คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้วางแผนที่จะเดินทางไปประชุม ครม.สัญจรในพื้นที่ภาคใต้ระหว่างวันที่ 19-20 มีนาคมนี้ ที่จังหวัดภูเก็ต นับเป็นครั้งแรกที่คณะรัฐมนตรีชุดนี้จะเดินทางลงภาคใต้อย่างเป็นทางการ สร้างความคึกคักให้กับบรรดานักธุรกิจ เหล่าข้าราชการ และภาคประชาชนที่คิดว่าการมาประชุม ครม.สัญจรของรัฐบาลในครั้งนี้ จะต้องตอบสนองความต้องการหรือจะต้องให้คำตอบที่เป็นความคับข้องใจ นั่นก็คือโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราหรือสะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูล และโครงการพัฒนายกระดับการท่องเที่ยวในนาม “ไทยแลนด์ริเวียร่า”
ทั้งสองโครงการถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้เงินลงทุนหลายหมื่นล้านบาท มีความพยายามที่จะผลักดันโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องในทุกรัฐบาล รัฐบาลทุกยุคที่ผ่านมาล้วนแต่มีแนวความคิดว่าการพัฒนาประเทศจะต้องก้าวตามการพัฒนาของโลกให้ทัน จะต้องแข่งขันกับนานาประเทศให้ได้ จะต้องเพิ่มการลงทุน แสวงหาการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงาน การเพิ่มรายได้ประชาชาติ ฯลฯ โดยไม่เคยมองย้อนกลับเพื่อทบทวนแนวทางดังกล่าวว่ามีส่วนไหนที่ส่งผลตรงกันข้ามบ้าง ประชาชนในประเทศนี้จึงมีหลายส่วนที่ต้องสูญเสียอาชีพ สูญเสียรายได้ ชุมชนล่มสลาย ปัญหาทางสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อมวิบัติ อันเกิดจากผลพวงของการพัฒนาในทิศทางดังกล่าว
ปัญหาความยากจนข้นแค้นของผู้คนในประเทศ ช่องว่างระหว่างชนในชาติจึงถ่างห่างเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ปัญหาทางสังคม การศึกษา ยาเสพติด การทุจริตคอร์รัปชันจึงขยายตัวตามมา ตามเหตุตามปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นวงจรแห่งความชั่วร้าย คำถามจึงมีว่าการเร่งผลักดันโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อชุมชนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสูงเช่นนี้ เป้าหมายของมันเพื่อการพัฒนาภาคใต้หรือเพื่อความมั่งคั่งของคนหยิบมือเดียว
ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ผลักดันโครงการทั้งสองอย่างเอาจริงเอาจัง โดยเตรียมนำนักลงทุนชาติอาหรับอย่างดูไบเวิลด์มาเพื่อดำเนินโครงการท่าเรือน้ำลึกปากปารา ซึ่งจะมีการก่อสร้างท่าเรือในทะเลที่อำเภอระงู มีการถมทะเล การย้ายชุมชน การสร้างคลังน้ำมัน สร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ 150,000ไร่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกต่อต้านอย่างหนัก รัฐบาลทักษิณ เลยเสนอโครงการที่เชื่อมต่อกับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราให้มีแค่การสร้างเพียงสถานที่เก็บตู้คอนเทนเนอร์ การสร้างถนนสร้างรถไฟรางคู่ และท่อส่งน้ำมัน จากท่าเรือน้ำลึกปากบาราไปสู่ท่าเรือน้ำลึกแห่งที่ 2 ในพื้นที่อำเภอจะนะของจังหวัดสงขลาเท่านั้น แต่ก็ต้องยุติไปชั่วคราวเพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็เข้ามาบริหารประเทศต่อจากนั้น
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีก็หยิบโครงการเมกะโปรเจกต์ “แลนด์บริดจ์ท่าเรือปากบารา” ขึ้นมาทบทวนและก็ได้ข้อสรุปในทำนองว่าโครงการนี้จะไม่คุ้มทุนถ้าไม่มีนิคมอุตสาหกรรม แผนการเดินหน้านิคมอุตสาหกรรมที่มีทีท่าว่าจะถูกคัดค้านอย่างหนักจากประชาชนในพื้นที่ก็ถูกปัดฝุ่น เพื่อให้สามารถอธิบายถึงความคุ้มค่าคุ้มทุนของโครงการให้ได้ การเดินหน้าสำรวจหาพื้นที่เป้าหมายในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจึงดำเนินไปอย่างคึกคัก ท่ามกลางความขัดแย้งในพื้นที่ซึ่งคุกรุ่นรอวันปะทุตลอดเวลา
