ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ตั้งแต่ติดตามการเมืองมายาวนานหลายสิบปี เพิ่งเป็นครั้งแรกที่ได้ยินนักการเมืองซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งพูดดูหมิ่นเหยียดหยามประชาชนว่าเป็นขยะเกะกะบ้านเมือง มิหนำซ้ำยังกล่าวถ้อยคำข่มขู่คุกคามอย่างเปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า หากประชาชนชุมนุมคัดค้านกิจกรรมที่เขากำลังทำ เขาจะจับติดคุกให้หมด
การพูดในลักษณะเช่นนี้ของนักการเมืองคนดังกล่าวมิใช่เป็นการพูดครั้งเดียวแบบเอาสนุกอย่างที่นักการเมืองอีกคนซึ่งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีแก้ต่างให้ หากแต่มีการให้สัมภาษณ์อีกหลายครั้งกับสื่อมวลชนสาขาต่างๆ ซึ่งเนื้อหาที่สัมภาษณ์ภายหลังก็มีใจความสอดคล้องเป็นทำนองเดียวกันกับที่พูดครั้งแรก
ถ้อยคำ น้ำเสียง และกิริยาที่นักการเมืองคนดังกล่าวพูด คนปกติทั่วไปฟังก็สามารถ ตีความได้อย่างชัดเจนว่าเขามีเจตนาอย่างไร และแน่นอนว่ามิใช่เป็นเจตนาดียินดีรับฟังความคิดเห็นผู้อื่นเฉกเช่นนักการเมืองหญิงอย่าง น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีพยายามตีความในแบบของเธอแทนนักการเมืองคนดังกล่าวแล้ว
เราลองอ่านประโยคที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี พูดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2556 ให้ชัดเจนอีกครั้ง เขากล่าวว่า “ขอเตือนอย่ามาชุมนุมประท้วงเด็ดขาด เพราะสถานที่จัดการประชุมครั้งนี้ไม่ใช่สถานที่จัดการประท้วง จะไม่จัดสถานที่ไว้ให้ มีแต่จะจัดคุกไว้ให้เท่านั้นและจะไม่มีการเจรจาใดๆทั้งสิ้น มีแต่จับอย่างเดียว และคนเชียงใหม่ก็ไม่ควรปล่อยให้คนพวกนี้ที่เหมือนขยะมาเกะกะด้วย”
หลักฐานนี้บ่งชี้อย่างปราศจากข้อเคลือบแคลงสงสัยใดๆว่า นายปลอดประสพ มีเจตนาปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองโดยการชุมนุมอย่างสงบของประชาชน และข่มขู่ว่าหากใครมาประท้วงจะจับขังคุก ทั้งยังดูหมิ่นเหยียดหยามประชาชนว่าเป็นเหมือนขยะ อันเป็นการกระทำที่ไม่เคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพแม้แต่น้อย
ปกตินักการเมืองที่มีการแสดงกิริยาวาจาเต็มเปี่ยมไปด้วยความมีอคติและเกลียดชังประชาชนเช่นนี้ มักไม่ค่อยปรากฏขึ้นมากนักภายใต้ระบอบประชาธิปไตยทั่วๆไป แต่จะปรากฏอยู่อย่างสม่ำเสมอภายใต้ระบอบการเมืองแบบเผด็จการและระบอบประชาธิปไตยสามานย์
จากพฤติกรรมของนายปลอดประสพ ลองอ่านบางประโยคที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พูดที่ประเทศมองโกเลีย เธอกล่าวว่า “ มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เชื่อในแนวคิดประชาธิปไตย คนเหล่านี้พร้อมที่จะเอารัดเอาเปรียบคนอื่น เขาไม่เคารพสิทธิมนุษยชนหรือเสรีภาพ เขาพร้อมใช้กำลังเพื่อกดขี่ให้คนอยู่ใต้อำนาจและยังใช้อำนาจในทางที่ผิด”
สิ่งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีพูด ช่างสอดคล้องกับการกระทำของนายปลอดประสพ ผู้เป็นรองนายกรัฐมนตรีของเธอยิ่งนัก ดังนั้นการแสดงออกของนายปลอดประสพจึงหมายถึงว่า “เขาเป็นคนจำนวนหนึ่งที่ไม่เชื่อในแนวคิดประชาธิปไตย” บุคคลผู้มีลักษณะเช่นนี้คือบุคคลประเภทเดียวกันกับที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ วิพากษ์วิจารณ์ในการแถลงของเธอระหว่างที่อยู่ในประเทศมองโกเลีย
ภาพลักษณ์เชิงมายาคติที่รัฐบาลเสื้อแดงของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พยายามจะสร้างขึ้นมาด้วยการแสดงต่อชาวโลกว่าตนเองเชิดชูประชาธิปไตย ครอบครัวของตนเองเจ็บปวดจากการกระทำที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งยังวิจารณ์ผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลของเธอว่าเป็นผู้ที่ไม่หวังดีต่อประชาธิปไตยจึงต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์โดยการกระทำของนักการเมืองภายในรัฐบาลของเธอเอง
เมื่อรองนายกรัฐมนตรีของเธอแสดงตัวอย่างชัดเจนในปริมณฑลสาธารณะว่า เขาไม่สนใจไยดีกับเนื้อหาใจความที่เธออุตส่าห์ประดิษฐ์เพื่อประกาศต่อชาวโลก โดยการแสดงพฤติกรรมอันเป็นปรปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยที่เธอโฆษณาเอาไว้ คำถามคือ เธอจะมีท่าทีอย่างไรต่อกรณีนี้ จะจัดการปลดนายปลอดประสพออกจากตำแหน่งหรือไม่ หรือเสแสร้งทำเป็นไม่เข้าใจคำพูด ดังที่เธอทำเป็นประจำ แต่เธออาจไม่เข้าใจจริงๆก็ได้ เราต้องมองทางเลือกของความเป็นไปได้ในอีกทางหนึ่งเสมอเมื่อวิเคราะห์การกระทำใดๆของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
แต่หากพิจารณาจากประวัติการตัดสินใจและการแสดงออกของเธอ คงไม่มีใครคาดหวังว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะจัดการอะไรกับนายปลอดประสพ เพราะสิ่งที่เธออ่านในประเทศมองโกเลียนั้น เธอคงอ่านไปตามบทที่ถูกผู้อื่นกำหนดมาให้ สำหรับความเข้าใจต่อหลักการและปรัชญาอันลึกซึ้งของประชาธิปไตยดูจะไกลเกินกว่าสมองของเธอจะจินตนาการถึงได้
อันที่จริงคำพูดที่นายปลอดประสพแสดงออกมาอย่างตั้งใจนั้น เป็นคำพูดที่นักการเมืองหลายคนภายในระบอบประชาธิปไตยสามานย์อยากจะพูดอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีใครกล้าบ้าบิ่นเพียงพอ หรือสิ้นคิดไร้สติอย่างนายปลอดประสพ เราอาจอนุมานได้ว่านายปลอดประสพพูดได้แทนใจนักการเมืองประเภทเดียวกับเขาทั้งหมด
การแสดงออกของนายปลอดประสพคงมีผลข้างเคียงต่อบรรดาแกนนำและนักวิชาการเสื้อแดงไม่น้อย เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ชอบหยิบยกถ้อยคำ หลักการประชาธิปไตย อาทิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม ความเป็นธรรมมาเป็นเสื้อคลุมกำบังอุดมการณ์และความเชื่อที่แท้จริงของตนเอง คำพูดของนายปลอดประสพเท่ากับเป็นการกระชากเสื้อคลุมประชาธิปไตยที่บรรดาเสื้อแดงทั้งหลายพยายามเอามาปกปิดตัวตนและธาตุแท้ของพวกเขาเอาไว้ออกไปจนหมด สิ่งที่สังคมเห็นคือความอัปลักษณ์และความสามานย์ที่ดำรงอยู่ภายในความเชื่อระดับรากฐานของพวกเขา
