xs
xsm
sm
md
lg

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายทำให้เงินบาทอ่อนค่าได้จริงหรือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชุติมณฑน์ เชาวรัตน์
chutimon@mfcfund.com
ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน
ฝ่ายตราสารหนี้ต่างประเทศ
บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)

เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นในทิศทางเดียวกับเงินสกุลเอเชียอื่นๆ ตามกระแสเงินทุนไหลจากสินทรัพย์ที่มีอัตราผลตอบแทนต่ำมาหาสินทรัพย์ที่ให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า ภายหลังการประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงปริมาณ (QE3) ของธนาคารกลางของสหรัฐฯ ในช่วงกลางเดือน ก.ย. 2555 เพื่อช่วยเหลือภาคแรงงานและตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังซบเซา

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกลายมาเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดของภูมิภาคเอเชีย และแข็งค่ามากที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 เป็นต้นมา (นับตั้งแต่ต้นปีจนถึง 18 เม.ย. 2556 ค่าเงินบาทได้ปรับตัวแข็งค่าร้อยละ 6 เทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งสวนทางกับค่าเงินเอเชียสกุลอื่นๆ เช่น เงินวอนของเกาหลีใต้ ไต้หวันดอลลาร์ สิงคโปร์ดอลลาร์ ที่กลายมาเป็นค่าเงินที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมล้วนแต่เป็นสกุลเงินที่เคยแข็งค่าเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสาเหตุมาจากการอ่อนค่าของเงินเยน เนื่องจากสกุลเงินต่าง ดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับค่าเงินเยนสูง ดังนั้นการอ่อนค่าของเงินเยนจึงทำให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นได้รับผลกระทบจากการเป็นคู่แข่งทางการค้ากับประเทศญี่ปุ่น ในขณะที่ประเทศไทยได้ประโยชน์จากการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศญี่ปุ่น ประกอบกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐบาล รวมทั้งการเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ทำให้มีเสียงเรียกร้องจากผู้ส่งออกและภาครัฐฯ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาดูแลเงินบาทให้เกิดเสถียรภาพ ไม่ปล่อยให้ผันผวนเกินไป และดูแลให้ใกล้เคียงกับสกุลเงินในภูมิภาค เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจส่งออก ซึ่งรายได้จากการส่งออกนับเป็นรายได้ส่วนที่สำคัญที่ผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ แต่ดูเหมือนว่าท่าทีของ ธปท.จะสงบนิ่งมากกว่าที่ตลาดคาดในภาวะที่เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว

ในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้ใช้มาตรการ Capital Flow Management ในการชะลอการไหลเข้าของเงินทุนมากกว่าที่จะใช้วิธีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ได้แก่ กระตุ้นให้ผู้ประกอบการนำเข้าสินค้าทุน อาทิ พวกเครื่องจักรจากต่างประเทศ ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการนำเข้าสินค้าได้ถูกลง รวมถึงผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากแรงกดดันที่ลดลงของภาวะราคาน้ำมันแพง กระตุ้นให้มีการนำเงินไปลงทุนต่างประเทศ และซื้อกิจการในต่างประเทศ แต่ฝ่ายที่มีความเห็นขัดแย้งเชื่อว่าการเลือกใช้มาตรการ Capital Flow Management ดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะต้านทานการแข็งค่าของเงินบาทในรอบนี้ได้ และกดดันให้ ธปท.ต้องเข้ามาแทรกแซงตลาด และหาทางสกัดเงินทุนไหลเข้าโดยใช้มาตรการที่แรงกว่าที่ใช้อยู่ในขณะนี้เพื่อควบคุมเงินทุนไหลเข้า ซึ่งหนทางหนึ่งคือการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยของไทยและอัตราดอกเบี้ยของประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ โดยหวังว่าหากลดส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยลง จะช่วยลดแรงจูงใจของนักลงทุนต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

ทั้งนี้ มีมุมมองที่เห็นต่างออกไปเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยของไทยและของประเทศพัฒนาแล้วต่อการเคลื่อนย้ายของเงินทุนว่า แม้ว่าส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยอาจมีส่วนทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะกลางและระยะสั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่สำคัญกว่า อันได้แก่ มุมมองต่อความเสี่ยงของนักลงทุน แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และแนวโน้มความผันผวนของค่าเงินบาท และอีกด้านหนึ่งดอกเบี้ยนโยบาย ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นการออม และควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางอย่างเช่น การก่อหนี้ หรือการขยายสินเชื่อโดยเฉพาะในภาคครัวเรือน ไม่ให้เติบโตอย่างร้อนแรงเกินไป การจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งที่ในสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปัจุบันมีแนวโน้มเติบโตอยู่ในเกณฑ์ดี จึงควรคิดพิจารณาถึงผลดีและผลเสียอย่างถี่ถ้วน

ดังนั้น ในความเห็นของผู้เขียน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงอย่างเดียว จึงไม่น่าจะใช่วิธีการที่จะรับประกันว่าจะช่วยชะลอการไหลเข้าของเงินทุนในระยะยาวได้ แต่ควรจะใช้มาตรการอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน และควรได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ได้แก่ การใช้มาตรการการแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราควบคู่กับมาตรการทางการคลัง เช่น การเร่งรัดการชำระหนี้ต่างประเทศ การกระตุ้นการลงทุนในต่างประเทศ การนำเข้าสินค้า และเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ รวมถึงการพิจารณาใช้มาตรการควบคุมเงินทุนบางประเภท โดยการเก็บค่าธรรมเนียมเงินทุนไหลเข้าออก เป็นต้น

ความคิดเห็นและข้อความต่างๆ ในบทความนี้เป็นทัศนะของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น