่งการให้แม่ทัพและผู้ว่าราชการจังหวัดไปทำความเข้าใจ เพราะหากน้ำเข้ามาจะมีผลกระทบส่วนท้ายของคลองรังสิต ฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องในกรุงเทพมหานคร ส่วนของพื้นที่รังสิตคลอง 5 จะมีการระดมกระสอบทรายทั้งหมด 1.5 ล้านใบ แต่ยังมีปัญหาในเรื่องของการจัดหาซื้อกระสอบทราย ซึ่งอยากขอความกรุณาภาคเอกชนที่มีสต๊อกตรงนี้ให้แจ้งมายังหน่วยงานราชการ เพราะเราจะรับซื้อทั้งหมดเพื่อเร่งในการทำแนวกั้นน้ำโดยเร็วที่สุด

สำหรับสถานการณ์ภาพรวม ของการพยากรณ์อากาศวันนี้ หลังจากการหารือกับกรมอุตุฯ ระหว่างวันที่ 10-16 ต.ค.54 คาดว่าพายุยังเข้ามาไม่ถึงประเทศไทย ซึ่งไม่รวมกับปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหากเป็นไปตามที่คาดการณ์ ปริมาณน้ำจะยังไม่สูงไปมากกว่านี้ ซึ่งจะต้องมีการติดตามสถานการณ์ในทุกวัน ส่วนคอลเซ็นเตอร์จนถึงวันนี้มีผู้ที่โทร.เข้ามาทั้งหมด 69,000 ราย ขอทราบข้อมูลทั่วไป 40,000 ราย และได้มีการสั่งงานให้โฆษก ศปภ.แจ้งไปยังสถานีโทรทัศน์และสื่อมวลชนทุกแขนงช่วยประชาสัมพันธ์ชี้แจงข้อมูลข่าวสารเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจต่อพี่น้องประชาชน ส่วนที่ข้อความช่วยเหลือมีทั้งหมด 1,586 ราย ซึ่งเราได้ช่วยเหลือไปแล้ว 700 กว่าราย ส่วนที่เหลืออยู่ในระหว่างการดำเนินการ เช่น จ.พระนครศรีอยุธยา ประชาชนในจังหวัดเกรงว่าจระเข้จะหลุดจากฟาร์มกว่า 600 ซึ่งเรื่องนี้แม่ทัพภาคที่ 1 ได้รับไปแก้ไขเรียบร้อยแล้วตนได้เชิญทางกรุงเทพมหานครเข้ามาร่วมทำงานใน ศปภ.เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาการจราจรในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากกรณีที่ประชาชนนำรถมาจอดบนสะพานจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร พ.ต.อ.เพรียวพันธ์กล่าวว่า ในส่วนของตำรวจพระนครศรีอยุธยาซึ่งมีภารกิจเต็มมืออยู่แล้ว ทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้สั่งให้ตำรวจที่มีหน้าที่ด้านการจราจรโดยตรงจาก จ.สมุทรปราการ ไปเสริมกำลัง 50 นาย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตนคาดว่าการจราจรจะคลี่คลายได้ในวันนี้

ด้านนายประชากล่าวถึงกรณีที่กระสอบทรายขาดแคลนว่า ขณะนี้ทรายขาดแคลนแต่ได้ใช้หินฝุ่นแทน ซึ่งหินฝุ่นนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้รับผิดชอบ โดยประสานกับโรงงานหินคลุก หินฝุ่นแล้ว และสามารถจัดซื้อได้แล้ว แต่ปัญหาขณะนี้คือเราต้องการกระสอบทรายสอบ 1.7 ล้านใบ ซึ่งขณะนี้ได้รับบริจาคมาแล้ว 5 แสนใบ ซึ่งยังขาดอีก 1.2 ล้านใบ ซึ่งเราได้เร่งจัดหาโดยด่วน สำหรับหินคลุกหินฝุ่นนั้นจะมีปัญหาเรื่องการขนส่ง ซึ่ง รมว.คมนาคมกำลังแก้ปัญหา รวมถึงเรื่องยานพานะที่จะต้องนำไปส่งใน 3 จุดหลักที่เราทำแนวป้องกันใน กทม.คือ 1.เมืองเอก ที่ทำแนวป้องกันระยะทาง 10 กม. ซึ่งทาง ศปภ.จะรับผิดชอบ 2 กม. จากนั้นจะเป็นการประปาร่วมกับ กทม.และ จ.ปทุมธานี ในการทำแนวป้องกัน 2.ตลิ่งชัน บริเวณด้านหลังมหาวิทยาลัยมหิดล 3.รังสิต คลอง 5

