xs
xsm
sm
md
lg

ปริศนา ปู ไปอาหรับถก ธุรกิจพลังงาน-เมดิคัลฮับ เข้ากระเป๋าใคร !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

กลับมาถึงไทยโดยสวัสดิภาพแล้ว หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการเยือนประเทศตะวันออกกลาง อย่าง บาห์เรน และกาตาร์ ระหว่างวันที่ 13-17 พฤษภาคม และก็เช่นทุกครั้งสำหรับภารกิจของ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ย่อมต้องมีข้อสงสัย เป็นปริศนากลับมาทุกครั้งว่าการเจรจา หรือการลงนามในฐานะนายกรัฐมนตรี ผู้นำประเทศนั้นแท้จริงแล้วใครได้ประโยชน์กันแน่ หรือมี “วาระซ่อนเร้น” ส่วนตัวกันแน่

แน่นอนว่าการเดินทางไปเยือนต่างประเทศทุกครั้ง ไม่เคยเป็นข่าว ไม่เคยได้รับความสนใจ ไม่เคยมีวาระที่แสดงให้เห็นถึงการแสดงถึง “ภาวะผู้นำ” หรือไปแสดงวิสัยทัศน์ให้ชวนติดตาม เพราะที่ผ่านมาขนาดอ่านโพยภาษาไทยยังออกเสียง ให้ความหมายผิดเพี้ยนอยู่เป็นประจำ แล้วนี่เป็นการใช้ภาษาอังกฤษลองนึกภาพเอาก็แล้วกันว่าจะสยดสยองเช่นไร

คราวนี้ก็เช่นเดียวกัน การเยือนประเทศในกลุ่มอ่าวอาหรับ เริ่มต้นที่ประเทศบาห์เรน ก็ยังไม่เป็นที่สะดุดตาเท่าไรนัก จนกระทั่งมาถึงประเทศ กาตาร์ นี่แหละที่เริ่มมองเห็นสิ่ง “ผิดปกติ”มากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากได้เห็นวาระการเยี่ยมชมศูนย์เวชศาสตร์การกีฬา ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาเกี่ยวกับ “กระดูก” และเวชศาสตร์การกีฬา “แห่งแรก” ในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ที่สำคัญก็คือ กาตาร์ กำลังจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2022 แม้ว่าจะมีเวลาอีกนาน แต่ทุกอย่างก็ต้องเตรียมการเอาไว้ล่วงหน้า เพราะนี่คืองานยักษ์ มีผลประโยชน์มหาศาล เพราะสถาบันดังกล่าวนอกเหนือจาก กาตาร์แล้วที่ได้เพิ่งรับการยอมรับอย่างเป็นทางการจาก ฟีฟ่าแล้ว ยังมีแค่ ญี่ปุ่น และไทย เท่านั้น ซึ่งมองในมุมนี้ก็ถือว่าไทยอยู่ในระดับแถวหน้าในด้านการแพทย์ แต่ขณะเดียวกันนี่แหละคือ “ลายแทง” ที่จะนำไปสู่ “ขุมทรัพย์”ในวันหน้า และผลประโยชน์จะตกอยู่ที่กลุ่มธุรกิจบางกลุ่มเท่านั้น

จากรายงานข่าวจากทางการยังระบุอีกว่า ไทยได้ลงนามความร่วมมือในเรื่องการแพทย์กับกาตาร์ โดยเฉพาะการเข้าไปในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านบริการด้านการแพทย์และสุขภาพ รวมไปถึงเวชศาสตร์การกีฬา ทั้งก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลก ระหว่างการแข่งขันและหลังมหกรรมดังกล่าวเสร็จสิ้นลงไปแล้ว

ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาจากเอกสารแถลงของรัฐบาล ก็ได้เห็นกรอบความร่วมมือต่างๆจำนวน 6 ข้อ ดังนี้

1. การก่อสร้าง โดยภาคเอกชนไทยมีความสนใจเข้าร่วมการพัฒนาสาธารณูปโภคและสนามกีฬา เพื่อรองรับการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2022 ของกาตาร์ เพราะไทยมีศักยภาพด้านฝีมือแรงงาน สถาปัตยกรรม และการวางระบบต่างๆ ซึ่งกาตาร์ยินดีเปิดรับนักลงทุนในสาขานี้ และจะดำเนินการอย่างโปร่งใส

2. ความมั่นคงทางอาหาร โดยนายกรัฐมนตรียินดีที่มีการลงนามในแถลงการณ์ร่วมในเรื่องดังกล่าว ซึ่งในฐานะผู้ผลิตอาหารรายสำคัญ ยินดีจัดหาอาหารตามชนิดที่กาตาร์มีความต้องการ และขอให้กาตาร์ระบุความต้องการ ซึ่งไทยจะได้ผลิตตามความต้องการเป็นการเฉพาะ และเพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องนี้ ทั้งนี้ ไทยยินดีร่วมมือกับกาตาร์โดยสามารถเป็นไซโลอาหาร เพื่อเป็นแหล่งสำรองอาหารให้กับกาตาร์

