xs
xsm
sm
md
lg

กรอ.หนุนเชื่อมโยงลอจิสติกส์ ตอ.เต็มสูบ ทั้งบก น้ำ อากาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ที่ประชุม กรอ.สรุปเร่งรัด และพัฒนาการยกระดับการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และอากาศ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพการบริการของสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา-พัทยา ให้เป็นสนามบินเพื่อการพาณิชย์เต็มรูปแบบที่จะมีทั้งการขนส่งคน และสิ่งของให้เชื่อมโยงกับสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ขณะที่การขนส่งทางน้ำ มุ่งเน้นการเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังกับท่าเรือมาบตาพุด เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งทางบก ส่วนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคตะวันออก และเมืองพัทยาอย่างยั่งยืน มอบหมายหน่วยงานเกี่ยวข้องจัดทำ WAR ROOM รับปัญหาให้แล้วเสร็จ และดำเนินการได้ภายในปี 58

ผู้สื่อข่าวรายงานผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 5/2555 ที่มีขึ้นในช่วงบ่ายถึงเย็นวันนี้ (18 มิ.ย.) ที่โรงแรมรอยัลคลิฟ โฮเต็ล กรุ๊ป ซึ่งมี น.ส.ยิ่งลักณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน รวมถึงตัวแทนจากสมาคมด้านการท่องเที่ยวเข้าร่วมว่า หลังเสร็จสิ้นการประชุม นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายผดุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และน.ส.ศันสนีย์ นาคพงษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมกันแถลงสรุปสาระสำคัญของการประชุมว่า ได้ให้ความสำคัญที่การมุ่งเน้นการยกระดับการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศเพื่อลดต้นทุนการขนส่งทางบก

นอกจากนั้น ที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีการจัดตั้ง WAR ROOM เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคตะวันออก และเมืองพัทยาอย่างยั่งยืนให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 ขณะที่แนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ ยังมุ่งเน้นการมอบหมายงานให้แก่กระทรวงที่เกี่ยวข้องในการดูแล และจัดทำรายละเอียดเพื่อกำหนดแผนดำเนินการในระยะยาว

นายผดุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนโดยคระกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้เสนอประเด็นในการพัฒนาเศรษฐกิจต่อรัฐบาล 5 เรื่อง คือ 1.เสนอมาตรการและกลไกเพื่อบูรณาการและเสริมสร้างความเข้มแข็งพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ทั้งมาตรการระยะสั้น ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรค 2 ที่เสนอขอปรับหลักเกณฑ์กำหนดการพิจารณาโครงการด้านสิ่งแวดล้อมจาก 30 วัน เป็น 60 วัน และข้อเสนอมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาความแออัดของเรือสินค้าที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด รวมถึงโครงการฟื้นฟูระบบขนส่งทางรางเพื่อขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่แหลมฉบังและมาบตาพุด รวมถึงข้อเสนอกลไกเพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการความปลอดภัย และภาวะฉุกเฉินในพื้นที่มาบตาพุดด้วย

2.การพัฒนาโครงข่ายคมนาคม และระบบลอจิสติกส์ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทางอากาศภาคตะวันออก โดยเร่งรัดการใช้สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง-พัทยา ในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้เชื่อมต่อกับสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมืองง การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทางระบบราง โดยการเร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-ระยอง ให้แล้วเสร็จในปี 2560 รวมถึงเรื่องการเร่งรัดขยายช่องจราจรทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 36 ขยายจาก 4 เป็น 8 ช่องทาง และทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 317 จันทบุรี-สระแก้ว เร่งรัดให้ดำเนินการ 4 ช่องทางให้เสร็จภายในปี 2557

