xs
xsm
sm
md
lg

ว.วันศุกร์ปลุกสังคมตื่นทันรับ “ปู” ลงสตูลดู “แลนด์บริดจ์” เดือนหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบรรจง นะแส
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - วิทยาลัยวันศุกร์หยิบประเด็น “แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล” เดินแน่ รอ “ปู” เดินทางลงสตูลเดือนหน้า ขณะเดียวกันได้ร่วมเสนอแนวทางการส่งสารปลุกสังคมให้ตื่นทันการพัฒนาที่ไร้ทิศทาง โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาและสถาบันที่ต้องเข็มแข็งตื่นรับ

ค่ำวานนี้ (17 ก.พ.) เมื่อเวลา 19.30 - 20.00 น. วิทยาลัยวันศุกร์ เปิดเวทีเรียนรู้สาธารณะ โดยสัปดาห์นี้ร่วมเสวนาเรื่อง “แลนด์บริดจ์สตูล-สงขลา และการพัฒนาภาคใต้” ณ ห้อง E105 คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีนายบรรจง นะแส ผู้อำนวยการโครงการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลภาคใต้ และนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เป็นวิทยากรพิเศษ

นายบรรจง กล่าวว่า โครงการสะพานเศรษฐกิจ หรือแลนด์บริดจ์นั้นเป็นแนวคิดมาหลายสิบปี ถูกผลักดันโดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งครั้งนั้นมีเส้นทาง อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เชื่อมต่อท่าเรือที่ จ.กระบี่ แต่ถูกผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวลุกขึ้นมาต่อต้าน เพราะจะมีผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวที่ทำเงินให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล

อย่างไรก็ตาม ที่การต้องนำเรื่องนี้มาพูดซ้ำในเวทีนี้ เนื่องจากพบว่า ภายหลังที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ยกเรื่องแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล เป็นหนึ่งในนโยบายที่จะผลักดันภายใต้รัฐบาลชุดนี้อย่างชัดเจน โดยมีโครงการย่อยๆ เกิดขึ้น

ทั้งการถมทะเลเพื่อก่อสร้างท่าเรือปากบารา ที่ อ.ละงู จ.สตูล และท่าเรือสงขลา 2 ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา โดยมีเส้นทางรถไฟเชื่อมระหว่าง 2 ท่าเรือนี้ และริมชายฝั่งทะเลจะรองรับนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งโรงกลั่นน้ำมัน ปิโตรเคมี โรงไฟฟ้า ร่วมด้วยการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคน้ำ ไฟฟ้า ถนน เป็นต้น

นายบรรจง กล่าวต่อว่า นักเศรษฐศาสตร์ชาวต่างชาติได้ประเมินว่า 1ใน 3 ของ GDP โลกมาจากมูลค่าทรัพยากรชายฝั่ง ดังนั้น ประเทศใดที่มีชายฝั่งมาก ก็ทำให้ประเทศนั้นมีมูลค่าของระบบนิเวศน์ที่จะมีผลต่อต้นทุน GPD สูงขึ้นด้วย แต่หากมีการทำลายนั่นก็หมายถึงการทำลาย GPD ของประเทศด้วยเช่นกัน

จึงเป็นข้อชวนคิดว่า โครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ที่กำลังจะเกิดขึ้น ภายหลังจากเปลี่ยนเส้นทางแลนด์บริดจ์ลงมาปลายด้ามขวาน เส้นทางสงขลา-สตูลนั้น ล้วนเป็นการทำลายชายฝั่งเพื่อรองรับอุตสาหกรรม เพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมเฟสใหม่จากมาบตะพุดมาสู่ภาคใต้ โดยเฉพาะที่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งถูกรุกพื้นที่หนักในโครงการยิบย่อยต่างๆ ทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 แห่งเกือบ 2,000 เมกกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้รัฐบาลชัดนี้ โดยเริ่มจากการจ้างนักประชาสัมพันธ์ นักวิชาการลงให้ข้อมูลด้านดีแก่ชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อจะขอเวนคืนที่ดิน

