xs
xsm
sm
md
lg

ปูสั่งตั้งแนวกันน้ำ3จุดสกัดน้ำทะลักกรุงเทพฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- นายกฯประชุม ศปภ. สั่งเร่งตั้งแนวกันน้ำ 3 จุดที่ "เมืองเอก-รังสิตคลอง 5 -ตลิ่งชัน" สกัดน้ำทะลักเข้ากรุงฯ ยอมรับสถานการณ์น้ำไม่ปลอดภัย คาดการณ์ยาก ด้านส.ว.จวกรัฐบาลอืดอาด ล่าช้า ไม่มีแผนรับมือล่วงหน้า แนะประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่วิกฤติหนัก ขณะที่ฝ่ายค้านพร้อมร่วมมือกู้วิกฤติ แนะเลิกโครงการรถยนต์คันแรก เอางบมาช่วยเหลือผู้ประสบภัยก่อนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ตั้งครัวพระราชทานช่วยชาวอยุธยา

เมื่อเวลา 09.00 น.วานนี้ (10 ต.ค.) ที่ ศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ. ) สนามบินดอนเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ศปภ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหา และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ

หลังการหารือ นายกรัฐมนตรี แถลงว่า จากที่ได้มีการสั่งการให้ผู้ว่าราชการ 10 จังหวัด เข้าไปดำเนินการโดยแบ่งงานทั้งหมดออกเป็น 3 ด้าน คือ การปฏิบัติการป้องกันในพื้นที่ ด้านการอพยพ และด้านการสนับสนุนเสบียงอาหาร

ทั้งนี้ จังหวัดที่ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ เช่น จ.ลพบุรี ก็ได้มีการใช้ค่ายทหารทั้งหมด 9 ค่าย รองรับประชาชนได้ถึง 57,000 คน แต่ในเวลานี้ประชาชนได้ย้ายเข้าไปอยู่ในค่าย 30,000 คนแล้ว

สำหรับ จ.นครสวรรค์ ยังมีความต้องการในเรื่องของการอพยพ และในเรื่องของอาหาร และน้ำดื่ม ส่วนในเรื่องของเรือท้องแบนได้มีการประสานขอไปเรียบร้อยแล้ว

ส่วน จ.พระนครศรีอยุธยา ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ซึ่งแบ่งเป็น 3 โซน โดยโซนที่ 1 น้ำได้เข้าไปแล้ว แต่ได้มีการนำเครื่องจักรออกไปก่อนหน้านี้แล้ว สำหรับโซนที่ 2 เริ่มมีน้ำซึม ซึ่งจะต้องมีการกู้ และป้องกัน โดยทางแม่ทัพภาคที่ 1 รับผิดชอบพื้นที่ดังกล่าว แต่ยังขาดในเรื่องของการทำแนวป้องกั้นน้ำ ระยะทาง 50 เมตร แต่ยังมีปัญหากับชาวบ้าน ซึ่งตนได้สั่งการให้แม่ทัพ และผู้ว่าราชการจังหวัด ไปทำความเข้าใจ เพราะหากน้ำเข้ามาจะมีผลกระทบส่วนท้ายของคลองรังสิต ฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องในกรุงเทพมหานคร ส่วนของพื้นที่รังสิต คลอง 5 จะมีการระดมกระสอบทรายทั้งหมด 1.5 ล้านใบ แต่ยังมีปัญหา ในเรื่องของการจัดหาซื้อกระสอบทราย จึงอยากขอความกรุณาภาคเอกชนที่มีสต็อกตรงนี้ ให้แจ้งมายังหน่วยงานราชการ เพราะเราจะรับซื้อทั้งหมด เพื่อเร่งในการทำแนวกั้นน้ำ โดยเร็วที่สุด

สำหรับสถานการณ์ภาพรวม ของการพยากรณ์อากาศ หลังจากากรหารือกับกรมอุตุฯ ระหว่างวันที่10-16 ต.ค. นี้ คาดว่าพายุยังเข้ามาไม่ถึงประเทศไทย ซึ่งไม่รวมกับปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหากเป็นไปตามที่คาดการณ์ ปริมาณน้ำจะยังไม่สูงไปมากกว่านี้ ซึ่งจะต้องมีการติดตามสถานการณ์ในทุกวัน

