xs
xsm
sm
md
lg

รบ.ผุดศูนย์ ศปภ.เปิดคอลเซ็นเตอร์ 1111 รับมือน้ำเหนือหลาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
รัฐบาลผุดศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตั้ง “พล.ต.อ.ประชา” ผอ.ศูนย์ นายกฯ เปิดคอลเซ็นเตอร์ 1111 กด 5 ประชาสัมพันธ์ พร้อมรับบริจาค “ยุทธศักดิ์” เผย สั่งค่ายทหารรองรับผู้อพยพ “ลพบุรี-อยุธยา” “วิทยา” เตือนประชาชนเตรียมรับมือน้ำเหนือเขื่อนภูมิพล เร่งกู้นิคมอุตสาหกรรม กันกระทบเศรษฐกิจภาพรวม ขณะที่ “พล.อ.อ.สุกำพล” ยอมรับสายเอเชียเกินแก้ต้องรอน้ำลด

วันนี้ (7 ต.ค.) ที่ห้องประชุมท่าอากาศยานดอนเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมรัฐมนตรีและตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายยงยุธท วิชัยดิษฐ รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์สนับสนุนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวิทยา บูรณศิริ รมว.สาธารณสุข และนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยนายกรัฐมนตรีได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อระดมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ โดยการประชุมครั้งนี้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการศูนย์ดังกล่าวด้วย โดยใช้เวลาหารือกว่า 4 ชั่วโมง

จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชิน วัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีความเห็น 2 เรื่องในการที่จะร่วมศูนย์การปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จากการประเมินของเรื่องภัยน้ำท่วมครั้งนี้เป็นที่หนักหนามากกว่าที่เคยผ่าน มา และการปฏิบัติต่างๆนั้นเพื่อให้เกิดการรวดเร็วให้ต่อสนองความต้องการให้กับ ประชาชนอย่างทั่วถึงและเร่งด่วน ที่ประชุมมีมติในการที่จะตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือประสบอุทกภัย(ศปภ.) ซึ่งในภารกิจนี้จะตั้งศูนย์บัญชาการอยู่ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยจะร่วมทุกหน่วยงานทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะตอบสนองในการแก้ไข ปัญหาให้กับประชาชนโดยเร่งด่วน ซึ่งศูนย์ฯนี้จะเริ่มเตรียมการทั้งหมด

โดยผู้บัญชาการศปภ. นี้มีพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้อำนวยการศูนย์ จะมีการบริหารงานแบบบูรณาการซึ่งจะมีการแบ่งการทำงานเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกฝ่ายปฏิบัติการ จะมีปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่ง จะรับผิดชอบในส่วนของการลงไปร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในทุกจังหวัด ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ซึ่งจะทำสำรวจหน้างานเพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนได้รับการดูแลอย่างดี ซึ่งตนเน้นในเรื่องของการอพยพประชาชนไปอยู่ยังสถานที่ที่ปลอดภัยเป็นเรื่อง หลัก การดูแลอาหารและที่เหลือจะดูแลช่วยเหลือในส่วนของการฟื้นฟูฉุกเฉินต่างๆ

ส่วนที่สองจะมีการตั้งศูนย์ฯฝ่ายอำนวยการร่วม โดยมีพลอากาศเอก สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะ ทำหน้าที่ในการสนับสนุนฝ่ายปฏิบัติงาน จะครอบคลุมขั้นตอนตั้งแต่การประเมินสถานการณ์ในการแจ้งเหตุเตือนภัยต่างๆ รวมถึงการวิเคราะห์และแจ้งเตือนภัย และทบทวนดูในเรื่องของการเตือนภัยทั้งหมด รวมถึงการที่จะหาทางสรุป ทางเลือกในการที่จะตัดสินใจการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นระบบในภาพรวมที่ เป็นการเร่งด่วนในการที่จะแก้ไขปัญหาขณะนี้ รวมถึงจะมีการรับเรื่องราวร้องเรียนแจ้งข้อมูลข่าวสารทุกช่องทางไม่ว่าจะ เป็นเว็บไซต์ จดหมาย โทรศัพท์ หรือจากข่าวสารทางสื่อมวลชนตรงนี้จะใช้ระบบคอเซ็นเตอร์ได้ที่เบอร์ 1111 ต่อ 5 พร้อมทั้งมีแผนประชาสัมพันธ์รวมถึงศูนย์ในการรับบริจาคจากพี่น้องประชาชน และในขณะเดียวกันในศปภ.จะมีที่ปรึกษาซึ่งประกอบไปด้วยรองนายกรัฐมนตรีทุก ท่านและคณะรัฐมนตรี จะเป็นผู้ที่ให้คำปรึกษาในศูนย์ฯนี้ทั้งหมด

พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ ที่มีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมขณะนี้ ที่เป็นอุทกภัยที่ร้ายแรงมาก จึงได้มีการตั้งศูนย์ขึ้นมา และภารกิจที่ตนได้รับมอบจากนายกรัฐมนตรีและต้องเร่งดำเนินการ คือการช่วยเหลือเร่งด่วนต่อผู้ประสบภัยน้ำท่วมด้านความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ดูแลส่งอาหารเครื่องอุปโภค บริโภคให้เพียงพอและทั่วถึงกับพี่น้องที่ประสบอุทกภัย การเดินทาง ยานพาหนะทำให้เป็นระบบโลจิสติกส์ทั้งระบบ เตรียม การและเตือนภัยต่อประชาชนให้ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อการเคลื่อนย้ายต่อสถานการณ์ที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ การวางแผนเคลื่อนย้ายหาที่พักอาศัยให้กับประชาชนที่เดือนร้อนอยู่ขณะนี้ เช่น จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ถูกตัดขาดแล้ว

พล.ต.อ. ประชา กล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาการระบายน้ำให้เข้าสู่ปกติโดยเร็วที่สุดว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยให้มีการจัดตั้งศูนย์รับบริจาคจากประชาชน เอกชน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยให้ทันต่อสถานการณ์นี้ ซึ่งจะมีการประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และรัฐมนตรีที่ได้รับความไว้วางใจจากนายกรัฐมนตรีที่ดูแลในแต่ละเรื่อง โดยแต่ละส่วนต้องรับผิดชอบร่วมกัน ซึงศูนย์ ศปภ. จะเปิดดำเนินการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

พล.ต.อ. ประชา กล่าวว่า การแยกภารกิจของศูนย์ จะมีหลายส่วนประกอบด้วย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็น ที่ปรึกษาของศูนย์ ศปภ. นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รับผิดชอบในส่วนปฏิบัติการ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้รับผิดชอบในฝ่ายอำนวยการร่วมและการวิเคราะห์สถานการณ์และทางเลือกใน การแก้ไขปัญหา นายอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รับผิดชอบในการประเมิน การแจ้งเตือนภัย นายวิทยาบูรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลุ่มสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือให้ทันต่อสถานการณ์

ด้านนายปลอดประสพ กล่าวว่า ฝ่ายปฏิบัติการได้รับมอบหมายงานหลัก 4 ด้าน คือ รักษาพื้นที่สำคัญ เร่งการระบายน้ำออก ลดผลกระทบ และช่วยประชาชน สถานการณ์ล่าสุดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดใกล้เคียง กระทรวงเกษตรจะปิดคลองข้าวเม่า เสริมคันแม่น้ำป่าสัก และจะปิดคลองสวนพูล กระทรวงคมนาคมจะปิดคลองสาคู จะป้องนิคมไฮเทคให้ได้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และกองทัพเรือจะดันน้ำออกทะเลให้มากที่สุด ฝ่ายทหารจะปิดนิคมโรจนะให้ได้ และสุดท้ายกระทรวงคมนาคมจะรักษาถนนหมายเลข 1 และหมายเลข 304 ให้ได้ เพื่อให้ประชาชนในภาคกลางสามารถติดต่อกับทางเหนือให้ได้

