xs
xsm
sm
md
lg

ข้องใจGDPสภาพัฒน์"ธปท"สั่งเช็กไส้ใน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - แบงก์ชาติข้องใจตัวเลขเศรษฐกิจสภาพัฒน์ "ประสาร" ชี้จีดีพีไตรมาส 1 ที่ 5.3% ต่ำเกิน สั่งหาข้อเท็จจริงไส้ใน โดยเฉพาะด้านอุปโภคบริโภคชะลอตัวสวนทางกับอัตราการว่างงาน ยันส่งออกนำเข้าไม่ใช่ประเด็นหลัก ขณะที่ "ปู" ปฏิเสธ สั่งสภาพัฒน์ปั้นตัวเลขต่ำ กดดันแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย

นายประสาร ไตรรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาสแรก ว่า สภาพัฒน์ประกาศตัวเศรษฐกิจไทยขยายตัว 5.3% ถือว่าต่ำกว่าที่ธปท.ประเมินไว้ที่ระดับ 7.1% โดยเบื้องต้น ตัวเลขส่งออกและนำเข้าของไทยใกล้เคียงกับตัวเลขของ ธปท.แต่ที่แตกต่างกันในส่วนของอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งตัวเลขของสภาพัฒน์ต่ำกว่าของ ธปท.โดยเฉพาะตัวเลขต่ำเป็นพิเศษ คือ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน

“การชะลอตัวเศรษฐกิจไม่ได้เกินความคาดหมายของธปท. ซึ่งเราคาดว่าช่วงปีนี้ การเติบโตเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ โน้มเข้าหาแนวโน้มสู่ภาวะปกติ แต่ที่น่าสังเกตเป็นพิเศษ คือ อุปโภคบริโภคในประเทศที่ค่อนข้างต่ำและตัวเลขเศรษฐกิจไทยขยายตัว 5.3% ตกลงไปหน่อยกว่าศักยภาพเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งปีก่อนฐานไม่สูงนัก ดังนั้น ความจริงถ้าต้องการให้ทั้งปีเศรษฐกิจโต 5% ในช่วงไตรมาสแรกต้องโตกว่า 5.3%”

ดังนั้น งานของ ธปท.ต้องประเมินภาวะแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งปกติการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นกระบวนการโตแบบต่อเนื่อง แต่ข้อมูลสถิติเป็นจังหวะเวลา ซึ่งตอนนี้ ธปท.ได้ให้ทีมงานกำลังหาว่าเกิดจากสาเหตุอะไรและศึกษารายละเอียดต่างๆ ก่อน โดยคาดว่าปลายสัปดาห์นี้จะส่งข้อมูลให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ก่อนการประชุมวันที่ 29 พ.ค.นี้

“การพิจารณาอัตราดอกเบี้ย ถ้าเศรษฐกิจผ่อน แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจน้อยก็สามารถผ่อนคลายอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ต่ำเป็นไปตามศักยภาพเศรษฐกิจ ซึ่งนโยบายการเงินสามารถประคองเศรษฐกิจได้ แต่ต้องดูให้รอบด้านและให้ตัวเลขสอดคล้องกับความเป็นจริงของเศรษฐกิจ”

ในปัจจุบันตัวแปรสนับสนุนการอุปโภคบริโภคมีหลายตัว อาทิ การจ้างงานค่อนข้างสูง รายได้ประชาชนที่มีการปรับขึ้นตามค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงเพิ่มอยู่หลายเดือนที่ผ่านมา ส่วนสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวค่อนข้างสูง 13% แม้ไม่พุ่งจากเดิมในช่วงที่ผ่านมา แต่สะท้อนให้เห็นว่าคนยังมีการใช้จ่ายอยู่ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่บอร์ด กนง.กำลังติดตามปัจจัยอุปปาน ซึ่งมีข้อจำกัดสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการขาดแคลนแรงงานของภาคธุรกิจ

