xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์บาห์เรน ลงนามบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (แฟ้มภาพ)
“ไทย-บาห์เรน” มุ่งสร้างความร่วมมือเพื่อความมั่นคงทั้งด้าน การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ร่วมผลักดันภาคเอกชนให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเพิ่มการค้าการลงทุน “ยิ่งลักษณ์” ชมเปาะกระบวนการสร้างความปรองดองของบาห์เรนดำเนินการมาถูกทางแล้ว เห็นชอบขยายเวลาพำนักในประเทศไม่เกิน 30 วันโดยไม่ต้องตรวจลงตรา

วันนี้ (14 พ.ค.) เวลา 08.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ โรงแรม Ritz Carlton น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รับประทานอาหารเช้ากับคณะนักธุรกิจไทย (working breakfast) เพื่อรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอของภาคเอกชนไทยในด้านการลงทุนและประกอบธุรกิจกับบาห์เรน เพื่อเป็นข้อมูลก่อนที่จะมีการหารือกับนายกรัฐมนตรีบาห์เรน

ต่อมาเวลา 11.00 น. นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ โดยกองดุริยางค์ทหารเกียรติยศบรรเลงเพลงชาติไทยและบาห์เรนตามลำดับ จากนั้น นายกรัฐมนตรีบาห์เรนนำนายกรัฐมนตรีเดินตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ หลังจากการตรวจแถวกองทหารเกียรติยศเสร็จสิ้น มีการแนะนำบุคคลสำคัญของทั้งสองฝ่าย ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะลงนามในสมุดเยี่ยม และนำคณะทางการและคณะนักธุรกิจไทยเข้าเฝ้านายกรัฐมนตรีบาห์เรน ณ ห้องYellow Majlis จากนั้นนายกรัฐมนตรีหารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรีบาห์เรน ณ ห้องทำงานนายกรัฐมนตรีบาห์เรน พระราชวัง Al Gudaibiya ต่อด้วยการหารือเต็มคณะระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีบาห์เรน ณ ห้อง Blue Majlis พระราชวัง Al Gudaibiya ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือถึงประเด็นด้านความสัมพันธ์และความร่วมมือต่างๆ ดังนี้

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเปิดการหารือ โดยได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ไทย-บาห์เรนที่มีมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ในปี 1977 จวบจนถึงวันนนี้ที่ไทยและบาห์เรนเป็นมิตรที่ใกล้ชิดกันมากที่สุดในภูมิภาคอาหรับ การเยือนครั้งนี้ช่วยตอกย้ำความเชื่อมั่นถึงความมั่นคงและเจริญรุ่งเรืองของราชอาณาจักรบาห์เรน รวมทั้งการนำนักธุรกิจชั้นนำมาเยือนยิ่งทำให้เชื่อว่าบาห์เรนยังคงเป็นประเทศที่เหมาะแก่การดำเนินธุรกิจ ไทยและบาห์เรนต่างยกย่องต่อความเป็นสายกลางและความอดกลั้น ชาวไทยมุสลิมนับล้านคนอาศัยอยู่ในไทยอย่างมีความสุขโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และเป็นเหมือนสะพานที่เชื่อมไทยและโลกมุสลิมไว้ด้วยกัน ดังนั้น ไทยจึงซาบซึ้งบาห์เรนต่อการสนับสนุนและเข้าใจในสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ทั้งนี้ ไทยและบาห์เรนสามารถร่วมมือกันในสาขาที่สำคัญ คือ ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักธุรกิจไทยและบาห์เรน เพื่อขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

นอกจากนี้ ไทยยังเป็นผู้ผลิตอาหารรายสำคัญ และเป็นที่รู้จักว่าเป็นครัวโลก ดังนั้น ไทยและบาห์เรนสามารถร่วมกันพัฒนาการจัดหาอาหารและสินค้าเกษตร เพื่อความมั่นคงทางอาหารของบาห์เรนและภูมิภาคอาหรับ รวมทั้งการพัฒนาอาหารฮาลาลอีกด้วย

ความร่วมมือทวิภาคีไทยและบาห์เรน โดยเฉพาะด้านการเมืองมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในบาห์เรน โดยนายกรัฐมนตรีได้ยืนยันการสนับ และการเยือนบาห์เรนครั้งนี้ตอกยึดความเชื่อมั่นของไทยต่อบาห์เรน และในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้แสดงความขอบคุณบาห์เรนในฐานะสมาชิก OIC ที่ให้การสนับสนุนการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ของไทย

ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ได้มีการหารือถึงสาขาความร่วมมือต่างๆ ที่ไทยและบาห์เรนเห็นพ้องที่จะให้การสนับสนุนซึ่งกันและกัน คือ ด้านการก่อสร้าง ภาคเอกชนไทยมีความสนใจเข้าร่วมโครงการก่อสร้างและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในบาห์เรน โดยเฉพาะโครงการบ้านเอื้ออาทร และโครงการขยายสนามบินนานาชาติบาห์เรน ซึ่งบาห์เรนยินดีจะพิจารณาสนับสนุนภาคเอกชนไทยในโครงการดังกล่าว ทั้งนี้จะได้ตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆเกี่ยวกับการดำเนินงานของภาคเอกชนในการเข้าร่วมโครงการก่อสร้างของบาห์เรน

ด้านความมั่นคงทางอาหาร สองฝ่ายจะร่วมมือกันเพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ โดยจะเร่งสรุปเกี่ยวกับความตกลงด้านความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารระหว่างไทยและบาห์เรน ซึ่งจะเป็นกรอบการดำเนินการด้านความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน การวิจัย และเทคโนโลยีเกี่ยวกับผลิตผลด้านเกษตรกรรม รวมทั้งอาหารฮาลาล ซึ่งจะได้มีการสำรวจความต้องการของผลิตภัณฑ์อาหารของบาห์เรน เพื่อจะได้จัดหาและผลักดันศูนย์กระจายสินค้าที่ยังค้างอยู่ให้ดำเนินการต่อไปได้

ความร่วมมือด้านเกษตรกรรม ไทยได้เสนอความร่วมมือในการให้การสนับสนุนด้านเทคนิคเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และจะขยายไปด้านอื่นๆ ที่บาห์เรนสนใจ

การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งไทยและบาห์เรนต่างประสงค์ที่จะร่วมมือกันให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งคณะรัฐมนตรีไทยได้เห็นชอบในหลักการให้ขยายเวลาพำนักในประเทศไม่เกิน 30 วันโดยไม่ต้องตรวจลงตรา สำหรับกลุ่ม GCC ที่ประสงค์มารับการรักษาในไทย และโรงพยาบาลเอกชนไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านโรงพยาบาลและสุขภาพ มีความสนใจแสวงหาอากาสทางธุรกิจในบาห์เรน

การศึกษา นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณรัฐบาลบาห์เรนสำหรับทุนการศึกษาที่มอบให้กับนักศึกษาไทยจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และได้แจ้งว่าเงินบริจาคจากนายกรัฐมนตรีบาห์เรนจำนวน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่มอบแก่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้นำไปเป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยฯ กับสถาบันของบาห์เรน โดยใช้เป็นเงินทุนวิจัยที่เกี่ยวข้องกับบาห์เรนและช่วยเหลือนักศึกษาที่ขาดแคลน

ความร่วมมือด้านการลงทุนในตลาดทุนไทย โดยการส่งเสริมกองทุนของบาห์เรนเข้าไปลงทุนในตลาดทุนของไทย เนื่องด้วยไทยมีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นที่น่าพอใจ (emerging market)

นอกจากนี้ ในประเด็นภูมิภาค ได้มีการหารือถึงการขยายความร่วมมือในกรอบ ASEAN - GCC ซึ่งทั้ง ASEAN และ GCC ต่างเป็นองค์กรระดับภูมิภาคที่สำคัญ ที่สร้างประโยชน์ต่อความร่วมมือด้านการลงทุน การพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษา ข้อมูล การเชื่อมโยง และการหารือที่เกี่ยวข้องกับประเด็นภูมิภาค ซึ่งไทยและบาห์เรนจะเร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ 2 ปี ASEAN-GCC สำหรับความร่วมือในกรอบ ACD ( Asia Cooperation Dialogue ) ที่ไทยริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2002 จะเป็นกลไกสำคัญขณะที่เอเชียกำลังก้าวไปมีอิทธิพลสำคัญ ดังนั้น ไทยและบาห์เรนจะทำงานรวมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคระหว่างประเทศสมาชิกACD ให้แข็งแกร่ง โดยจะเน้นการเชื่อมโยง ซึ่งจะช่วยเรื่องของการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน

ในโอกาสนี้ บาห์เรนได้เสนอเพิ่มเติมเกี่ยวกับความร่วมมือไทยและบาห์เรน คือ เรื่องความร่วมมือด้านข่าวกรองเพื่อความมั่นคง ความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่ง และการสื่อสาร ซึ่งไทยและบาห์เรนจะได้หารือในรายละเอียดต่อไป