ชาวบ้านส่วนหนึ่งยอมรับเงินเวนคืนรถไฟ ซึ่งอาจจะได้ครอบครัวละ 5 ล้าน แต่หลายครอบครัวก็ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน เพราะความผูกพันธ์กับสภาพแวดล้อม วิถีชีวิตที่มีมานาน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องคิดเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ซึ่งต้องมีการเวนคืนเพื่อโครงการนี้

แม้พรรคเพื่อไทยจะไม่พูดถึงอุโมงค์เปอร์ลิส-สตูล แต่ก็ยังไม่น่าไว้วางใจ เนื่องจากอาจเป็นไปได้ว่าจะเป็นนโยบายหลังจากที่ผลักดันท่าเรือเรียบร้อยแล้วก็เป็นได้

และระหว่างที่กำลังเดินเครื่องโครงการท่าเรือปากบารานี้ มีการยื่นเรื่องขอเพิกถอนพื้นที่ทะเลบางส่วนของอุทยานหมู่เกาะเภตรา เพื่อใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือปากบารากลางทะเลนั่นเอง โดยก่อนนี้หัวหน้าอุทยานคนก่อนได้ออกมาให้ข้อมูลที่คัดค้านโครงการดังกล่าว เนื่องจากผิดเจตนารมณ์ของการประกาศเป็นเขตอุทยานเพื่อการอนุรักษ์ และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลโดยรอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยขณะนี้หัวหน้าอุทยานฯ ถูกย้ายไปอยู่ที่ จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่ปลายปี 2554 แล้ว แต่การหากยกเลิกพื้นที่บางส่วนของอุทยานฯ ได้แล้ว โครงการก็จะเดินหน้าได้เร็วขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับกระแสข่าวที่ว่า ภายในเดือนหน้านั้น นายกรัฐมนตรีจะเดินทางลงพื้นที่ จ.สตูล

นายบรรจง ยังกล่าวต่อด้วยว่า จ.สตูล มีรายได้จากการท่องเที่ยวแต่ละปีนับพันล้านซึ่งกระจายไปสู่ชาวบ้าน แต่หากมีโครงการนี้จะคุ้มค่าหรือไม่กับการพัฒนาแบบนี้ ชาวบ้านอีกหลายพันคนซึ่งอพยพจากเกาะตะรุเตามาอยู่ที่ปากบารา แต่เป็นการอยู่โดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ เพราะพื้นที่อาศัยเดิมถูกประกาศเป็นเขตอุทยาน ดังนั้นการชดเชยจึงได้เงินไม่มากเท่าการเป็นเจ้าของที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์นั่นก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง

“เรามีบทเรียนชายฝั่งถูกกัดเซาะที่ภาคตะวันออก ชายหาดถูกถมด้วยแท่งหินกลายเป็นชายหาดแสงจันทร์ ถูกกัดเซาะเว้าตลอดแนวที่มีเขื่อนหิน อุตสาหกรรมท่องเที่ยวดับ แล้วมั่นใจได้เพียงใดว่าจะไม่เกิดขึ้นที่สตูลและสงขลา หากมีการก่อสร้างลงในทะเล” นายบรรจงกล่าวต่อและว่า

จากการอ่านรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการก่อสร้างท่าเรือปากบารา จะพบประเด็นข้อสังเกตว่า โครงการมีปัญหาในเชิงกฎหมาย รธน., ข้อบกพร่องของ EIA ในเรื่องพื้นที่ทิ้งตะกอน การขุดหน้าดิน 9 ล้านลูกบาศก์เมตรไม่มีรายงานว่าเป็นพื้นที่ใด, ไม่ระบุการขนส่งสินค้าอันตราย, การจัดการของเสีย, ผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยว, มหาวิทยาลัยศิลปากรมาพบแหล่งฟอสซิลอายุ 500 ล้านปี ซึ่งเป็นวัตถุโบราณ พืชสัตว์หายาก ใน อ.ทุ่งหว้า และควนกาหลง แต่ไม่มีเรื่องนี้ระบุใน EIA