สำหรับสถานการณ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยาน้ำท่วมออกมา คันดินที่ประชาชนทำตรงกลางของจังหวัดก็พัง เพราะไม่ได้มีการบถดินทำเพียงการวางไว้บนถนน และน้ำมาก คาดการณ์ว่า น้ำในจังหวัดจะมีไปทั่วไปหมด เพียงแต่ว่ามากน้อยแค่ไหน ก็คงไม่มีอะไรร้ายแรงไปกว่านี้ และค่อยข้างมั่นใจว่า จะรักษากรุงเทพได้ พร้อมๆกับรักษาเศรษฐกิจของประเทศชาติได้ ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมที่ผลิตเครื่องมือมอบนิคมมาบตาพุดจะรักษาเอาไว้ได้ ไม่มีอะไรร้ายแรงไปกว่านี้ และน้ำเพิ่งเข้ามา 4-5 ชั่วโมงนี้ ทางรมว.กลาโหมกำลังสั่งให้มีการอพยพผู้คนออกจากอำเภอเมือง เพราะไม่นึกว่าซีกตะวันออกน้ำจะข้ามไป เลยทำให้ออกมาไม่ทัน มีการตัดไฟแล้ว และได้มีการเสริมเรือเข้าไปโดยนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 5 ลำ

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ต่อความห่วงใยนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดอยุธยาที่ประกอบด้วย 3 นิคมอุตสาหกรรมที่ยังรอการช่วยเหลืออยู่ สถานการณ์ ณ เวลานี้ โดยนิคมไฮเทคซึ่งเป็นนิคมที่ผลิตทางด้านไอที ชิ้นส่วนผลิตรถยนต์ ทางนายกิตติรัตน์ จะต้องลงไปดูในพื้นที่จริงด้วย ณ เวลานี้แนวทางป้องกันที่ศูนย์นี้จะต้องปฏิบัติการให้ได้ภายใน 3 วันจะต้องลดเหลือ 1 วันให้ได้จบสิ้น คือจะต้องทำให้เสร็จภารกิจภายใน 1 วัน 1 คืน และอีกนิคมที่เป็นห่วงคือ นิคมโรจนะก็จะได้ปฏิบัติการลงไปด้วย จึงเรียนผ่านสื่อ เพื่อคลายความกังวล เนื่องจากเป็นภาพเศรษฐกิจภายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายกฯได้ตัดสินใจตรงนี้และพร้อมที่จะปฏิบัติทันที

นายกฯ กล่าวว่า หลังจากที่เราจัดตั้งศูนย์เป็นทางการแล้วจะเรียนให้ประชาชนทราบอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง เพราะในการทำงานคือ โครงสร้างของศูนย์ และลำดับถัดไปคือ การนำโครงสร้างนี้ไปใช้ในทุกจังหวัด จะสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดตั้งศูนย์ ศปภ.แบบเดียวในกรุงเทพฯ ในการรองรับประสานงานทั่วประเทศ

ผู้สื่อข่าวถามว่า วันนี้ถือว่าวิกฤตน้ำสูงสุดแล้วหรือยัง นายกฯ กล่าวว่า จริงๆ แล้วยังมีพายุอีกลูกหนึ่ง สิ่งที่เราทำวันนี้สิ่งที่เราจะต้องคือ การเร่งแก้ปัญหาก่อนกลางเดือนตุลาคม ซึ่งเพื่อเตรียมที่จะรองรับ และเร่งระบายน้ำก่อนที่พายุลูกใหม่จะมาและน้ำทะเลหนุนสูง เมื่อถามว่า ทำไมถึงมั่นใจว่า น้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพฯ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า มาตรการที่เราประกาศใช้ในศปภ.นี้จะประยุกต์ใช้ทั่วประเทศ และพยายามแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด

เมื่อถามว่า ถนนสายเอเซียที่มีผลกระทยหนักตอนนี้จะตอบได้หรือไม่ จะนำน้ำออกจากถนนได้เมื่อไร พล.อ.อ.สุกัมพล กล่าวว่า ถนนสายเอเซียเวลานี้น้ำท่วมกินระยะทาง 10 กิโลเมตร หากกู้ต้องใช้เวลานาน แต่เราจะปิดบางส่วนเพื่อไม่ให้น้ำข้ามมา ส่วนเส้นทางสายเหนือเราจะรักษาหมายเลข 1 และเส้น 340 ถนนพหลโยธิน สายเอซียต้องปล่อยไปก่อน ต้องยอมไม่เช่นนั้นกรุงเทพฯจะมีปัญหา เมื่อถามว่า สรุปแล้วสายเอเซียต้องปล่อยไปตามสภาพหากมีมรสุมลูกใหม่เข้ามา อาจจะหนักกว่าเดิมใช่ไหม พล.อ.อ.สุกัมพล กล่าวว่า วันนี้น้ำที่ท่วมสายเอเซียมีหลายจุด แต่เราพยายามจำกัดให้เหลือน้อยจุดลง แต่จุดใหญ่ๆ เรายังทำอะไรไม่ได้ หากมรสุมเข้าจะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ เนื่องจากว่า น้ำมันมากเราก็ทำอะไรไม่ได้ตรงนี้ต้องเข้าใจกัน แต่ยืนยันเราไม่ได้หยุดแค่นั้นได้ทำตลอดเวลานี้ แต่การเดินทางไปสายเหนือต้องได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ประชุมได้มีการวิเคราะห์หรือไม่ สถานการณ์ต้องวิกฤตถึงขั้นไหน ถึงจะประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติธรรมชาติได้ นายกฯ กล่าวว่า สิ่งที่เราต้องทำวันนี้คือ เราเล็งเห็นแล้วว่า มรสุมจะเข้า และน้ำทะเลจะหนุน การประชุมวันนี้เป็นการเร่งปรับตัว ตั้งศูนย์บัญชาการเพื่อสั่งงาน เพื่อเร่งทำงานให้กระชับรอรับพายุลูกใหม่ ซึ่งการทำงานเจ้าหน้าที่ได้วิเคราะห์อยู่ตลอเวลา และขอเรียนกับพี่น้องประชาชนว่า วันนี้หนักจริงๆ แต่จะถึงขั้นประกาศหรือไม่ ขอให้ศูนย์นี้ทำงานอย่างเต็มความสามารถก่อน และสิ่งที่พี่น้องประชาชนต้องการคือ ผลการตอบสนองทุกคนได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด วันนี้ความสำคัญสุด คือการดูแลเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ถามว่าถึงขั้นต้องประกาศหรือเปล่า วันนี้ถึงขั้นที่เราต้องมารวมตัวกันเป็นวาระเพื่อชาติ เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาประชาชน เราพิจารณาจุดนี้เป็นหลักก่อน

เมื่อถามว่าการใช้เรือดันน้ำได้ผลมากน้อยแค่ไหนในการระบายน้ำ นายปลอดประสพ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมามีเรือมาร่วมในการผลักดันน้ำ 99 ลำ และวันนี้น่าจะมีเรือมาร่วมประมาณ 140-150ลำ ซึ่งในวันที่ 12 ต.ค.นี้จะมีเรือมาเพิ่มอีก 150 ลำ ก็อยู่ที่ประมาณ 300 ลำ ซึ่งตนหวังว่าสื่อมวลชนจะช่วยกระตุ้นความแข็งแกร่งและความสามัคคีของประชาชน ให้ประชาชนเอาเรือออกมาให้ได้เป็นพันลำ เพราะนั้นคือความอยู่รอดของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพฯ ซึ่งการใช้เรือในการผลักดันน้ำนั้น ทำให้เพิ่มความเร็วของน้ำจากความเร็วน้ำที่ 2 น็อตเป็น 6 น็อต

