ศูนย์ข่าวศรีราชา - รมช.คมนาคม เครียด หลังลงพื้นที่พบปัญหาการบริหารจัดการในท่าเรือแหลมฉบังหลายเรื่อง ด้านผู้ประกอบการขนส่งสินค้า แฉรัฐสูญเสียรายได้ ปีละ 6-7,000 ล้านบาท ด้านรัฐมนตรีรับเรื่อง เตรียมเสนอ “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ” และ ครม.ต่อไป
วันนี้ (4 พ.ค.) ที่ห้องประชุมการท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พล.ต.ท. ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิริ ประธานบอร์ดการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เดินทางมาเป็นประธานการประชุม การแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดในเขตท่าเรือแหลมฉบัง โดยมี นายเฉลิมเกียรติ สลักคำ ผอ.การท่าเรือแหลมฉบัง นายไพศาล ชื่นจิตร ผอ.ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ผู้ประกอบการท่าเรือ และผู้ประกอบการขนส่งสินค้า ร่วมประชุม
ด้านนายสงบ กิ่งทอง ประธานชมรมผู้ประกอบการขนส่งแหลมฉบัง กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย ปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณ Main Gate เป็นระยะทางยาวหลายกิโลเมตร จากท่าเรือแหลมฉบังจนถึงแยกไฟแดง Habor Mall อันเนื่องมาจากการให้บริการชำระค่าผ่านท่า การออกใบเสร็จค่าผ่านท่า การตรวจสอบเอกสารใบกำกับตู้สินค้าศุลกากร และพิธีการศุลกากรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ จุดๆ เดียว ที่บริเวณ Main Gate ซึ่งเดิมได้กระจายแบ่งงานไปยัง Terminal แต่ละแห่งที่ต้องคืนตู้สินค้า
ฉะนั้น เมื่อเกิดปัญหาในการให้บริการไม่ว่ากรณีใดๆ ดังกล่าว เป็นผลให้รถทุกประเภท ทุกชนิด ไม่ว่ารถตู้หนัก ตู้เปล่า หรือรถเปล่า ต้องจอดต่อคิวเป็นระยะทางยาวและใช้เวลารอคอยนาน จนกว่าปัญหาแต่ละ Case ของรถแต่ละคันจะได้ถูกแก้ไขให้เสร็จสิ้น ซึ่งมีผลทำให้รถที่จอดต่อคิว ต้องเสียเวลา และสูญเสียน้ำมันเชื้อเพลิงขณะสตาร์ทรถรอ รวมถึงบางครั้งกระทบต่อเวลา Closing Time ของเรือ ทำให้ตู้ไม่ทันเวลาขนย้ายขึ้นเรือ (ตู้ตกเรือ)
ปัญหาการจัดการของแต่ละท่า Terminal ที่ให้บริการจัดอุปกรณ์ในการขนย้ายไม่เพียงพอ, ปัญหาการเปิดช่องทางการจราจรประตูขาออก ที่ไม่เพียงพอกับปริมาณรถที่ออกจากท่า โดยเฉพาะช่วงหลังเวลา 16.00 น. ที่มีเจ้าหน้าที่ให้บริการน้อย รวมถึงบางครั้งที่มีเจ้าหน้าที่ฝึกหัด ที่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านเอกสาร ปฏิบัติงานในช่วงเวลาเร่งด่วน ทำให้เสียเวลารอคอยการตรวจสอบเอกสารค่อนข้างมาก
นายสงบ กล่าวต่อไปว่า การท่าเรือแหลมฉบัง ควรทำการปรับปรุงระบบการชำระเงินค่าผ่านท่าใหม่ ซึ่งปกติรถทุกคันต้องเสียค่าธรรมเนียมผ่านท่า 130 บาท ต่อมาการท่าเรือ ได้ขอเรียกเก็บเงินเป็นค่าสมาชิกทั้งในส่วนของพนักงานขับรถ และรถเทรลเลอร์แต่ละคัน จากผู้ประกอบการ 400 บาท (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ต.ค.54 โดยทางท่าเรือแจ้งว่าค่าสมาชิกดังกล่าวเก็บเพื่อจะทำการปรับปรุงระบบการผ่านท่า และการชำระเงินให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว แต่ปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่มีการนำระบบใหม่มาใช้ ยังคงมีขั้นตอนการชำระเงินเหมือนเดิมที่เคยปฏิบัติมา และก่อให้เกิดความล่าช้าเหมือนเดิม
