xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศึก “โต้ง-ประสาร” เดิมพันเก้าอี้ผู้ว่าฯ ธปท. กับปัญหาค่าเงินบาทแข็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-“คิดทุกวัน ที่จะไล่ผู้ว่าแบงก์ชาติออกจากตำแหน่ง”

เป็นวลีที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวในงานดีเบต 2 ขุนคลัง ระหว่างนายกิตติรัตน์ และนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สร้างความฮือฮาให้เกิดขึ้นในสังคมไทยเป็นอย่างมาก

สำหรับที่มาของแนวคิดดังกล่าวนั้นนายกิตติรัตน์ระบุว่าว่า ก่อนหน้านี้ได้ส่งสัญญาณให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ มานานหลายครั้งแล้ว และยังเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าต้องการให้ลดดอกเบี้ยลง ครั้งตั้งแต่ค่าเงินบาทยังอยู่ที่ระดับประมาณ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่มาจนถึงเวลานี้เห็นได้ชัดว่าค่าเงินบาทยิ่งแข็งค่ามากยิ่งขึ้น เพราะเงินทุนต่างประเทศที่ไหลออกจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่เกิดจากการผ่อนคลายนโยบายการเงิน เข้ามาหาส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยที่สูงกว่าตลาดโลกถึง 2-2.25%

แต่การปลดนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท.ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่ฝ่ายการเมืองต้องการ เพราะกฎหมายปัจจุบันของธปท.มีการรองรับเรื่องนี้อยู่แล้วในมาตรา 28 (4) ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีมติให้ผู้ว่าการออกจากตำแหน่งได้โดยคำแนะนำของรัฐมนตรี เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่ ขณะที่ มาตรา 28 (5) ระบุว่า ครม. มีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีหรือการเสนอของรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถโดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง

โดยล่าสุดที่ประชุม ครม.ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการหารือถึงมาตรการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าจนทำให้การส่งออกชะลอตัวลง แต่หลังการประชุมจบลงทางกระทรวงการคลังได้ขอประชุมลับต่อ โดยให้ข้าราชการออกจากห้องประชุมทั้งหมด

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สอบถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ ธปท. ลดดอกเบี้ย 0.25-0.5% ซึ่งได้รับคำตอบว่าคงเป็นไปไม่ได้ เพราะ ธปท.ไม่ยอมลดดอกเบี้ย และระบุว่าการเมืองไม่ควรแทรกแซงเรื่องนี้หากจะลดดอกเบี้ยเพื่อให้เงินร้อนหยุดไหลเข้าจะต้องลดอย่างน้อย 1%

"ที่ประชุมจึงถามว่า การให้ผู้ว่าการ ธปท.พ้นจากตำแหน่งจะต้องทำอย่างไร ได้รับการชี้แจงว่ามี 2 ทางคือ บอร์ด ธปท.ให้ออก และ ครม.ให้พ้นจากตำแหน่ง แต่เมื่อมีการถามว่า แล้วใครจะเสนอ ครม. ปรากฏว่าไม่มีคำตอบ" แหล่งข่าวจากที่ประชุมครม.ระบุ

มิใช่แต่เพียงนายกิตติรัตน์ เท่านั้นที่มีความคิดที่จะปลดผู้ว่าการธปท.ออกจากตำแหน่ง แม้แต่ นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องใดๆ เกี่ยวกับการบริหารราชการด้านเศรษฐกิจเป็นเพียงรองปลัดกระทรวงการคลังที่ทำหน้าที่แม่บ้านดูแลความเรียบร้อยในกระทรวงการคลังเท่านั้น ก็ออกมาผสมโรงให้ความเห็นปลดนายประสาร ออกจากตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.กับเขาด้วย

