xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหลังจ้องเขี่ย “ประสาร” พ้นแบงก์ชาติ หวังกลบเรื่องเน่า-ช่วยโฟร์ซีซั่นส์!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักเศรษฐศาสตร์เห็นพ้องลดดอกเบี้ยแก้บาทแข็งไม่ได้ ชี้ปัจจุบันดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ 0.17% หากลดอีกคนเกษียณอายุรับเคราะห์ เผยกระทรวงการคลังมีมาตรการที่ทรงประสิทธิภาพกว่าอย่าง Capital Control แต่กลับไม่ใช้ แย้มลดดอกเบี้ยรัฐได้ประโยชน์ กลบแผลผิดพลาดทั้ง 300 บาท จำนำข้าว แถมเอื้อออกพันธบัตรต้นทุนต่ำ ขณะที่ยักษ์อสังหาริมทรัพย์อย่างแสนสิริและเอสซี แอสเสทรับโชค

ด้วยสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในระดับ 28-29 บาทต่อดอลลาร์ กลายเป็นจังหวะเหมาะให้กับรัฐบาล พยายามสร้างภาพให้ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กลายเป็นต้นเหตุของค่าเงินบาทแข็ง ด้วยการตอกย้ำว่าไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จนทำให้เม็ดเงินจากต่างชาติไหลเข้ามากินส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทย ส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าอย่างรวดเร็ว

นับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งและเป็นรัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทยถูกกดดันจากรัฐบาลชุดนี้มาโดยตลอด นับตั้งแต่แนวคิดที่อยากเอาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเข้ามาจัดตั้งกองทุนมั่งคั่ง เพื่อนำไปลงทุนในด้านพลังงาน โดยมีหัวหอกอย่างนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น

ตามมาด้วยเรื่องการโยกเงินของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่เคยอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง 1.14 ล้านล้านบาท ย้ายกลับมาที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อต้องการให้ตัวเลขหนี้สาธารณะลดลง เนื่องจากรัฐบาลมีแผนที่จะกู้เงินจำนวนมากเพื่อทำโครงการบริหารจัดการน้ำและโครงการเมกะโปรเจกต์

รวมถึงความกังวลของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีต่อโครงการประชานิยมของรัฐบาล ที่แสดงผ่านความห่วงใยในภาวะหนี้ภาคครัวเรือน และปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์

ประจวบเหมาะกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกจากทั้งสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศอียูและประเทศญี่ปุ่น ต่างพิมพ์เงินออกมาเพื่อแก้ปัญหาภายในประเทศของตนเอง ทำให้ปริมาณเงินในโลกเพิ่มขึ้นมหาศาล เม็ดเงินเหล่านี้จึงไหลเข้าหาพื้นที่ที่มีความมั่นคงและให้ผลตอบแทนสูง ประเทศในแถบเอเชียจึงถูกเลือกให้เป็นแหล่งพักเงิน รวมถึงประเทศไทย ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามลำดับ

รัฐบาลจึงได้ออกมากดดันธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อสกัดกั้นการไหลเข้ามาของเม็ดเงินต่างชาติ

รัฐมุ่งแค่ประโยชน์การเมือง

“เป้าหมายของรัฐบาลต้องการเพียงเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต ซึ่งจะเป็นภาพลักษณ์ที่ดีต่อสายตาต่างชาติและยังใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียงครั้งต่อไปได้อีก ขณะที่แบงก์ชาติมุ่งไปที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน จึงเป็นเรื่องปกติที่ทั้ง 2 หน่วยงานย่อมเห็นไม่ตรงกัน” นักเศรษฐศาสตร์กล่าว

ค่าเงินบาทที่แข็งนั้นทางแบงก์ชาติและรัฐบาลต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า การแข็งค่าขึ้นนั้นมาจากสาเหตุใด จากการเข้ามาเก็งกำไรหรือแข็งตามสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง เพื่อจะได้เข้าใจตรงกันและร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างถูกจุด

เมื่อผู้ว่าแบงก์ชาติไม่ตอบสนองต่อความต้องการของรัฐบาล ย่อมต้องถูกกดดัน เป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยทำมาตลอด เหมือนกับหลายหน่วยงานที่ไม่ตอบสนองต่อนโยบายทางการเมือง ไม่แตกต่างจากในช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเคยทำมาก่อน ทั้งในเรื่องการเปลี่ยนหรือย้ายตัวบุคคล แก้กฎหมาย หรือการใช้กลุ่มคนเสื้อแดงที่สนับสนุนรัฐบาลเข้ามากดดัน ซึ่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็ถูกกลุ่มคนเสื้อแดงกดดันเช่นกัน

เพราะถ้าผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยยังนั่งเก้าอี้ต่อไป หลายนโยบายภาครัฐย่อมถูกท้วงติงถึงความไม่เหมาะสมอีกหลายโครงการ

