xs
xsm
sm
md
lg

สั่ง ร.ฟ.ท.ทำแผนแก้ปัญหาบุกรุกเขตทาง หวั่นกระทบแผนสร้างรถไฟทางคู่-ไฮสปีด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท.เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมได้เร่งให้ผู้บริหาร ร.ฟ.ท.ทำแผนแก้ปัญหาผู้อาศัยในเขตทางรถไฟเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ 767 กิโลเมตรและรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง โดยหลังจากนี้จะต้องไม่มีผู้มาอาศัยเพิ่มและค่อยๆ ลดลง และเพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรมจะต้องแบ่งการบริหารจัดการแต่ละพื้นที่ตามสภาพปัญหา และในการโยกย้ายออกนั้นจะมีการร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ด้วย ซึ่งปัจจุบันมีผู้อาศัยในเขตทางรถไฟทั่วประเทศจำนวน 18,993 ราย โดยหากยังไม่เริ่มการแก้ปัญหาจะกลายเป็นจุดอ่อนไหวในการดำเนินการโครงการแน่นอน

ซึ่งในเร็วๆ นี้ บริษัทที่ปรึกษาจะสรุปผลการศึกษาออกแบบรายละเอียดควบคู่ไปกับการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กิโลเมตร วงเงิน 25,000 ล้านบาท ส่งให้ สนข.จากนั้นจะส่งแผนทั้งหมดให้ ร.ฟ.ท.เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการต่อไป ซึ่งจะต้องรอให้ผ่านการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2557 ทั้งนี้ การลงทุนรถไฟทางคู่อยู่ในแผนการพัฒนารถไฟ 1.7 แสนล้านบาทที่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.แล้วโดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้พิจารณาเงินกู้ให้โครงการ ซึ่งพบว่าตลอดแนวเส้นทางมีผู้อาศัยในพื้นที่เขตทางที่จะส่งผลกระทบต่อโครงการกว่า 1,000 ราย

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.จะเร่งจัดหาหัวรถจักรใหม่ 20 หัว วงเงิน 3,300 ล้านบาท โดยจะให้ยื่นประกวดราคาวันที่ 16 กรกฎาคม สรุปผลได้ใน 1-2 เดือน โดยใช้เวลา 15 เดือนหรือปลายปี 2556 จะเริ่มทยอยส่งมอบจนครบ 20 หัว ส่วนกรณีที่มีการระบุว่ามีการล็อกสเปกนั้น ทาง ร.ฟ.ท.ได้ชี้แจงทำความเข้าใจแล้วว่าทีโออาร์เปิดกว้างประกวดราคาแบบสากล ซึ่งทั้งรถไฟทางคู่และหัวจักรใหม่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการขนส่งทางราง การบริหารจัดการลอจิสติกส์และลดต้นทุนการขนส่ง

นายโชคชัย คัมภิรานนท์ ประธานบริษัท เอ็นดีซี โลจิสติกส์ จำกัด ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางรถไฟ กล่าวว่า ในอนาคตการขนส่งสินค้าทางรางจะมากกว่า 50% เมื่อเทียบกับการขนส่งผู้โดยสาร ดังนั้น จะต้องให้ความสำคัญต่อย่านกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard: CY) ซึ่ง CY ที่สถานีจิระเป็นจุดที่เหมาะสมรองรับรถไฟทางคู่ แต่ปัญหาคือ ร.ฟ.ท.ไม่มีหัวจักรเพียงพอต่อความต้องการ โดยจัดซื้อครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2538 จำนวน 38 หัวหรือเมื่อ 17 ปีก่อน ซึ่งหากมีหัวจักรใหม่ตามแผนในปี 2556 จะลดระยะเวลาในการจัดการจาก 7-10 วันเหลือ 4 วัน เท่ากับขนส่งทางรถยนต์

ด้านนางธิดารัตน์ รอดอนันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สงวนวงศ์อุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตแป้งมันรายใหญ่สุดของประเทศ กล่าวว่า บริษัทใช้รถไฟขนส่งประมาณ 5,600 ตู้ต่อปีเนื่องจากมีต้นทุนต่ำกว่าทางถนน 0.14 บาทต่อกิโลกรัม โดยขนได้คราวละ 30 ตู้ แต่ที่ผ่านมามีข้อจำกัดหัวจักรไม่เพียงพอและต้องลดสัดส่วนลงจาก 29% เหลือ 17% และใช้ขนส่งทางรถยนต์แทน

สำหรับโครงการเส้นทางรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น วงเงินลงทุนรวม 25,353.14 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายทั่วไปและสิ่งอำนวยความสะดวกภาคสนาม 497.12 ล้านบาท ค่าโครงสร้างทางวิ่งทางรถไฟ 9,135.21 ล้านบาท ค่างานสถานี 3,873.95 ล้านบาท ค่างานระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม 5,571.80 ล้านบาท ค่างานย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า (CY) 654.27 ล้านบาท ค่ารื้อย้ายสิ่งปลูกสร้าง 5.56 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟ 5,413.94 ล้านบาท ค่าเวนคืนเพื่อแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟ 201.29 ล้านบาท มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 19.94% มีจำนวน 26 สถานี โดย CY จำนวน 3 แห่ง คือ ที่นครราชสีมา บัวใหญ่ และสถานีท่าพระ ขอนแก่น โดยเมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าจาก 4 แสนตันต่อปีเป็น 4 ล้านตันต่อปี เพิ่มจำนวนผู้โดยสารจาก 2 ล้านคนต่อปี เป็น 10 ล้านคนต่อปี โดยตลอดแนวมีจุดตัดกับถนน 93 จุด ซึ่งจะก่อสร้างทางยกระดับข้ามทางรถไฟ โดยต้องเวนคืนที่ดิน 4 แห่ง คือ กิโลเมตรที่ 315+376.385 (หนองม้า-หนองหัวฟาน) อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา, กิโลเมตรที่ 346+470.287 (ทล.หมายเลข 202) อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา, กิโลเมตรที่ 429+117.606 (โนนทัน-มิตรภาพ) อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น , กิโลเมตรที่ 435+237.162 (บ้านหนองแวง-มิตรภาพ) อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น
กำลังโหลดความคิดเห็น