xs
xsm
sm
md
lg

เสื้อแดงยกโขยงให้กำลังใจ “ปู” ดูงานท่าเรือแหลมฉบัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - กลุ่มคนเสื้อแดงยกโขยงให้กำลังนายกรัฐมนตรี “ปู” ถึงสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ขณะที่การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมบัง จังหวัดชลบุรี เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ได้บรรยายภาพรวมการทำงาน และโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือเฟส 3 การแก้ไขปัญหาด้านการจราจรภายในท่าเรือที่เป็นปัญหาเรื้อรัง และผลกระทบการย้ายการใช้บริการจากท่าเรือแหลมฉบัง ไปขนส่งผ่านท่าเรือทวาย

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการลงพื้นที่จังหวัดชลบุรี เป็นวันที่ 2 ในการประชุม ครม.สัญจร ครั้งที่ 5 ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีว่า ได้เดินทางออกจากโรงแรมรอยัลคลิฟ โฮเต็ล กรุ๊ป ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมตั้งแต่เวลา 10.30 น.วันนี้ (18 มิ.ย.) เพื่อไปยังสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับการพัฒนาระบบลอจิสติกส์เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งตะวันออก กับการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย จากนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเยี่ยมชมการดำเนินงานของท่าเรือต่างๆ ในท่าเรือแหลมฉบัง
 
โดยมีกลุ่มคนเสื้อแดงกว่า 200 คน เดินทางมาให้การสนับสนุน ซึ่งเมื่อเดินทางมาถึง แกนนำคนเสื้อแดงในจังหวัดชลบุรี ประกอบด้วย น.ส.นิชนันท์ วังคฮาต อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคเพื่อไทย (เขตอำเภอศรีราชา) และ นายอดิสร ผลลูกอินทร์ อดีตผู้สมัครพรรคเพื่อไทย (เขตบางละมุง) ได้ยื่นหนังสือให้กำลังนายกรัฐมนตรี พร้อมมอบกระเช้าผลไม้ และขนมหวานให้นายกรัฐมนตรี

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้เข้ารับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้บรรยายเกี่ยวกับการพัฒนาระบบลอจิสติกส์เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกกับการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมทวาย และนายเฉลิมเกียรติ์ สลักคำ ผู้อำนวยการ การท่าเรือแหลมฉบัง บรรยายถึงภาพรวมกิจการของท่าเรือแหลมฉบัง การดำเนินโครงการรองรับยุทธศาสตร์ชาติ ด้วยการก่อสร้างท่าเทียบเรือเฟส 3 เพื่อรองรับปริมาณตู้สินค้าของท่าเรือในอนาคต
 
โดยคาดว่านับจากปี 2556 ปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือแหลมฉบังจะสูงเกิน 10 ล้านทีอียูต่อปี ตามการขยายตัวของการค้าและเศรษฐกิจ ซึ่งจะเกินขีดความสามารถรวมของโครงการท่าเรือฯ ขั้นที่ 1 และ 2 ที่จะสามารถรองรับได้ โดยท่าเรือแหลมฉบัง ได้จัดจ้างบริษัทที่ปรึกษา เพื่อศึกษาทางด้านวิศวกรรมเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และคาดว่า จะสามารถเปิดดำเนินการท่าเทียบเรือท่าแรกของโครงการ 3 ได้ในปี 2563

นอกจากนั้น ยังบรรยายถึงโครงการส่งเสริมศักยภาพด้านลอจิสติกส์ของประเทศ ด้วยการพัฒนา Rail Transfer Terminal ซึ่งท่าเรือแหลมฉบัง จำเป็นต้องพัฒนาระบบการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ภายหลังจากระบบรถไฟรางคู่แล้วเสร็จและเปิดดำเนินการ โดยมีโครงการหลัก ได้แก่การก่อสร้างรถไฟ 6 Track บริเวณโซน 4 ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 600 ไร่ และทำการติดตั้งเครื่องมือยกขนตู้สินค้าชนิดพิเศษที่สามารถทำงานคร่อมรางรถไฟได้ทุก Track ซึ่งคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2558

ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ยังบรรยายถึงแผนปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรภายในท่าเรือแหลมฉบังว่า ปัจจุบัน ท่าเรือแหลมฉบังประสบปัญหาสภาพการจราจรที่ติดขัด ทั้งบริเวณถนนทางเข้าท่าเรือฯ บริเวณหน้าประตูสินค้า และบริเวณถนนภายในท่าเรือ ส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน และสภาพปัญหายังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วงที่มีเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่เข้าเทียบท่า โดยท่าเรือแหลมฉบัง ได้ให้บริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสม และวิเคราะห์สภาพการจราจรเพื่อปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก ในโครงการท่าเรือเฟส 3 เช่น โครงการขยายถนนเข้าประตูตรวจสอบสินค้า 2 จาก 4 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 2.6 กิโลเมตร โครงการก่อสร้างอาคารด่านเก็บเงินประตูตรวจสอบสินค้า 1 เพิ่มเติมจำนวน 14 ช่องฯลฯ

การวิเคราะห์ผลกระทบของการย้ายการใช้บริการจากท่าเรือแหลมฉบัง ไปขนส่งผ่านท่าเรือทวาย ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าของอุตสาหกรรมถลุงเหล็กและถ่านหิน ซึ่งสินค้าอุตสาหกรรมที่ส่งออกไปประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่จะใช้ท่าเรือทวายเป็นหลัก และจะไม่มีผลกระทบต่อสินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง

ขณะที่สินค้าเปลี่ยนถ่าย ได้แก่ สินค้าบรรจุตู้ เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางทะเลของไทยมากกว่าร้อยละ 70 เปลี่ยนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือสิงคโปร์ มาเลเซีย และฮ่องกง โดยร้อยละ 11 ยังไปกลุ่มประเทศยุโรปและแอฟริกา ร้อยละ 10 ไปประเทศแถบเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ และตะวันออกกลาง และรองรับการขนส่งตู้สินค้าของประเทศทางซีกตะวันตก แต่การมีท่าเรือทวาย ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งจะเป็นประตูที่รองรับสินค้าสู่ประเทศในกลุ่มยุโรป แอฟริกา เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ และตะวันออกกลาง ดังนั้น ในส่วนของสินค้าทางซีกตะวันตกจะถูกถ่ายเทจากท่าเรือแหลมฉบัง ไปยังท่าเรือทวาย ด้านสินค้าเกษตร และอื่นๆ สินค้าประเภทข้าว และน้ำตาลที่ขนส่งไปยังประเทศในซีกตะวันตกของไทยจะเป็นสินค้าส่งออกหลักที่จะเปลี่ยนมาใช้ท่าเรือทวาย

ส่วนสินค้ารถยนต์ ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก ดังนั้น การที่สินค้ารถยนต์จะเปลี่ยนฐานการขนส่งมาที่ท่าเรือทวาย จึงมีความเป็นไปได้ยาก

ขณะที่ผลประกอบการในช่วง 7 เดือน (ตุลาคม 2554-เมษายน 2555) ของท่าเรือแหลมฉบัง ในแง่จำนวนเรือเทียบท่าพบว่า ทั้งจำนวนเรือตู้สินค้า เรือสินค้าทั่วไป เรือโดยสาร เรือ RO-RO ฯลฯ มีจำนวนทั้งสิ้น 5,931 เที่ยว เติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.7% ขณะที่ปริมาณสินค้า พบว่า สินค้าทั่วไป ทั้งขาเข้าและออก มีจำนวนทั้งสิ้น 2,338,686.89 เมตริกตัน รวมทั้งสินค้าบรรจุตู้ ทั้งขาเข้าและออก ที่มีจำนวน 34,354,651.41 เมตริกตัน เติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน รวม 38.1%

ส่วนจำนวนตู้สินค้า (ทีอียู) ทั้งตู้สินค้าขาเข้าและออก รวมทั้งตู้สินค้าถ่ายลำ มีจำนวน 3,283,028 ทีอียู เติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ประมาณ 5.72% อย่างไรก็ดี ถือเป็นยอดการเติบโตที่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 11-12% ซึ่งคาดว่าเป็นผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในช่วงปลายปี 2554 ที่ทำให้โรงงานหลายแห่งไม่สามารถผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก และไม่สามารถนำเข้าสินค้าเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้

เช่นเดียวกับจำนวนรถยนต์ ที่ติดลบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 23.15% กล่าวคือ ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ท่าเรือแหลมฉบัง มีรถยนต์ขนถ่ายผ่านท่าทั้งขาเข้าและออก เพียง 420,376 คันเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้ เพราะโรงงานผลิตรถยนต์ และประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ต้องหยุดการผลิตจากผลกระทบน้ำท่วมใหญ่ในช่วงปลายปี 2554 ส่วนจำนวนผู้โดยสารทั้งขาเข้าและออก มีจำนวนรวม 118,175 คน เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 0.78%







กำลังโหลดความคิดเห็น