ภารกิจ “ยิ่งลักษณ์” เยือนรัฐกาตาร์ ขยายความร่วมมือโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ผลักดันภาคเอกชนไทยมีส่วนร่วมในการก่อสร้างอาคารและสนามฟุตบอล สำหรับ World Cup 2022 ด้านกาตาร์เล็งยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าเนื้อไก่จากไทยภายใน 2 สัปดาห์
วันนี้ (16 พ.ค.) เวลา 10.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการพบหารือกับผู้บริหารของ Aspetar - Qatar Orthopedic and Sports Medical Center และเยี่ยมชม สรุปดังนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณสำหรับการต้อนรับอย่างดีจากรัฐบาลกาตาร์ พร้อมชื่นชมพัฒนาการและระบบอำนวยความสะดวกด้านเวชศาสตร์การกีฬาของสถาบัน ASPETAR ที่ถือเป็นสถาบันกระดูกและเวชศาสตร์การกีฬาแห่งแรกในภูมิภาค ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเพียงกาตาร์ ไทย และญี่ปุ่น เท่านั้นที่มีโรงพยาบาลที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมาธิการด้านการแพทย์ของฟีฟ่าและศูนย์วิจัยและประเมินทางการแพทย์ฟีฟ่า (F-MARC) ให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ของฟีฟา จึงขอแสดงความยินดีกับกาตาร์ที่ ASPETAR ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเป็นสถาบันล่าสุด
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความสนใจและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของความสำเร็จของ ASPETAR ครั้งนี้ รวมถึงระบบ Total Care Concept ของ ASPETAR และการเตรียมพร้อมของ ASPETAR เพื่อการเป็นประธานการจัดงาน 2022 World Cup
ทั้งนี้ สำหรับงาน 2022 World Cup ที่จะมาถึง นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าชื่อเสียงและมาตรฐานระดับโลกของโรงพยาบาลในประเทศไทยจะสามารถช่วยสนับสนุน ASPETAR และโรงพยาบาลของกาตาร์ได้อย่างดี เนื่องจากไทยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการและเวชศาสตร์การกีฬาอยู่มาก โดยโรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งของไทย ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมาธิการด้านการแพทย์ของฟีฟ่าและศูนย์วิจัยและประเมินทางการแพทย์ฟีฟา (F-MARC) เช่นกัน และปัจจุบันได้มีการทำงานร่วมกับ ASPETAR แล้วในด้านการแลกเปลี่ยนแพทย์ พยาบาล และงานศึกษาวิจัยต่างๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีคาดหวังว่าจะมีการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 สถาบันมากขึ้นต่อไป
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้ ASPETAR พิจารณาการร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจกับไทยในการร่วมกันศึกษาวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์การแพทย์กับมหาวิทยาลัยของไทย อันจะเป็นประโยชน์แก่ทั้ง 2 ประเทศ และย้ำว่าไทยมีความพร้อมอย่างยิ่งที่จะทำงานร่วมกับ ASPETAR และรัฐบาลกาตาร์ ในด้านการพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกและการบริการด้านเวชศาสตร์การกีฬาระดับโลก และขออวยพรให้กาตาร์ประสบความสำเร็จในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 2020 นี้
จากนั้นเวลา 11.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น ณ Bidda Tower น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้พบหารือกับนาย Hassan Al Thawadi เลขาธิการ Qatar 2022 Supreme Committee ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำถึงวัตถุประสงค์สำคัญของการเดินทางเยือนภูมิภาคตะวันออกกลางครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรี ว่าเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกาตาร์ โดยเฉพาะความร่วมมือทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งแสดงความยินดีกับการเป็นประเทศอาหรับชาติแรกที่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานฟุตบอลโลกปี 2022 และเชื่อมั่นว่ากาตาร์จะประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันในอีก 10 ปี ข้างหน้า
ทั้งนี้ ประเทศไทยสนใจในการมีส่วนร่วมเป็นผู้ก่อสร้างอาคาร สนามฟุตบอล เพื่อรองรับการแข่งขันฟุตบอลโลก และมั่นใจว่าบริษัทรับเหมาก่อสร้างของไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้ก่อสร้างโครงการต่างๆของกาตาร์ ด้วยคุณภาพที่คุ้มค่าแก่การลงทุน ทั้งการเป็นผู้ก่อสร้างหลักและรายย่อย อีกทั้งไทยสนใจสนับสนุนงานด้านบริการ เช่น บริการการแพทย์และสุขภาพ วิทยาศาสตร์การกีฬา เป็นต้น
ทั้งนี้ กาตาร์จะมีการก่อสร้างสนามกีฬาโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการปรับอุณหภูมิให้สนามกีฬาเย็นลง (Air-conditioned stadium) เพื่อป้องกันความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงถึง 50 องศาเซลเซียสในฤดูร้อน อีกทั้งมีกรพัฒนาเมฆเทียมเพื่อทำร่มเงาให้กับสนามกีฬา โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ มีการนำระบบ QSAS (Qatar Sustainability Assessment System) - sustainable urban environment มาใช้ในโครงการสร้างสนามกีฬา คือ ระบบลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลต่อสังคมท้องถิ่น รวมทั้งมีโครงการรถไฟฟ้า Qatar’s Integrated Railway Project ที่เชื่อมระหว่างสนามกีฬา
ต่อมาเวลา 18.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าฯ H.H. Sheikh Hamad bin Khalifa Al-Thani เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ ณ พระราชวัง Al Wajbah ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณฯ ที่พระราชทานโอกาสให้เข้าเฝ้าฯ ในโอกาสเยือนรัฐกาตาร์อย่างเป็นทางการ และชื่นชมความสัมพันธ์ไทยและกาตาร์ที่มีความใกล้ชิดและได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นและประทับใจ โดยการเยือนครั้งนี้ นับเป็นการเยือนภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก และกราบทูลเชิญฯเสด็จเยือนไทยในวโรกาสต่อไป ทั้งนี้ ในการเยือนกาตาร์ครั้งนี้จะได้มีการติดตามความตกลงต่างๆที่ยังคั่งค้าง รวมทั้งขยายความร่วมมือใหม่ๆ เช่น ความมั่นคงทางอาหาร การลงทุนด้านการเงิน ด้วย
รัฐกาตาร์ เป็นรัฐอิสลาม ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้เจ้าผู้ครองนคร เชค ฮามัด บิน คอลิฟะห์ อัล ทานี (H.H. Sheikh Hamad bin Khalifa Al-Thani) กาตาร์ เป็นประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่อหัวเป็นลำดับต้นๆของโลก และสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ และมีแหล่งก๊าซธรรมชาติใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ปัจจุบันจึงเป็นประเทศที่มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการเมืองระหว่างประเทศ และกาตาร์จะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2022 และได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกในปี 2020 สำหรับบทบาทของกาตาร์ในภูมิภาคและเวทีระหว่างประเทศ กาตาร์ได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในการเป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆในภูมิภาคตะวันออกกลางและระหว่างประเทศ อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาในลิเบียและส่งเครื่องบินรบเข้าร่วมในการปฏิบัติการของสหประชาชาติในลิเบีย และล่าสุด กาตาร์ก็มีบทบาทสำคัญในการร่วมกับชาติอาหรับ และชาติตะวันตกในการแก้ไขปัญหาซีเรีย ในภาพรวมความสัมพันธ์ไทย-กาตาร์ ภายหลังการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปี 2523 ความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นไปอย่างราบรื่น กาตาร์ให้การสนับสนุนไทยเรื่องสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ในเวทีองค์กรความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC มาโดยตลอด
ด้านการค้า ไทยและกาตาร์มีมูลค่าการค้ารวม 2,804 ล้านเหรียญสหรัฐ (ปี 2554) โดยไทยส่งออกสินค้าไปกาตาร์ ได้แก่ ยานยนต์ เหล็ก และเหล็กกล้า และไทยนำเข้าสินค้าจากกาตาร์ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ และด้านแรงงาน ปัจจุบัน มีแรงงานไทยทำงานอยู่ในกาตาร์ประมาณ 2,000 คน ทั้งนี้ ไทยและกาตาร์มีความตกลงร่วมกันในหลายสาขา ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การเดินอากาศ พลังงาน และความมั่นคง โดยที่ไทยและกาตาร์ยังมีศักยภาพและความร่วมมืออีกหลายด้านที่จะสามารถร่วมมือกันได้ เช่น การก่อสร้าง อาหาร พลังงาน และการทหาร ซึ่งการเยือนกาตาร์อย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ถือเป็นโอกาสสำคัญในการผลักดันและหารือกรอบความร่วมมือต่างๆให้เกิดผลเพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ
ภายหลังการเข้าเฝ้าฯ ณ เรือนรับรองนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหารือข้อราชการกับ H.E. Sheikh Hamad bin Jassim bin Jabr Al-Thani นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกาตาร์ แบบเต็มคณะ และได้มีการหารือในด้านต่างๆ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ไทยและกาตาร์ ที่ไทยถือว่ากาตาร์เป็นมิตรที่แนบแน่นและยาวนาน และหวังที่จะร่วมกับกาตาร์ในการขยายความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาค เพื่อประโยชน์ร่วมกัน โดยไทยชื่นชมบทบาทสำคัญของกาตาร์ในโลกมุสลิม และโดยที่กาตาร์ก็มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคอาหรับ จึงเชื่อมั่นว่าไทยและกาตาร์จะเป็นจุดยุทธศาสตร์ในภูมิภาค ซึ่งเป็นประตูสำหรับการค้าและการลงทุน รวมทั้งรูปแบบความร่วมมือต่างๆด้วย โดยในโอกาสนี้ ไทยได้ขอบคุณกาตาร์ที่ให้การสนับสนุนท่าทีไทยเกี่ยวกับปัญหาสถาณการณ์จังหวัดชายแดนใต้ในเวทีองค์กรความร่วมมืออิสลามหรือ OIC มาโดยตลอด อีกทั้งสนับสนุนด้านการศึกษาและการลงทุนในภาคใต้ของไทย
