xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พฤติกรรมกร่างของ”โต้ง&เดอะโกร่ง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ตามพ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย มาตรา 28/19 กำหนดการพ้นตำแหน่งผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยการดำเนินการของรัฐมนตรีคลังไว้สองข้อ

(4) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคําแนะนําของรัฐมนตรี เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง หรือทุจริตต่อหน้าที่

(5) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคําแนะนําของรัฐมนตรี หรือการเสนอของรัฐมนตรี โดยคําแนะนําของคณะกรรมการธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ โดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง

นั่นทำให้ “ความผิดอย่างร้ายแรง”กลายเป็นปราการด่านสำคัญที่ป้องกัน“ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล”ไว้ เพราะ รมว.คลัง ยังไม่สามารถควานหา “ข้อเท็จจริง”ดังกล่าวได้

แม้ว่า ธปท.จะประกาศ 4 มาตรการ เพื่อสกัดการลงทุนในพันธบัตรของรัฐบาล

แต่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ก็ยัง แสดงพฤติกรรม “กร่าง”ทางการเงิน โดยนัดหารือกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน เพื่อกดดันให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ทั้งนี้ มาตรการทั้งสี่ ประกอบด้วย มาตการที่หนึ่ง การออกพันธบัตรของธปท. ที่สามารถกำหนดห้ามไม่ให้ต่างชาติซื้อพันธบัตร มาตรการที่สอง การออกพันธบัตรของกระทรวงการคลังให้กำหนดระยะเวลาการถือครองเช่น 3 เดือน หรือ 6 เดือน เพื่อป้องกันการเก็งกำไร มาตรการที่สาม ให้เก็บภาษีและค่าธรรมเนียมสำหรับต่างชาติที่มาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ เมื่อได้รับผลตอบแทน มาตรการที่สี่ คือ นักลงทุนต่างประเทศนำเงินเข้ามาต้องทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน

เดอะโต้ง แสดงอำนาจบาตรใหญ่ สอนกนง.ว่า “หน้าที่ของกนง. จะต้องดูแลอัตราแลกเปลี่ยนควบคู่กับการดูแลอัตราเงินเฟ้อ โดยจะต้องให้อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินของประเทศในภูมิภาค และประเทศคู่ค้า”

ด้วยข้ออ้างเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน และการขาดทุนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กิตติรัตน์ เลยแสดงอำนาจรมว.คลัง กดดันทุกทางเพื่อ ปลดผู้ว่าฯธปท. และกรรมการนโยบายการเงิน

ทั้งๆ ที่ตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ได้แยกการทำงานของนักการเมือง และความอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ไว้แล้ว

แต่ กิตติรัตน์ ต้องการ“ควบคุม”อย่างเต็มที่

เขาอ้างว่า“รู้สึกเป็นห่วง ธปท. อาจจะมีผลขาดทุนจำนวนมากจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงจนเกินไป ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง เพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงจนเกินไป ทำให้เกิดส่วนต่างที่ชัดเจน และหากพิจารณาอย่างละเอียด จะพบว่าเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาลงทุนในไทยส่วนใหญ่นั้น เป็นการลงทุนในพันธบัตรเป็นหลัก”

นั่นจึงทำให้ เดอะโกร่ง- วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับไม้ต่ออย่างเข้าจังหวะกับ“กิตติรัตน์”

หลังจากที่ใส่เกียร์ถอยมาแล้วจาก“กองทุนมั่งคั่ง”เพราะต้องการเอาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยไปหาผลประโยชน์

“เมื่อตรวจสอบข้อกฎหมายทั้งหมดแล้ว คณะกรรมการ ธปท.ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะสามารถปลดผู้ว่าฯได้ ซึ่งแนวทางขณะนี้ต้องฝากให้นายกรัฐมนตรีลงมาดูแลปัญหานี้ เพราะอำนาจของคณะรัฐมนตรีสามารถปลดผู้ว่าฯ ธปท.ทำได้ แต่ก็ไม่อยากให้ถึงขั้นนั้น” วีรพงษ์ ส่งไม้ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการกับ ดร.ประสาร

วีรพงษ์ ถึงกับอาศัยทำเนียบรัฐบาลแถลงข่าว“โยนขี้”ให้ ธปท.

“เท่าที่ผมรับตำแหน่งประธานบอร์ดมาร่วมปีกว่า เห็นว่าการทำงานของ ธปท.กับรมว.การคลัง มีปัญหามาตลอด ซึ่งความจริงนโยบายการเงินและการคลังต้องสอดคล้องเพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สิ่งที่ผมหนักใจคือ รมว.การคลัง และผู้ว่าฯ ธปท. ต่างคนก็ต่างพูดสวนกันไปสวนกันมา ธปท. ก็เคยออกมาอธิบายอยู่หลายครั้ง ซึ่งบางแนวทางผมก็ไม่เห็นด้วย”

เขาวิจารณ์ความรู้ความสามารถของคณะกรรมการนโยบายการเงินว่า "ในคณะกรรมการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่บางคนก็ดูแล้วไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมหภาคอย่างแท้จริง และการที่ออกมาพูด เพราะต้องการระบายความทุกข์ใจ เพราะเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ก็จะเกิดความเสียหายกับผู้ส่งออก ต่างโยนความผิด ความรับผิดชอบ ธปท.ก็โยนกนง. กระทรวงการคลัง ก็โยนว่าเป็นหน้าที่ ธปท. ส่วน ธปท.ก็พยายามบอกว่ามีมาตรการหลายอย่าง แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการอะไร ผลเสียหายจึงตกกับประเทศชาติ”

เขาพยายามตอกย้ำความผิดพลาดเรื่องการขาดทุนอีกครั้งว่า “รู้สึกหนักใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งความขัดแย้งทางความคิดระหว่าง รมว.การคลัง และผู้ว่าการ ธปท. รวมทั้งเงินบาทที่แข็งค่าผิดปกติ เพราะเป็นห่วงว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ หากไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหา เพราะขณะนี้พบว่า ธปท.ขาดดุลในงบเพิ่มเป็นกว่า 8 แสนล้านบาทแล้ว จากสิ้นปี 2555 ที่อยู่ในระดับ 5.3 แสนล้านบาท ซึ่งหากไม่ดำเนินการใดๆ ก็อาจสูงไปถึง 1 ล้านล้านบาท ภายในไม่เกินสิ้นปีนี้ และกังวลว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะย้อนกลับไปเหมือนสมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยของประเทศมีความแตกต่างจากประเทศอื่นๆ”

นั่นหมายความว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.75% ในปัจจุบัน ในความคิดของประธานบอร์ดแบงก์ กำลังทำให้เกิด“วิกฤตเศรษฐกิจ”

กะล่อนสิ้นดี !!

ทั้งๆที่ หน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจทั้งภาครัฐ และเอกชน ต่างเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนทำให้นักลงทุนขนเงินมาลงทุนจำนวนมาก

ที่สำคัญการขาดทุนดังกล่าว เป็นการขาดทุนทางบัญชีมากตัวเลขที่เกิดขึ้นจริง

เขาจึงอยากให้ คณะรัฐมนตรีมีมติ ปลดผู้ว่าฯธปท.

ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตกรรมการนโยบายการเงินวิจารณ์พฤติกรรมของ “รัก-ยม ทางเศรษฐกิจ”คู่นี้ว่า “รัฐบาลกำลังเข้ามาแทรกแซงคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งตามข้อตกลงของกระทรวงการคลัง และธปท. อำนาจการตัดสินใจขึ้นหรือลงดอกเบี้ยเป็นอำนาจของ กนง. ซึ่งจริงๆแล้ว ในแต่ละปี กนง.ต้องมีข้อตกลงกับ 2 หน่วยงาน ว่าการขึ้น หรือลง ดอกเบี้ย เป็นไปตามกรอบนโยบาย เขาก็จะไม่มีการแทรกแซงกัน"

เขาบอกว่า “ปัญหาสำคัญที่รัมนตรีคลัง ห่วงคือ ค่าเงินบาทแข็ง อยากให้ลดดอกเบี้ย แต่แบงก์ชาติบอกลดไม่เหมาะ น่าจะหามาตรการอื่น แต่ก็ต้องตกลงกันให้ได้ ว่าจะลดลงเท่าไหร่ หรือใช้นโยบายอะไรบ้าง”