ปัญหาด่านชั่งน้ำหนักบริเวณประตูทางเข้าและออก เนื่องจากเป็นการทำงานซ้ำซ้อนกันแต่ละท่าเรือที่จะมีการตรวจสอบน้ำหนักของตู้สินค้า ความถูกต้องว่าตรงตามเอกสารที่ยื่นแจ้งมา หรือไม่ ก่อนที่จะนำตู้สินค้าลงเรือ และการตรวจสอบน้ำหนักบริเวณประตูทางเข้าและออกจะมีค่าบริการจัดเก็บครั้งละ 30 บาท แต่ท่าเรือต่างๆ จะให้บริการฟรี, ปัญหาเก็บค่าล่วงเวลาที่ประตูทางออก ในแต่ละครั้งที่จะมีการนำเข้า-ส่งออก ผู้ประกอบการจะต้องทำเรื่องเดินพิธีการศุลกากรขออนุญาตในการนำเข้าและส่งออก กรณีมีการทำงานล่วงเวลา ก็จะแจ้งกำหนดเวลาแล้วเสร็จของงาน พร้อมกับชำระค่าล่วงเวลาให้แก่กรมศุลกากร หรือทางท่าเรือต่างๆ ภายหลังนำรถออกจากท่าเรือ และวิ่งผ่านประตูทางออกก็ต้องเสียค่าล่วงเวลา 100 บาทอีกครั้ง ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการ
ด้านนายเฉลิมเกียรติ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ทางการท่าเรือแหลมฉบังพร้อมดำเนินการแก้ไข ทั้งในระยะสั้น ,ระยะกลาง และระยะยาว โดยในระยะสั้นนั้น จะยกเลิก ระบบ e-Toll เพิ่มช่องตรวจผ่านสินค้า (เมนเกรต) ประตู 3 จากเดิม 7 ช่อง เพิ่มอีก 6 ช่อง นอกจากนั้น จะทำการขยายถนนเพิ่มช่องจราจรด้วย โดยโครงการนี้เป็นโครงการเร่งด่วน ซึ่งจะให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน
สำหรับการปรับปรุงในครั้งนี้ มีแผนในระยะสั้น-กลาง-ยาว ซึ่งเบื้องต้น ได้ขอใช้งบประมาณจำนวน 1,008 ล้านบาท ในการแก้ไขปรับปรุง และเพื่อแก้ไขปัญหาในครั้งนี้
ด้านนายอรุณ เอี่ยมฉลาด ที่ปรึกษาชมรมผู้ประกอบการขนส่งแหลมฉบัง กล่าวว่า ปัญหาที่สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลแก่รัฐและเป็นปัญหาสำคัญ คือ ผู้ที่ได้รับสัมปทานท่าต่างๆ (เทอร์มินอล) ที่ทำสัญญากับการท่าเรือแหลมฉบัง เนื่องจากท่าเทียบเรือต่างๆ ได้รับสัมปทานแบบไหนอย่างไร และมีข้อจำกัดอย่างไรในการให้บริการ ซึ่งแต่ละเทอร์มินอลจะทราบดี
ปัจจุบัน ในแต่ละท่าทำเกินปริมาณที่จะสามารถรองรับตู้สินค้าได้ เช่น กรณีได้รับสัมปทานเพียง 300 เมตร จนถึง 1,000 กว่าเมตร โดยท่าเรือที่ได้รับ 300 เมตร ควรจะรับตู้สินค้าได้เพียง 3 แสนตู้เท่านั้น แต่ปัจจุบัน รับตู้สินค้าถึง 5-6 แสนตู้ แล้วจะรองรับปริมาณตู้สินค้าจากผู้ประกอบการได้อย่างไร
