ART EYE VIEW---'สนามหลวง' ในห้วงเวลาก่อนการปรับปรุงภูมิทัศน์ อาจไม่ดูจำเริญตาสำหรับใครหลายคน แต่มิติของชีวิตอันหลากหลายที่เคยเคลื่อนไหวตลอด 24 ชั่วโมง บนพื้นที่ซึ่งยังไม่ถูกห้าม อาทิ ห้ามใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางการเมืองใด , ห้ามนำสินค้าเข้าไปจำหน่าย, ห้ามใช้เป็นที่อาศัยเป็นที่หลับนอน ฯลฯ และยังไม่ถูกกำหนดช่วงเวลาสำหรับการเข้าใช้
กลับมีเสน่ห์ดึงดูดใจให้ช่างภาพวัย 39 ปี เชิดวุฒิ สกลยา อยากหยิบกล้องคู่ใจขึ้นมาบันทึกภาพมากกว่าภาพที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน
และความจริงมีอยู่ว่า เป็นเวลา 3 ปีแล้วที่เขาได้เลิกบันทึกภาพ “สนามหลวง” ทั้งที่เคยบันทึกภาพต่อเนื่องมานับ 20 ปี
“ผมไม่ได้แอนตี้สังคม สนามหลวงในปัจจุบันในแง่หนึ่งมันก็ดูสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อยดี แต่ถ้าพูดถึงความประทับส่วนตัวแล้ว ช่วงเวลาที่ผมอยากจะบันทึกภาพสนามหลวงเพื่อนำมาแบ่งปันกับผู้คน คือสนามหลวงในช่วงก่อนหน้านี้ ผมรู้จักและคุ้นเคยกับสนามหลวงในฐานะที่เป็นพื้นที่ๆทุกชีวิต สามารถเข้าไปใช้”
ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ขณะที่ชีวิตด้านหนึ่งทำงานในหน้าที่ช่างภาพนิตยสารแฟชั่น เกาะขอบแคทวอล์คถ่ายภาพในเวทีแฟชั่นระดับโลก รวมถึงรับจ้างถ่ายภาพให้กับงานโฆษณา และงานพาณิชย์ศิลป์ทุกประเภท โดยมีรางวัลการันตีทั้งในระดับเอเชียและระดับโลก
ชีวิตอีกด้านหนึ่ง เชิดวุฒิกลับชอบที่จะสะพายกล้องขึ้นรถบริการสาธารณะ แล้วลงเดินทอดน่องไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อหาแรงบันดาลใจในการสร้างภาพถ่ายศิลปะ ที่สนองตอบความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง ควบคู่กันไปด้วย
“ผมชอบขึ้นรถเมล์ ชอบเดิน เพราะว่ามันทำให้เราได้สัมผัสกับสิ่งต่างๆรอบตัว ได้เห็นอะไรเยอะ เวลาที่ถ่ายภาพงานโฆษณา หรือแฟชั่น เรามักจะคาดหวังว่า ภาพต้องออกมาสวย คนดูแล้วแฮปปี้ ถ่ายมาแล้วลูกค้าชอบ จะต้องจ่ายเงินให้เรา และจ้างงานเราต่อ ซึ่งนั่นเป็นงานอีกด้านหนึ่งที่ผมเคยทำมาตลอดระยะเวลาหลายปี
แต่มันเทียบไม่ได้กับความรู้สึกเกิดขึ้นในเวลาที่ผมสะพายกล้องออกไปถ่ายภาพ แล้วใช้ความรู้สึกของตัวเองจับมัน สัมผัสมัน ซึ่งมันจะเป็นธรรมชาติมาก ไม่ต้องมีความกังวลว่า ถ่ายแล้วใครจะชอบหรือไม่ชอบ ใครจะจ่ายเงินหรือไม่จ่ายเงิน ผมก็เลยทำงานภาพถ่ายที่เป็น Fine Art ควบคู่กันมาตลอด และรู้สึกได้ว่าตัวเองมีความบริสุทธิ์ใจกับการทำงานในแบบนี้มาก และมันก็ทำให้ผมมีความสุขด้วย”
หนึ่งในบรรดาสถานที่ๆเชิดวุฒิชอบจะไปเดินทอดน่อง และหยุดบันทึกภาพคือ 'สนามหลวง'
“ผมชอบที่จะถ่ายทอดภาพของความดิบ ความเป็นชีวิตแท้ๆ แต่ในความดิบและความเป็นชีวิตนั้น มีความประณีตซ่อนอยู่ นี่คือ Passion ที่ทำให้ผมหลงใหล”