ภายหลังการหารือ นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีบาห์เรนร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลราชอาณาจักรบาห์เรน 3 ฉบับ ได้แก่ ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม และความร่วมมือด้านความมั่นคงด้านอาหาร การค้าและการลงทุนในผลิตผลและสินค้าทางการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารฮาลาล จากนั้นนายกรัฐมนตรีบาห์เรนพระราชทานเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่าเวลา 16.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ โรงแรม Intercontinental Regency กรุงนามานา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมคณะนักธุรกิจไทย-บาห์เรน เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างภาคเอกชนทั้งสอง โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวสุนทรพจน์ สรุปดังนี้

นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งในโอกาสเยือนบาห์เรน ซึ่งเป็นประเทศแรกของการเยือนภูมิภาคตะวันออกลาง ด้วยความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและบาห์เรนนับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตมาเป็นเวลา 35 ปี ทั้งสองประเทศมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าเป็นสำคัญ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลบาห์เรนที่เคยให้ความช่วยเหลือประเทศไทยเมื่อครั้งที่ประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา ในนามของประเทศไทยรู้สึกซาบซึ้งในมิตรไมตรีจากรัฐบาลและประชาชนชาวบาห์เรนเป็นอย่างมาก และในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงแนวนโยบายและแผนการป้องกันอุทกภัยทั้งในระยะสั้น-ระยะยาวภายใต้งบประมาณ 11.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเตรียมการรับมือกับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการสนับสนุนและพร้อมให้ความช่วยเหลือบาห์เรนในฐานะมิตรแท้หากต้องประสบกับปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองในประเทศแบบสันติวิธี โดยต่อต้านการใช้ความรุนแรงทางการเมือง รวมทั้งการก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรงด้วย

สำหรับความร่วมมือทางการค้า บาห์เรนถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพดึงดูดนักธุรกิจไทยในการขยายการลงทุนนอกประเทศ และในขณะเดียวกันประเทศไทยยินดีต้อนรับนักลงทุนบาห์เรนเข้ามาลงทุนทั้งในไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนด้วย ซึ่งการเยือนบาห์เรนครั้งนี้หวังเป็นอย่างว่าจะมีการแลกเปลี่ยนและขยายลู่ทางการลงทุนระหว่างกันต่อไป

นายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสนี้ชี้แจงศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่ประกอบด้วย พื้นฐานโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ความได้เปรียบทางการแข่งขัน และนโยบายที่เอื้อต่อการเติบโตและเป็นมิตรทางธุรกิจ ดังนี้

1. โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ แม้ว่าไทยต้องประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 แต่ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศยังคงสูงถึง 180,000 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกและการท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และคาดการณ์ว่า GDP ของประเทศในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.5-6.5

2. ความได้เปรียบในการลงทุน เนื่องจากประเทศไทยมีแรงงานคุณภาพสูง และผู้ประกอบการท้องถิ่นที่พร้อมจะฝ่ายสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ โดยไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ศูนย์กลางอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อีกทั้งการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนจะก่อให้เกิดตลาดขนาดใหญ่กว่า 600 ล้านคน โดยไทยใช้งบประมาณ 74 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในห้าปีข้างหน้า อาเซียนเองก็เสริมสร้างการเชื่อมโยงโดยการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจผ่านประเทศไทย อีกทั้งไทยร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อพัฒนาศักยภาพร่วมกัน เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายในเมียนมาร์ เพื่อเชื่อมกับกรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบังสู่ตลาดภูมิภาค

3. นโยบายที่เอื้อต่อการลงทุนของรัฐบาล เป็นแนวทางส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายลดภาษีรายได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 20 ในปี 2556 เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศลดช่องว่างของรายได้ประชากร และการผลักดันให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอีกทางหนึ่ง

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้ให้ความเชื่อมั่นแก่ภาคเอกชนทั้งสองประเทศ ถึงโอกาสในการทำธุรกิจระหว่างไทยและบาห์เรน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทั้งในระดับรัฐบาลและประชาชน โดยเฉพาะธุรกิจดังต่อไปนี้ อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล อุตสาหกรรมการเกษตร และความมั่นคงทางอาหารร่วมกัน และหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะได้ร่วมสร้างความร่วมมือและธุรกิจในสาขานี้ และยินดีที่มีการลงนามบันทึกความเข้าใจด้านความมั่นคงทางอาหาร การค้า สินค้าเกษตร เกษตรกรรม และอาหารฮาลาล และการลงทุน ในระหว่างไทยและบาห์เรน พร้อมทั้งหวังว่าบาห์เรนจะต้อนรับผลิตภัณฑ์อาหารไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของอาหารไทยและอุตสาหกรรมอาหารที่จะเป็นครัวของโลก

โครงการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่เสริมสร้างการเชื่อมโยง นับตั้งแต่การก่อสร้าง จนถึง เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยไทยยินดีเข้าร่วมโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ตั้งแต่การพัฒนาสนามบิน โทรศัพท์เคลื่อนที่ และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ยินดีต้อนรับการลงทุนจากบาห์เรนในไทยเช่นกัน

นอกจากที่กล่าวมาแล้วยังมีอีกหลายสาขาที่จะพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันได้ เช่น พลังงาน การออกแบบผลิตภัณฑ์ และการลงทุนทางการเงินต่างๆ ซึ่งความสัมพันธ์ที่แนบแน่น และเพื่อประโยชน์ร่วมกัน จึงมั่นใจได้ว่าความเป็นหุ้นส่วนธุรกิจไทย-บาห์เรนจะเติบโตและพัฒนายิ่งขึ้นต่อไป

ภายหลังเสร็จสิ้นงานเลี้ยงอาหารกลางวัน ที่นายกรัฐมนตรีบาห์เรนพระราชทานเลี้ยงเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเยี่ยมชมมัสยิดกลาง Alfateh Grand Mosque ณ กรุงนามานา บาห์เรน โดยเมื่อเดินทางถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและกิจการศาสนา พร้อมด้วยอิหม่ามของ Alfateh Grand Mosque ให้การต้อนรับ และเชิญนายกรัฐมนตรีเข้าชมภายในตัวอาคารของ Alfateh Grand Mosque ซึ่งมีการบรรยายประวัติความเป็นมารวมทั้งคำสอนของศาสนาอิสลาม

มัสยิด เอล เฟท (Al Fateh) ตั้งอยู่ที่เมือง Juffair ในกรุงมานามา เมืองหลวงของประเทศบาห์เรน โดยมัสยิด Al Fateh เป็นหนึ่งในมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศบาห์เรนและในโลก สามารถจุคนที่จะมาแสวงบุญได้ถึง 7,000 คนต่อวัน อีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีสถาปัตยกรรมที่งดงามแบบบาห์เรน ภายในมัสยิดมีพื้นหินอ่อนนำเข้าจากประเทศอิตาลี พรมนำเข้าจากสกอตแลนด์ และมีโคมไฟที่เป็นจุดเด่นของมัสยิดแห่งนี้ นำเข้ามาจากออสเตรีย มีการสร้างโดมขนาดใหญ่บนตัวมัสยิด Al-Fatih ซึ่งทำจากไฟเบอร์กลาสที่หนักกว่า 60 ตัน ซึ่งในปัจจับันถือว่าเป็นโดมที่ทำจากไฟเบอร์กลาสที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ตัวมัสยิดมีตัวอักษรประดิษฐ์เก่าแก่ที่เรียกว่า Kufic เขียนอยู่ นอกจากนี้ ในมัสยิดยังมีห้องสมุดแห่งชาติใหม่ ที่เปิดให้ประชาชนสามารถเข้ามาใช้ได้เมื่อปี ค.ศ. 2006 โดยมัสยิดถูกสร้างขึ้นโดย Sheikh Isa ibn Salman Al Khalifa ในปี ค.ศ. 1987 โดยตั้งชื่อตาม Ahmed Al Fateh ซึ่งเป็นผู้พิชิตประเทศบาห์เรน

ภายหลังการเยี่ยมชมมัสยิดกลาง นายกรัฐมนตรีได้หารือกับผู้นำศาสนาโดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึง ชุมชนชาวไทยมุสลิมที่มีประมาณ 7-8 ล้านคนและชาวไทยมุสลิมทุกคนมีความเสมอภาคทางกฎหมายและสิทธิเสรีภาพทางการเมือง เช่นเดียวกับชาวไทยอื่นๆ ทั้งนี้ ชาวไทยมุสลิมเหล่านี้มีบทบาทสำคัญใน การพัฒนาสังคมไทย และรัฐบาลยังสนับสนุนให้เยาวชนมุสลิมมีความรู้ที่ก้าวไกล ไม่เฉพาะด้านศาสนา แต่ยังรวมถึงวิชาสามัญต่างๆ มีนักเรียน ไทยมุสลิมนับพันคนได้รับทุนการศึกษา เพื่อไปศึกษาต่อในประเทศมุสลิม รวมทั้งบาห์เรน สำหรับปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีพร้อมกับใช้แนวทางการพัฒนา และไทยขอขอบคุณ OIC ที่มีความเข้าใจในปัญหาว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมิได้เป็นความขัดแย้งทางศาสนา แต่เกิดจากความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ และความยากจน
กำลังโหลดความคิดเห็น