นพ.อนันต์ บุญโสภณ โครงการแต่ละอย่างของรัฐบาลนั้น ชาวบ้านไม่ค่อยรู้ว่าจะทำอะไร ทำอย่างไร และเพื่ออะไร นับตั้งแต่โครงการขุดคอคอดกระ, แลนด์บริดจ์สุราษฎร์-กระบี่ ขนถ่ายสินค้าลงเรือ ยกขึ้นฝั่งแล้วจะไปที่ไหน หรือแม้แต่ตอนนี้กลายเป็นสงขลา-สตูลแทน ก็พูดแต่จะทำโครงการ แต่ไม่รู้ว่าสินค้าที่จะขนส่งเป็นอย่างไร มีเท่าไหร่ คุ้มค่าหรือไม่

ต้นเหตุจริงๆ ของปัญหามาจากความไม่เป็นธรรมของโครงสร้าง ทำให้มีการทุจริตเกิดขึ้นต่อเนื่อง เอ็นจีโอก็มีหลายประเภท บางคนต้องทำงานหนัก เหนื่อย และเสี่ยงต่อชีวิต โดยเฉพาะเอ็นจีโอที่อยู่ในกลุ่ม M Powerment ติดอาวุธทางปัญหาที่ชี้ปัญหาให้ชาวบ้านเห็น และรัฐบาลจะไม่ชอบที่ถูกเปิดเผยเรื่องไม่ชอบมาพากล จึงอาศัยนักวิชาการ เอ็นจีโอบางคน หรือประชาชนบางส่วน

ในส่วนของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้ชี้ว่า การที่จะนำประเด็นนี้มาพูดให้คนในสังคมวงกว้างตระหนักและหันมาให้ความสนใจร่วมกันนั้น โดยเฉพาะในกลุ่มพลังนักศึกษาที่พบว่าจะไม่ค่อยตื่นตัวเคลื่อนไหว เช่นเดียวกับจุดยืนของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ที่ต้องมีความชัดเจน ซึ่งขณะนี้แม้แต่นักวิชาการในรั้ว มอ.ก็รับงานประชาสัมพันธ์ของกรมเจ้าท่า และยังนำนักศึกษาลงทำงานในพื้นที่อีกด้วย

ดังนั้น การที่คนเฉพาะกลุ่มจะลุกขึ้นติดตามให้เท่าทันโครงการพัฒนาเหล่านี้เป็นการยากเกินไปหากขาดแนวร่วม เพราะโครงการเกิดขึ้นตลอดชายฝั่งภาคใต้ แต่หากสถาบันการศึกษาเข้ามาร่วมตรวจสอบแล้ว ความเข้มแข็งและข้อมูลด้านที่ซุกไว้ก็จะออกสู่สังคมมากขึ้น ดังเช่น ม.วลัยลักษณ์ ซึ่งมีเครือข่ายติดตามโรงไฟฟ้าถ่านหินมาโดยตลอด และสามารถประกาศตัวชัดเจนถึงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วย ทำให้การรุกของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 แห่งชะงักไปชั่วคราว

นั่นคือจะต้องให้ความสำคัญในการสื่อสารในที่สาธารณะ โดยมีการเสนอว่าน่าเริ่มจากประเด็นเล็กๆ มาจุดประกาย เช่น การถ่ายภาพนกในกลุ่มที่สนใจดูนกเพื่อขยายฐานสู่การรักชายหาด ซึ่งเป็นที่อาศัยของนกต่างๆ หลายชนิด และการนำสารส่งต่อไปยังกลุ่มคนในวงกว้างเพื่อเป็นพลังเคลื่อนไหวที่มีน้ำหนัก มากกว่าการเคลื่อนไหวเฉพาะกลุ่มคนในพื้นที่ เนื่องจากโครงการพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ล้วนให้บทเรียนแก่คนในพื้นที่และสังคมอย่างที่เรียกคืนกลับมาไม่ได้


บรรยากาศการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น



กำลังโหลดความคิดเห็น