ในโอกาสนี้ ไทยและกาตาร์ได้หารือถึงกรอบความร่วมมือต่างๆ ที่สามารถเสริมสร้างและขยายผลเพื่อประโยชน์ร่วมกัน โดยกาตาร์เห็นว่าขณะนี้ไทยมีความมั่นคงทั้งด้านการเมือง และศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ดังนั้น ไทยและกาตาร์เห็นพ้องที่จะขยายความร่วมมือโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ในสาขาที่สำคัญ คือ
1. การก่อสร้าง โดยภาคเอกชนไทยมีความสนใจเข้าร่วมการพัฒนาสาธารณูปโภคและสนามกีฬา เพื่อรองรับการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2022 ของกาตาร์ เพราะไทยมีศักยภาพด้านฝีมือแรงงาน สถาปัตยกรรม และการวางระบบต่างๆ ซึ่งกาตาร์ยินดีเปิดรับนักลงทุนในสาขานี้ และจะดำเนินการอย่างโปร่งใส
2. ความมั่นคงทางอาหาร โดยนายกรัฐมนตรียินดีที่มีการลงนามในแถลงการณ์ร่วมในเรื่องดังกล่าว ซึ่งในฐานะผู้ผลิตอาหารรายสำคัญ ยินดีจัดหาอาหารตามชนิดที่กาตาร์มีความต้องการ และขอให้กาตาร์ระบุความต้องการ ซึ่งไทยจะได้ผลิตตามความต้องการเป็นการเฉพาะ และเพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องนี้ ทั้งนี้ ไทยยินดีร่วมมือกับกาตาร์โดยสามารถเป็นไซโลอาหาร เพื่อเป็นแหล่งสำรองอาหารให้กับกาตาร์
3. ความร่วมมือภาคการลงทุน ไทยยินดีสนับสนุนกาตาร์และ QIA (Qatar Investment Authority) และ Qatar Holdingซึ่งเป็นสถาบันการลงทุนของกาตาร์ร่วมลงทุนในภาคการเงินของไทย โดยไทยและกาตาร์นจะได้ให้หน่วยงานทั้งสองประเทศนำไปหารือและศึกษาต่อไป โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ ที่กาตาร์มีความสนใจ และเสนอให้มีการจัดทำรายชื่อสาขาธุรกิจและผู้ติดต่อ เพื่อความความสะดวกและรวดเร็วในการดำเนินงาน
4. การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และการบริหารจัดการโรงพยาบาล ไทยยินดีต้อนรับประชาชนกาตาร์เพื่อท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และจะขยายความร่วมมือระหว่างกันในสาขาโรงพยาบาลและธุรกิจด้านสุขภาพ โดยรัฐบาลได้อนุมัติในหลักการให้ขยายเวลาการพำนักในประเทศไทยรวม 90 วันสำหรับการเข้ามารักษาพยาบาล นอกจากนี้ โรงพยาบาลเอกชนของไทยยินดีเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อดูแลและอำนวยความสะดวกด้านการแพทย์ในการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2022
5. ความร่วมมือด้านพลังงาน ไทยและกาตาร์เห็นว่ายังมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือระหว่างกันได้อีก โดยกาตาร์เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับรัฐมนตรีพลังงานเพื่อผลักดันการขยายความร่วมมือให้เป็นผล ทั้งนี้ บริษัท ปตท. และ Qatargas จะได้รับการสนับสนุนให้มีการลงนามความตกลงระยะยาวในการซื้อขายก๊าซ LNG และบริษัทพลังงานของไทยจะเป็นประตูของกาตาร์สู่อาเซียนและภูมิภาคใกล้เคียง นอกจากนี้ ไทยกำลังเจรจาซื้อก๊าซ LNG จากกาตาร์จำนวน 600,000 ตันในปีนี้ และได้มีการตกลงซื้อขายระยะยาวจำนวน 2,000,000 ตันในปีหน้าแล้ว
6. การยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อไก่จากไทย โดยกาตาร์จะยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าภายใน 2 สัปดาห์
ภายหลังการหารือ นายกรัฐมนตรีได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความตกลงระหว่างรัฐกาตาร์กับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยจำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ 1. ความตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานในรัฐกาตาร์ 2. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข 3. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรม 4. ปฏิญญาร่วมในการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนในผลิตภัณฑ์และโภคภัณฑ์การเกษตรโดยเฉพาะอาหารฮาลาล
จากนั้น นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกาตาร์เป็นจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีในโอกาสการเยือนรัฐกาตาร์อย่างเป็นทางการในครั้งนี้
เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในช่วงบ่าย เวลาประมาณ 18.30 น. นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองเพื่อพบปะกับภาคเอกชนไทย-กาตาร์ โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวสุนทรพจน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนระหว่างไทยและกาตาร์ให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นภารกิจสุดท้ายก่อนเดินทางกลับประเทศไทยในเวลา 21.00 น. และมีกำหนดการถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการในเช้าวันที่ 17 พ.ค. 2555 เวลา 07.20 น.