3.การส่งเสริมการค้าและการลงทุน ด้วยการพิจารณาขยายเวลาเปิดด่านชั่วคราว/ถาวรด้านจังหวัดสระแก้ว และจันทบุรี จาก 08.00-18.00 เป็น 08.00 ถึงเวลา 22.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกการส่งสินค้าด่านชายแดนไทย-กัมพูชา และการแก้ไขปรับปรุงผังเมืองรวม บริเวณอุตสาหกรรมหลักและชุมชน จังหวัดระยอง โดยคงพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของท้องถิ่น และจัดระเบียบโซนนิ่งให้อยู่ร่วมกับชุมชนได้ ตลอดจนโครงการสร้างห้องแช่เยือกแข็งผลไม้ เพื่อเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าและส่งออกผลไม้ของภาคตะวันออก รวมถึงโครงการศึกษาแนวทางการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก (ระยอง-ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-สมุทรปราการ) และโครงการพัฒนาเมืองศูนย์กลางกลุ่มจังหวัด “บูรพนา” ตามแนวทางการศึกษาผังอนุภาคของกรมยาธิการและผังเมือง

4.การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ รวม 3 เรื่อง คือ เร่งรัดการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแผนการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2558 พื้นที่ภาคตะวันออก ที่ดำเนินการโดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมี 7 โครงการ แต่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 5 โครงการ โดยโครงข่ายน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำประแสร์-อ่างเก็บน้ำคลองหลวงใหญ่ ประสบปัญหาทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน ขณะที่โครงการมาบหวายโสม และอ่างเก็บน้ำห้วยไข่เน่าซึ่งประสบปัญหางบประมาณการก่อสร้างที่สูงกว่า 2,000 ล้านบาท, โครงการจัดสร้างอาคารศูนย์ปฏิบัติการทางน้ำ (War Room) ภาคตะวันออก และโครงการก่อสร้างระบบส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล-โรงผลิตน้ำประปา ระยอง ด้วยเช่นกัน

และ 5.การส่งเสริมการท่องเที่ยวและบริการ ทั้งเรื่องการขอเร่งรัดการก่อสร้างถนนรอบเกาะช้างให้แล้วเสร็จ เพื่อลดระยะเวลาในการเดินทางย้อนกลับทาง ซึ่งถนนยังขาดอยู่ 2.6 กิโลเมตร และเรื่องการขอให้เร่งดำเนินการเพิ่มศักยภาพด้านทักษะการสื่อสารด้วยภาษาต่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหามัคคุเทศก์ต่างชาติลักลอบให้บริการ และเรื่องขอนำเงินที่หักภาษีมูลค่าเพิ่มให้ท้องถิ่นที่โรงแรมตั้งอยู่ เป็นรายได้ในการบำรุงท้องถิ่นโดยขอใช้เมืองพัทยาเป็นเมืองนำร่อง

ขณะที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รายละเอียดทั้งหมดจะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามการดำเนินงานในแต่ละโครงการให้เป็นรูปธรรม โดยรายละเอียดของแต่ละโครงการและการกำหนดงบประมาณในบางครั้งอาจยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งรายละเอียดจะต้องให้หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายไปจัดทำแผนอย่างละเอียดต่อไป

ด้านนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่างถึงการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศว่า ถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยจะให้ความสำคัญกับการสนับสนุนโครงการเชื่อมโยงการคมนาคมทั้งทางอากาศ ทางน้ำ ทางบก และระบบราง โดยในส่วนของระบบรางนั้นจะมีการก่อสร้างทางเชื่อมต่อกันทั้งแหลมฉบัง-มาบตาพุด และอนาคต อาจเชื่อมโยงไปยังเขตลาดกระบังด้วย

และในส่วนทางน้ำ จะมีการพัฒนาศักยภาพของท่าเทียบเรือน้ำลึกในการรองรับความเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ และในส่วนของทางบกจะมีการเพิ่มช่องทางการจราจรบริเวณคอขวดแหลมฉบังให้เป็นทางยกระดับจาก 8 ช่องจราจร เป็น 14 ช่องทางการจราจร ส่วนทางอากาศนั้นคือเรื่องการพัฒนาคุณภาพท่าอากาศยานทั้งหมดให้เชื่อโยงกันโดยหวังว่าสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง-พัทยา จะเป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบต่อไปด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น