นายประชากล่าวอีกว่า การระบายน้ำจากที่นายกฯ สรุป รมว.เกษตรฯ และอธิบดีกรมชลประทานจะระบายน้ำจากแม่น้ำป่าสักลงไปยังคลองรพีพัฒน์ จากนั้นจะลงไปทางคลองแสนแสบ และลงทะเลซีกด้านตะวันออก และสภาพพื้นที่ฝั่งแม่น้ำท่าจีนฝั่งตะวันตกจะสามารถระบายน้ำได้หรือไม่เป็นจุดที่นายกฯ ไปดูเพิ่มเติม สำหรับความกังวลจุดสกัดที่รังสิต เมืองเอก และตลิ่งชัน จะสามารถสกัดไม่ให้เข้ามายัง กทม.ได้หรือไม่นั้น ตนพยายามจะจัดการทั้ง 3 จุดให้เสร็จในวันที่ 13 ต.ค.

ด้าน นายกฯ กล่าวว่า เรามีเวลา 2 วัน และสิ่งที่ไม่มั่นใจคือเราต้องระดมในเรื่องอุปกรณ์กระสอบทราย วันนี้เราใช้เจ้าหน้าที่ทั้งหมดในการวางเรียงทรายอยู่แล้ว โดยมีทางด้านของกรมโยธา และกรมชลฯ ไปตรวจสอบในพื้นที่ให้แน่ใจว่าการเรียงนั้นถูกวิธีและสามารถกั้นน้ำได้ ขณะนี้เราทำงานแข่งกับเวลาอยู่ และคิดว่าต้องทำให้ทัน

เมื่อถามว่า วันที่ 13-17 ต.ค.จะเป็นช่วงอันตรายเนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูงสุดในรอบปี จะป้องกันอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้นจากการประเมินของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ระบุว่าพายุที่พัดผ่านอาจจะยังไม่มาถึงเมืองไทยอาจจะไปอยู่บริเวณทางตอนเหนือไทยขึ้นไป สำหรับสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่อยู่ในเขตปลอดภัย ณ วันนี้เราไม่อยากจะนิ่งนอนใจ เพราะปริมาณน้ำฝนยังไม่ชัดเจน

น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า สภาพอากาศขณะนี้ร่องอากาศต่ำที่พาดผ่านในส่วนของภาคกลางตอนล่าง และกรุงเทพมหานคร ผ่านไปยังภาคตะวันออก ขณะนี้สภาพอากาศต่ำ ปกติในฤดูฝนไม่ใช่อิทธิพลของพายุแต่อย่างใด ดังนั้น ร่องความกดอากาศดังกล่าวจะส่งผลให้มีอิทธิพลเกิดฝน ขณะที่ตัวแทนกรมอุตุนิยมวิทยาชี้แจงว่า ขณะนี้พายุที่จะเข้ามายังอยู่ในฝั่งตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งยังไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย ในเวลาเดียวกันจะมีความกดอากาศสูงจากประเทศจีนลงมาในช่วงจังหวะนั้น พายุตัวนี้ที่จะเคลื่อนไปยังประเทศไทย โดยข้ามเกาะฟิลิปปินส์

เมื่อถามว่า ขณะนี้จะสามารถประกาศเป็นภาวะภัยพิบัติได้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่ถึงขั้นนั้น ขณะที่เรากำลังทำงานใน ศปภ.สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จึงไม่จำเป็นในขณะนี้ แต่ก็ต้องมีการประเมินในพายุลูกใหม่ที่จะเข้ามามากกว่า

ซักต่อว่า สถานการณ์วิกฤตทางธรรมชาติในขณะนี้ มั่นใจใช่หรือไม่ว่าไทยยังสามารถรับมือได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องพึ่งความช่วยเหลือจากต่างประเทศ นายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็น แต่ขณะเดียวกัน บางประเทศได้มีการเสนอที่จะให้ความช่วยเหลือประเทศไทย เช่น ประเทศจีนได้บริจาคให้ประเทศไทยจำนวน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนความช่วยเหลือในด้านสิ่งของบริจาคให้ 10 ล้านหยวน ซึ่งรวมมูลค่าแล้วว่า 80 ล้านบาท