ส่วนโครงการ “ไทยแลนด์ริเวียร่า” นั้นเป็นความคิดสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ในการพยายามผลักดันแผนการท่องเที่ยวเพื่อให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ตอนบนของไทย ตั้งแต่เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, ระนอง ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวริมฝั่งทะเลที่หรูเลิศเหมือนกับ “ริเวียร่า” ของฝรั่งเศส ในการดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนเข้ามาในพื้นที่ เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่เหล่านี้สู่ระดับนานาชาติ ซึ่งมูลค่าการลงทุนในโครงการดังกล่าวกว่า 30,000 ล้านบาท และได้ผ่านมติครม.ไปแล้วเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2548 แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ทำให้โครงการนี้ก็ต้องหยุดชะงักลงอีก
จากการติดตามผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาต่อการดำเนินโครงการ “ไทยแลนด์ริเวียร่า” พบว่ามีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซนใหญ่ๆ ประกอบด้วย 16 โครงการย่อยคือโซนแรกเรียกว่า “แหล่งท่องเที่ยวไฮเอนด์” โดยกำหนดให้พื้นที่จากสนามบินหัวหินไปในรัศมีท่องเที่ยวรอบประจวบคีรีขันธ์ 50 กิโลเมตร จะมี 7 โครงการ คือ ลงทุนมารีน่า ปรับภูมิทัศน์สถานีรถไฟหัวหิน สร้างท่าเทียบเรือยอชต์ โรงแรม เขาตะเกียบ พัฒนาวอล์กเวย์ปากน้ำปราณบุรี ส่งเสริมการท่องเที่ยวโฮมสเตย์ปากน้ำปราณบุรี สร้างแคมป์ไซต์อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ทำพิพิธภัณฑ์ทางทะเลบ่อนอก กิจกรรมชมปลาวาฬบรูดา และโมลาบ้านกรูด
โซนสองกำหนดให้เป็น “แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ” ในรัศมีรอบประจวบคีรีขันธ์ระหว่าง 100-200 กิโลเมตร 5 โครงการ มีท่าเทียบเรือท่องเที่ยวบ้านกรูด ทำแคมป์ไซต์อุทยานแห่งชาติหาดวนกร พื้นที่บางสะพานมี 3 โปรเจกต์หลัก ได้แก่ เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ สร้างศูนย์สินค้าปลอดภาษี โรงแรม รีสอร์ต 5 ดาว และการทำแลนด์มาร์คเข้าแหลมแท่น
โซนสามกำหนดให้เป็น “แหล่งกิจกรรมทางน้ำ” เน้นทำในช่วงรอยต่อประจวบคีรีขันธ์กับชุมพร รัศมีพื้นที่ 250-300 กิโลเมตร พัฒนาท่าเทียบเรือสำราญและศูนย์บริการนักท่องเที่ยว โครงการโรงแรม รีสอร์ต 5 ดาว และศูนย์บันเทิงครบวงจร โครงการท่าเทียบเรือยอชต์บางสน ทำบูติคแอเรียทุ่งวัวแล่น และทำอภิประภาคารปากน้ำชุมพร มีการโฆษณาไว้ว่าโครงการนี้ถ้าทำสำเร็จจะทำรายได้เข้าประเทศไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี
โครงการทั้ง 2 มองดูเหมือนหรู ชวนลุ่มหลง น่าจะเป็นทางออก ทางรอด หรือทิศทางการพัฒนาที่ควรจะเป็นสำหรับสังคมภาคใต้ แต่บทเรียนหรือข้อเท็จจริงที่ผ่านมา เมกะโปรเจกต์ก็คือเครื่องมือของเหล่านักธุรกิจการเมืองทุกยุคทุกสมัยที่นำผลประโยชน์เฉพาะหน้ามาแบ่งปันกันในหมู่พวก หาได้สนใจปัญหาที่แท้จริงของพื้นที่และชุมชนไม่ ไม่เคยมีคำถามว่าคนในพื้นที่เขาต้องการอะไร ต้องการการพัฒนาในรูปแบบไหน อะไรบ้าง ฯลฯ การประชุม ครม.สัญจรของรัฐบาลในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่เราต้องติดตาม “พิธีกรรม” ครั้งนี้กันอย่างใกล้ชิด ว่า ฯพณฯ ทั้งหลายจะเอาอะไรมาแบ่งกันที่ภูเก็ต.