เชิดวุฒิบอกเล่าถึงสิ่งที่เขาชอบที่จะถ่ายทอดผ่านภาพถ่ายศิลปะของตนเอง และสนามหลวงก็มีสิ่งเหล่านี้อยู่ครบถ้วน
“สนามหลวงมีเสน่ห์ มีความเป็นธรรมชาติของชีวิต และมีทุกมิติของชีวิต เวลาที่ผมได้ไปเดินเล่นสนามหลวง สนุกกว่าเดินห้าง”
โดยเฉพาะสนามหลวงในเวลากลางคืน คือช่วงเวลาที่เชิดวุฒิมักจะพาตัวเองไปสัมผัสและบันทึกภาพกลับมามากที่สุด
“เพราะเราจะได้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนบางประเภทที่เขาไม่ใช้ชีวิต ในเวลากลางวัน ท่ามกลางความมืดมันมีเสน่ห์ มีมิติลึกลับ ที่เย้ายวนใจ ทำให้ผมอยากบันทึกภาพ”
ฟังดูช่างเป็นภาพที่สวยงามนัก แตกต่างจากคนจำนวนไม่น้อยที่เคยใช้สนามหลวงเป็นเพียงทางผ่าน และบ้างก็เคยมีภาพจำเกี่ยวกับสนามหลวงในด้านที่ไม่ดี เป็นต้นว่า ผ่านไปเหม็นฉี่ เหยียบอึ โดนทุบหัวเอาทรัพย์สิน โดนกระชากสร้อย รวมทั้งถูกเรียกซื้อบริการ ก็ยังมี
ซึ่งตรงจุดนี้เชิดวุฒิยอมรับว่าเข้าใจ และบอกเล่าว่าการไปเดินเล่นเพื่อถ่ายภาพที่สนามหลวงของเขาในแต่ละครั้ง ใช่ว่าทางจะสะดวกตลอดเวลา แม้ว่าเขาจะหลงใหลสนามหลวงที่เขามองผ่านเลนส์ทุกครั้ง แต่มีบางครั้งที่เขาต้องคอยเอาตัวรอดจากสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้
“มีบางครั้งที่ผมถ่ายภาพแล้วมีคนวิ่งตามผมก็มี กระชากเสื้อผมก็มี มันมีทุกมิติ เพียงแต่ว่าเวลาผมทำงาน ผมไม่ได้มีความกังวลตรงนั้นว่าก่อนหน้านี้เคยเกิดอะไรขึ้นหรือจะเกิดอะไรขึ้นอีก ผมอยู่กับปัจจุบัน การทำงานแบบนี้มันต้องใช้จิตใจที่ค่อนข้างกล้าหาญพอสมควร ส่วนตัวผมเป็นคนที่ระห่ำนิดๆ แต่ส่วนมากเวลาที่ผมออกไปถ่ายภาพในจุดเวลาที่คนคิดว่าเสี่ยง โดยรวมแล้วผมจะได้ความสุขได้มิตรภาพกลับมามากกว่า เพราะเวลาผมเข้าหาคน ผมไม่มีกำแพง”
ตัวอย่างเช่นมิตรภาพและความรู้สึกดีๆที่เขาได้รับจากผู้หญิงนิรนามคนหนึ่งและอีกหลายคนที่สนามหลวง
“ผู้หญิงคนหนึ่ง คนอาจจะเข้าใจว่าเธอบ้า แต่ว่าแววตาและรอยยิ้มที่เธอส่งมาให้ผม มันบริสุทธิ์ มันจริงใจมากๆ เป็นรอยยิ้ม เป็นแววตาที่บริสุทธิ์ เหมือนแววตาของเด็ก และในวินาทีนั้น ผมสามารถเข้าไปคุยกับเธอและเป็นเพื่อนกันได้
บางครั้งการที่เราไม่กล้าเข้าไปคุยกับบางคน ผมอยากแลกเปลี่ยนว่า อาจเป็นเพราะเราตัดสินเขาไปก่อนก็ได้ แต่จริงๆแล้วไม่มีอะไรหรอก ทุกคนสามารถเป็นเพื่อนกันได้ และนี่เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ผมประทับใจ”
เมื่อคิดจะจัดแสดงเดี่ยวภาพถ่ายของตัวเองครั้งแรก เชิดวุฒิจึงขอเริ่มต้นด้วยการนำภาพถ่ายเกี่ยวกับสถานที่ๆตัวเองเคยรู้สึกพิเศษด้วย และส่วนหนึ่งมองว่าเป็นสถานที่ๆคนส่วนใหญ่ต่างรู้จักร่วมกันมาจัดแสดง
แต่เขาไม่ได้ต้องการให้ภาพถ่ายในนิทรรศการนี้ เป็นหนึ่งเสียงสะท้อนให้สนามหลวงกลับมามีสภาพดังช่วงเวลาที่เขามีความประทับใจ