เมื่อถามว่า มีแผนรับมือน้ำเหนือที่จะไหลมาจากเขื่อนภูมิพลอย่างไร นายธีระกล่าวว่า จากความกดอากาศจากประเทศจีนจะทำให้ฝนน้อยลง ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลซึ่งขณะนี้ความจุอยู่ที่ปริมาณ 99.9 เปอร์เซ็นต์ แนวโน้มน้ำที่จะไหลสู่เจ้าพระยา ปิง วัง ยม น่าน โดยเฉพาะลำน้ำที่ชุมแสงจะทรงตัว ซึ่งเป็นเวลาเกือบเดือนแล้ว ส่วนลุ่มแม่น้ำปิงหลังจากเขื่อนภูมิพลระบายแล้ว ประกอบกับฝนตกหนักที่ จ.ลำปาง และ จ.กำแพงเพชร ขึ้นสูงสุดแล้วที่ อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ เท่าที่ดูมีแนวโน้มจะลดลงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำปิง วัง ยม น่าน จะมารวมตัวกันที่นครสวรรค์ ซึ่ง 3 วันที่ผ่านมาน้ำยังคงทรงตังอยู่ จึงทำให้มั่นใจว่าน้ำที่มาจากด้านบนและคาดการณ์ว่าในวันที่ 12 และ 13 ตุลาคมนี้น้ำน่าจะไม่เกินกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ สำหรับน้ำที่ผ่านมายังเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ที่ทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ดังนั้นน้ำที่จะมาคงไม่เกินที่คาดการณ์ไว้ หากยังเป็นอย่างนี้ในส่วนของ กทม.ยังพอรับมือได้ ส่วนที่ห่วงคือน้ำที่ทะลักอยู่ในทุ่ง เพราะน้ำที่ลงมาจาก จ.ลพบุรี และลงมา จ.พระนครศรีอยุธยา และจากแม่น้ำป่าสักก็จะวกอยู่ใน จ.พระนครศรีอยุธยา ดังนั้น จุดที่เฝ้าระวังอย่างเมือเอก รังสิตคลอง 5 ตรงนี้จะเป็นจุดอ่อนซึ่งจะต้องเร่งรัดป้องกัน

นายกฯ กล่าวอีกว่า โดยสรุปปริมาณน้ำจากเหนือไหลลงมายังเหนือตอนล่าง ทำให้ปริมาณน้ำเหนือตอนล่างจาก จ.นครสวรรค์ลงมาปริมาณน้ำมากขึ้น จะจะส่งผลกระทบภาคกลาง แต่สิ่งที่เราสบายใจเพิ่มขึ้นคือพายุลูกใหม่ไม่ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น แต่จะเป็นน้ำไหลตามธรรมชาติที่คร่อมลงมาทางภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ดังนั้นสิ่งที่เราทำ คือ มาตรการดังนี้ 1.ตั้งเครื่องผันน้ำไปยังจุดต่างๆ โดยกรมชลประทานเป็นผู้รับผิดชอบ 2.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รับผิดชอบในการระดมเรือประมาณ 1,000 ลำ ตามคลองต่างๆ เพื่อผันน้ำออกสู่ทะเล 3.ขอความร่วมมือจากกรมเจ้าท่า โดยให้งดการจราจรทางน้ำในช่วงต้นเพื่อจะให้น้ำระบายได้เต็มที่ 4.ผักตบชวา แต่ละจังหวัดจะต้องจัดการในพื้นที่ของตนเองเพื่อให้น้ำระบายออกได้ง่าย 5.ถ้าน้ำไหลลงมาจบที่ กทม. เราจะทำการป้องกันในส่วนที่เป็นรอยต่อทั้งหมด ทุกจังหวัดที่เราต้องรักษา ส่วนที่เหลือเราจะขุดคลองช่วย ทั้งหมด 5 คลอง โดยใช้เวลา 7 วัน และขณะนี้กำลังเร่งอาจจะเลือกความสำคัญจาก 2 คลองที่เป็นคลองใหญ่เพื่อแก้ปัญหารองรับ

เมื่อถามย้ำว่า มั่นใจหรือไม่ว่าจุดสกัดทั้ง 3 จุด เมืองเอก รังสิต และตลิ่งชัน จะสามารถสกัดน้ำได้ นายกฯ กล่าวว่า ขออนุญาตเรียนว่าตอบยากจริง เนื่องจากปริมาณน้ำค่อนข้างประมาณการยาก

จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมด้วย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกลาโหม รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พล.และนายชลิต ดำรงศักดิ์ เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกจากท่าอากาศยานดอนเมือง ไปยังสนาม ฮ.ชั่วคราว ที่อำเภอบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา จากนั้นเดินทางโดยรถยนต์ไปยังศูนย์ราชการ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำและการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในภาพรวม จากนายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้นไปตรวจเยี่ยมศูนย์อพยพและศูนย์รับบริจาคด้านหน้าศูนย์ราชการ ก่อนเดินทางไปยังเจดีย์วัดสามปลื้มเพื่อแจกถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบภัย พร้อมกันนี้จะขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อตรวจสถานการณ์น้ำโดยรอบก่อนเดินทางกลับ กทม.















กำลังโหลดความคิดเห็น