โดยนายพงษ์ภาณุ ระบุว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในขณะนี้ ได้สร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจเป็นอย่างมากในฐานะที่ตนเคยเป็นอธิบดีกรมบัญชีกลางและผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เห็นว่า กระทรวงการคลังมีอำนาจในการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างเต็มที่กับผู้ว่าการ ธปท.เพราะขณะนี้ ความเสียหายที่เกิดจากค่าเงินบาทมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกแล้ว และเริ่มเห็นผลอย่างชัดเจนในไตรมาสที่ 2 นี้ จนอาจทำให้การส่งออกของไทยในปีนี้ต่ำกว่าเป้าหมายได้

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ของ ธปท.ระบุว่า รมว.คลังสามารถปลดผู้ว่าการ ธปท.ได้ กรณีผู้ว่าการ ธปท.บกพร่องหรือได้สร้างความเสียหายให้แก่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุด งบดุลของ ธปท.ก็ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนไปแล้ว 500,000 ล้านบาทและจะเพิ่มเป็น 600,000 ล้านบาท ในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ มาตรการทางด้านการคลังที่อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาต้องหยุดชะงักเพราะนโยบายการเงินของ ธปท.อีกด้วย ซึ่งถือเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจที่รุนแรง เหมือนกับช่วงฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540

รวมไปถึงภาคเอกชนที่มี นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ก็ออกมาเรียกร้องให้ธปท.ลดดอกเบี้ยเช่นกัน มิเช่นนั้นก็จะกดดันให้ผู้ว่าการธปท.ออกจากตำแหน่งต่อไป โดยเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมาได้ยื่นข้อเสนอให้ธปท. ดำเนินการ 5 มาตรการ ประกอบด้วย 1.ให้บริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนแบบภาวะวิกฤติ 2.เปลี่ยนนโยบายการเงิน ที่ยึดอัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายมาเป็นนโยบายที่ยึดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเป้าหมาย 3.ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 1% ในทันที 4.ใช้นโยบายควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย และ 5.ปรับปรุงนโยบายการออกพันธบัตรของ ธปท.

แม้กระทั่งในส่วนของกระทรวงการคลังเองก็ได้รับผลกระทบจากค่าเงินเช่นกัน โดยกรมจัดเก็บภาษี ทั้งกรมสรรพากร กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิต ที่ทำให้การจัดเก็บรายได้ลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท โดยนางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมศุลกากร ชี้แจงว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็วและต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อจากการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากรที่ลดลงถึง 10% เพราะเมื่อผู้นำเข้าชำระเงินน้อยลง ทำให้ฐานที่คำนวณในการจ่ายภาษีศุลกากรปรับลดลงด้วย ขณะที่กรมสรรพากรนั้นค่าเงินบาทก็ทำให้รายได้ของผู้นำเข้า ส่งออกลดลงส่งผลต่อการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลเช่นเดียวกัน มีเพียงกรมสรรพสามิตเท่านั้นที่รายได้ยังสูงประมาณการ 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากภาษีรถยนต์จากโครงการรถยนต์คันแรก

ด้วยเหตุผลทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ที่นายกิตติรัตน์ถือเป็นเหตุผลในการ “คิดทุกวัน ที่จะไล่ผู้ว่าแบงก์ชาติออกจากตำแหน่ง”

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้จึงคลับคล้ายคลับคลากับเมื่อเดือนพฤษภาคม 2544 ที่รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี สมัยนั้นมีการปลด ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หรือ หม่อมเต่า ออกจากการเป็นผู้ว่าการธปท. โดยระบุเหตุผลว่า เป็นเพราะไม่สนองนโยบายที่รัฐบาลต้องการให้ธปท.สั่งการให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี แถมยังไปออกกฎเกณฑ์ที่ทำให้การปล่อยสินเชื่อต้องมีความระมัดระวังมากขึ้นด้วย

และในเดือนพฤษภาคม 2556 นี้ เหตุการณ์จะซ้ำรอยกับเมื่อเดือนพฤษภาคม 2544 หรือไม่ ที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง จะปลดนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท.คนปัจจุบัน โดยอ้างเหตุผลเรื่องค่าเงินบาท ... ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด....


กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
กำลังโหลดความคิดเห็น