xs
xsm
sm
md
lg

ทลฉ.โอ่ผลประกอบการ 7 เดือน ทั้งปริมาณตู้สินค้า และเรือเทียบท่าโต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - เผยผลประกอบการช่วง 7 เดือนปี 55 ของท่าเรือแหลมฉบัง พบทั้งจำนวนเที่ยวเรือเทียบท่า ปริมาณสินค้าและตู้สินค้าล้วนเติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เป็นเพียงการเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตน้ำท่วมใหญ่โรงงานหลายแห่งทั่วประเทศในช่วงปลายปี 54 และภาวะเศรษฐกิจโลก ชี้หลังโรงงานต่างๆ ในนิคมฯ โรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เริ่มเดินเครื่องการผลิต จะทำให้ปริมาณการส่งออกในช่วงปลายปีเติบโตขึ้นอีก แต่จะเป็นไปตามเป้าหรือไม่ ต้องวัดใจเศรษฐกิจโลก

นายชุนณ์ลพัทธ์ ศรีภาเพลิน หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ การท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เผยถึงผลประกอบการในช่วง 7 เดือน (ตุลาคม 2554-เมษายน 2555) ของท่าเรือแหลมฉบังว่า ในแง่จำนวนเรือเทียบท่าพบว่า ทั้งจำนวนเรือตู้สินค้า เรือสินค้าทั่วไป เรือโดยสาร เรือ RO-RO ฯลฯ มีจำนวนทั้งสิ้น 5,931 เที่ยว เติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.7% ขณะที่ปริมาณสินค้า พบว่า สินค้าทั่วไป ทั้งขาเข้าและออก มีจำนวนทั้งสิ้น 2,338,686.89 เมตริกตัน รวมทั้งสินค้าบรรจุตู้ ทั้งขาเข้าและออก ที่มีจำนวน 34,354,651.41 เมตริกตัน เติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน รวม 38.1%

ส่วนจำนวนตู้สินค้า (ทีอียู) ทั้งตู้สินค้าขาเข้าและออก รวมทั้งตู้สินค้าถ่ายลำ มีจำนวน 3,283,028 ทีอียู เติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ประมาณ 5.72% อย่างไรก็ดีถือเป็นยอดการเติบโตที่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 11-12% ซึ่งคาดว่าเป็นผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในช่วงปลายปี 2554 ที่ทำให้โรงงานหลายแห่งไม่สามารถผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก และไม่สามารถนำเข้าสินค้าเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้

เช่นเดียวกับจำนวนรถยนต์ ที่ติดลบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 23.15% กล่าวคือ ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ท่าเรือแหลมฉบัง มีรถยนต์ขนถ่ายผ่านท่าทั้งขาเข้าและออก เพียง 420,376 คันเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะโรงงานผลิตรถยนต์ และประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ต้องหยุดการผลิตจากผลกระทบน้ำท่วมใหญ่ในช่วงปลายปี 2554 ส่วนจำนวนผู้โดยสารทั้งขาเข้าและออก มีจำนวนรวม 118,175 คน เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 0.78%

นายชุนณ์ลพัทธ์ ยังเผยอีกว่า จำนวนตู้สินค้าที่ขนถ่ายผ่านท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ทั้งขาเข้าและออก ที่มีตัวเลขลดลงในช่วง 7 เดือนของปี 2555 ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบที่ต่อเนื่องยาวนานมาจากเหตุพิบัติภัยสึนามิ ในประเทศญี่ปุ่น เมื่อต้นปี 2554 เชื่อมมาถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในไทยเมื่อปลายปีก่อน ซึ่งการเติบโตของจำนวนตู้สินค้าขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกและภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี ขณะนี้โรงงานหลายแห่ง รวมทั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในนิคมฯ โรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เริ่มเดินเครื่องการผลิตแล้ว ก็คาดว่าในช่วงใกล้ไตรมาสสุดท้ายของปี ปริมาณการนำเข้าและส่งออกจะกลับมาพีกเช่นเดิม และจะมีผลต่อปัจจัยชี้วัดผลประกอบการที่จะมีขึ้นในเดือนเมษายน 2556 ด้วยเช่นกัน

“ยิ่งในตอนนี้มีกระแสข่าวว่า นักลงทุนจากประเทศจีน สนใจที่จะร่วมทุนผลิตรถยนต์ในไทยกับกลุ่ม CP ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดีทางการลงทุน และคาดว่าจะเข้ามาตั้งโรงงานในไทยเร็วๆ นี้ ซึ่งก็อาจจะทำให้ยอดการส่งออกรถยนต์ในอนาคตของไทยเติบโตตาม ส่วนจำนวนตู้สินค้าของ ทลฉ.เมื่อถึงปลายปีขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด เพราะต้องรอดูปัจจัยชี้วัดในอีกหลายอย่าง แต่คาดว่าเมื่อถึงปลายปีงบประมาณตัวเลขการเติบโตจะดียิ่งขึ้น” นายชุนณ์ลพัทธ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น