xs
xsm
sm
md
lg

พัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้...ใครกำหนด ? (หรือทะเล...จะไม่ใช่ของชาวประมง..อีกต่อไป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมบูรณ์ คำแหง
เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล

ผมมีโอกาสได้อ่านเอกสารรายงานการศึกษาเรื่องการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อเดือนธันวาคม 2554 มาสะดุดที่แนวคิดต่อการพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ ที่ขมวดไว้อย่างน่าสนใจยิ่งว่า

“พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้มีความได้เปรียบในด้านที่ติดชายฝั่งทะเลทั้งสองด้าน มีทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย พร้อมที่จะนำมาพัฒนาเพื่อยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจของพื้นที่ให้สูงขึ้น ซึ่งปัจจุบัน มีแรงผลักดันหลายประการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ เช่น ศักยภาพของพื้นที่ในการรองรับการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ แผนงานพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้าน (มาเลเซีย, พม่า) บริเวณชายแดน กระแสการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระแสการพัฒนาการท่องเที่ยวชิงอนุรักษ์ รวมทั้งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งให้สิทธิแก่ประชาชนในการมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม”

หากพิจารณาตามลายลักษณ์อักษร ถือว่าดูดีพอเข้าใจได้ เสมือนว่าสภาพัฒน์จะเข้าใจบริบทของความเป็นภาคใต้เป็นอย่างดี และยังแสดงให้เห็นว่าเข้าใจเรื่องของสิทธิหน้าที่ของภาคพลเมือง โดยเฉพาะเรื่องการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางอะไรบางอย่างของประชาชนเอง แต่เมื่อยิ่งอ่านรายละเอียดของรายงานฉบับนี้กลับพบว่า การเกริ่นนำหัวเรื่องเบื้องต้น กับสาระสำคัญที่ปรากฏอยู่จริงในเอกสารรายงานฉบับนี้ กลายเป็นคนละเรื่องเดียวกันครับ

หากแต่พอเข้าใจได้ว่าคณะผู้ศึกษาคงจะรับโจทย์จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจฯ เพื่อให้ชี้ชัด และหาเหตุผลรองรับต่อเรื่องทิศทางของรัฐที่จะต้องดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ที่กระจายอยู่เต็มพื้นที่ภาคใต้อย่างไม่อาจเป็นอย่างอื่นไปได้ โดยเฉพาะโครงการที่มีการศึกษาเสร็จไปแล้ว 6 โครงการ รวมถึงอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างกันศึกษา และโครงการที่จ่อคิวศึกษาอีกจำนวนหนึ่ง ผมจึงขอเลือกบางโครงการโดดเด่นที่กำลังเป็นประเด็นวิวาทะในระดับพื้นที่อยู่ในขณะนี้มานำเสนอให้เห็นกันนะครับ อย่างเช่น

โครงการศึกษาความเหมาะสมของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (ศึกษาแล้วเสร็จเดือน ธันวาคม 2551) โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ศึกษาที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี พลังงาน และท่าเรืออุตสาหกรรม ซึ่งการศึกษาได้เสนอ 2 ทางเลือกคือ ตำบลทุ่งปรัง อ.สิชล และตำบลกลาย อ.ท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยระบุความต้องการพื้นที่ประมาณ 12,000 ไร่

โครงการศึกษาความเหมาะสมแนวทางการพัฒนาท่าเรือฝั่งทะเลอันดามันและสะพานเชื่อมเศรษฐกิจเชื่อมโยงท่าเรือฝั่งอ่าวไทย (ศึกษาแล้วเสร็จเมื่อ มีนาคม 2552) หรือที่เรียกว่า แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ซึ่งมีโครงการย่อยๆ คือ

พัฒนาแนวเส้นทางเชื่องสองฝั่งทะเล (Landbridge) ที่มีศักยภาพเพื่อการขนส่งน้ำมัน และสินค้า คือแนวระหว่าง อ.ละงู จ.สตูล-อ.จะนะจ.สงขลา ระยะทางประมาณ 146 กิโลเมตร