ส่วนคอลเซ็นเตอร์จนถึงวันนี้ มีผู้ที่โทรเข้ามาทั้งหมด 69,000 ราย ขอทราบข้อมูลทั่วไป 40,000 ราย และได้มีการสั่งานให้โฆษก ศปภ. แจ้งไปยังสถานีโทรทัศน์ และสื่อมวลชนทุกแขนง ช่วยประชาสัมพันธ์ชี้แจงข้อมูลข่าวสาร เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจแก่พี่น้องประชาชน ส่วนที่ขอความช่วยเหลือมีทั้งหมด 1,586 ราย ซึ่งเราได้ช่วยเหลือไปแล้ว 700 กว่าราย ส่วนที่เหลืออยู่ในระหว่างการดำเนินการ เช่น จ.พระนครศรีอยุธยา ประชาชนในจังหวัดเกรงว่าจระเข้จะหลุดจากฟาร์มกว่า 600 ตัว ซึ่งเรื่องนี้แม่ทัพภาคที่ 1 ได้รับไปแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ตนได้เชิญทางกทม. เข้ามาร่วมทำงานในศปภ. เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

** ทำแนวป้องกันกทม. 3 จุดหลัก

ด้านพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก กล่าวถึงกรณีที่กระสอบทรายขาดแคลนว่า ขณะนี้ทรายขาดแคลน แต่ได้ใช้หินฝุ่นแทน ซึ่งหินฝุ่นนี้ รมว.อุตสาหกรรม เป็นผู้รับผิดชอบ โดยประสานกับโรงงานหินคลุก หินฝุ่นแล้ว และสามารถจัดซื้อได้แล้ว แต่ปัญหาขณะนี้คือเราต้องการกระสอบ 1.7 ล้านใบ ซึ่งขณะนี้ได้รับบริจาคมาแล้ว 5 แสนใบ ซึ่งยังขาดอีก 1.2 แสนใบ ซึ่งเราได้เร่งจัดหาโดยด่วน

สำหรับหินคลุกหินฝุ่นนั้น จะมีปัญหาเรื่องการขนส่ง ซึ่งรมว.คมนาคม กำลังแก้ปัญหา รวมถึงเรื่องยานพานะที่จะต้องนำไปส่งใน 3 จุดหลัก ที่เราทำแนวป้องกันในกทม. คือ

1. เมืองเอก ที่ทำแนวป้องกันระยะทาง 10 กม. ซึ่งทางศปภ.จะรับผิดชอบ 2 กม. จากนั้นจะเป็นการประปาร่วมกับกทม.และจ.ปทุมธานี ในการทำแนวป้องกัน
2. ตลิ่งชัน บริเวณด้านหลังมหาวิทยาลัยมหิดล
3. รังสิต คลอง 5

พล.ต.อ.ประชา กล่าวอีกว่า การระบายน้ำจากที่ท่านนายกฯ สรุป รมว.เกษตรฯ และ อธิบดีกรมชล จะระบายน้ำจากแม่น้ำป่าสักลงไปยังคลองรพีพัฒน์ จากนั้นจะลงไปทางคลองแสนแสบ และลงทะเลซีกด้านตะวันออก และสภาพพื้นที่ฝั่งแม่น้ำท่าจีนฝั่งตะวันตก จะสามารถระบายน้ำได้หรือไม่ เป็นจุดที่นายกฯไปดูเพิ่มเติม

สำหรับความกังวลจุดสกัดที่รังสิต เมือเอก และตลิ่งชัน จะสามารถสกัดไม่ให้เข้ามายัง กทม.ได้หรือไม่นั้น ตนพยายามจะจัดการทั้ง 3 จุด ให้เสร็จในวันที่ 13 ต.ค.

**นายกฯยังไม่ประกาศภาวะภัยพิบัติ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นต้องประกาศเป็นภาวะภัยพิบัติ เชื่อว่าการทำงานในศปภ. สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จึงไม่จำเป็น แต่ก็ต้องมีการประเมินในพายุลูกใหม่ที่จะเข้ามามากกว่า และขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ แต่ก็มีบางระเทศได้เสนอที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทย เช่น ประเทศจีน ได้บริจาคเงินช่วยเหลือ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนความช่วยเหลือในด้านสิ่งของบริจาคให้ 10 ล้านหยวน ซึ่งรวมมูลค่าแล้วว่า 80 ล้านบาท

**ส.ว.แนะประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ในการประชุมวุฒิสภาเมื่อวานนี้ (10 ต.ค.) ช่วงก่อนเข้าสู่วาระการประชุม ได้มี ส.ว.ขอปรึกษาหารือ ถึงประเด็นปัญหาอุทกภัยในหลายจังหวัด โดยนายสุเมธ ศรีพงษ์ ส.ว.นครราชสีมา เสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 เพื่อให้มีความทันสมัย และสามารถรับมือกับภัยสาธารณะได้ เพราะปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ให้อำนาจกับผู้ว่าราชการจังหวัดไว้ นอกจากนั้นแล้ว เมื่อเกิดปัญหาจำเป็นต้องบูรณาการทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน

นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา เสนอให้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพราะปัญหาอุทกภัยในปัจจุบันไม่สามารถใช้วิธีแก้ไขปัญหาแบบเดิม เช่น การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลได้ เนื่องจากปัญหามีความซับซ้อน ยากกว่าที่คณะทำงานในรูปแบบปกติจะทำได้

ทั้งนี้ การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในสถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ สามารถทำได้ และเมื่อมีการประกาศใช้แล้วจะทำให้นายกรัฐมนตรี มีอำนาจเต็ม ที่จะสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดมคนเข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานที่เข้าไปช่วยเหลือสามารถนำงบประมาณออกมาใช้ได้โดยไม่ต้องรอ และที่สำคัญในท้ายของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้กำหนดให้อธิบดีป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นกรรมการ และเลขานุการ จึงเชื่อว่า พ.ร.ก. ดังกล่าว จะแก้ไขปัญหาได้

** จวกรัฐบาลชักช้า ไม่มีแผนรับมือ

ขณะที่ น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี กล่าวว่า รัฐบาลทราบมาตั้งแต่เดือน ก.ค.ว่า จะเกิดภาวะน้ำท่วม แต่รัฐบาลไม่ได้ตั้งคณะกรรมการดูแลทั้งที่เรื่องของน้ำเป็นปัญหาทุกปี จนมาถึงวันนี้ภัยพิบัติเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้เห็นว่าในช่วงที่เกิดวิกฤต รัฐบาลกลับมุ่งที่จะทำให้นโยบายหาเสียงใช้ได้ ดึงดันรับโครงการจำนำข้าวให้เริ่มได้ในวันที่ 7 ต.ค. ตามที่ประกาศไว้ ทั้งที่ชาวนาทุกข์ยาก ไม่มีข้าวมาจำนำ

น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. เห็นว่า ปัญหาอุทกภัยในขณะนื้ เป็นเพราะฝ่ายการเมืองขาดการตัดสินใจอย่างทันท่วงที แม้ว่าขณะนี้จะมีคนที่มีความรู้เรื่องน้ำอยู่จำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตนยังไม่เห็นรัฐบาลได้มีการวางแผนที่จะผลักดันน้ำให้ระบายออกไปทางทะเล ก่อนที่ภาวะน้ำทะเลหนุนสูงจะเกิดขึ้นภายใน 1-2 วันนี้ ซึ่งตนมองว่าหากรัฐบาลไม่เร่งดำเนินการ ก็จะไม่ทันการณ์

** วอนตัดหนี้สูญสำหรับคนพิการ

นายมณเฑียร บุญตัน ส.ว.สรรหา หารือว่า จากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นทำให้คนพิการและผู้ด้อยโอกาสได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีคนพิการ และผู้สูงอายุ จำนวนมากที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ

ทั้งนี้ ตนขอวิงวอนไปยังรัฐบาลให้พิจารณาพักชำระหนี้ หรือตัดหนี้เป็นสูญสำหรับคนพิการ ที่เป็นลูกหนี้กองทุนส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หลังจากที่พบว่า คนพิการที่ไปกู้ยืมเงินมาประกอบอาชีพ อย่างไรก็ตามตนได้ข่าวว่าจะมีคนพิการเดินทางไปเยี่ยมคณะรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 11 ต.ค.นี้ ขอให้รัฐบาลให้การต้อนรับด้วย

** ฝ่ายค้านพร้อมร่วมมือกู้วิกฤติ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวภายหลัง การประชุม ครม.เงา นัดพิเศษว่า พรรคประชาธิปัตย์ ห่วงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และจากการประเมินสถานการณ์ คิดว่าจะยืดเยื้อ มีหลายพื้นที่ยังอยู่ในภาวะเสี่ยง

ทั้งนี้ ยืนยันว่าพรรคจะทำหน้าที่อย่างดีที่ เพื่อสุดบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน พร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลแก้ปัญหา เมื่อรัฐบาลเปิดศูนย์ที่ดอนเมือง บูรณาการการทำงาน สถานการณ์จะหนักขึ้น ทั้งนี้ ยังเห็นว่า ส.ส.ของพรรคควรมีส่วนร่วมในการช่วยประชาชน บริจาคเงินทั้งพรรค ยอดอยู่ที่ 5 ล้านบาท

