ในสายตาของนักพัฒนาอุตสาหกรรม มักมองทรัพยากรที่ดินเป็นแค่พื้นที่รองรับใช้เป็นที่ตั้งของโรงงาน มองแหล่งน้ำเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งสำหรับการชะล้าง หล่อเย็นหรือทำความสะอาด มองทะเลว่าเป็นเส้นทางขนส่งต้นทุนต่ำ มองชายฝั่งเป็นเพียงแหล่งขึ้นสินค้าและแหล่งพักสินค้าฯลฯ
การมองอย่างนี้ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมในบ้านเราจึงสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นทุกหัวระแหงที่ภาคอุตสาหกรรมไปถึง ชุมชนท้องถิ่นมักต้องแบกรับความสูญเสียที่ภาคอุตสาหกรรมไม่เคยคิดบวกเข้าไว้ในต้นทุนของการผลิต พวกเขาเลยไม่เคยคิดจะตอบแทนหรือชดใช้ หากเอาต้นทุนที่ชุมชนต้องสูญเสียไปบวกเข้าไปด้วย บางทีจะทำให้เราได้ตระหนักว่า จริงๆ แล้วการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม เป็นการทำร้ายทำลายมากกว่าการพัฒนา
คำแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ท่านอ่านมาถึงหน้าที่ 8 ข้อที่ 6 ว่า “นโยบายข้อที่ 6 เราจะจัดให้มีการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมแห่งใหม่ โดยพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ในทุกภูมิภาคที่เหมาะสมเพื่อรองรับการลงทุนด้านอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อมลพิษ และพัฒนาเส้นทางการขนส่งเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่อุตสาหกรรมดังกล่าวกับท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุด รวมทั้งการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจระหว่างฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย สำหรับรองรับอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อมลพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน”
มีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่า อุตสาหกรรมชนิดไหนหนอ ที่ท่านนายกรัฐมนตรีแถลงว่าจะเป็น “อุตสาหกรรมที่ไม่ก่อมลพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน” นั้นมีอยู่จริงหรือ? และมีที่ไหนบ้างช่วยยกตัวอย่างมาให้ดูสักแห่ง?
และทันทีที่รัฐบาลของท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศแถลงออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรของนโยบายว่า รัฐบาลจะเดินหน้าการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจ (Land bridge) ระหว่างฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทยซึ่งประกอบไปด้วยการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราในพื้นที่อำเภอละงูของจังหวัดสตูล เชื่อมต่อด้วยถนน ทางรถไฟรางคู่ ท่อส่งน้ำมัน โดยข้ามฟากไปยังฝั่งอ่าวไทยในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกแหล่งที่ 2 ของจังหวัดสงขลาขึ้นในพื้นที่นั้น
จุดคุ้มทุนหรือปัจจัยที่จะทำให้โครงการนี้มีกำไรตามการศึกษาของสภาพัฒน์บอกไว้ว่า เราจะต้องมีนิคมอุตสาหกรรม มิฉะนั้นโครงการนี้จะไม่คุ้มทุน แผนการกำหนดให้มีพื้นที่สำหรับนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อำเภอระงู 150,000 ไร่จึงเกิดขึ้น ยังรวมถึงการใช้พื้นที่ 5,000 ไร่สำหรับการกำหนดให้เป็นพื้นที่ของคลังน้ำมันที่ละงูและ 10,000 ไร่ในพื้นที่ของอำเภอจะนะ
