xs
xsm
sm
md
lg

ครม.อนุมัติกรอบ 203 โปรเจกต์วงเงิน 3 หมื่นล้านรอรับ “ท่าเรือทวาย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด
ครม.โปรยงบฯ ภาคกลางตอนล่าง 60 โครงการงบฯ พันล้าน พร้อมอนุมัติกรอบอีก 203 โปรเจกต์วงเงิน 3 หมื่นกว่าล้านรอรับ “ท่าเรือทวาย” แบ่งงาน 3 เฟส เชื่อมเพื่อนบ้านทั้งระบบ เชื่อดันจีดีพีไทยโตร้อยละ 1.9 ชวน ปชช.แต่งชุดขาวสัปดาห์ส่งเสริมพุทธศาสนา 29
พ.ค.-4 มิ.ย.นี้.สั่งศึกษาเพิ่มก่อนย้าย สคพ.เข้าสังกัด ก.พาณิชย์ พร้อมค้านยุบ “อพท.” ตามข้อเสนอ ก.พ.ร.


วันนี้ (20 พ.ค.) นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงการอนุมัติเห็นชอบข้อเสนอกรอบแผนงานของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 และ 2 รวม 8 จังหวัดว่า ที่ประชุมได้อนุมัติในกรอบแผนงานจำนวน 203 โครงการ วงเงินงบประมาณ 33,111.49 ล้านบาท ซึ่งโครงการเหล่านี้เป็นเพียงการเห็นชอบกรอบแผนงาน ยังไม่ได้อนุมัติการดำเนินงานและงบประมาณแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม
มีโครงการที่มีความพร้อมและสามารถดำเนินการได้ทันทีจำนวน 60 โครงการ เงินงบประมาณ 1,041.43 ล้านบาท ในส่วนนี้สามารถเบิกจากงบกลางได้ทันที เมื่อคำนวณแล้วจะพบว่าทั้ง 8 จังหวัดจะได้งบประมาณจังหวัดละราว 100 ล้านบาท ซึ่งใน 60 โครงการข้างต้นที่สามารถดำเนินการได้ทันที อาทิ โครงการเส้นทางเชื่อมโยงเมืองธาราวดี โครงการซ่อมสร้างทางลาดยางเอซี โครงการฝายทดน้ำห้วยยาง ต.เขาขลุง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี และโครงการจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพ จ.สุพรรณบุรี เป็นต้น

นายอนุสรณ์กล่าวถึงข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจเชื่อมโยงฝั่งตะวันตกกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ หรือโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายว่า
ประชุมเห็นชอบตามที่ สศช.นำเสนอในการสนับสนุนการเตรียมความพร้อมของประเทศพม่า และมอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาระบบขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ที่มี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน รับไปพิจารณาดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 53

นายอนุสรณ์กล่าวต่อว่า สาระสำคัญที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในการสนับสนุนโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ประเทศพม่า คือการแบ่งระยะเวลาก่อสร้างออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ระหว่าง ปี 2554-2558 จะครอบคลุมท่าเรือด้านใต้ การสร้างระบบคมนาคมเชื่อมโยงทวายและชายแดนไทย-พม่า 4 ช่องจราจร การเปิดด่านพรมแดน โครงการถนนเชื่อมโยงสนามบินทวาย อ่างเก็บน้ำขนาด 93 ล้านลูกบาศก์เมตร โรงไฟฟ้าถ่านหิน ถนนในเขตนิคมอุตสาหกรรม ระบบระบายน้ำ-ประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย ที่พักอาศัย และพื้นที่ส่วนราชการแบบเบ็ดเสร็จ

นายอนุสรณ์กล่าวอีกว่า ระยะที่ 2 ระหว่างปี 2556-2561 จะครอบคลุมการพัฒนาระบบระบายน้ำเพิ่มเติม การขยายถนนเชื่อมโยงทวายเป็น 8 ช่องจราจร ศูนย์การค้า และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ จากนั้นเป็นระยะที่ 3 ระหว่างปี 2559-2563 จะครอบคลุมท่าเรือด้านเหนือ ถนนในเขตอุตสาหกรรมและระบบระบายน้ำเพิ่มเติม รวมไปถึงรถไฟ สายส่งไฟฟ้า ท่อก๊าซ-น้ำมันที่เชื่อมโยงจากประเทศไทย

“สศช.ได้เสนอว่าการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายจะเป็นเครื่องมือในการ
ขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากมีศักยภาพในการเป็นประตูการค้าฝั่งตะวันตกของภูมิภาค และเป็นสะพานเชื่อมโยงทางการค้าระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับประเทศในภูมิภาค อีกทั้งยังจะเพิ่มจีดีพีของไทยอีกร้อยละ 1.9” นายอนุสรณ์ระบุ

นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นชอบในการเชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนทั้งภาครัฐ-เอกชนร่วมแต่งกายด้วยชุดสีขาวในช่วงสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา ระหว่างวันที่ 29 พ.ค.-มิ.ย. 55 เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา และการฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและน้อมรำลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนร่วมแต่งกายด้วยชุดขาว โดยไม่ได้เป็นการบังคับ

ที่ประชุมยังได้พิจารณาข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)
ที่ได้มีการประเมินบทบาทหน้าที่ขององค์การมหาชนที่จัดตั้งขึ้นจำนวน 7 แห่ง และเสนอ
ให้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการปฏิบัติงานในปัจจุบัน อาทิ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (สคพ.) ที่ ก.พ.ร.ได้เสนอให้ปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งและภารกิจของหน่วยงาน เพื่อให้ สคพ.เป็นหน่วยงานวิชาการด้านการค้าและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย โดยให้ปรับจากที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ไปสังกัดกระทรวงพาณิชย์ โดยมติคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไปศึกษาว่าจะปรับเปลี่ยนตามที่ ก.พ.ร.เสนอหรือไม่ โดยให้ระยะเวลาในการศึกษา 1 เดือนก่อนนำเสนอกลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง

นายอนุสรณ์กล่าวต่อถึงในส่วนขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ว่า ก.พ.ร.เสนอให้มีการยุบเลิกหน่วยงานนี้ และมอบภารกิจให้เป็นหน้าที่ของส่วนราชการในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้โอนย้าย อพท.ไปสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก่อน ส่วนจะปรับเปลี่ยนอย่างไรให้นำเสนอมาอีกครั้ง ขณะที่อีก 5 แห่งที่เหลือ ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ และศูนย์คุณธรรม ให้เป็นไปตาม ก.พ.ร.เสนอให้มีการปรับเปลี่ยน
กำลังโหลดความคิดเห็น