นายอรุณ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนั้น การจ่ายค่าตอบแทนให้แก่การท่าเรือแหลมฉบัง โดยในแต่ละเทอร์มินอลในช่วงแรก หรือ เฟส 1 จ่ายค่าตอบแทนน้อย หลังจากที่ท่าเรือมีการขยายหรือพัฒนาพื้นที่ท่าเรือมาเป็น 2 และ 3 ตามลำดับ ก็ได้มีการมีปรับอัตราค่าตอบแทนที่เพิ่มสูงขึ้นจากเฟส 1 ซึ่งในการดำเนินการเช่นนี้ ทำให้เกิดปัญหา เนื่องจากในเฟสแรก ซึ่งการจ่ายค่าตอบแทนน้อย ทำให้มีสร้างปัญหาในการจัดการ คือ เมื่อต้นทุนต่ำ เรือที่เข้ามาใช้บริการก็จะได้ราคาที่ต่ำด้วย เพื่อเป็นการเรียกเรือให้เข้ามาใช้บริการท่าดังกล่าว ทำให้มีรายได้จากการบริหารท่า และรายได้จากผู้ประกอบการรถขนส่งด้วย ซึ่งการลดราคาหรือดัมป์ราคาให้ต่ำลง ผลประกอบการปลายปีขาดทุน ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐบาล ทำให้รัฐบาลไม่มีรายได้
สำหรับราคาที่เทอร์มินอล หรือท่าเทียบเรือได้รับจากเรือและจากรถขนส่ง โดยราคาตามที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยกำหนดไว้นั้น โดยภาระค่ายกตู้นั้นไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด เช่น ตู้สั้น ประมาณ 1,600 บาท ส่วนตู้ยาว 2,600 บาท แต่มีการลดราคาต่ำกว่านี้ เนื่องจากเทอร์มินอลนั้นจ่ายค่าตอบแทนต่ำ จึงสามารถทำได้ ที่สำคัญบางเทอร์มินอลนั้น เป็นบริษัทในเครือเดียวกันกับเรือ
นายอรุณ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน ทางเทอร์มินอลจะเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ประกอบการคนไทย ผู้ส่งออกคนไทย หรือนำเข้าสินค้า ทีมีส่วนต่างเพียงเล็กน้อย แต่ทางเทอร์มินอลมาเก็บตู้สั้นราคา 3,100 บาท ตู้ยาวราคา 4,650 บาท โดยส่วนต่างจะได้มากถึง 1,200 บาท ซึ่งหาก 1 ปี ตู้เข้า 6 ล้านตู้ ตามเป้าที่การท่าเรือแหลมฉบังตั้งไว้ โดยเงินสูญหายไปเกือบ 7,000 ล้านบาทต่อปี โดยรายได้เหล่านี้ เป็นผลกำไรของผู้ประกอบการต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้เสียภาษีอะไรเลยให้แก่ประเทศไทย ซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้ระบบลอเจสติกส์ในประเทศไทยทำให้มีต้นทุนสูงตามไปด้วย
ปัญหาที่ผู้ประกอบการขนส่งได้รับผลกระทบจากจุดนี้ คือ ท่าเทอร์มินอลจะไปบริการเรือสินค้าต่างประเทศ โดยไม่ให้บริการผู้ประกอบการรถขนส่งสินค้า เพราะไม่ได้จ่ายเงินให้แก่เรือสินค้า แต่ไม่เก็บกับสายเดินเรือ ที่พวกตนไปจ่ายให้ซึ่งสายเดินเรือ ซึ่งไม่ได้อยู่แถวนี้เลย
นายอรุณ กล่าวว่า ปัญหาที่ประเทศชาติเสียหาย คือจากปัญหาดังกล่าว และที่สำคัญ ผู้ประกอกบการเทอร์มินอลต่างๆ ได้รับสัมปทานในระยะเวลา 30 ปี โดยคำนวณแล้ว ประเทศชาติจะต้องสูญเสียรายได้ทั้งสิ้นกว่า 2 แสนกว่าล้านบาท และหากรวมท่าเรือใน กทม. อีกจะมีมูลค่าความเสียหายอีกเท่าไร
ด้าน พล.ต.ท.ชัจจ์ กล่าวว่า จากการมารับฟังการแก้ไขปัญหาด้านการจราจรติดขัด สร้างความเสียหายต่อผู้ประกอบการขนส่ง แต่เมื่อมารับฟังพบปัญหาที่ยิ่งใหญ่กว่าปัญหารถติด คือ การได้รับสัมปทานของเทอร์มินอลต่างๆ ถือว่าเป็นปัญหาที่ประเทศชาติเสียหาย ซึ่งเรื่องนี้ตนจะนำเรื่องไปเสนอต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีต่อไป เพราะถือว่าตนได้รับมอบอำนาจมาให้ดูแลปัญหาตรงจุดนี้แล้ว ซึ่งเมื่อมีปัญหาก็ต้องรายงานต่างๆ ให้รัฐบาลรับทราบต่อไป เพื่อหามาตรการ และแนวทางแก้ไขต่อไป