“โดยส่วนตัวเห็นว่า ไม่ควรจะลด เพราะ 1. ดอกเบี้ยของไทยต่ำเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.75% เงินเฟ้ออยู่ที่ 3% ถ้าลดมากคนก็อาจะไม่อยากฝากเงิน 2. ถ้าลดมาก เศรษฐกิจอาจขยายตัวเร็วเกินไป ปัจจุบันเศรษฐกิจก็ขยายตัวดีอยู่แล้ว โต 4-5-6% อย่ารีบเร็วมากนัก ลดดอกเบี้ยเยอะๆ อาจทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ และการเก็งกำไร ปัจจุบันปัญหาการว่างงานก็น้อย ถึงกับขาดแคลนแรงงานด้วยซ้ำไป”

ที่สำคัญพฤติกรรมข่มขู่ ผู้ว่าฯธปท.ของรมว.คลัง นั้น ดร.พรายพล เห็นว่า “ในกรอบกฎหมายแบงก์ชาติ ปี 2551 ถือว่ารุนแรงสุด เพราะยังไม่เห็นมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนไหนข่มขู่ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ครั้งนี้จึงถึงว่ารุนแรงสุด”

เช่นเดียวกับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อีก 2 คน ต่างวิจารณ์การทำงานของ รมว.คลัง

กรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Korn Chatikavanij เตือนรัฐบาลว่า "อย่าลุแก่อำนาจ"  เมื่อประมาณ 4-5  เดือนก่อน ผมได้พบกับรองผู้ว่าฯแบงก์ชาติท่านหนึ่งในงานศพ ผมได้บอกท่านว่า ผมมั่นใจว่ารัฐบาลนี้จะต้องกล่าวหาแบงก์ชาติต่อเนื่อง และช่องทางที่เขาจะใช้ก็คือ การโจมตีเรื่องการ'ขาดทุน' จากการถือดอลล่าร์ที่ได้มาจากการขายเงินบาท เพื่อบริหารไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเกินไป”

“และเมื่อวานนี้เราเห็นภาพชัดแล้ว ว่าที่ผมและหลายคนคาดการไว้ เป็นจริงทั้งหมด รวมถึงการยกตัวเลข 'ขาดทุน 1 ล้านล้าน' ขึ้นมาด้วยเป้าหมายที่จะทำลายความน่าเชื่อถือในตัวผู้ว่าฯแบงก์ชาติ”

“ผมได้อ่านบทความที่อดีตรัฐมนตรีคลัง คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ได้เขียนในเฟซบุ๊กของท่านเมื่อวานนี้ ท่านได้ชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่มีตรรกะที่น่าคิดอยู่หลายข้อ เช่น การขาดทุนในบัญชีที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการที่เงินดอลล่าร์ในมืออ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินบาท แต่ข้อเท็จจริงคือ เงินดอลล่าร์ของเราเป็นเงินสำรองที่สะสมมาตั้งแต่หลังวิกฤติปี 2540 โดยหลายผู้ว่าฯ จะมาโทษผู้ว่าคนปัจจุบันทั้งหมดได้อย่างไร ”

“และนอกจากนั้น การแทรกแซงในตลาดเงิน ก็เป็นหน้าที่โดยตรงของแบงก์ชาติ เพื่อรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเลี่ยน เพื่อภาคธุรกิจจะได้ค้าขายได้ ถ้าแบงก์ชาติไม่ทำอะไรเลย เอกชนและประเทศชาติอาจจะเสียหายมากกว่านี้”

“มีนักวิชาการอีกท่านหนึ่งคือ ดร. วีรไท สันติประภพ ได้เขียนบทความในเรื่องนี้ไว้ว่า เราควรเปรียบเทียบว่า การขาดทุนของแบงก์ชาตินั้น เมื่อเทียบกับงบประมาณแผ่นดินปัจจุบัน มีค่าเท่ากับเพียงประมาณ 0.5 % ของงบโดยรวมในแต่ละปีเท่านั้น หรือเท่ากับโครงการรถคันแรก แต่ผู้ได้ประโยชน์อาจจะมากกว่าเยอะ”

“นอกจากนั้น ในประเด็นว่าแบงก์ชาติควรลดดอกเบี้ยนโยบายลงหรือไม่ ดร.วีรไท ก็ได้ชี้ให้เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวได้ปรับขึ้น แม้ตอนที่แบงก์ชาติได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ความหมายก็คือ การลดดอกเบี้ยไม่ได้มีผลแต่อย่างใด และส่วนหนึ่งคุณธีระชัย เองก็ได้ชี้ให้เห็นว่า อาจเป็นเพราะรัฐบาลเองกู้เยอะ จึงทำให้มีพันธบัตรรองรับความต้องการของทุนต่างชาติมากขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยประเทศอื่นในเอเชียส่วนใหญ่ก็สูงกว่าของไทยอีกด้วย จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุ ที่ทำให้เราต้องตั้งคำถามว่า ที่เงินบาทแข็งนั้นเป็นเพราะดอกเบี้ยเราสูงจริงหรือ”

“ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล”อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เขียนข้อคววามลงแฟนเพจในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ว่า มีผู้สื่อข่าวสอบถามผมว่า รัฐมนตรีคลังมีอำนาจในการปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติ หรือไม่ พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย มาตรา 28/19 กำหนดการพ้นตำแหน่งโดยการดำเนินการของรัฐมนตรีคลังไว้สองข้อ

(4) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคําแนะนําของรัฐมนตรี เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่

(5) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคําแนะนําของรัฐมนตรี หรือการเสนอของรัฐมนตรีโดยคําแนะนําของคณะกรรมการธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถโดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง

ตอบว่ามีอำนาจครับ แต่ต้องแสดงเหตุผลอย่างชัดแจ้ง

“ขณะนี้รัฐมนตรีคลังขัดแย้งกับผู้ว่าฯธปท. ในงานนโยบาย จึงไม่เข้าลักษณะที่จะใช้ (4) ได้ เพราะไม่มีการประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง หรือทุจริตต่อหน้าที่ ส่วนการใช้ (5) นั้น รัฐมนตรีทำได้โดยตนเอง แต่ต้องพิสูจน์ว่า มีการบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ”

“สิ่งที่กฎหมายกำหนดให้เป็น KPI สำหรับผู้ว่าฯนั้น มีเฉพาะเป้าหมายเงินเฟ้อ ที่แบงก์ชาติต้องตกลงกับกระทรวงคลังทุกปี และขณะนี้ยังไม่เกินเป้า จึงยังไม่สามารถใช้เรื่องเงินเฟ้อในการอ้างเหตุ สิ่งที่รัฐมนตรีพูด แต่กฎหมายมิได้กำหนดไว้ คือ ผลขาดทุนของ ธปท. แต่ถ้าจะอ้างเรื่องนี้ ก็จะมีปัญหาว่า ขาดทุนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผู้ว่าฯ คนนี้อยู่ในตำแหน่งนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการซื้อดอลลาร์ที่เกิดขึ้นในอดีต ก่อนหน้าที่ผู้ว่าฯคนนี้เข้าไปรับตำแหน่ง ดังนั้น จะเหมาให้ผู้ว่าฯคนนี้รับผิดคนเดียว คงไม่ได้ ”

“สิ่งที่พูดอีกเรื่องหนึ่งคือ การที่เงินบาทแข็ง และกระทบส่งออก แต่ถ้าจะอ้างเรื่องนี้ ก็จะมีปัญหาว่า ผู้ว่าฯเขาไม่ได้เป็นคนทำให้เงินบาทแข็ง เงินบาทมันแข็งเอง ในอดีต แบงก์ชาติเคยเข้าไปแทรกแซงด้วยการซื้อดอลลาร์ เพื่อชะลอการแข็งค่า แต่ประธาน ธปท. เขาไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้แบงก์ชาติขาดทุน ผู้ว่าฯ เขาจึงไม่ได้เข้าไปแทรกแซงหนักมือเหมือนดังในอดีต”

ธีระชัย ยังอธิบายอีกว่า “ที่จริงเมื่อเช้านี้ คุณสมชาย สกุลสุรรัตน์ ได้กรุณาชี้ให้ผมเห็นประเด็นว่า สาเหตุหนึ่งที่บาทแข็ง เนื่องจากรัฐบาลออกพันธบัตรกู้เงินมากเกินไป เปิดช่องให้เงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตร ดังนั้น รัฐบาลเป็นคนทำให้เงินบาทแข็ง ไม่ใช่แบงก์ชาติ”

แล้วจะโทษ ผู้ว่าฯธปท. หาสวรรรค์วิมานอะไรเล่า ในเมื่อเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในพันธบัตร แล้วทำให้ความต้องการเงินบาทสูงขึ้น จนส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่า มาจากการกู้เงินของรัฐบาลทั้งสิ้น

ประโยคสุดท้ายนี้ คุณธีระชัย ไม่ได้พูดนะครับ…





กำลังโหลดความคิดเห็น