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ เป็นสถานการณ์ที่ประมาทไม่ได้ เพราะในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ลงมาสถานการณ์หนักหน่วงไล่ลงมาถึงกรุงเทพฯ และห่วงปริมาณน้ำที่บางไทร เพราะระดับน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ตัวเลขราชการไม่สอดคล้องกัน ทำให้ประเมินว่า น้ำที่ไหลผ่านน่าจะสูงกว่าที่ตรวจวัดโดยกรมชลประทาน จึงเป็นสถานการณ์ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ภาพน้ำท่วมปรากฏในต่างประเทศอยู่แล้ว การบริหารจัดการป้องกันให้สถานการณ์คลี่คลาย จะสร้างความเชื่อมั่นมากกว่า จึงไม่ควรกังวลในเชิงภาพลักษณ์ เพราะถ้าบริหารดี ความเชื่ออมั่นจะมาเอง

**แนะเลิกโครงการรถยนต์คันแรก

ส่วนการฟื้นฟู เสนอว่าให้รัฐบาลทบทวนกรอบงบประมาณปี 55 เพื่อกันเงินใช้ฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน ที่ได้รับผลกระทบ เพราะไม่ได้จัดไว้อาจจะเกิดปัญหาภายหลัง พร้อมยกตัวอย่าง นโยบายที่ควรยกเลิก เช่น โครงการรถยนต์คนแรก ที่ต้องใช้เงินกว่า 3 หมื่นล้านบาทควรนำเงินดังกล่าวมาฟื้นฟูช่วยเหลือประชาชนดีกว่า

นายอภิสิทธิ์ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดเจ้าภาพที่ชัดเจน ในการบริหารสถานการณ์ในแต่ละส่วน เช่น การจัดหาทราย รัฐบาลต้องมีเจ้าภาพที่ชัดเจน ทั้งการจัดหาและจัดสรร อาจให้ รมว.อุตฯ ดูแล อีกทั้งในสถานการณ์นี้บางพื้นที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ขณะที่บางพื้นที่ต้องรับภาระ การมีโครงสร้างพื้นที่ ที่ต้องดูแลชัดเจน เช่น พื้นที่เศรษฐกิจ หน่วยบริการประชาชน ก็จะทำให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพมากกว่า

ทั้งนี้ในส่วนของ กทม. ส.ส.ของพรรคจะหารือกับกทม. ดูแลชุมชนริมน้ำ กรุงเทพ ฝั่งตะวันออก และในเรื่องขีดความสามารถการระบายน้ำของ กทม. ที่ต้องบริหารจัดการร่วมกับรัฐบาล

**เสื้อแดงยังป่วน "มาร์ค" ไม่เลิก

ต่อมานายอภิสิทธิ์ ได้เดินทางลงพื้นที่จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อมอบถุงยังชีพ ที่ได้รับการบริจาคผ่านโครงการอาสาคนไทยช่วยภัยน้ำท่วม พร้อมกับตรวจเยี่ยม สถานการณ์น้ำบริเวณเขื่อนพระราม 6 ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถพักอาศัยในบ้านเรือนของตัวเองได้ ต้องอาศับเต้นท์บริเวณถนนเป็นที่อยู่ชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนั้นมีหญิงชราเสื้อแดงพยายามชูกระดาษ A4 เขียนข้อความโจมตีนายอภิสิทธิ์ ว่า "ตอนเป็นนายกฯจริงไม่มา เป็นนายกฯเงา ก็ไม่ต้องมา" แต่ถูกชาวบ้านด้วยกัน มากันตัวออกไป และขอร้องให้หยุดเคลื่อนไหวโจมตีนายอภิสิทธิ์ โดยมีชาวบ้านบางคนทนไม่ได้กับพฤติกรรมดังกล่าว ตะโกนสวนขึ้นมาว่า "ไม่ควรทำอย่างนี้ เสียชื่อหมด ขออย่าได้ถือสา เพราะผู้หญิงคนนี้จิตใจไม่ปกติ และโรงพยาบาลปิดทำการ ทำให้ไม่ได้รับยาตามที่กำหนด ก็เลยออกอาการ"

** ตร.ระดมเรือท้องแบนเข้าช่วยเหลือ

พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงษ์ รักษาการ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) กล่าวว่า ได้สั่งให้กองสืบสวน และกองบังคับการ เช่น กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ภาค 7 กองบัญชาการสอบสวนกลาง และตำรวจตะเวนชายแดน ลงไปยังพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยหลายวันแล้ว