ประเด็นที่หลายฝ่ายออกมาคัดค้านโครงการดังกล่าว ก็เพราะเหตุว่าภาพของการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าตามนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเขตนิคมอุตสาหกรรมที่มีทำเลที่ตั้งอยู่ติดกับพื้นที่ชายทะเล อย่างในพื้นที่ระยอง ชลบุรี ล้วนมีภาพของการสูญเสียจากผลกระทบ จากมลพิษ มลภาวะต่อทรัพยากรดิน แหล่งน้ำหรือแม้แต่ต่อสุขภาพของประชาชน หากได้นำเอาความสูญเสียดังกล่าวมาคิดออกมาเป็นตัวเลข อาจจะทำให้เราได้ทราบว่าจริงๆ แล้วการผลักดันโครงการของภาคอุตสาหกรรมนั้น ผลประโยชน์จากโครงการได้รับกันเต็มที่เฉพาะนายทุนเจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุนรายใหญ่ ส่วนประชาชนตาดำๆ ได้แค่ค่าแรงงานราคาถูกและหลักประกันของอาชีพและชีวิตฝากไว้บนเส้นด้าย บนสายพานของอุตสาหกรรมเท่านั้น
ทะเลฝั่งอันดามันนับเป็นแหล่งที่สร้างอาชีพที่หลากหลาย และเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจในพื้นที่ที่มีผลต่อรายได้ประชาชาติ โดยเฉพาะรายได้จากการท่องเที่ยวที่อิงแอบอยู่กับความสวยงามของท้องทะเลและเกาะแก่งต่างๆ ยังไม่รวมถึงอาชีพทางการประมงที่สัมพันธ์อยู่กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทุกโรงแรม ทุกบังกะโลแขกเหรื่อที่มาพัก ล้วนต้องการอาหารทะเลสำหรับบริโภคที่โปรดปราน ทำให้มีการกระจายผลประโยชน์ให้เกิดแก่ผู้คนหลากหลายอาชีพ หลากหลายกลุ่ม
หากสิ่งเหล่านี้ถูกทำลายหรือได้รับผลกระทบ แน่นอนว่านิคมอุตสาหกรรมหรือท่าเรือน้ำลึกที่จะเกิดขึ้น ไม่สามารถรองรับหรือรับผิดชอบจำนวนคนเหล่านี้ได้หมด ดังนั้นเขาจึงมีสิทธิ์ที่จะกังวล มีสิทธิ์ที่จะตั้งคำถามหรือคัดค้านในสิ่งที่รัฐบาลกำลังหยิบยื่นหรือยัดเยียดให้กับพวกเขา
ทะเลฝั่งอันดามันยังประกอบไปด้วยอุทยานแห่งชาติทางทะเล (Marine National Park) ในจำนวนอุทยานแห่งชาติทางทะเล 24 แห่งของประเทศ ทะเลฝั่งอันดามันมีอุทยานแห่งชาติทางทะเลถึง 14 แห่ง ครอบคลุมทั้งท้องทะเล หมู่เกาะ ชายฝั่งทะเล ป่าชายหาด ป่าชายเลน ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ ล้วนมีความสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะจังหวัดพังงาที่มีอุทยานแห่งชาติทางทะเลมากที่สุดถึง 7 แห่ง และหลายแห่งมีชื่อเสียงในระดับโลก เช่น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา
นอกจากนี้ยังมีอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่โดดเด่นและสวยงามติดระดับโลก เช่น อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง อุทยานแห่งชาติแหลมสน จังหวัดระนอง และอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จังหวัดภูเก็ต ความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น ไม่ว่ากรณีเรือบรรทุกสินค้าล่มโดยเฉพาะเรือบรรทุกน้ำมันหรือท่อน้ำมันรั่วลงทะเล ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมากมายมหาศาลขนาดไหนลองหลับตานึกดูเถิด
ในการเดินหน้าโครงการการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจ (land bridge) ระหว่างฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย ตามนโยบายของรัฐบาลในครั้งนี้ ทำให้สังคมไทยโดยรวมต้องสังเวยอุทยานแห่งชาติทางทะเลไปหนึ่งแหล่ง นั่นก็คืออุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราที่จะต้องถูกเพิกถอนสภาพ ซึ่งขณะนี้การเพิกถอนอยู่ในขั้นตอนให้ความเห็นของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ก่อนที่จะมีการเสนอให้ รมว.กระทรวงทรัพย์ฯ พิจารณาอนุมัติอนุญาต ซึ่งกระทรวงคมนาคมขอใช้พื้นที่กว่า 4,700 ไร่ อันเป็นสถานที่ตั้งของอุทยานฯ ให้เป็นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ยังไม่รวมถึงผลกระทบจากเรือเดินสมุทรต่ออุทยานหมู่เกาะตะรุเตาและอื่นๆ ที่อยู่ในเส้นทางเดินเรือ แน่ใจนะ ฯพณฯ ทั้งหลายว่าโครงการนี้จะคุ้มค่ากับการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น.