การใช้คำเรียกผู้อื่นว่าเป็น “ขยะ” มีนัยอย่างชัดเจนว่าต้องการกำจัดทิ้ง ในทางสังคมเราได้ยินวลีหนึ่งอยู่บ่อยๆว่า “ขยะสังคม” ภาษาอังกฤษใช้คำว่า dregs of society อันหมายถึงผู้ที่มีความประพฤติชั่วจนสังคมไม่ต้องการ ซึ่งมีคำเหมือนในพจนานุกรมคือ “เดนสังคม” หรือ “มารสังคม”
นัยของคำว่า “ขยะ” ที่นายปลอดประสพใช้เรียกประชาชนที่คัดค้านการจัดกิจกรรมของเขา ก็คือการตีตราให้คนเหล่านั้นเป็น “ขยะสังคม” อันเป็นกระบวนการของการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของประชาชนที่จะมาชุมนุมคัดค้านให้เป็นเสมือนสิ่งของที่เลวร้ายหรือเป็นเดนสังคม เพื่อเป็นการสร้างหนทางเตรียมการไว้สำหรับการสร้างความชอบธรรม ในกรณีที่รัฐบาลจะใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมคัดค้านการจัดกิจกรรมอย่างรุนแรงและป่าเถื่อน
ประชาชนที่ไปใช้สิทธิชุมนุมอย่างสงบและมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ย่อมไม่ใช่ขยะสังคมอย่างที่นายปลอดประสพตีตราให้พวกเขา แต่เป็นเสรีชนที่ประกาศเจตจำนงอย่างอิสระเพื่อคัดค้านการตัดสินใจและการกระทำที่ไม่ชอบมาพากลของรัฐบาล นักการเมืองและผู้บริหารประเทศที่มีความเชื่อ ค่านิยม และ “วัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยเสรีนิยม” ย่อมเข้าใจเป็นอย่างดีถึงสิทธิเหล่านี้ และยอมรับการแสดงออกของประชาชนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย
แต่ผู้บริหารประเทศและนักการเมืองที่มีความเชื่อ ค่านิยม และ “วัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยสามานย์” ย่อมมองการชุมนุมของประชาชนกลุ่มที่คัดค้านนโยบาย การตัดสินใจ หรือการจัดกิจกรรมของพวกเขาอย่างสงบสันติว่าเป็นขยะ เกะกะ รกบ้านรกเมือง และต้องจับเข้าคุกให้หมด
แต่ในอีกด้านหนึ่งนักการเมืองเหล่านั้นกลับมองว่า การชุมนุมของมวลชนจัดตั้งเสื้อแดงซึ่งเป็นพวกเดียวกับตนเองเป็นการชุมนุมที่มีสิทธิกระทำได้ เป็นการกระทำที่ควรยกย่อง เป็นวีรชน และต้องจ่ายเงินตอบแทนให้อย่างสมน้ำสมเนื้อเป็นหลักล้านบาท ทั้งๆที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์และเชิงกฎหมายมากมายอันเป็นแสดงให้เห็นว่า การชุมนุมของเสื้อแดงเป็นการชุมนุมที่มีความรุนแรง ข่มขู่ คุกคามศาล สื่อมวลชน และประชาชนกลุ่มอื่นๆ ทั้งยังก่อการจลาจล เผาบ้านเผาเมือง ใช้อาวุธทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ
กรณีการพูดของนายปลอดประสพจึงเป็นตัวแบบซึ่งทำให้เราเข้าใจอย่างกระจ่างชัดมากขึ้นเกี่ยวกับ “แนวคิดเรื่องสิทธิและเสรีภาพ ภายใต้ลัทธิการเมืองและวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยสามานย์” อันเป็นระบอบที่พวกเขาใช้ปกครองประเทศไทยอยู่ในปัจจุบัน และทำให้ประชาชนทั่วไปแยกแยะความแตกต่างได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า “ลักษณะแบบใดคือประชาธิปไตยปกติ” และ “ลักษณะแบบใดคือประชาธิปไตยสามานย์”