xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ปัด รบ.ใช้อำนาจกดดัน “ประสาร” พ้นเก้าอี้ผู้ว่าฯ ธปท. โบ้ยสื่อสร้างความสับสน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกฯ “ปู” ยอมรับ “โต้ง-ประสาร” ซดเกาเหลาบาทแข็ง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำงานร่วมกันไม่ได้ ปัดใช้อำนาจกดดัน “ประสาร” พ้นเก้าอี้ผู้ว่าฯ ธปท. โยนบาป “สื่อ” ลงข่าวสร้างความสับสน พร้อมแนะ “คลัง-ธปท.” ต้องใกล้ชิด

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีการแก้ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ว่า ได้กำชับให้กระทรวงการคลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายให้ความเป็นห่วง ขณะเดียวกัน รัฐบาลมีมาตรการอย่างต่อเนื่องในการเข้าไปช่วยเหลือภาคส่งออก และผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถบริหารธุรกิจได้ ควบคู่กับการทำงานของ ธปท.

“ยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิด และเต็มที่ และได้ให้อิสระแก่ ธปท.ในการทำงาน โดยให้คำนึงถึงเสถียรภาพของค่าเงินเป็นสำคัญด้วย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ส่วนกระแสข่าวความขัดแย้งระหว่างผู้ว่าการ ธปท. กับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกรัฐมนตรี ยืนยืนว่า แม้จะมีความคิดเห็นแตกต่างกันในการทำงาน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำงานร่วมกันไม่ได้ และย้ำว่า รัฐบาลไม่ได้กดดันการทำงานของผู้ว่าการ ธปท. ขอให้สื่อมวลชนอย่าสร้างความสับสนว่า รัฐบาลต้องการจะเปลี่ยนตัวผู้ว่าการ ธปท. โดยอ้างว่าทำงานกับรัฐบาลไม่ได้

“ท่านก็ได้ทานข้าวด้วยกันแล้วนะคะ การไม่เห็นตรงกัน ก็ไปพูดคุยในข้อเสนอก็ไปแก้ แต่ไม่ใช่ว่าทำงานร่วมกันไม่ได้ และยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการกดดันผู้ว่าฯ ธปท. แต่สิ่งที่กดดันคือการที่เราจะต้องร่วมกันปัญหาเศรษฐกิจมากกว่า เราอยากจะแก้ปัญหาร่วมกันให้เร็วมากกว่า”

เมื่อถามว่า นายกิตติรัตน์ ได้รายงานผลการหารือกับผู้ว่าฯ ธปท.แล้วหรือยัง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็รายงานเป็นระยะ แต่ว่าไม่มีรายละเอียดทั้งหมด และข้อสรุป ซึ่งนายกิตติรัตน์ คงจะไปหารือกับกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ธปท. เพื่อเป็นภาพรวมเศรษฐกิจ และต่างคนก็จะเสนอแผนเศรษฐกิจเข้ามาในภาพรวมว่าจะร่วมกันแก้ไขอย่างไร

นายกฯ กล่าวอีกว่า จริงๆ มาตรการที่ดูแลผลกระทบจากค่าเงินบาทขณะนี้เริ่มออกมาแล้ว โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงการคลัง ทั้งเรื่องการดูแลเอสเอ็มอี ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และ ธปท. ก็กำลังดูอยู่เช่นกัน แต่ต้องติดตามเป็นระยะเพื่อมีมาตรการในแต่ละขั้นต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น