“ปล่อยพื้นที่ให้เป็นหน้าที่ของคนที่ต้องดูแลและจัดการดีกว่า และผมให้เกียรติคนดูแล้วกันว่าเมื่อมองภาพถ่ายของผมพวกเขารู้สึกอย่างไรบ้าง
แม้ว่าผมจะมีคำถามกับตัวเองอยู่ในใจลึกๆว่า สนามที่ถูกปิด ถูกล้อมรั้วเนี่ย มันยังจะเรียกว่าสนามหลวงอยู่หรือเปล่า
ภาพทุกภาพถูกบันทึกด้วยความซื่อสัตย์จากใจผม มีกระบวนการทำงานที่เป็นธรรมชาติมากๆ ไม่มีการปรุงแต่ง
เวลาที่ผมออกไปถ่ายภาพสนามหลวงแต่ละครั้ง ผมไม่ได้มีความคาดหวังเลยว่าผมจะได้ภาพอะไรกลับมาหรือต้องการจะนำเสนออะไร
เมื่อภาพของสนามหลวงที่ผมเคยถ่าย ถูกนำมาเรียบเรียงอยู่ในนิทรรศการครั้งนี้ ผมจึงไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าผมนำเสนออะไรเป็นพิเศษ แค่ผมอยากให้ทุกคนมาอยู่ร่วมกับประสบการณ์ที่ผมเคยสัมผัส อาจจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยสัมผัสว่า สนามหลวงก่อนที่จะถูกปิด ถูกล้อมรั้วเนี่ย มันเป็นอย่างไร หรือรุ่นที่อายุมากกว่าผม เขาจะได้กลับมาหวนนึกถึงอดีต
ผมถ่ายมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว ถ่ายตั้งแต่ผมยังเป็นวัยรุ่น และนี่ผมอายุจะ 40 ปีแล้ว
นับตั้งแต่ช่วงที่สนามหลวงปิดปรับปรุงผมไม่ได้บันทึกภาพอีกเลย เพราะมันไม่มีสิ่งที่จะดึงดูดผม”
เชิดวุฒิเชื่อว่านิทรรศการภาพถ่ายครั้งแรกของตัวเอง น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ชมอยู่บ้าง ทั้งในแง่ได้ทำความรู้จักกับอดีตของสนามหลวงในช่วงเวลาหนึ่ง และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่อยากจะสะพายกล้องออกไปถ่ายภาพ จนเกิดเป็นผลงานที่ตัวเองรู้สึกจริงใจในการที่จะถ่ายทอดมันออกมา
“อยากให้มาดูครับ นอกจากในแง่ของศิลปะหรือสุนทรียะ (เชิดวุฒิใช้กล้องฟิล์มบันทึกเป็นภาพถ่ายขาวดำ ที่สามารถอยู่คงทนต่อไปอีกหลายปี แม้ว่ายามนั้นชีวิตของผู้ที่บันทึกจะหาไม่แล้ว)บางคนก็อาจจะได้รับประโยชน์ในแง่ของการย้อนอดีต เพราะภาพเหล่านี้มันเริ่มทำงานโดยตัวมันเองในแง่ของประวัติศาสตร์แล้ว
และจะยิ่งดีถ้าภาพของผมเป็นแรงบันดาลใจเล็กๆให้กับหลายๆคน ที่อยากจะออกไปถ่ายภาพ หรือว่าสร้างงาน
ยิ่งคนรุ่นใหม่ มาชมแล้วอยากให้เข้าใจอดีต เข้าใจความเป็นมาของสถานที่ อาจจะไม่เจอะจงว่าเป็นแค่สนามหลวง แต่ครั้งนี้ผมยกสนามหลวงมาเป็นตัวอย่าง การเห็นอดีตแล้วทำให้เข้าใจปัจจุบันมากขึ้น ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ดี”
Text : ฮักก้า Photo : เชิดวุฒิ สกลยา
นิทรรศการภาพถ่าย จิตวิญญาณแห่งสนามหลวง (Spirit of Sanamluang) โดย เชิดวุฒิ สกลยา
เปิดแสดง วันนี้ - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ( พุธ-อาทิตย์ เวลา 09.00 - 16.00 น.) ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews