ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวบ้านในพื้นที่ร่วมลงมติต้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา ชี้สตูลควรพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการเกษตรอย่างจริงจังให้สอดคล้องกับทรัพยากรที่มีอยู่ ด้าน ส.ส.ปชป.ตอบข้อซักถาม พบผลการศึกษาระบุโครงการดังกล่าวไม่คุ้มแก่การลงทุน นักวิชาการจี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทำตัวชี้วัดความยั่งยืนของทรัพยากรยืนยันความจริงใจต้านอุตสาหกรรม
วันนี้ (10 มิ.ย.) ที่ลานสาธารณะชายหาดปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล เครือข่ายภาคประชาชนร่วมคัดค้านท่าเรืออุตสาหกรรมปากบาราได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง “ทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของ จ.สตูล” ขึ้น เพื่อให้ข้อมูลและแสดงจุดยืนของประชาชนชาว จ.สตูล ต่อโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมปากบาราและโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายพิศาล ทองเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ตัวแทนชุมชนชาว ต.ปากน้ำ ตัวแทนผู้นำศาสนา ตัวแทนผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวใน จ.สตูล กำนัน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ นักวิชาการ เครือข่ายภาคประชาชนจาก จ.ระยอง, จ.ประจวบคีรีขันธ์, จ.นครศรีธรรมราช, จ.สงขลา และประชาชนในพื้นที่ อ.ละงู เข้าร่วมวงเสวนา
ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่กล่าวว่า ความจริงแล้วควรจะมีการยกเลิกโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมปากบาราและโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาตั้งนานแล้ว เนื่องจากคนที่เขียนโครงการนี้ไม่ใช่ชาวสตูล และไม่ได้มาอาศัยอยู่ใน จ.สตูล แต่เป็นเพียงคนที่ต้องการหาผลประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ และสร้างมลพิษ มลภาวะ และหายนะให้เกิดขึ้นในพื้นที่เท่านั้น
นายนันทพล บินเด็น ชาวบ้านในพื้นที่ที่ประกอบอาชีพธุรกิจท่องเที่ยว กล่าวว่า ควรมีการส่งเสริมและพัฒนา จ.สตูล ให้สอดคล้องกับศักยภาพของทรัพยากรในพื้นที่โดยเฉพาะการท่องเที่ยวทางทะเลซึ่งขึ้นชื่ออยู่แล้ว มิใช่มุ่งส่งเสริมโครงการอุตสาหกรรมซึ่งเป็นสิ่งใหม่และทำลายทรัพยากรที่มีอยู่แต่เดิม ทั้งนี้ จ.สตูลต่างจากพื้นที่อื่นๆ อยู่ 4 ประการด้วยกัน คือ
1. จ.สตูลไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเหมือนจังหวัดอื่นๆ ในชายแดนภาคใต้ นักท่องเที่ยวจึงวางใจในความปลอดภัย และเดินทางมาท่องเที่ยวจำนวนมาก
2. มีปะการังที่สมบูรณ์เป็นอันดับ 1 ของชายฝั่งอันดามัน โดยเฉพาะปะการังเจ็ดสีที่เกาะจาบัง เนื่องจากปะการังในแถบ จ.ภูเก็ต และ จ.กระบี่ นั้นเกิดความเสียหายจากสึนามิ
3. จ.สตูลสามารถท่องเที่ยวได้ทั้งบนบก และในน้ำ
4. จ.สตูลเป็นเมืองชายแดนที่สามารถข้ามฝั่งไปยังประเทศมาเลเซียได้สะดวกทั้งทางบก และทางน้ำ โดยเฉพาะเกาะลังกาวี
ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ทั้งหมดนี้ พระผู้เป็นเจ้าให้มาเป็นต้นทุนแก่คนใน จ.สตูล ขึ้นอยู่กับว่าคนในพื้นที่จะดึงศักยภาพของต้นทุนที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน
นายธรรมรัตน์ จิตนุเคราะห์ อาจารย์โรงเรียนกำแพงวิทยา อ.ละงู กล่าวว่า ชาวตำบลเขาขาวซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับท่าเรืออุตสาหกรรมปากบาราโดยตรง ส่วนใหญ่ปลูกปาล์มน้ำมันและยางพาราเป็นอาชีพหลัก ถ้า อ.ละงู เกิดโครงการอุตสาหกรรมเช่นเดียวกับมาบตาพุดแล้ว โครงการดังกล่าวจะมีขนาดใหญ่กว่าที่มาบตาพุดถึง 2 เท่า ย่อมมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามมาด้วยแน่นอน
ทั้งนี้ ที่มาบตาพุดเกิดกรณีลอบทิ้งสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำ ตนคาดว่าถ้า อ.ละงูมีโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจริง ปัญหาดังกล่าวก็ต้องเกิดขึ้นเช่นกัน ซึ่งถ้าปาล์มน้ำมันและยางพาราไม่สามารถให้ผลผลิตได้ ก็เท่ากับว่าอาชีพหลักของชาวตำบลเขาขาวพังไม่เป็นท่า นอกจากนี้ แหล่งน้ำต่างๆ ในพื้นที่ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นที่ผลิตน้ำประปาและแหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ของชุมชนก็จะมีสารปนเปื้อน เป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย
ขณะเดียวกันก็มีการตั้งกระทู้ถามนายฮอซาลี ม่าเหร็ม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นผู้ที่รับรู้ปัญหาการคัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่มาโดยตลอดว่า เหตุใดในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ดำรงตำแหน่งรัฐบาลนั้นไม่มีการยับยั้งโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมดังกล่าว
นายฮอซาลี ม่าเหร็ม กล่าวว่า การจะอนุมัติหรือยกเลิกโครงการใดๆ หรือไม่นั้นต้องมีการศึกษาผลกระทบต่างๆ เสียก่อน ซึ่งในสมัยของรัฐบาลประชาธิปัตย์นั้นได้อนุมัติงบประมาณในการศึกษาผลกระทบต่อโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมปากบารา และผลการศึกษาพบว่าโครงการนี้ไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน แต่หากมีการเปิดโอกาสให้ต่างชาติมาลงทุนก็อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม น่าจะไม่มีการศึกษาผลกระทบใหม่ เนื่องจากกลุ่มนักลงทุนในโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับท่าเรือน้ำลึกปากบาราและโครงการแลนด์บริดจ์ลงความเห็นว่าไม่คุ้มค่าแก่การลงทุนในการทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการดังกล่าว
ขณะที่นายพิศาล ทองเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า ชาว อ.ละงู และชาว จ.สตูลเห็นพ้องต้องกันว่า จ.สตูลควรพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการเกษตรแบบมาตรฐาน โดยทางจังหวัดจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 365 ล้านบาทจัดทำโครงการต่างๆ ให้สอดคล้องกับทรัพยากรที่มีอยู่ ทั้งนี้ ตนจะพยายามรักษาทรัพยากรของ จ.สตูล ไว้ให้สมกับคำขวัญที่ว่า “สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์” ต่อไป
ด้าน นางภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการผังเมือง กล่าวว่า ทางจังหวัดสตูลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรช่วยกันจัดทำ “ตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืนของ จ.สตูล” แบบจริงจัง เช่น ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอะไร มีทรัพยากรธรรมชาติอะไรบ้าง มีป่าไม้เท่าไหร่ รายได้ของประชากรเป็นอย่างไร เพื่อชี้ให้เห็นว่า จ.สตูลเป็นพื้นที่สีเขียว เหมาะที่จะเป็นปอดของอาเซียน และเพื่อเป็นตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมว่าไม่ควรมีโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมปากบาราเกิดขึ้นในพื้นที่นี้จริงๆ
และหลังเสร็จสิ้นเวทีเสวนา เครือข่ายประชาชนคนสตูล และเครือข่ายต่างๆ ทั่วภาคใต้ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมปากบาราและโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ “สัญญาประชาคมของชาวสตูล เพื่อการกำหนดอนาคตของตัวเอง” ดังนี้
จากสถานการณ์ที่เกิดความไม่เข้าใจต่อเหตุการณ์กรณีโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา และโครงการอื่นๆ ที่จะติดตามมา ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อพี่น้องสตูลอย่างรุนแรง พวกเราในนามเครือข่ายประชาชนคนสตูล และพี่น้องเครือข่ายทั่วภาคใต้ ขอร่วมประกาศลงนามสัญญาประชาคมว่า
1. ยืนยันใน “อุดมการณ์และคุณค่าที่ยึดถือร่วมกัน” ของจังหวัด คือ สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์ ซึ่งหมายถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สงบ สะอาด บริสุทธิ์, สังคม สงบ สะอาด บริสุทธิ์ และผู้คนรักความสงบ จิตใจสะอาดบริสุทธิ์
2. กำหนด “ทิศทางการพัฒนา” ของจังหวัดสตูล ให้มุ่งเน้นความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การศึกษา และวัฒนธรรม ขอเป็นสังคมสีเขียว ไม่เป็นสังคมอุตสาหกรรม ไม่เอาโครงการพัฒนาที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
3. โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในจังหวัดสตูลต้องใช้ “กระบวนการมีส่วนร่วมที่แท้จริง” ทุกขั้นตอน โดยประชาชนต้องมีฐานะในการเข้ามีส่วนร่วมเท่าเทียมกับภาครัฐ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ มิใช่เพียงผู้ไดรับแจ้งให้ทราบ ผู้ร่วมประชุมลงชื่อ แต่ต้องเป็นผู้ร่วมกำหนดออกแบบ และตัดสินใจการพัฒนา
4. “ไม่เอาโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่” ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ริมฝั่งทะเล และหมู่เกาะ รวมทั้งไม่เอาโครงการพัฒนาใดๆ ที่จะส่งผลทำลายดิน ทำลายน้ำ ทำลายป่า ทำลายทะเล ทำลายแหล่งอาหารของสตูล และทำลายสังคมวิถีวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา โครงการท่าเรืออุตสาหกรรม หรือโครงการอื่นๆ
5. รัฐบาล “ควรยุติความคิดฝันหรือแผนการใดๆ ที่จะกำหนดให้ภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของสะพานเศรษฐกิจโลก” เลิกมุ่งหวังที่จะแสวงหารายได้หรือความมั่นคงจากการเป็นตัวกลางของระบบขนส่งสินค้าโลก ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่ถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนโลก ได้ไม่คุ้มเสีย ไม่ยั่งยืน และเป็นที่มาของสารพัดโครงการการพัฒนาขนาดใหญ่ในภาคใต้ อันก่อให้เกิดความทุกข์แก่ประชาชนไม่สิ้นสุด
6. ชาวสตูลและพี่น้องทั่วภาคใต้ “จะร่วมกันปกป้องแผ่นดินเกิด” วิถีวัฒนธรรม และสุขภาวะไว้ให้ลูกหลานในอนาคตสืบไป
ทั้งหมดนี้คือความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญอีกครั้งของชาวจังหวัดสตูล ในการยืนยันทิศทางการพัฒนาจังหวัดสตูล ว่าจะต้องให้ชาวสตูลกำหนดอนาคตของตัวเอง