xs
xsm
sm
md
lg

หั่นงบ8หมื่นล.กู้น้ำท่วม “มาร์ค”โผล่ศปภ.สอนปู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- นายกฯ ตั้งคณะกรรมการฟื้นฟู 3 ชุด พร้อมหั่นงบทุกกระทรวง 10 % โปะ 8 หมื่นล้าน ช่วยน้ำท่วม "อภิสิทธิ์" โผล่ศปภ. ร่วมหารือ"ยิ่งลักษณ์" กู้วิกฤตน้ำท่วม แนะนายกฯ ยุบศูนย์ช่วยน้ำท่วมเหลือเพียงศูนย์เดียว ใช้พื้นที่คลังสินค้าดอนเมืองรองรับผู้อพยพ "ยุทธศักดิ์"ประสานทร.ระดมเรือ 1,000 ลำดันน้ำลงทะเล

นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมครม. เมื่อวานนี้ (11 ต.ค.) ว่า รัฐบาลได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เพื่อรวบรวมหน่วยงานทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชนที่เกี่ยวข้อง มาบูรณาการร่วมมือกันทุกฝ่าย เพื่อให้ยุติโดยเร็ว
ส่วนรัฐมนตรีที่ไม่ได้มีหน้าที่อยู่ในศปภ. จะต้องทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน ตามอำนาจบทบาทที่มีอยู่ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ ต้องเข้าไปดูเรื่องโรงเรียนที่ได้รับความเสียหาย
นางฐิติมา กล่าวด้วยว่า ครม.อนุมัติหลักการให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2554 โดยกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี โดยขอตกลงโอนเปลี่ยนแปลงนำไปใช้จ่ายเพื่อการช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาอุทกภัย ตามแนวทางของศปภ. ตามความจำเป็นและเหมาะสมก่อน หากไม่เพียงพอ ให้ขอรับการจัดสรรจากงบกลางรายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นไปพลางก่อน ภายในกรอบวงเงิน 2,000 ล้านบาท ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ

** หั่นงบทุกกระทรวง 10 %ช่วยน้ำท่วม

ทั้งนี้นายกฯได้ปรึกษาในที่ประชุมครม.ว่ารัฐบาลจะขอปรับลดงบประมาณที่ตั้งไว้ สำหรับทุกกระทรวงทุกหน่วยงานในปี 2555 ซึ่งเป็นงบดำเนินงานและงบลงทุน ประมาณ 10% หรือราว 8 หมื่นล้านบาท เพื่อมาใช้ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างเดียว หากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้มากกว่านั้น ก็จะขอตั้งงบประมาณกลางปีอีกครั้งหนึ่ง ขณะเดียวกันการตั้งงบประมาณผูกพันของหน่วยราชการที่ปกติในปีแรกจะตั้งกันไม่ต่ำกว่า 20% นั้น ปีนี้ การตั้งงบประมาณก่อหนี้ผูกพันข้ามปี ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างหรืออะไรก็ตาม ขอให้ตั้งเหลือไม่ต่ำกว่า 15%

นางฐิติมา กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอเรื่องการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 วงเงินทั้งสิ้น 2.33 ล้านล้านบาท โดยเป็นนโยบายขาดดุล 3.5 แสนล้านบาท รายได้สุทธิจำนวน 1.98 ล้านล้านบาท และให้สำนักงบประมาณนำข้อเสนอดังกล่าวไปจัดทำเป็นร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 และเอกสารประกอบงบประมาณ โดยให้ส่งร่างให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วนและแจ้งผลการพิจารณาให้สำนักงบประมาณทราบโดยตรง ก่อนนำไปพิมพ์เป็นร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 และนำเสนอครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 25 ต.ค.54 และนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

** ครม.ตั้ง 3 ทีมฟื้นฟูหลังน้ำลด

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี( ครม. ) ว่ากระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูหลังน้ำลดโดยครม.มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 3 ชุด ได้แก่

1. คณะกรรมการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจ โดยให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน
2. คณะกรรมการฟื้นฟูด้านโครงสร้างพื้นฐาน มอบหมายให้ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม เป็นประธาน
3. แต่งตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูด้านสังคม ให้ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

ทั้งนี้ คาดว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะลงนามแต่งตั้งในวันนี้ (12 ต.ค.) ก่อนที่จะมีการประชุมอย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยเฉพาะการหารือเกี่ยวกับมาตรการเยียวยา ภาคเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม

ส่วนการจัดหากระสอบทราย ในความรับผิดชอบของกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น นพ.วรรณรัตน์ กล่าวต่อว่า ต้องมีการนำหินคลุก และหินฝุ่นจาก จ.สุพรรณบุรี มาใช้ทดแทน เนื่องจากในขณะนี้ทรายหายาก มีไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตามในส่วนของกระสอบทราย 1 ล้านกระสอบที่ต้องใช้ในพื้นที่กทม.นั้น สามารถจัดหาได้เพียงพอแล้ว และขณะเดียวกันได้จัดหาหินคลุก 10,000 ตัน ไปเสริมความแข็งแรง ให้คันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ จ.นครสวรรค์แล้ว

** "มาร์ค"ร่วมถกศปภ.รับมือน้ำท่วม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเช้าวานนี้ (11 ต.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และนายศิริโชค โสภา ได้เดินทางไปที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ( ศปภ. ) ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัย พร้อมเสนอให้รัฐบาลนำพื้นที่คลังสินค้าของท่าอากาศยานดอนเมืองซึ่งมีพื้นที่ 70,000 ตร.ม. มาเป็นพื้นที่รองรับประชาชนที่เดือดร้อนจากภัยน้ำท่วมครั้งนี้ด้วย โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาให้การต้อนรับด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เชิญนายอภิสิทธิ์ และคณะ เข้าไปหารือร่วมกันในที่ประชุมศปภ. โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผอ.ศปภ. นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าฯกทม. ร่วมหารือด้วย โดยใช้เวลา 30 นาที ซึ่งรายละเอียดส่วนใหญ่ของการหารือ เป็นเรื่องการเตรียมป้องกันสถานการณ์น้ำที่จะอาจจะทะลักเข้าพื้นที่กทม.

น.ส.ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือว่าได้อธิบายถึงสถานการณ์ลุ่มน้ำ และภาพรวมของพื้นที่ กทม.ให้นายอภิสิทธิ์ รับฟัง ซึ่งวันนี้ถือว่าการแก้ปัญหาสถานการณ์น้ำเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกคนพร้อมยื่นมือให้ความช่วยเหลือ โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ศปภ. และกรุงเทพมหานคร

ด้านนายอภิสิทธิ์ เผยว่า ต้องการเสนอ 3 แนวทางให้รัฐบาลพิจารณาคือ
1. ยุบศูนย์ต่างๆ ที่รัฐบาลตั้งขึ้น ให้เหลือเพียงศูนย์เดียว เพื่อให้การทำงานมีเอกภาพ
2. กำหนดพื้นที่การแก้ปัญหาให้ชัดเจน และเร่งอพยพคนที่ติดน้ำอยู่ให้ออกมาอย่างรวดเร็ว
3. นายกฯ ควรประกาศใช้อำนาจพิเศษตามความเหมาะสมในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพื่อให้มีความเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ต่อมานายอภิสิทธิ์ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมประชาชนที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว และรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทางศูนย์ฯ มีการบริหารจัดการที่ดี แต่กังวลเรื่องของประชาชนที่แจ้งจะเข้าพัก เพราะสามารถรับได้อีกแค่จำนวนหนึ่งเท่านั้น จึงน่าจะพิจารณาสถานที่ที่เป็นอาคารขนาดใหญ่ และมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น อาคารคลังสินค้าสนามบินดอนเมือง

ต่อมาเวลา 16.00 น. ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ หลังการลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.ปทุมธานี และอยุธยา ร่วมกับ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ที่ปรึกษา (สบ 10) ว่า ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน จะต้องมีการแบ่งโซนในการดูแล เพื่อจะได้ทั่วถึง และบางพื้นที่อาจจะต้องอพยพผู้คนเข้ามาเพิ่มมากขึ้น

พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวเสริมว่า สำหรับกรณีคุณแม่ที่ชื่อ สา ได้ใช้บริการของโทรศัพท์ call center 1111 กด 5 โดยขอความช่วยเหลือจากนายกฯ ให้ช่วยตามหาลูกสาววัย 6 เดือน ซึ่งติดอยู่ในเกาะกลางใน จ.พระนครศรีอยุธยา ไม่สามารถที่จะนำตัวเด็กออกมาได้ นายกฯ จึงสั่งให้ตำรวจน้ำเข้าไปติดตาม ซึ่งขณะนี้พบตัวเด็กแล้ว ซึ่งความจริงเด็กได้มาอยู่บนเรือของตำรวจน้ำแล้ว และทางเฮลิคอปเตอร์ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่นายกรัฐมนตรีนั่งไป เดิมเราตั้งใจว่าจะนำตัวเด็กขึ้นมา และนำมารักษาตัว แต่คุณแม่ อยู่ใกล้บริเวณนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ทางตำรวจน้ำจึงนำไปคืนให้กับแม่แล้ว

** ระดมเรือ 1,000 ลำดันน้ำลงทะเล

พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม กล่าวว่า ขณะนี้ได้ประสานกับนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่า ขณะนี้มีความต้องการเรือจำนวนมากที่จะใช้ในการดันน้ำลงสู่ทะล จึงได้ประสานไปยังทางกองทัพ เพื่อร่วมมือกันโดยให้ทางกองทัพสนับสนุนเรือประมาณ 1,000 ลำ เนื่องจากการดันน้ำเป็นทางออกที่ได้ผลดีที่สุด พร้อมกับเร่งระดมกำลังในการขุดลอกคูคลอง

สำหรับสถานการณ์น้ำในกทม.นั้น น้ำทะเลจะหนุนสูงในวันที่ 14-17 ต.ค. อาจจะมีน้ำทะลักเข้ามาบ้างเป็นบางส่วน แต่ไม่ทุกจุด ขณะนี้ได้ทำแนวป้องกัน โดยเฉพาะทางเมืองเอก ป้องกันอย่างเต็มที่

** แบ่งโซนนิ่งแก้ปัญหาน้ำท่วม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. กล่าวว่า กองทัพบกได้เข้าไปรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใน 3 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ โดยบูรณาการร่วมกับทางผู้ว่าราชการจังหวัด ตามคำสั่งของนายกฯ โดยให้แม่ทัพภาคที่ 1 รับผิดชอบ จ.พระนครศรีอยุธยา หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษรับผิดชอบ จ.ลพบุรี และ แม่ทัพภาคที่ 3 รับผิดชอบในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ทั้งนี้เราเตรียมค่ายอดิศร ในจ.สระบุรี เพื่อรองรับประชาชน

" นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ดำเนินการลักษณะโซนนิ่ง ว่า พื้นที่ใดสามารถกู้ได้ หรือพื้นที่ใดจะปล่อยให้ท่วม แล้วค่อยกู้ทีหลัง ซึ่งถือเป็นภาพรวมในการแก้ไขปัญหาของทั้ง 3 จังหวัด ขณะนี้น้ำท่วมในพื้นที่ 28 จังหวัด จึงได้จัดกำลังทหารลงไปในพื้นที่ทั้ง 28 จังหวัด เพื่อเข้าไปสนับสนุนกับส่วนราชการอื่นๆ อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังให้กองพลทหารราบที่ 2 รับผิดชอบบริเวณรังสิตคลอง 8 ที่จะต้องทำแนวกั้นน้ำ รวมถึงให้ 5 เสือ ทบ. ลงไปดูแลและเตรียมการในพื้นที่ กทม." พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

"ผมจะให้ พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ประสานงานกับ พล.ท.วรรณทิพย์ ว่องไว แม่ทัพภาคที่ 3 เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ส่วนพล.อ.โปฎก บุญนาค ผู้ช่วย ผบ.ทบ.ให้รับผิดชอบในพื้นที่ภาคกลาง ส่วน พล.อ.ยุทธศิลป์ โดยชื่นงาม ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบกดูแลในพื้นที่ปริมณฑล " พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ทางกองทัพอาจต้องใช้อากาศยาน และเรือเหาะบินสำรวจในพื้นที่ เพราะต่อไปน้ำทั้งหมดอาจจะลงไปสู่ภาคใต้ หากเรือเหาะใช้งานได้ดี ก็จะนำมาใช้ในพื้นที่ภาคกลาง
** อัด"ปลอด"ไม่ใช่มืออาชีพ

นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา เลขานุการ และโฆษกรมว.วิทยาศาสตร์ เงา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.วิทยาศาสตร์ เงา พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเป็นห่วงกรณี นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ ยอมรับว่า ประเมินปริมาณน้ำและวันเวลาผิดพลาด สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานแบบไม่ใช่มืออาชีพ และขาดประสบการณ์ นำมาซึ่งการซ้ำเติมประชาชนให้ทรุดหนักลง จึงขอแนะนำว่าให้ยึดความเห็น ตามข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ และข้าราชการประจำโดยเฉพาะหน่วยงานที่ถวายงานโครงการพระราชดำริเรื่องน้ำ อย่างต่อเนื่อง เช่น สถาบันสารสนเทศน้ำ และการเกษตร (องค์กรมหาชน) และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหลักหนึ่งในการตัดสินใจ และขณะนี้น้ำได้เคลื่อนเข้าใกล้ กทม.แล้ว ถ้ารัฐบาลยังประเมินผิดพลาดอีก จะเกิดอะไรขึ้นกับจังหวัดยุทธศาสตร์ของประเทศ

**ศอส.เผยยังมีน้ำท่วมใน 27 จังหวัด

นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ( ศอส. ) กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบภัย 27 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ กำแพงเพชร และ ตาก 205 อำเภอ 1,443 ตำบล 10,733 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 766,267 ครัวเรือน 2,298,571 คน ผู้เสียชีวิต 269 ราย สูญหาย 4 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 9,670,726 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำคาดว่าจะเสียหาย บ่อปลา 128,429 ไร่ ด้านปศุสัตว์ สัตว์ได้รับผลกระทบรวมทั้งสิ้น 9,956,723 ตัว เส้นทางไม่สามารถสัญจรผ่านได้รวม 219 สาย เป็น ทางหลวง 57 สาย ใน 15 จังหวัด ทางหลวงชนบท 162 สาย ใน 33 จังหวัด

" สำหรับพื้นที่ที่ต้องระวังดินโคลนถล่มและน้ำป่าไหลหลากในช่วงนี้ มี 7 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ที่ อ.ขลุง และอ .เขาคิชฌกูฏ ตราดที่ อ.บ่อไร่ อ.เกาะช้าง เพชรบุรี อ.แก่งกระจาน ชุมพร อ.สมุย อ.พะโต๊ะ สุราษฎร์ธานี อ.วิภาวดี อ.ไชยา นครศรีธรรมราช อ.สิชล อ.นบพิตำ อ.พรหมคีรี ภูเก็ต อ.กะทู้ และ ศอส. ได้กำชับให้จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ และ นครศรีธรรมราช เตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนัก ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน นอกจากนี้ ศอส. ได้จัดตั้งคณะทำงาน 4 คณะ แบ่งเป็น ด้านการป้องกัน ด้านการอพยพ ด้านการส่งกำลังบำรุง และด้านการผันน้ำเพื่อป้องกันพื้นที่สำคัญและพื้นที่เศรษฐกิจ มิให้ได้รับผล กระทบจากน้ำท่วม"

สำหรับสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ 4,650 ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,634 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำไหลผ่านที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา 3,476 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำใน 10 จังหวัดที่อยู่ริมแม่น้ำ ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำล้นตลิ่งที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

"สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ ยังอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำ 99 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำ 98 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนแควน้อย มีปริมาณน้ำ 101 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำ 130 เปอร์เซ็นต์ และขณะนี้ร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน ทำให้มีฝนตกชุกหนาแน่น และตกหนักบางแห่ง อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในช่วงวันที่ 11-12 ต.ค.นี้ ซึ่งภาวะฝนที่ตกหนักในระยะนี้ยังส่งผลกระทบให้การระบายน้ำในพื้นที่ภาคกลาง ตอนล่างเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะจ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา จึงขอให้จังหวัดดังกล่าว เฝ้าระวังภาวะน้ำท่วมที่อาจเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 80 ซม. ในระยะนี้ " นายพระนาย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น