การขนส่งน้ำมัน ที่ประกอบด้วย 1.ทุ่นจอดเรือน้ำมันนอกชายฝั่งทะเลสตูล 1 แห่ง และสงขลาอีก 1 แห่ง 2.ท่อส่งน้ำมันเชื่อมต่อระหว่างทุ่นจอดเรือทั้งสองฝั่ง และ 3.คลังเก็บน้ำมันสำหรับโรงกลั่นน้ำมันกำลังผลิตขนาด 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 800 ล้านเหรียญ (สหรัฐอเมริกา)

การขนส่งสินค้า ประกอบด้วยการพัฒนาท่าเรือคอนเทนเนอร์นอกฝั่ง อ.จะนะ จ.สงขลา นอกจากนั้น จะต้องพัฒนาทางรถไฟเชื่อมต่อกับท่าเรือน้ำลึกปากบาราจังหวัดสตูล

พัฒนาอุตสาหกรรมในบริเวณท่าเรือฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย ดังนี้คือ 1.ส่งเสริมอุตสาหกรรมหนัก เช่นอุตสาหกรรมเหล็ก ปิโตรเคมี 2.พัฒนาอุตสาหกรรมเบา เช่นการรวบรวม และกระจายสินค้า กิจการสนับสนุนลอจิสติกส์ในพื้นที่ฝั่งอันดามัน และ 3.พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในเชิงบูรณาการ

โครงการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมเพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่าง (ศึกษาแล้วเสร็จ ตุลาคม 2552) ซึ่งขณะนี้กรมเจ้าท่ากำลังลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณา

โครงการสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล (ศึกษาแล้วเสร็จ สิงหาคม 2552) และรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ระยะที่ 1 บริเวณบ้านปากบารา อ.ละงู จ.สตูล (ศึกษาแล้วเสร็จ สิงหาคม 2552 และขณะกระทรวงคมนาคมกำลังดำเนินการผลักดันโครงการ)

โครงการศึกษาความเหมาะสม และออกแบบเบื้องต้นทางรถไฟเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน (เริ่มศึกษาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 )

นี่แหละครับ หน้าตาของการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นกับภาคใต้ของเรา ซึ่งจะเห็นได้ว่าน้ำหนักของแผนเพื่อพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต้องการมุ่งเน้นการพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับระบบอุตสาหกรรมแทบทั้งสิ้น หากแต่ไม่ได้วิเคราะห์ต้นทุนเดิมที่มีอยู่แล้วเพื่อจะยกระดับ หรือสร้างศักยภาพ สร้างโอกาสให้เกิดการขยายตัวให้ดียิ่งขึ้น นั่นหมายถึงศักยภาพทางการเกษตร การประมง การท่องเที่ยว และภาคธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน ยิ่งกว่านั้น ในเอกสารดังกล่าวยังชี้นำการวิเคราะห์ให้เห็นถึงความถดถอยของภาคใต้ หากเพียงหวังที่หวังพึ่งการเติบโตของเศรษฐกิจจากสิ่งที่มีอยู่ดังกล่าวเหล่านั้น

ฉะนั้น การผลการศึกษาการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ตามเอกสารรายงานชุดนี้จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่า เอาเข้าจริงแล้วมันเป็นแผนการพัฒนา หรือเป็นแผนที่จะนำไปสู่การทำลาย กลายเป็นหายนะให้แก่ท้องทะเล และชุมชนชายฝั่งของภาคใต้กันแน่

จึงเป็นโจทย์สำคัญให้ที่นักอนุรักษ์ นักสิ่งแวดล้อม และกลุ่มชาวประมงที่ยังดำรงวิถีชีวิตอย่างกลมกลืนกับความหลายหลายของทรัพยากรทั้งสองฝั่งทะเลของภาคใต้ ตลอดถึงประชาชนคนทั้งประเทศไทยนี้ ที่จะต้องค้นหาว่าละครับว่า ทิศทางที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้กำหนดให้เราดังที่ยกตัวอย่างมาแล้วนี้จะเป็นหนทางที่เราจะต้องเดินตาม หรือเราจะใคร่ครวญ ไตร่ตรองอย่างมีสติโดยยึดเอาฐานชีวิตที่เป็นอยู่จริงของคนภาคใต้ ภายใต้อัตลักษณ์เฉพาะมาเป็นที่ตั้ง แล้วก็เริ่มต้นลงมือกำหนดทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นบ้านเราด้วยตัวของเราเองกันเสียที ก็คิดเอาเถิดครับก่อนที่มันจะสายเกินไป
กำลังโหลดความคิดเห็น