xs
xsm
sm
md
lg

ชง 3.5 หมื่นล้าน ขยายแหลมฉบังเฟส 3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(18 มิ.ย.55) เวลา 11.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ว่าทันทีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางถึงบริเวณหน้าสำนักนักงานท่าเรือแหลมฉบัง ได้มีกลุ่มคนเสื้อแดงใช้ชื่อว่าชมรมรักประชาธิปไตยแหลมฉบัง ประมาณ 300 คน สวมเสื้อแดง นำดอกกุหลาบแดง พร้อมป้ายผ้ามาสนับสนุนและให้กำลังใจกับนายกรัฐมนตรี พร้อมตะโกนให้นายกฯสู้ๆ พร้อมชูป้ายรูปนายกรัฐมนตรีพร้อมข้อความ "ฉันรักเธอ เอาทักษิณคืนมา" "ขอเป็นกำลังใจให้นายกฯ อยู่บริหารประเทศต่อไป" เป็นต้น นอกจากนี้ ทะเบียนรถตู้ที่นายกรัฐมนตรีใช้ในภารกิจ ซึ่งได้นำทะเบียนป้ายแดงกลับมาใช้เหมือนเดิม คือ ช 3438 ก็ยังคงเป็นที่สนใจของนักเสี่ยงโชค รวมถึงอายุของนายกรัฐมนตรี และวันคล้ายวันเกิดในวันที่ 21 มิถุนายน ซึ่งจะมีอายุครบ 45 ปี ก็ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน
ทั้งนี้ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และนายเฉลิมเกียรติ สลักคำ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง รอต้อนรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะ เพื่อรับฟังข้อมูลการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งตะวันออก (Eastern Seaboard) กับโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมทวาย
นายจารุพงศ์ กล่าวถึงภาพรวมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งตะวันออก (อีสเทิร์น ซีบอร์ด) กับโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมทวายว่า วันนี้เราจำเป็นต้องหาทางลดต้นทุนระบบขนส่งลง ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาหรือทะลุจุดที่ตีบตัน จะทำให้ระบบโลจิสติกส์มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะทุกวันนี้ที่ท่าเรือแหลมฉบังสามารถขนส่งได้มากขึ้นร้อยละ 52 ของประเทศ ขณะที่แนวชายแดนของประเทศ 8 จุด สามารถขนส่งได้เพียงร้อยละ 10 จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจทำท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ซึ่งใช้เงินประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งถ้าตัดสินใจดำเนินการ อีก 5 ปีข้างหน้าจะสามารถแล้วเสร็จ และถ้าคำนวณไปอีก 20 ปีต่อไป ท่าเรือแหลมฉบังจะสามารถขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ 18.8 ล้านตู้ต่อปี แต่ถ้าไม่ตัดสินใจ เฟส 2 จะสามารถขนส่งได้เพียง 10.8 ล้านตู้ต่อปี
ส่วนการขนส่งทางบก ทั้งทางถนน รถไฟ และรถไฟทางคู่ จะต้องมีการปรับปรุงและขยายเส้นทาง ซึ่งต้องใช้งบประมาณ 129,327 ล้านบาท เช่น จะมีการทำเส้นทางเชื่อมโยงแหลมฉบัง-มาบตาพุด คาดว่าจะทำเสร็จใน 5 ปี และมีการก่อสร้างรถไฟทางคู่กับเส้นทางฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง คือเส้นทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ซึ่งจะเสร็จในปี 2558 เพื่อเป็นประโยชน์ในการขนส่งสินค้า ทั้งนี้ แผนของกระทรวงคมนาคมต้องการจะเปิดเส้นทางโลจิสติกส์ให้กับท่าเรือแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และท่าเรือคลองเตย ให้สามารถเชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่นายชัชชาติกล่าวว่า เส้นทางแหลมฉบังเป็นประโยชน์ที่สุดต่อระบบโลจิสติกส์ ส่วนท่าเรือน้ำลึกทวายเป็นการเสริมและเกื้อหนุนท่าเรือแหลมฉบังของไทย ถ้าเราสามารถส่งออกไปจากตะวันออกไปตะวันตกได้มากขึ้น ทำให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกมากขึ้น ดังนั้น ท่าเรือแหลมฉบังต้องมีการเพิ่มทางหลัก ปรับปรุงโครงสร้างเส้นทางหลวงหมายเลข 7 ระยะทาง 8 กิโลเมตร งบประมาณ 700 ล้านบาท เพื่อให้การคมนาคมที่เชื่อมโยงแต่ละนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกทำได้ดีมากขึ้น
