xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.แย้มปี56ดอกเบี้ยต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ผู้ว่าแบงก์ชาติส่งสัญญาณปี 56 นโยบายการเงินการเงินผ่อนคลายต่อเนื่อง หวังรักษาการเติบโตเศรษฐกิจไทย หลังพบความเสี่ยงการเติบโตสูงกว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ย้ำต้องเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศจากปัญหาเงินเฟ้อทั้งการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศและความร้อนแรงของแนวโน้มอุปโภคบริโภค พร้อมปรับแผนออกบอนด์อายุสั้นมากขึ้น

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปี 56 เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังอยู่ โดยปัจจัยในประเทศเรื่องเงินเฟ้อเป็นสำคัญจากการปรับขึ้นค่าค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งเริ่มใช้ทั่วประเทศในปีหน้า จึงไม่แน่ใจว่าธุรกิจจะสามารถปรับตัวได้เท่ากับปีนี้หรือไม่ ซึ่งภาคธุรกิจบางส่วนใช้วิธีลดกำไร จึงยอมไม่ได้ปรับขึ้นราคาสินค้า แต่หากปีหน้าต้นทุนเพิ่มขึ้นแล้วจะลดกำไรอีกคงไม่ได้ จึงต้องติดตามผลดังกล่าว อีกทั้งติดตามแนวโน้มอุปโภคบริโภคร้อนแรงเช่นกัน ส่วนราคาพลังงานในต่างประเทศเพิ่มไม่มากจากเศรษฐกิจซบเซาส่งผลให้แรงกดดันด้านดีมาสน์และซัพพลายไม่มาก
“เท่าที่ประเมินโดยรวมแล้วในปี 56 ปัญหาอัตราเงินเฟ้อไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ แต่ความเสี่ยงค่อนไปด้านการเติบโตเศรษฐกิจมากกว่า ทำให้ทิศทางนโยบายการเงินโดยรวมยังคงผ่อนคลายต่อเนื่อง เพื่อรักษาการเติบโตเศรษฐกิจต่อไป” ผู้ว่าการธปท.กล่าว
ต่อข้อซักถามที่ว่าหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและคงดอกเบี้ยในครั้งที่ผ่านมา ธปท.พอใจกับผลการดำเนินนโยบายการเงินหรือไม่ ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า การติดตามผลต้องใช้เวลา โดย ธปท.พยายามดำเนินนโยบายการเงินลักษณะสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจจริง ซึ่งตลาดการเงินจะดูความน่าเชื่อถือเหล่านี้ด้วย
ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาสที่ร้อยละ 0.5-3.0 ต่อปี เป็นเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2556 ต่อเนื่องจากปี 2555 ไม่ได้ส่งผลกระทบการดำเนินนโยบายการเงินของกนง. แม้ธปท.ได้เสนอใช้เงินเฟ้อทั่วไป ซึ่งสะท้อนชีวิตประจำวันประชาชนได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม ธปท.คาดว่าเงินเฟ้อพื้นฐานต่ำกว่า 2% ในปีหน้า ซึ่งยังอยู่ในเป้าหมายกรอบนโยบายการเงินอยู่

**ปรับแผนออกบอนด์อายุสั้นมากขึ้น**
รายงานข่าวจาก ธปท.แจ้งว่า ธปท.ได้ปรับแผนการออกพันธบัตรประจำปี 56 เพื่อดูแลสภาพคล่องในตลาดการเงินให้เหมาะสม โดยจะยกเลิกการออกพันธบัตรประเภทอัตราดอกเบี้ยคงที่ อายุ 4 ปี ถือเป็นพันธบัตรระยะยาว สอดคล้องกับแนวโน้มอุปทานของพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวที่จะเพิ่มขึ้นจากความต้องการระดมทุนจำนวนมากของรัฐบาลในปีหน้า อีกทั้งเห็นว่าแนวโน้มสภาพคล่องส่วนเกินสุทธิในระบบคาดว่าจะเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ทำให้ความจำเป็นในการออกพันธบัตรระยะยาวขึ้น เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับสภาพคล่องส่วนเกินลดลง
นอกจากนี้ ธปท.มีแผนที่จะช่วยสร้างสภาพคล่องให้กับพันธบัตรประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (FRB) จึงวางแผนออก FRB เพียงรุ่นเดียว คือ รุ่นอายุ 3 ปี อิงกับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นตลาดกรุงเทพ (BIBOR) ระยะ 3 เดือน โดยจะยกเลิกการออก FRB ทั้ง 2 รุ่นที่ออกในปี 55 อายุ 2 ปีและ 3 ปี ที่อิงกับดอกเบี้ย BIBOR ระยะ 3 เดือนและ 6 เดือน ตามลำดับ เพื่อให้วงเงินรวมต่อรุ่นสูงขึ้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น