xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ แจงถกบาห์เรน ชื่นมื่นทั้งระดับ “ทวิภาคี-ภูมิภาค-โลก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกฯ แจง ไทยเห็นความสำคัญกับการปราบปรามโจรสลัดในทะเล เชื่อศูนย์บัญชาการกองกำลังผสมทางทะเลจะประสบความสำเร็จ เผยผลการเจรจาสองประเทศพอใจทุกประเด็นทั้ง “ทวิภาคี-ภูมิภาค-โลก”

วันนี้ (15 พ.ค.) ณ กรุงนามานา ราชอาณาจักรบาห์เรน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมศูนย์บัญชาการกองกำลังผสมทางทะเล และรับฟังการบรรยายสรุปจากผู้บังคับบัญชากองกำลังผสมทางทะเล ดังนี้ กองกำลังผสมทางทะเลเป็นกรอบความร่วมมือระหว่าง 26 ประเทศ เพื่อเสริมสร้างรักษาความมั่นคงทางทะเล ต่อต้านการก่อการร้ายและโจรสลัดในน่านน้ำของภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกา ซึ่งเป็นเส้นทางผ่านของสินค้าพลังงานที่สำคัญที่สุดของโลก ในส่วนของประเทศไทยได้เข้าร่วมในกองกำลังผสมทางทะเลตั้งแต่ปี 2552 โดยกองทัพเรือส่งหมู่เรือปราบโจรสลัดเข้าร่วมลาดตระเวนในบริเวณอ่าวเอเดนและชายฝั่งโซมาเลียในปี 2552 และ 2553 และปัจจุบันนายทหารเรือไทยได้รับตำแหน่งผู้บังคับบัญชากองกำลังเฉพาะกิจผสม 151 (Combined Task Force- CTF 151) ภายใต้กองกำลังผสมทางทะเล เพื่อปฏิบัติภารกิจปราบปรามโจรสลัดในพื้นที่อ่าวเอเดนและชายฝั่งโซมาเลีย ระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2555

โดยในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวต่อผู้บัญชาการศูนย์ฯ ว่ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเยือนศูนย์บัญชาการกองกำลังผสมทางทะเลครั้งนี้ และจากการที่ได้ฟังสรุปสถานการณ์ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า เพื่อเป็นการดำเนินการตามเป้าประสงค์ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ศูนย์บัญชาการกองกำลังผสมทางทะเลมีภารกิจหลักในการทำให้อ่าวเอเดน (Gulf of Aden) และชายฝั่งทะเลโซมาเลีย (coast of Somalia) ปลอดภัยจากโจรสลัดและการปล้นสะดมทางทะเล ในการนี้ จึงขอเสนอแนะให้ทางการบาห์เรนสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์บัญชาการกองกำลังผสมทางทะเลอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อความสงบและสันติภาพในบริเวณดังกล่าว

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ไทยเห็นความสำคัญในการเพิ่มเติมความร่วมมือระหว่างประเทศ เกี่ยวกับการปราบปรามโจรสลัดและการปล้นสะดมทางทะเลในบริเวณอ่าวเอเดน (Gulf of Aden) และชายฝั่งทะเลโซมาเลีย (coast of Somalia) เนื่องจากไทยเป็นหนึ่งในเหยื่อของการปล้นสะดมเหล่านี้เช่นกัน สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ขบวนการปล้นสะดมทางทะเลได้ลุกลามมาถึงฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรอินเดีย และจะลามถึงฝั่งตะวันออกในไม่ช้า ทั้งนี้ กองทัพเรือจึงมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมปฏิบัติการเคลื่อนกำลังพลทั้งสองครั้งของกองบัญชาการกองกำลังผสมทางทะเล และมีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าปฏิบัติการของศูนย์บัญชาการกองกำลังผสมทางทะเลนี้ จะประสบความสำเร็จได้อย่างดี โดยไทยจะให้การสนับสนุนอยู่อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การให้การสนับสนุนแก่ศูนย์บัญชาการกองกำลังผสมทางทะเล แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่ชัดเจนของไทยในฐานะสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ในการส่งเสริมให้เกิดสันติภาพและความมั่นคงในระดับนานาชาติ รวมถึงความมั่นคงและความปลอดภัยทางทะเล โดยสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การดูแลความเรียบร้อยของช่องทางเดินทางทะเล และการติดต่อสื่อสารทางทะเล ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูงสุด เนื่องจากเป็นเส้นทางสำคัญในการเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคเอเชียตะวันออก ไทยจึงมีการเข้าร่วมโครงการลาดตระเวนทางอากาศ หรือ Eyes-in-the-Sky บริเวณช่องแคบมะละกา, ASEAN Maritime Forum (AMF) และกิจกรรมระดับภูมิภาคอื่นๆ และในฐานะภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) และสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ไทยยังสนับสนุนการดำเนินการอื่นๆ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหรือข้อกังวลทางทะเล