ขณะนี้เราได้ซื้อเรือเอง รวมถึงได้ขอรับบริจาคเรือท้องแบนที่ติดเครื่องยนต์ โดยขณะนี้เรือได้ทยอยมาวันละประมาณ 10 ลำ โดยภารกิจหลักจะเน้นการช่วยเหลือประชาชนทุกอย่างตามที่ร้องขอมา ซึ่งทางศูนย์ที่อยู่ในพื้นที่รับเรื่องทั้งหมดมา ถ้าเรื่องไหน สำคัญเราจะสั่งไปยังท้องที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือ รวมถึงเรื่องมิจฉาชีพ ที่ฉกฉวยโอกาสด้วย โดยผู้บัญชาการภาค 1 รายงานว่าที่ จ.อยุธยา เมื่อคืนวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่าน ถูกงัดรถหลายคัน สาเหตุเพราะการทำงานตำรวจในพื้นที่ มีความลำบาก เพราะตำรวจเองก็น้ำท่วมบ้านเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ได้สั่งกองสืบสวนของภูธรภาค 1 ลงไปหาให้ได้ว่า ใครเป็นผู้งัดรถ

**ตั้งครัวพระราชทานช่วยชาวอยุธยา

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.ร.ต.ทศนุ เชียงทอง รองหัวหน้าสำนักงานโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว เป็นผู้แทนพระองค์ นำวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ที่ได้จากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และผู้ที่มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคผ่านกองทุนพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ เพื่อผู้ประสบภัยพิบัติ ไปประกอบอาหารเลี้ยงผู้ประสบภัย ให้แก่ราษฎรที่เดือดร้อน ที่อพยพมาอยู่บริเวณศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เจ้าหน้าที่อาสาสมัคร และประชาชน ที่ยังติดค้างอยู่ตามบ้านเรือน จำนวนกว่า 3,000 คน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ แก่ผู้ประสบภัย จึงจัดตั้งครัวพระราชทาน จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยจะประกอบอาหารเลี้ยงผู้ประสบภัยวันละ 2 มื้อ มื้อละ 3,000 กล่อง พร้อมน้ำดื่มด้วย

**อเมริกาเตรียมส่งเฮลิคอปเตอร์ช่วย

นางคริสตี้ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวภายหลังเข้าเยี่ยมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ( ศปภ.) ว่า ดิฉันรู้ว่าคนไทยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมเป็นจำนวนมาก ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา เป็นมิตรประเทศกันมาช้านาน เราได้บริจาคสิ่งของบรรเทาทุกข์ผ่านทางสภากาชาดไทยแล้ว และทางสหรัฐฯ กำลังคุยกับทางการไทยว่า ทางกองทัพอเมริกาอาจจะช่วยเหลือในการส่งเครื่องบิน หรือเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพมาช่วยในการขนส่งลำเลียงสิ่งของต่างๆ แก่ผู้ประสบภัย เพราะในขณะนี้ภาคเอกชนไทย และประชาชนคนไทยได้บริจาคสิ่งของช่วยเหลือมาเป็นจำนวนมาก

นางคริสตี้ กล่าวต่อว่า เราเตรียมช่วยเหลือประเทศไทยในระยะยาว ที่จะเป็นประโยชน์ เช่น ในเรื่องเทคโนโลยี ที่เกี่ยวกับการพยากรณ์อากาศ

เมื่อถามว่าประธานาธิบดี โอรักโอบามา ได้ฝากอะไรมาบ้าง นางคริสตี้ กล่าวว่า นางฮิลลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แสดงความเสียใจมายังคนไทยด้วย

**ฮอนด้ามอบเครื่องยนต์ 200 เครื่อง

กลุ่มบริษัทฮอนด้าในประเทศไทย นำโดย นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร รองประธานอาวุโส บริษัทฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด นายอรรณพ พรประภา กรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด และนายประกิจ ชุณหชา กรรมการบริหาร บริษัทไทยฮอนด้าแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด พร้อมด้วยคณะผู้บริหารฮอนด้า ร่วมส่งมอบเครื่องยนต์เอนกประสงค์ติดท้ายเรือ ฮอนด้า 4 จังหวะ รุ่น GX 160 จำนวน 200 เครื่อง พร้อมชุดหางเรือและน้ำมันเครื่อง มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท ให้กับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยมี พล.อ.อ.สุกัมพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม เป็นตัวแทนรับมอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น