เมื่อถามว่า การอพยพจะสามารถอพยพจุดไหนได้บ้างจากสถานการณ์วันนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกจุดที่น้ำท่วม เราจะทำสองอย่างคือ พื้นที่ที่เราป้องกันน้ำท่วมได้เราจะทำ แต่ถ้ากระแสน้ำมาแรงเกินที่แนวคันกั้นน้ำไม่แข็งแรงพอและทำให้น้ำท่วม ตรงนี้ก็จะเตรียมพื้นที่ในการอพยพ ซึ่งจะทำทุกที่ที่น้ำท่วม

เมื่อ ถามว่า จ.พระนครศรีอยุธยา และจ.ลพบุรี ต้องอพยพชาวบ้านแล้วหรือไม่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางกระทรวงกลาโหมได้สั่งให้หน่วยทหาร และค่ายทหารทุกค่ายที่กระจายอยู่ทั่วประเทศให้เป็นพื้นที่ ที่จะให้พี่น้องประชาชนและยานพาหนะของประชาชนเข้าไปอาศัยและหลบภัยจนกว่าจะ หมดภารกิจครั้งนี้ เช่น จ.ลพบุรี ทั้งในส่วนของกองทัพบกและอากาศ เมื่อถามว่า พื้นที่ที่จะให้ประชาชาเข้าไปอยู่มีเพียงพอหรือไม่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็เพียงพอแล้ว ทั้งนี้องค์กรปอเต็กตึ๊ง พร้อมที่จะไปจัดครัวเลี้ยงให้กับผู้อพยพด้วย

ด้านนายวิทยา กล่าวด้วยว่า ลักษณะของการอพยพคือ ศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม (ศอส.) ได้วางมาตรการอยู่ไว้แล้วในเรื่องของการเตือนภัย และหากพบว่าระดับน้ำที่เข้ามานั้นไม่สามารถป้องกันได้ ทางผู้ว่าราชการจังหวัด จะทำการเตือนประชาชน จกนั้นจึงเตรียมการอพยพ ซึ่งจุดอพยพต่างๆ ทางจังหวัดต้องเตรียมการไว้ให้เพียงพอ แต่ถ้าไม่เพียงพอสามารถอพยพไปอยู่ในค่ายทหารต่างๆได้ ซึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้มีการอพยพแล้ว โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่เทศบาลอโยธยา , บางปะหัน ซึ่งได้อพยพมาอยู่บริเวณศาลากลางจังหวัด จากนั้นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ กระทรวงสาธารณสุข จะเข้าไปสนับสนุนในส่วนต่างๆเช่น อาหาร น้ำดื่ม รักษาโรค อย่างไรก้ตาม เบื้องต้นส่วนใหญ่ประชาชนไม่ต้องการที่จะย้ายออกจากบ้านตัวเอง หรือบางคนแจ้งความประสงค์ที่จะย้ายไปอยู่กับญาติ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารจะนำไปส่งถึงที่หมายอย่างปลอดภัย

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า พื้นที่จังหวัดใดบ้างที่ได้ทำการอพยพประชาชนออกไปบ้างแล้ว นายวิทยา กล่าวว่า ได้ทำไปแล้วทุกจังหวัด หากจังหวัดนั้นได้รับสัญญาณเตือนภัยจาก ศอส. ซึ่งทาง ศปภ. จะเป็นศูนย์ที่ป้องกันและให้ความช่วยเหลือ

ด้านนาสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวเสริมว่า เรื่องการเตือนภัยนั้น เราต้องการให้มีการอพยพประชาชนอยู่แล้ว หากระดับน้ำมีปริมาณที่สูง แต่ในความเป็นจริงประชาชนบางส่วนยังมีความเป็นห่วงบ้านเรือนของตนเอง เราจึงดำเนินการได้คือ ย้ายประชาชนอกไปยังศูนย์อพยพต่างๆที่ได้จัดเตรียมไว้ เช่น ภายในค่ายหาร ซึ่งภายในบริเวณดังกล่าวจะมีทั้ง การดูแล ที่อยู่ อาหารพร้อม แต่ในความเป็นจริงพี่น้องประชาชนไม่อยากย้ายออกจากพื้นที่ เราจึงจัดตั้งเต็นท์ริมถนน ซึ่งวิธีการดังกล่าวส่งผลให้การจราจรติดขัดในการเข้าไปบูรณะ หรือเข้าไปช่วยเหลือยังสถานที่ต่างๆ อีกทั้งประชาชนบางส่วนที่มีบ้าน2 ชั้นได้ขึ้นไปอาศัยอยู่บนชั้นสองของบ้าน ซึ่งจะส่งผลให้การดูแลพี่น้องประชาชนเป็นไปได้ยากลำบาก ต้องระดมเรือท้องแบน หรือเฮลิคอปเตอร์ในการลำเลียงอาหารสู่ประชาชน

อย่างไรก็ตาม หากเป็นไปได้ขอวิงวอนสื่อมวลชน ช่วยสื่อสารไปยังประชาชนให้ย้ายออกมาจากพื้นที่เสี่ยง และไปอยู่ที่ศูนย์อพยพ เพราะเป็นศูนย์ที่รัฐบาลจะสามารถช่วยเหลือดูแลได้อย่างเต็มที่ และปลอดภัย เพราะวันนี้ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าประชาชนที่อาศัยบนชั้น 2 จะมีความปลอดภัยหรือไม่

นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงปัญหาคันกั้นน้ำที่พังทลาย เพราะการวิ่งเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น จังหวัดนนทบุรี ว่า การแก้ไขเราจะทำการแจ้งเตือนภัยไปยังพื้นที่ ซึ่งต้องยอมรับว่าในบางพื้นที่ไม่ได้มีการคาดการว่าจะมีภัยพิบัติ เพราะอยู่ในสภาพปกติ แต่เมื่อน้ำมาภายใน 4 ชม. จึงทำให้ไม่ได้ป้องกันในสิ่งที่เราเตือนภัยไป ดังนั้นเราต้องลงไปดูในหน้างาน เช่น ภายในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค เราคาดการไว้ว่าต้องทำคันกั้นน้ำไว้ 2 เมตร แต่ในพื้นที่กลับทำแค่ 1.50 เมตร ซึ่งต้องทำการแก้ไขเพิ่มเติมให้ได้ภายใน 2 วัน อีกทั้งแนวคันกั้นน้ำที่เราใช้ดินเหนียวอย่างเดียวไม่เพียงพอ เราต้องใช้กรวดเข้ามาผสมด้วย จึงมีความแข็งแรงความแข็งแรง สำหรับปัญหาของช่วงรอยต่อพื้นที่ที่น้ำท่วมและไม่ท่วมด้วยทำให้เกิดกรณี พิพาทขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่ไปทำแนวคันกั้นน้ำ ประชาชนบางส่วนได้ทำลายแนวกั้นน้ำออก เพื่อหาทางระบายน้ำออก ดังนั้นเราต้องช่วยกัน เช่น จ.อยุธยา ที่ทำแนวคันกั้นน้ำยาวถึง 12 กม.เจ้าหน้าได้ทำงานตลอดเวลา เพื่อให้แล้วเสร็จ

ด้านนายชลิต กล่าวเสริมว่า คันกั้นน้ำที่พังลงส่งผลให้ความรุนแรงน้ำมีมากขึ้น อีกทั้งการที่คันดินถูกแช่น้ำนานถึง 2 เดือนจึงทำให้คันดินยุ่ยและเมื่อแรงดันน้ำมาจึงพังลง สำหรับประชาชนที่อยู่ริมแม่ย้ำเจ้าพระยาร้องเรียนว่าเรือที่วิ่งส่งผลให้คัน กั้นน้ำพังนั้น ตนได้สั่งการแล้วว่าให้หยุดวิ่ง แต่ถ้ามีความจำเป็นให้ใช้เรือของกรมเจ้าท่า เพื่อควบคุมความเร็ว หากมีการฝ่าฝืนขอให้แจ้งมาเพื่อดำเนินการต่อไป