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีแสดงความเชื่อมั่นว่า ด้วยการดำเนินการของศูนย์บัญชาการกองกำลังผสมทางทะเล ความร่วมมือระหว่างกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) และสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) จะเป็นไปได้อย่างดี และจะร่วมกันปราบปรามกลุ่มโจรสลัด และส่งเสริมให้เกิดความมั่นคง ปลอดภัยทางทะเลได้ในที่สุด

ภายหลังการเยี่ยมชม นายกรัฐมนตรีเดินทางไปยังโครงการก่อสร้างบ้านพักผู้มีรายได้น้อยในย่าน Busaiteen เพื่อเยี่ยมชมพื้นที่ก่อสร้างและบ้านตัวอย่าง โดยในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีบาห์เรนทรงมารอให้การต้อนรับโดยไม่แจ้งล่วงหน้า พร้อมทั้งทรงนำเยี่ยมชมบ้านตัวอย่างด้วยพระองค์เอง จากนั้นนายกรัฐมนตรีเดินทางกลับไปยังโรงแรม Ritz Carlton ซึ่งเป็นโรงแรมที่พัก โดยในตอนเที่ยงนายกรัฐมนตรีบาห์เรนได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีและคณะ จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะได้ออกเดินทางไปยังท่าอากาศยานนานาชาติกรุงนามานา เพื่อเดินทางต่อไปยังกรุงโดฮา รัฐกาตาร์ เพื่อเยือนอย่างเป็นทางการ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางเยือนประเทศบาห์เรนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 13-15 พฤษภาคม 2555 ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีบาห์เรน (His Royal Highness Prince Khalifa Bin Salman Al-Khalifa) ซึ่งในปีนี้ ไทยและบาห์เรนครบรอบ 35 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งจากภารกิจของนายกรัฐมนตรีที่ได้หารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรีบาห์เรน ผลการหารือระหว่างทั้งสองนายกรัฐมนตรีนั้นได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมอง ทั้งในประเด็นทวิภาคี ภูมิภาค และระดับโลก

โดยประเด็นทวิภาคีมีข้อสรุปดังนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นควรผลักดันความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น โดยภาคเอกชนไทยมีความสนใจการลงทุนในบาห์เรนด้านการค้า พลังงาน การก่อสร้าง ความมั่นคงทางอาหาร อุตสาหกรรมการเกษตร ตลาดทุนธนาคารอิสลาม สุขภาพ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะด้านการก่อสร้าง ภาคเอกชนไทยสนใจลงทุนในการก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของบาห์เรน ทั้งการออกแบบโครงสร้างอาคาร และการตกแต่งภายใน เป็นต้น และด้านความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งไทยแสดงความพร้อมที่จะส่งออกอาหารฮาลาลเพื่อมาจำหน่ายในประเทศบาห์เรน รวมถึงการร่วมมือกันพัฒนาอุตสาหกรรมการเพาะปลูกพืชด้วยเทคโนโลยีไฮโดรโพนิกด้วย

ประเด็นระดับภูมิภาค ไทยและบาห์เรนต่างเห็นพ้องถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (ASEAN-GCC) รวมทั้งความร่วมมือเอเชีย (ACD) เมื่อประชาคมอาเซียนกำลังจะเกิดขึ้นในปี 2015 ไทยก็จะเป็นประตูสู่อาเซียนให้กับบาห์เรนและภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การศึกษา และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ถือโอกาสนี้แสดงความเชื่อมั่นต่อการเป็นเจ้าภาพการประชุม ACD ของบาห์เรนในปี 2013 อีกด้วย สำหรับกรณีการสร้างความสงบในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะประเทศซีเรีย และบริเวณปาเลสไตน์และตะวันออกกลาง ทั้งสองฝ่ายต้องการให้ทุกฝ่ายมีการเจรจาบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของประชาชน รวมทั้งตามเป้าประสงค์ขององค์การสหประชาชาติ

ประเด็นระดับโลก บาห์เรนและไทยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน และหนทางที่จะเสริมสร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่าง 2 ราชอาณาจักรในองค์การสหประชาชาติ กับองค์กรนานาชาติอื่นๆ และด้วยในปัจจุบัน ไทยมีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมอย่างดีในกิจกรรมต่างๆ ขององค์การสหประชาชาติ การสร้างสันติภาพ และการต่อต้านการก่อการร้ายและโจรสลัด ในโอกาสนี้ บาห์เรนได้สนับสนุนการเสนอตัวเข้าเป็นสมาชิกอย่างไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ของไทยในปี 2017-2018 และทั้งสองฝ่ายยังสนับสนุนซึ่งกันและกันในการเสนอตัวเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (HRC) ในปี 2015-2017 ด้วย

ภายหลังการหารือแบบเต็มคณะ นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้เป็นประธานและร่วมเป็นสักขีพยานร่วมกันในการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างสองรัฐบาลว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ด้านวัฒนธรรม ด้านความมั่นคงทางอาหาร ด้านการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าการเกษตร โดยเฉพาะธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสนี้กล่าวเชิญสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน เดินทางเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น