ดอกเบี้ยต่ำทำลายการออม

ถามว่าถ้าแบงก์ชาติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้วจะทำให้ค่าเงินบาทหยุดแข็งหรือไม่ สิ่งที่จะต้องถามต่อไปคือลดลงเท่าไหร่ เพราะการที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อสกัดกั้นการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศอย่างได้ผล จะต้องลดลงไป 1-1.5% ดังนั้นดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ประมาณ 1.25-1.75% เชื่อว่าแบงก์ชาติคงไม่ตัดสินใจปรับลดลงขนาดนั้น

ฝ่ายการเมืองมองเพียงมิติเดียว คือ ต้องการแก้ปัญหาค่าเงินบาท เพื่อมุ่งรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ขณะที่แบงก์ชาติต้องมองทั้งระบบและคนหลายกลุ่ม ดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.75% เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ 4 เดือนแรกของปี 2556 อยู่ที่ 2.92 เท่ากับดอกเบี้ยที่แท้จริงของเรายังติดลบ 0.17%

หากปรับลดลงตามที่นักการเมืองต้องการจะทำให้เกิดปัญหาต่อภาวะเงินออมของประเทศ กระทบต่อผู้สูงอายุที่พ้นวัยทำงาน ซึ่งหวังพึ่งพาดอกเบี้ยจากเงินก้อนสุดท้ายที่มีไว้ใช้จ่ายในช่วงเวลาที่เหลือของชีวิต

นอกจากนี้ยังเท่ากับเป็นการทำลายการออมของประเทศ เมื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำลงมาก ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานที่จะเก็บออมน้อยลง ท้ายที่สุดก็จะเป็นปัญหาในการระดมเงินเพื่อผลักดันโครงการต่างๆ ของรัฐบาลที่เน้นการกู้เงินในประเทศเป็นหลัก

เร่งเงินเฟ้อ

ปกติการลดอัตราดอกเบี้ยส่วนใหญ่จะกระทำเพื่อต้องการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ แต่เวลานี้เศรษฐกิจของไทยเติบโตราว 4-5% หากหวังเพียงเพื่อลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยจะทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา

หากมองในภาพกว้าง การลดอัตราดอกเบี้ยจะเป็นตัวกระตุ้นกำลังซื้อของภาคประชาชน เมื่อบวกกับเงินต่างชาติที่ไหลเข้ามา และมีปัจจัยหนุนอย่างค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาลที่ใช้อัตราเดียวทั่วประเทศเมื่อต้นปี 2556 ทำให้ราคาสินค้าในประเทศหลายรายการขยับราคาขึ้น จะเป็นตัวเร่งให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ท้ายที่สุดธนาคารแห่งประเทศไทยก็ต้องหันกลับมาคุมเงินเฟ้อตามแนวทางที่ได้ตกลงไว้กับรัฐบาลอยู่ดี

ในอีกด้านหนึ่งหากค่าเงินบาทอ่อนลง จะส่งผลต่อราคาน้ำมันในประเทศ เห็นได้จากช่วงที่ผ่านมา ราคาน้ำมันปรับลดลงหลายครั้ง ก็เพราะค่าเงินบาท ดังนั้นภาครัฐจึงควรพิจารณาผลดีผลเสียของเรื่องค่าเงินให้ดี

คลังก็มีเครื่องมือแต่ไม่ใช้

มาตรการในการสกัดกั้นเม็ดเงินต่างชาติ ไม่ให้ไหลเข้ามามากจนเงินบาทแข็งนั้น ไม่ใช่ทำได้แค่ลดอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว ยังมีมาตรการอื่นที่เคยใช้ได้ผลมาแล้วในช่วงปี 2549 ยุคที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ด้วยการใช้ Capital Control ด้วยการให้เม็ดเงินต่างชาติที่จะเข้ามาต้องมีการกันสำรองไว้ 30% แม้ว่าจะต้องแลกกับภาวการณ์เทขายหุ้นอย่างหนัก แต่ก็ทำให้การเข้ามาเก็งกำไรของนักลงทุนต่างชาติหายไป โดยมาตรการเหล่านี้สามารถที่จะออกแบบได้ เริ่มจากเบาไปหนัก

หรือมาตรการเก็บภาษีจากเม็ดเงินต่างชาติ ก็สามารถหยุดยั้งการเข้ามาเก็งกำไรได้ มาตรการเหล่านี้อยู่ในมือของกระทรวงการคลัง แต่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปฏิเสธที่จะทำตั้งแต่แรก