3. ความร่วมมือภาคการลงทุน ไทยยินดีสนับสนุนกาตาร์และ QIA (Qatar Investment Authority) และ Qatar Holdingซึ่งเป็นสถาบันการลงทุนของกาตาร์ร่วมลงทุนในภาคการเงินของไทย โดยไทยและกาตาร์นจะได้ให้หน่วยงานทั้งสองประเทศนำไปหารือและศึกษาต่อไป โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ ที่กาตาร์มีความสนใจ และเสนอให้มีการจัดทำรายชื่อสาขาธุรกิจและผู้ติดต่อ เพื่อความความสะดวกและรวดเร็วในการดำเนินงาน

4. การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และการบริหารจัดการโรงพยาบาล ไทยยินดีต้อนรับประชาชนกาตาร์เพื่อท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และจะขยายความร่วมมือระหว่างกันในสาขาโรงพยาบาลและธุรกิจด้านสุขภาพ โดยรัฐบาลได้อนุมัติในหลักการให้ขยายเวลาการพำนักในประเทศไทยรวม 90 วันสำหรับการเข้ามารักษาพยาบาล นอกจากนี้ โรงพยาบาลเอกชนของไทยยินดีเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อดูแลและอำนวยความสะดวกด้านการแพทย์ในการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2022

5. ความร่วมมือด้านพลังงาน ไทยและกาตาร์เห็นว่ายังมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือระหว่างกันได้อีก โดยกาตาร์เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับรัฐมนตรีพลังงานเพื่อผลักดันการขยายความร่วมมือให้เป็นผล ทั้งนี้ บริษัท ปตท. และ Qatargas จะได้รับการสนับสนุนให้มีการลงนามความตกลงระยะยาวในการซื้อขายก๊าซ LNG และบริษัทพลังงานของไทยจะเป็นประตูของกาตาร์สู่อาเซียนและภูมิภาคใกล้เคียง นอกจากนี้ ไทยกำลังเจรจาซื้อก๊าซ LNG จากกาตาร์จำนวน 600,000 ตันในปีนี้ และได้มีการตกลงซื้อขายระยะยาวจำนวน 2,000,000 ตันในปีหน้าแล้ว

6. การยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อไก่จากไทย โดยกาตาร์จะยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าภายใน 2 สัปดาห์

ที่น่าสังเกตก็คือ ข้อ 4 กับข้อ 5 ที่เกี่ยวกับเรื่องการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และการบริหารจัดการโรงพยาบาล ขยายความร่วมมือระหว่างกันระหว่างธุรกิจด้านสุขภาพ และเรื่องการลงนามในธุรกิจพลังงานที่เปิดทางให้ ปตท.ไปลงทุน รวมไปถึงเป็น “นายหน้า” ค้าพลังงานเป็นประตูสู่อาเซียน

แน่นอนว่าหากพิจารณาจากสติปัญญาของ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ เท่าที่พิสูจน์ให้เห็นในช่วงที่ผ่านมา ไม่น่าจะใช่เป็นความคิดของเธอ แต่น่าจะเป็นการเดินทาง “ตามหลัง” พี่ชายที่มีฐานบัญชาการอยู่ที่ดูไบ และใช้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปลงนามอย่างเป็นทางการในลักษณะ “แสตมป์” หรือไม่ เหมือนกับก่อนหน้านี้ที่ไปเยือนพม่า หรือกัมพูชา ก็มักมีข้อสงสัยทำนองนี้เหมือนกัน

อย่างไรก็ดีแม้ว่ามีข้อสงสัยเรื่องธุรกิจพลังงานเช่นเคย แต่คราวนี้จะแยกออกมาพิจารณาเรื่อง “ธุรกิจการแพทย์” ออกมาเป็นการเฉพาะ และต้องไม่ลืมว่าในยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร มีความฝันที่จะดันประเทศไทยให้เป็น “เมดิคัลฮับ” ซึ่งก็ต้องดึงดูดพวกเศรษฐีมีทรัพย์มาใช้บริการ ซึ่งก็ไม่มีใครเหมาะสมเท่า “แขกอาหรับ” อีกแล้ว และที่ผ่านมาในวงการก็รับรู้ว่า “เครือข่ายครอบครัว” นี้มี “ธุรกิจโรงพยาบาล” ชั้นนำหลายแห่งทั่วประเทศตามแหล่งธุรกิจและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ มีการกว้านซื้อหุ้นผ่านทาง “ทนายคดีซุกหุ้น” อย่างเป็นขั้นเป็นตอน และแม้ว่ามองในมุมดีก็ทำให้ไทยมีรายได้มหาศาล แต่ขณะเดียวกันคำถามก็คือมันเข้ากระเป๋าใครมากกว่ากัน และนี่อาจเป็น “วาระซ่อนเร้น” มี “ผลประโยชน์ทับซ้อน” อีกเรื่องหนึ่ง !!
กำลังโหลดความคิดเห็น