xs
xsm
sm
md
lg

พ่อเมืองตรังพาคณะดูงานมาเลย์ หวังพัฒนาท่าเรือกันตังเทียบ “ปีนัง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พาคณะเดินทางไปศึกษาการบริหารงานของท่าเรือปีนัง ประเทศมาเลเซีย หวั่งนำข้อมูลกลับมาเพื่อใช้พัฒนาท่าเรือกันตัง และท่าเรือต่างๆ ในอนาคต

นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา ตนได้นำคณะเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อศึกษาการบริหารงานของท่าเรือปีนัง (Penang Port) ซึ่งเป็นท่าเชื่อมโยงขนถ่ายสินค้าจากท่าเรือกันตัง จังหวัดตรัง ไปยังประเทศต่างๆ เนื่องจากขณะนี้ท่าเรือปีนังถือเป็นท่าเรือนานาชาติระดับแนวหน้า และมีการบริการด้วยคุณภาพอย่างยอดเยี่ยม โดยบุคลากรที่เป็นมืออาชีพ พร้อมทั้งยังให้ความสำคัญกับลูกค้า โดยการทำให้เกิดจุดคุ้มทุนที่ดี และกำไรที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง

สำหรับสินค้าที่ส่งออกจากท่าเรือกันตัง จังหวัดตรัง ไปยังท่าเรือปีนัง ได้แก่ ยางพารา ไม้ยางพารา ปูนซีเมนต์ แร่ยิปซัม เป็นต้น โดยสินค้าเหล่านี้จะถูกขนถ่ายต่อไปยังประเทศต่างๆ เช่น จีน ยุโรป เกาหลีใต้ และอินเดีย เป็นต้น ซึ่งการไปศึกษาท่าเรือของประเทศมาเลเซียในครั้งนี้พบจุดเด่นในหลายด้าน เช่น การที่ท่าเรือปีนัง สามารถเข้าถึงได้ 3 เส้นทาง ทั้งทางถนน ทางอากาศ และทางรถไฟ มีลานวางตู้สินค้าสำหรับส่งออก เพื่อรองรับตู้สินค้าได้ 448,000 TEUs มีการขุดร่องน้ำทางเหนือ จากเดิมที่ลึก 11.5 เมตร ACD เป็น 14 เมตร ACD เพื่อรองรับเรือแม่ (Mother Vessels)

ทั้งนี้ สินค้าจากจังหวัดตรัง หรือจากประเทศไทย ที่ผ่านท่าเรือปีนัง จะเป็นสินค้าขาออกอย่างเดียว (Export) และไม่มีขาเข้า (Import) นับเป็น 18-19% ของปริมาณสินค้าที่ใช้บริการที่ท่าเรือแห่งนี้ทั้งหมด ขณะที่นโยบายของท่าเรือปีนังก็มีความชัดเจน ด้วยความที่เป็นท่าเรือที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก จึงมุ่งเน้นที่การให้บริการรอบบริเวณหรือมุ่งเป้าเป็น Local Port ของประเทศมาเลเซียตอนเหนือ และประเทศไทยตอนใต้ โดยสิ่งที่น่าสนใจ ก็คือ การดำเนินงานของท่าเรือแห่งนี้ เกิดจากสินค้าก่อนเรือ คือ มี Demand ของการนำเข้า-ส่งออก จากสินค้าที่กำเนิดรอบๆ บริเวณเกิดขึ้นก่อน เพื่อนำมาสู่การเป็นตัวขับความต้องการ Infrastructure ในภายหลัง

ขณะที่ท่าเรือกันตัง จังหวัดตรัง ในปัจจุบันนี้มีความลึกของทะเลเพียงแค่ 4 เมตรเท่านั้น ซึ่งกว่าจะเดินทางเข้าออกได้ต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน และยังไม่สามารถรองรับเรือที่มีขนาดใหญ่ได้ เนื่องจากเส้นทางร่องน้ำที่จะออกสู่ทะเลอันดามันเป็นเส้นทางคดเคี้ยว และมีโขดหิน จึงไม่สะดวกในการเดินเรือ

อีกทั้งเส้นทางที่ลำเลียงสินค้าลงเรือ ก็ยังค่อนข้างแคบ และเป็นหลุมเป็นบ่อ ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการขนส่ง ซึ่งผลจากการนำคณะเดินทางไปศึกษาดูงานท่าเรือปีนัง จะเป็นข้อมูลที่นำมาสู่การพัฒนาท่าเรือกันตัง และท่าเรือต่างๆ ในจังหวัดตรัง เพื่อรองรับการนำเข้า-ส่งออกที่มีประสิทธิภาพในอนาคตต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น