xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ห่วงพายุเข้ากลางสัปดาห์ ส่งเรือเหาะดูน้ำท่วมพื้นที่เสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.(แฟ้มภาพ)
“ประยุทธ์” ทหารเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐบาลแก้ปัญหาน้ำท่วม แบ่งกำลังแม่ทัพภาคดูแลแต่ละจังหวัด ผวา 12-18 ต.ค.พายุ หวั่นทำน้ำ “เจ้าพระยา” ล้น สั่งทหารตระเวนดูพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมเพิ่ม พร้อมส่ง “เรือเหาะ” ดูน้ำไหลลงใต้ เตือนค่ายทหารป้องน้ำทำอาวุธเสียหาย เผยนายกฯ สั่งแบ่งโซนนิงช่วยน้ำท่วม

วันนี้ (11 ต.ค.) เมื่อเวลา 12.00 น.ที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ ว่า กองทัพบกได้เข้าไปรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใน 3 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ โดยบูรณาการร่วมกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี โดยให้แม่ทัพภาคที่ 1 รับผิดชอบ จ.พระนครศรีอยุธยา หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษรับผิดชอบ จ.ลพบุรี และแม่ทัพภาคที่ 3 รับผิดชอบในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ จากการตรวจสอบในพื้นที่ คือ การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งเรื่องอาหารการกินและที่อยู่อาศัย เพื่อให้อยู่รอดปลอดภัยพ้นจากอันตราย รวมถึงการป้องกันพื้นที่ที่ยังไม่ได้เกิดน้ำท่วม และมีความเสี่ยงที่จะท่วม เพื่อสกัดกั้นเป็นตอนๆ โดยเฉพาะเส้นนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 2 แห่งที่อยู่ใน จ.อยุธยา ซึ่งการทำงานจะต้องแบ่งพื้นที่ต่างๆ เป็นโซนนิงในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ เราเตรียมค่ายอดิศร ใน จ.สระบุรี เพื่อรองรับประชาชน

“นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ดำเนินการลักษณะโซนนิง ว่า พื้นที่ใดสามารถกู้ได้ หรือพื้นที่ใดจะปล่อยให้ท่วมแล้วค่อยกู้ทีหลัง ซึ่งถือเป็นภาพรวมในการแก้ไขปัญหาของทั้ง 3 จังหวัด ขณะนี้น้ำท่วมในพื้นที่ 28 จังหวัด จึงได้จัดกำลังทหารลงไปในพื้นที่ทั้ง 28 จังหวัด เพื่อเข้าไปสนับสนุนกับส่วนราชการอื่นๆ อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหมยังได้มอบภารกิจให้รับผิดชอบในพื้นที่เมืองเอก โดยให้หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศทำกระสอบทรายเป็นพนังกั้นน้ำ นอกจากนี้ ยังให้กองพลทหารราบที่ 2 รับผิดชอบบริเวณรังสิตคลอง 8 ที่จะต้องทำแนวกั้นน้ำ รวมถึงการขนย้ายประชาชน ซึ่งผมได้ดำเนินการสั่งการไปทั้งหมดแล้ว และคิดว่า กองทัพบกพยายามทุ่มเททั้งบุคลากรและทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล ขอร้องประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะจะทำให้การควบคุมการช่วยเหลือทำได้ยาก รวมถึงการเตรียมการในพื้นที่ที่ยังไม่ท่วม โดยให้ 5 เสือ ทบ.ลงไปดูแลและเตรียมการในพื้นที่ กทม.” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ประชาชนที่อยู่ใกล้คลอง หรือแม่น้ำเจ้าพระยา จะต้องป้องกันตัวเอง โดยการขนของให้ไปอยู่ในที่สูง รวมถึงทุกค่ายทหารก็ต้องมีการเตรียมความพร้อม เนื่องจากมีอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมาก ต้องหาที่เตรียมการตั้งแต่ตอนนี้ หากน้ำท่วมก็จะทำให้เกิดความเสียหาย รถทุกชนิด ทั้งรถเกราะ รถถัง จะต้องมีการขยับต้องเตรียมแผนเคลื่อนย้ายไว้ทั้งหมด โดยเฉพาะรถบรรทุก 2 ตันครึ่ง ที่จะนำไปใช้ช่วยเหลือประชาชนจะต้องไม่โดนน้ำท่วม อาจจะต้องนำไปจอดไว้ในทางที่ไม่ถูกน้ำท่วม กองทัพพยายามช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ แต่เราอยากขอร้องประชาชนให้ใจเย็น ตนเข้าใจความเดือดร้อน หากอะไรไม่ทั่วถึงก็ขอให้แจ้งมา เราพยายามบูรณาการให้ได้ สิ่งที่มีปัญหา คือ การรับแจ้ง ทำอย่างไรให้เกิดความทั่วถึง และตรงกับความต้องการของประชาชน ทุกส่วนราชการมีความรักความสามัคคีในการทำหน้าที่ รวมทั้งฝ่ายการเมือง ทหาร ต่างช่วยกันในการช่วยเหลือความเดือดร้อน เมื่อประเทศชาติเดือดร้อนทุกคนต้องร่วมใจเป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้ผ่านพ้นเรื่องนี้ไปให้ได้

“ผมจะให้ พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ผู้ช่วย ผบ.ทบ.ประสานงานกับ พล.ท.วรรณทิพย์ ว่องไว แม่ทัพภาคที่ 3 เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ส่วน พล.อ.โปฎก บุญนาค ผู้ช่วย ผบ.ทบ.ให้รับผิดชอบในพื้นที่ภาคกลาง ส่วน พล.อ.ยุทธศิลป์ โดยชื่นงาม ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบกดูแลในพื้นที่ปริมณฑล แต่ทั้งหมดจะบูรณาการร่วมกันภายในศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก ซึ่งหากมีการประชุมสำคัญที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) จะให้สลับกันไปประชุมด้วย เพื่อให้เข้าใจถึงการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาคงไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะเป็นพื้นที่กว้าง และมีกำลังพลและยุทโธปกรณ์จำกัด แต่เราพยายามทำให้ดีที่สุดโดยจะต้องใช้การบูรณาการร่วมกันสูง ทั้งนี้ รับรองว่า ของที่บริจาคจะถึงมือของประชาชนทุกคน ถือเป็นกุศลที่คนไทยทุกคนทำร่วมกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ช่วงวันที่ 12-18 ต.ค.นี้ จะมีพายุเข้ามาและระดับน้ำจะสูงขึ้น น้ำทะเลจะหนุน และอาจส่งผลกระทบให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้น ทั้งนี้ ตนได้สั่งให้หน่วยทหารจัดกำลังไปลาดตระเวนในพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยง และหากท่วมมาแล้ว ก็อาจจะทำให้เกิดการทะเลาะกัน และมีการทำลายพนังกันน้ำกัน และน้ำอาจจะเข้ามาในพื้นที่ส่วนใหญ่ในบริเวณกว้าง ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานใน กทม.เข้มแข็งอยู่แล้ว เราเพียงไปช่วยเสริม ขาดเหลืออะไรก็สามารถติดต่อมาได้ที่ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก รวมถึงหน่วยทหารในพื้นที่สามารถเข้าไปแจ้งได้เลย เพราะจะต้องเข้าไปช่วยเหลือประชาชน ทั้งนี้ จะใช้อากาศยานและเรือเหาะบินสำรวจในพื้นที่ เพราะต่อไปน้ำทั้งหมดอาจจะลงไปสู่ภาคใต้ หากเรือเหาะใช้งานได้ดี ก็จะนำมาใช้ในพื้นที่ภาคกลาง เนื่องจากสามารถลดการใช้เชื้อเพลิงของเครื่อง ฮ.แต่ทั้งนี้ ก็คงต้องขอเวลาสักระยะในการดำเนินการ
กำลังโหลดความคิดเห็น