xs
xsm
sm
md
lg

ครม.โปรย3หมื่นล้าน รับท่าเรือทวาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการราวัน- ครม.โปรยงบฯภาคกลางตอนล่าง 60 โครงการงบฯ พันล้าน พร้อมอนุมัติกรอบอีก 203 โปรเจกต์ วงเงิน 3 หมื่นกว่าล้าน รองรับท่าเรือทวาย นอกจากนี้ได้ขยายวงเงินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เป็น1.3 พันล. ส่วนรถไฟใต้ดิน ปรับค่าโดยสารใหม่ 3 ก.ค.นี้

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม.สัญจร ที่จ.กาญจนบุรี เมื่อวานนี้ (20 พ.ค.) ว่าที่ประชุมได้อนุมัติกรอบแผนงานของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 และ 2 รวม 8 จังหวัด จำนวน 203 โครงการ วงเงินงบประมาณ 33,111.49 ล้านบาท ซึ่งโครงการเหล่านี้ เป็นเพียงการเห็นชอบกรอบแผนงาน ยังไม่ได้อนุมัติการดำเนินงาน และงบประมาณแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม มีโครงการที่มีความพร้อมและสามารถดำเนินการได้ทันที จำนวน 60 โครงการ งบเงินงบประมาณ 1,041.43 ล้านบาท ในส่วนนี้สามารถเบิกจากงบกลางได้ทันที เมื่อคำนวณแล้วจะพบว่าทั้ง 8 จังหวัด จะได้งบประมาณจังหวัดละราว 100 ล้านบาท ซึ่งใน 60 โครงการข้างต้น ที่สามารถดำเนินการได้ทันที อาทิ โครงการเส้นทางเชื่อมโยงเมือง ธาราวดี โครงการซ่อมสร้างทางลาดยางเอซี โครงการฝายทดน้ำห้วยยาง ต.เขาขลุง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี และโครงการจัดทำระบบสารสนเทศ เพื่อความมั่นคงทางอาหาร และสุขภาพ จ.สุพรรณบุรี เป็นต้น

นายอนุสรณ์ กล่าวถึงข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ( สศช. ) เกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจเชื่อมโยงฝั่งตะวันตกกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนม่าร์ หรือโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมทวายว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่ สศช.นำเสนอในการสนับสนุนการเตรียมความพร้อมของประเทศพม่า และมอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาระบบขนส่งสินค้า และบริการของประเทศ (กบส.) ที่มี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธาน รับไปพิจารณาดำเนินการตามมติครม. เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.53

ทั้งนี้ สาระสำคัญที่ที่ประชุมครม. ในการสนับสนุนโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ประเทศพม่า คือ การแบ่งระยะเวลาก่อสร้างออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ระหว่าง ปี 2554-2558 จะครอบคลุมท่าเรือด้านใต้ การสร้างระบบคมนาคม เชื่อมโยงทวาย และชายแดนไทย-พม่า 4 ช่องจราจร การเปิดด่านพรมแดน โครงการถนนเชื่อมโยงสนามบินทวาย อ่างเก็บน้ำขนาด 93 ล้านลบ.ม. โรงไฟฟ้าถ่านหิน ถนน ในเขตนิคมอุตสาหกรรม ระบบระบายน้ำ-ประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย ที่พักอาศัย และพื้นที่ส่วนราชการแบบเบ็ดเสร็จ

ส่วนระยะที่ 2 ระหว่างปี 2556-2561 จะครอบคลุมการพัฒนาระบบระบายน้ำเพิ่มเติม การขยายถนนเชื่อมโยงทวายเป็น 8 ช่องจราจร ศูนย์การค้า และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ

ระยะที่ 3 ระหว่างปี 2559-2563 จะครอบคลุมท่าเรือด้านเหนือ ถนนในเขตอุตสาหกรรม และระบบระบายน้ำเพิ่มเติม รวมไปถึง รถไฟ สายส่งไฟฟ้า ท่อก๊าซ-น้ำมัน ที่เชื่อมโยงจากประเทศไทย

" สศช.ได้เสนอว่า การพัฒนาท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมทวาย จะเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากมีศักยภาพในการเป็นประตูการค้าฝั่งตะวันตก ของภูมิภาค และเป็นสะพานเชื่อมโยงทางการค้าระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับประเทศในภูมิภาค อีกทั้งยังจะเพิ่มจีดีพีของไทย อีกร้อยละ 1.9" นายอนุสรณ์ กล่าว

**ขยายวงเงินรถไฟฟ้าสีเขียว1.3พันล.

ด้านนายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมครม.ได้ อนุมัติให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขยายกรอบวงเงินค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วง แบริ่ง - สมุทรปราการ จากกรอบวงเงินเดิมที่ครม.ได้มีมติอนุมัติไว้ 675 ล้านบาท เป็น 1,305 ล้านบาท

โดยให้รัฐบาลรับภาระค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว โดยจะให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณให้ตามที่กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสม และค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว และให้ สงป.ตั้งงบประมาณ เพื่อชำระเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายทางการเงินอื่น สำหรับการกู้เงินดังกล่าวเป็นรายปี

นอกจากนี้ ครม. ยังได้รับทราบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2555 ครั้งที่ 3 ซึ่งบรรจุการก่อหนี้ใหม่ของสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน องค์การมหาชน (สบพน.) วงเงิน 20,000 ล้านบาท ในแผนการก่อหนี้ของหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่ต้องขออนุมัติครม. ภายใต้กรอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะ และยังได้อนุมัติให้กระทรวงการคลัง ค้ำประกันเงินกู้ที่องค์การสวนยาง กู้จากธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง วงเงิน 10,000 ล้านบาท

** รถไฟใต้ดินปรับค่าโดยสารใหม่ 3 ก.ค.

ด้านนายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม แถลงภายหลังการประชุมครม. ว่า ตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ไปเจรจากับผู้บริหารของ บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) เพื่อขอให้ผ่อนผันการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟใต้ดิน ซึ่งผลการเจรจาทาง BMCL ยินยอมคงอัตราค่าโดยสารที่ 15-40 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.-2 ต.ค55 ในรูปแบบโปรโมชั่น

อย่างไรก็ตาม การปรับอัตราราคาเพิ่มรูปแบบใหม่ที่ 16-40 บาท ใน 7 สถานี จากทั้งหมด 17 สถานี จะเริ่มตั้งแต่ 3 ต.ค.55 เป็นต้นไป โดยที่รัฐบาลไม่ต้องจ่ายชดเชยแต่ประการใด ทั้งนี้ การปรับอัตราค่าโดยสาร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยยังคงต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎสัญญา ที่เกี่ยวข้อง ก็คือการประกาศอัตราค่าโดยสารก่อนบังคับใช้ ไม่น้อยกว่า 30 วัน เพราะฉะนั้นจึงต้องประกาศก่อนวันที่ 4 มิ.ย.55 นี้ ดังนั้น ครม.จึงได้มีมติเห็นชอบให้ประกาศขึ้นค่ารถไฟ แต่จะไปเริ่มต้นใช้ในวันที่ 3 ดังกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น