นอกจากนี้ หากประชาชนก่อหนี้เพิ่มขึ้นก็จะช่วยสนับสนุนการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งในส่วนนี้ พบว่ากลุ่มที่มีรายได้สูงยังอยู่วิศัยที่ชำระหนี้ได้ ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้น้อย ความสามารถในการชำระหนี้ยังไม่กระทบเศรษฐกิจมหภาค แต่อาจกระทบสังคมบ้าง จึงต้องวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นรอบด้านด้วย

ทั้งนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาสแรก ธปท.ประเมินว่าอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 5.8% ขณะที่สศช.ประกาศตัวเลขออกมา 4.2% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนธปท.ประเมินไว้ 7.3% ส่วนสศช.ประกาศออกมา 3.1% ซึ่งส่วนนี้พอเข้าใจได้ว่าอาจจะเกิดจากภาคธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออกอาจชะลอการลงทุนไปบ้าง ทำให้ตัวเลขอุปสงค์ภายในประเทศโดยรวมขยายตัว 6.1% ในส่วนของธปท. แต่ของสศช.ประกาศออกมาแค่ 3.9%

"กำลังให้ทีมงานวิเคราะห์ว่าไส้ในต่ำมาจากอะไร เป็นที่น่าสังเกตเรื่องเชื้อเพลิงที่รัฐบาลมีนโยบายยกเลิกการใช้เบนซิน 91 ตั้งแต่ต้นปี อาจไม่ได้นำมาคำนวณเพราะไม่ได้ขายในท้องตลาด เพื่อรณรงค์ให้คนไปใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นแทน"นายประสารกล่าวและว่า การแข็งค่าของเงินบาทยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยมาก สะท้อนจากตัวเลขมูลค่าการส่งออกขยายตัว 8.4% ซึ่งทั้ง ธปท.และสภาพัฒน์ตัวเลขใกล้เคียงกัน ส่วนมูลค่าการนำเข้า ธปท.ประเมินไว้ 7.8% ส่วนสภาพัฒน์ประกาศตัวเลขออกมา 8.2%

นายกฯ ปัดจับมือสภาพัฒน์บีบ ธปท.

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้มีการติดตาม ซึ่งได้ย้ำกับทุกกระทรวงในเรื่องของการดำเนินการด้านนโยบายในการแก้ไขของทุกกระทรวง โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงการคลัง และขณะนี้ได้ให้ทุกกระทรวงรวบรวมนโยบายที่ได้มีการแก้ไขไปแล้ว และให้สภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมรวบทั้งหมดเพื่อที่จะดูว่ามีประเด็นมาตรการอะไรเพิ่มเติมที่เราจะต้องทำขึ้นอีกและจะได้รายงานคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการวิจารณ์กันว่า สภาพัฒน์และรัฐบาล จับมือกันเพื่อกดดันธปท.เพื่อให้ลดดอกเบี้ย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า อย่ามองอย่างนั้น เพราะสภาพัฒน์ก็มีหน้าที่ในการชี้แจงข้อเท็จจริง เราเองก็ถือว่าทุกส่วนต้องช่วยกันชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบ การตัดสินใจอย่างไรนั้น กนง.ก็จะเป็นผู้ที่พิจารณาตัดสินใจ แต่ข้อมูลจะต้องเป็นข้อมูลที่ได้รับฟังอย่างครบถ้วน อย่างไรเราก็อยากเห็นความร่วมมือที่จะทำงานไปด้วยกัน เพราะสุดท้ายเราก็ไม่อยากเห็นประเทศของเราที่มีแนวโน้มในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีหยุดชะงัก เพราะเราเองก็สูญเสียโอกาสไปมากแล้วในช่วงอุทกภัย ในขณะที่ประเทศอื่นเริ่มที่จะปรับตัวแล้ว

ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แจ้งต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่าจะนำรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/56 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ที่ได้มีการปรับลดคาดการณ์จีดีพีลงเหลือ 4.2-5.2% จากเดิม 4.5-5.5% ส่งให้ ธปท.เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการรวบรวมผลกระทบทางเศรษฐกิจในแง่มุมต่างๆ พร้อมกันนี้กระทรวงการคลังจะทำหนังสือถามไปยัง ธปท.ด้วยว่าที่ผ่านมาได้ใช้มาตรการใดบ้างในการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาท.
กำลังโหลดความคิดเห็น