นายวิทยา กล่าวถึงน้ำเหนือเขื่อนภูมิพลที่จะไหลลงมา ได้เตรียมการรับมือไว้อย่างไรว่า การที่นายกฯเรียกประชุมในฐานะ ศปภ. เนื่องจากมีน้ำที่อยู่เหนือเขื่อนภูมิพลที่เตรียมจะลงมาอีก ดังนั้นการตัดสินใจการช่วยเหลือประชาชนต้องว่องไว โดยการอพยพประชาชนและความปลอดภัยต้องเตรียมไว้ล่วงหน้า ซึ่งหากวันนี้ไม่มีการเตรียมพร้อมน้ำที่เหนือเขื่อนภูมิพลที่จะไหลลงมาใน1-2วันนี้ จะสร้างความเสียหายได้อีก ซึ่งเราไม่สามารถกำหนดวันเวลาได้ ดังนั้นเรายืนยันว่าต้องมีการเตรียมการไว้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ขณะเดียวกัน นายธีระ กล่าวว่า เขื่อนทางเหนือมีน้ำเต็มความจุแล้วทุกเขื่อน ซึ่งน้ำที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นคือ แม่น้ำปิง ซึ่งมาจากสาเหตุที่ลุ่มแม่น้ำวังมีฝนตกหนัก ทำให้เขื่อนภูมิพลจำเป็นที่ต้องระบายน้ำออกมา ขณะนี้ปริมาตรน้ำที่ท่วมเหนือเขื่อนตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ขึ้นไป ซึ่งพื้นที่กว่างทั้งหมดที่น้ำท่วมอยู่นั้นมีปริมาณ 7.73 ล้านไร่ ถ้าคิดเป็นปริมาตรน้ำอยู่ที่ 4,000ล้าน ลบ.ม. อีกทั้งจำนวนน้ำที่จ.นครสรรค์ที่เป็นจุดศูนย์รวมน้ำอยู่ที่ปริมาณ 4,600 ลบ.ม.ต่อวินาที ปริมาณน้ำที่ผ่านเขื่อนเจ้าพระยา อยู่ที่3,600ลบ.ม.ต่อวินาที ส่วนที่ บางไทร 3,500ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งเราคาดว่าจากการประมาณการจากพายุ เนสาด และพายุนาลแก จะผ่าน จ.นครสวรรค์ในวันที่ 13 -14ต.ค. และผ่านไปสู่เขื่อนเจ้าพระยา 14-15 ต.ค. ที่บางไททร 16-17 ต.ค. นี่คือทั้งหมดที่เราประมาณการไว้ว่ามวลน้ำทั้งหมดจะวิ่งผ่าน

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า นิคมอุตสาหกรรมที่จ.อยุธยา ได้เตรียมแผนรับมือป้องกันไว้อย่างไรบ้าง นายวิทยา กล่าวว่า จะเสริมพนังกั้นน้ำที่ทำไว้เพิ่มขึ้น 1 เมตร โดยกระทรวงคมนาคมได้สั่งเครื่องจักจำนวน 10เครื่องเพื่อให้เกิดความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น โดยทุกจุดได้มีการเตรียมความพร้อมไว้บ้างแล้ว แต่เกรงว่าจะไม่ปลอดภัย

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงภารกิจเดินทางไปยังต่างประเทศว่า ตนได้คิดทบทวนเรื่องดังกล่าวเช่นกัน แต่เนื่องจากเราต้องเร่งสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศ โดยเราไปเช้า-เย็นกลับ ซึ่งจะใช้เวลาในช่วงบ่ายเท่านั้น และขอเรียนว่าบางครั้งการเตรียมการฟื้นฟูหลังน้ำลดมีความจำเป็นที่ต้องสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ทั้งแนวทางด้านความสัมพันธ์การค้าขาย โดยหลังน้ำลดเราต้องมีการเปิดงานกับต่างประเทศเพื่อให้เกิดการค้าขาย หากเราชะลอการเดินทางไป อาจจะมีผลเสียเพราะหลังน้ำลดแล้วสิ่งต่างๆที่ต้องดำเนินการจะหยุดชะงัก ตนได้พิจารณาแล้วว่าเราจะใช้เวลาในช่วงบ่ายเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น