xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมกางแผนลงทุนโครงสร้าง 1.16 ล้านล้านบาท รับ AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“คมนาคม” ชูสุวรรณภูมิ-ทลฉ.ประตูหลัก AEC วางแผนลงทุน 75 โครงการ วงเงิน 1.16 ล้านล้านบาทเชื่อมโครงข่ายอาเซียนผ่าน 8 ด่านชายแดน เตรียมหารือสรุปกรอบลอจิสติกส์ลดต้นทุนขนส่งในประเทศอีก 55 โครงการเพื่อลดความซ้ำซ้อนการลงทุนระหว่างงบประมาณกับ พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท ตั้งเป้ายุติ ต.ค.นี้

วันนี้ (27 ส.ค.) นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เป็นประธานการประชุมเตรียมแผนรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งอาเซียนจะเป็นตลาดเดียวกันทั้งสินค้าและบริการ โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเตรียมแผนการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งของไทย (Thailand’s Connectivity) เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางและฐานการผลิตของอาเซียน

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า จะต้องมีการพัฒนาประตูเข้าออกประเทศให้มีความสะดวก เชื่อมโยงทั้งถนนและทางรถไฟ ซึ่งไทยจะใช้ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นประตูหลักในการเข้า-ออกเชื่อมกับประเทศในอาเซียน และใช้ 8 ด่านสำคัญเป็นประตูรอง คือ ด่านเชียงของ, ด้านเชียงแสน, ด่านแม่สอด, ด่านสะเดา, ด่านปาดังเบซาร์, ด่านหนองคาย, ด่านมุกดาหาร, ด่านคลองลึก ซึ่งรองรับการขนส่งสินค้าผ่านแดนและรถของประเทศใน AEC ผ่านไทยไปประเทศที่ 3 ได้

ทั้งนี้จะมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าการเกษตร, อุตสาหกรรม, ท่องเที่ยว เพื่อรวบรวมข้อมูลว่าสินค้าอะไรที่จะเป็นตัวนำในตลาด AEC และนำมาเป็นฐานในการวางโครงข่ายคมนาคมรองรับได้อย่างถูกต้อง คาดว่าแผนดังกล่าวจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน โดยโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเชื่อมโครงข่ายคมนาคมขนส่งมี 75 โครงการ วงเงินลงทุนประมาณ 1.16 ล้านล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการปี 56-63

นายจุฬากล่าวว่า นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเปิด AEC แล้ว กระทรวงคมนาคมมีแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดต้นทุนซึ่งเป็นการพัฒนาโครงข่ายลอจิสติกส์ภายในประเทศเป็นหลัก มี 55 โครงการ วงเงินลงทุนประมาณ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เงินลงทุนจาก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทเพราะเป็นโครงการที่ลงทุนเพื่อสร้างอนาคตประเทศ สามารถนำเงินในอนาคตมาลงทุนได้ ซึ่งมีโครงการประมาณครึ่งหนึ่งที่รองรับได้ทั้ง AEC และลดต้นทุนลอจิสติกส์ภายในประเทศ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งวางแผนใช้ พ.ร.บ.เงินกู้มาลงทุน หรือเป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน

“ในวันที่ 30 สิงหาคมนี้จะประชุมเพื่อสรุปกรอบการลงทุน โดยคาดว่าจะได้ข้อยุติโครงการเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านรองรับ AEC จะได้ข้อยุติในเดือนกันยายนนี้ และโครงการลอจิสติกส์เพื่อลดต้นทุนการขนส่งของประเทศจะได้ข้อยุติในเดือนตุลาคม ซึ่งจะทำให้แผนรวมของคมนาคมชัดเจนและไม่มีความซ้ำซ้อนในการลงทุนอีกด้วย” นายจุฬากล่าว

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการดำเนินโครงการส่วนใหญ่จะแล้วเสร็จทันเปิด AEC ในปี 2558 เช่น รถไฟจากฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ-คลองลึก ขณะนี้ได้งบประมาณปี 2556 กว่า 300 ล้านบาทเพื่อศึกษาแล้ว ขณะที่ทางกัมพูชาได้ก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมคลองลึกแล้ว จะแล้วเสร็จในปี 2556 ทำให้เชื่อมกันได้สะดวกและเป็นประตูสำคัญของท่าเรือแหลมฉบัง
กำลังโหลดความคิดเห็น