ด้าน ผอ.ท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่า แผนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เราได้จ้างวิศวกรที่ปรึกษาและออกแบบการก่อสร้าง โดยใช้พื้นที่หลังท่า บริเวณปากคลองบางละมุงที่ได้จากการเวนคืน บวกกับพื้นที่ที่เราต้องมีการถมทะเลยาวออกมา ซึ่งพื้นที่ของเฟสนี้จะสามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ที่มีความสามารถขนตู้คอนเทนเนอร์ได้ 8,000-10,000 ตู้ สำหรับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ทางผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีได้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาและประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยโดยเข้ามาเป็นกรรมการชุดดังกล่าว เรามีโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่งโดยเฉพาะ ศึกษาความเหมาะสม ส่งให้กระทรวงคมนาคมแล้ว โดยเป็นจุดที่มีความสามารถรองรับได้ 3 แสนทีอียู และมีโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟ พื้นที่ 318 ไร่ อยู่ระหว่างท่าเทียบเรือเฟส 1 และ 2 รองรับตู้คอนเทนเนอร์จากลาดกระบัง มีขีดความสามารถได้ 2 ล้านทีอียูต่อปี มูลค่าโครงการ 3,167 ล้านบาท จะเริ่มดำเนินการในปี 2558 โดยจะให้มีรางรถไฟเข้ามาในพื้นที่นี้ 6 ราง ขนส่งจ่ายตู้ไปได้ยังเฟส 1 และ 2 ซึ่งโครงการนี้จะเสริมความสามารถการขนส่งทางรถไฟเพิ่มเป็นร้อยละ 16
จากนั้น นายกรัฐมนตรี และคณะ ตรวจเยี่ยมท่าเรือขนส่งรถยนต์ (ท่าเทียบเรือ เอ5) โดยขบวนรถบัสของท่าเรือแหลมฉบัง ก่อนจะรับประทานอาหารกลางวัน ที่หอบังคับการท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งสามารถมองเห็นพื้นที่โครงการศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบังของการท่าเรือแห่งประเทศไทย
เวลา 14.40 น. ที่บริเวณสี่แยกจุดสกัดเขาทัพพระยา ถนนพระตำหนัก ซึ่งเป็นปากทางเข้าโรงแรม รอยัล คลิฟ โฮเต็ล กรุ๊ป ได้มีกลุ่มคนเสื้อแดงพัทยา ประมาณ 300 คน ยืนปิดถนน รอต้อนรับขบวนรถน.ส.ยิ่งลักษณ์ ระหว่างเดินทางกลับจากท่าเทียบเรือ แหลมฉบัง เพื่อกลับมาเป็นประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.)เพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 5/2555 โดยเมื่อขบวนรถมาถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ลงจากรถเพื่อมาทักทายคนเสื้อแดงและรับดอกกุหลาบแดง ท่ามกลางตำรวจท้องที่อำนวยความสะดวกและให้การรักษาความปลอดภัยอย่างหนาแน่น ขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดง กล่าวตะโกนว่า “นายกฯสู้ๆ” และประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่าขอให้นายกรัฐมนตรีให้เปิดสถานบริการและแหล่งบันเทิงได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองพัทยา จากนั้น นายกฯได้ขึ้นรถเดินทางต่อไปยังโรงแรมเพื่อประชุม กรอ. ซึ่งทำให้การจราจรบนถนนพระตำหนักติดยาวเป็นระยะทางกว่า 500 เมตร เป็นเวลานานกว่า 15 นาที
กำลังโหลดความคิดเห็น