xs
xsm
sm
md
lg

รมว.คมนาคมวอน “ยิ่งลักษณ์” ไฟเขียวท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เชื่อมโครงการทวาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ตรวจโครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยงแหลมฉบัง-นิคมฯ ทวายในพม่า รมว.คมนาคมวอนไฟเขียวท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ใช้งบฯ 3.5 หมื่นล้าน หวังเพิ่มขัดความสามารถขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ 18.8 ล้านตู้ต่อปี พร้อมขยายเส้นทางคมนาคม ถนน-รถไฟทางคู่ มูลค่า 1.2 แสน ล. แล้วเสร็จภายใน 5 ปี


บรรยากาศการลงพื้นที่เพื่อจัดการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่ ที่จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 17-19 มิ.ย. 2555 ในวันที่ 2 (18 มิ.ย.) เมื่อเวลา 11.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาถึงสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยมีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม, นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และนายเฉลิมเกียรติ สลักคำ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ให้การต้อนรับ

ขณะเดียวกัน ได้มีกลุ่มคนเสื้อแดง ใช้ชื่อว่า “ชมรมรักประชาธิปไตยแหลมฉบัง” ประมาณ 300 คน นำดอกกุหลาบแดง พร้อมป้ายผ้ามาสนับสนุนและให้กำลังใจกับนายกรัฐมนตรี พร้อมตะโกนว่า “นายกฯ สู้ๆ” และชูป้ายรูป น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมข้อความให้กำลังใจ เช่น “ฉันรักเธอ เอาทักษิณคืนมา” “ขอเป็นกำลังใจให้นายกฯ อยู่บริหารประเทศต่อไป” เป็นต้น นอกจากนี้ ทะเบียนรถตู้ที่นายกรัฐมนตรีใช้ในภารกิจ ซึ่งได้นำทะเบียนป้ายแดง ช 3438 กรุงเทพมหานคร กลับมาใช้เหมือนเดิม ซึ่งยังคงเป็นที่สนใจของนักเสี่ยงโชค รวมถึงอายุของนายกรัฐมนตรี และวันคล้ายวันเกิดในวันที่ 21 มิ.ย.ที่จะมีอายุครบ 45 ปี ก็ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม กล่าวถึงภาพรวมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) กับโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมทวาย ในสหภาพพม่าว่า วันนี้เราจำเป็นต้องหาทางลดต้นทุนระบบขนส่งลง ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาหรือทะลุจุดที่ตีบตัน จะทำให้ระบบลอจิสติก์มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะทุกวันนี้ที่ท่าเรือแหลมฉบังสามารถขนส่งได้มากขึ้นร้อยละ 52 ของประเทศ ขณะที่แนวชายแดนของประเทศ 8 จุด สามารถขนส่งได้เพียงร้อยละ 10 จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจทำท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ซึ่งใช้เงินประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งถ้าตัดสินใจดำเนินการอีก 5 ปีข้างหน้าจะสามารถแล้วเสร็จ และถ้าคำนวณไปอีก 20 ปีต่อไป ท่าเรือแหลมฉบังจะสามารถขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ 18.8 ล้านตู้ต่อปี แต่ถ้าไม่ตัดสินใจ เฟส 2 จะสามารถขนส่งได้เพียง 10.8 ล้านตู้ต่อปี

ส่วนการขนส่งทางบก ทั้งทางถนน รถไฟ และรถไฟทางคู่ จะต้องมีการปรับปรุงและขยายเส้นทาง ซึ่งต้องใช้งบประมาณ 129,327 ล้านบาท เช่น จะมีการทำเส้นทางเชื่อมโยงแหลมฉบัง-มาบตาพุด คาดว่าจะทำเสร็จใน 5 ปี และมีการก่อสร้างรถไฟทางคู่กับเส้นทางฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง คือ เส้นทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ซึ่งจะเสร็จในปี 2558 เพื่อเป็นประโยชน์ในการขนส่งสินค้า ทั้งนี้ แผนของกระทรวงคมนาคมต้องการจะเปิดเส้นทางโลจิสติกส์ให้กับท่าเรือแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และท่าเรือคลองเตย ให้สามารถเชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ นายชัชชาติกล่าวว่า เส้นทางแหลมฉบังเป็นประโยชน์ที่สุดต่อระบบลอจิสติกส์ ส่วนท่าเรือน้ำลึกทวายเป็นการเสริมและเกื้อหนุนท่าเรือแหลมฉบังของไทย ถ้าเราสามารถส่งออกไปจากตะวันออกไปตะวันตกได้มากขึ้น ทำให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกมากขึ้น ดังนั้น ท่าเรือแหลมฉบังต้องมีการเพิ่มทางหลัก ปรับปรุงโครงสร้างเส้นทางหลวงหมายเลข 7 ระยทาง 8 กิโลเมตร งบประมาณ 700 ล้านบาท เพื่อให้การคมนาคมที่เชื่อมโยงแต่ละนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกทำได้ดีมากขึ้น

ด้าน นายเฉลิมเกียรติกล่าวว่า แผนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เราได้จ้างวิศวกรที่ปรึกษาและออกแบบการก่อสร้าง โดยใช้พื้นที่หลังท่า บริเวณปากคลองบางละมุงที่ได้จากการเวนคืน บวกกับพื้นที่ที่เราต้องมีการถมทะเลยาวออกมา ซึ่งพื้นที่ของเฟสนี้จะสามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ที่มีความสามารถขนตู้คอนเทนเนอร์ได้ 8,000-10,000 ตู้ สำหรับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ทางผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีได้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาและประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และทำความเข้าใจต่อประชาชนในพื้นที่ รวมถึงให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยโดยเข้ามาเป็นกรรมการชุดดังกล่าว

ทั้งนี้ เรามีโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่งโดยเฉพาะ ศึกษาความเหมาะสมเรียบร้อยแล้ว ส่งให้กระทรวงคมนาคมแล้ว โดยเป็นจุดที่มีความสามารถรองรับได้ 3 แสนทีอียู และมีโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟ พื้นที่ 318 ไร่ อยู่ระหว่างท่าเทียบเรือเฟส 1 และ 2 รองรับตู้คอนเทนเนอร์จากลาดกระบัง มีขีดความสามารถได้ 2 ล้านทีอียูต่อปี มูลค่าโครงการ 3,167 ล้านบาท จะเริ่มดำเนินการในปี 2558 โดยจะให้มีรางรถไฟเข้ามาในพื้นที่นี้ 6 ราง ขนส่งจ่ายตู้ไปได้ยังเฟส 1 และ 2 ซึ่งโครงการนี้จะเสริมความสามารถการขนส่งทางรถไฟเพิ่มเป็นร้อยละ 16

จากนั้น นายกรัฐมนตรี และคณะ ตรวจเยี่ยมท่าเรือขนส่งรถยนต์ (ท่าเทียบเรือ เอ 5) โดยขบวนรถบัสของท่าเรือแหลมฉบัง ก่อนจะรับประทานอาหารกลางวัน ที่หอบังคับการท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งสามารถมองเห็นพื้นที่โครงการศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบังของการท่าเรือแห่งประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น