สำหรับมาตรการของแบงก์ชาติที่เสนอต่อฝ่ายการเมือง ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 การออกพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่สามารถกำหนดห้ามไม่ให้ต่างชาติซื้อพันธบัตร มาตรการที่ 2 การออกพันธบัตรของกระทรวงการคลังให้กำหนดระยะเวลาการถือครอง เช่น 3 เดือน หรือ 6 เดือน เพื่อป้องกันการเก็งกำไร มาตรการที่ 3 เสนอให้เก็บภาษีและค่าธรรมเนียมสำหรับต่างชาติที่มาลงทุนในตลาดตราสารหนี้เมื่อได้รับผลตอบแทน และมาตรการที่ 4 กรณีที่นักลงทุนต่างประเทศนำเงินเข้ามา ต้องทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อบังคับไม่ให้ได้รับผลตอบแทนทางบวก

ดังนั้นคงต้องรอดูว่ารัฐบาลจะนำเอามาตรการเหล่านี้มาใช้เพื่อหยุดยั้งเงินบาทที่แข็งค่าหรือไม่
พนักงานบริษัท กบินทร์บุรีแพนเอเชียฟุตแวร์ ถูกเลิกจ้าง
กลบแผลรัฐบาล

ต่อกรณีนี้นักวิชาการหรือนักเศรษฐศาสตร์หลายท่าน ต่างเห็นตรงกันว่าการลดอัตราดอกเบี้ย ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาเรื่องเงินบาทแข็งค่าได้ จะต้องมีมาตรการอื่นๆ ดำเนินการควบคู่กันไป

สิ่งที่หลายคนสงสัยกันคือ ทำไมรัฐบาลต่างจี้ไปที่แบงก์ชาติให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว

การลดอัตราดอกเบี้ยช่วยให้เงินทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาในประเทศไทยน้อยลงได้ในระดับหนึ่ง แต่อัตราดอกเบี้ยที่ลดจะต้องมากพอเพื่อให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศต้นทางและประเทศไทยแคบลง แต่จะกระทบต่อประเทศไทยในเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง

สิ่งที่รัฐบาลจะได้จากการลดอัตราดอกเบี้ย คือ เศรษฐกิจจะโตขึ้นกว่าปกติ เพราะคนออมเงินน้อยลง หันมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เนื่องจากออมแล้วได้ผลตอบแทนน้อย

ประการต่อมายังเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มส่งออก ที่ประสบปัญหาเงินบาทแข็งขายสินค้าไม่ได้ คราวนี้คงต้องย้อนกลับไปดูนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาว่า ทำให้กลุ่มส่งออกของไทยพร้อมแข่งขันกับต่างประเทศหรือไม่ นโยบายค่าแรง 300 บาท และการปรับราคาพลังงาน ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น มีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ต้องปิดกิจการหรือย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ เมื่อมาเจอกับค่าเงินบาทที่แข็งยิ่งทำให้โอกาสของการปิดกิจการมีมากขึ้น

ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องหาทางแก้ปัญหานี้ โดยมุ่งไปที่เรื่องค่าเงินบาท ทั้งๆ ที่ผู้ประกอบการต่างเจ็บตัวกับนโยบายของรัฐบาล เพียงแต่ภาครัฐไม่ออกมาพูดในเรื่องนี้ โยนเรื่องไปที่ค่าเงินบาทและทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นแพะของเรื่องนี้ โดยที่รัฐบาลมีเครื่องมือในการควบคุมการไหลเข้าของเงินต่างชาติที่ทรงอานุภาพมากกว่าแต่กลับไม่ใช้

ลดขาดทุนจำนำข้าว

อีกนโยบายหนึ่งที่รัฐบาลมองว่าหากค่าเงินบาทกลับสู่ภาวะปกติ จะช่วยให้ลดภาพลบของรัฐบาลได้คือโครงการรับจำนำข้าว รัฐบาลยิ่งลักษณ์เดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 รับจำนำในราคาที่สูงกว่าตลาด และยังมีปัญหาในเรื่องการระบายข้าว ต้องเก็บไว้ในโกดังเป็นจำนวนมาก

ด้านหนึ่งเป็นการเข้ามาแทรกแซงตลาด ทำลายพ่อค้าเดิมที่มีอยู่ จนรัฐบาลกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุด แถมยังขาดทุนจากโครงการดังกล่าว ยิ่งเมื่อเจอค่าเงินบาทที่แข็ง ย่อมทำให้โอกาสของการขาดทุนยิ่งมากขึ้น และถ้าไม่สามารถระบายข้าวออกไปได้ จะทำให้ข้าวเสื่อมสภาพ ราคาขายก็จะตกลงไปอีก เท่ากับเพิ่มภาระขาดทุนของนโยบายนี้ให้มากยิ่งขึ้น โดยรัฐหวังว่าหากค่าเงินบาทเริ่มอ่อนลงหรือกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โอกาสขาดทุนจากโครงการนี้จะน้อยลง
โครงการรับจำนำข้าว
กดดอกเบี้ยพันธบัตรต่ำ

ตามด้วยโครงการของรัฐบาลอย่างการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท หรือโครงการเมกะโปรเจกต์ 2.2 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลเดินหน้าอยู่ในเวลานี้ โจทย์ของการหาเงินมา รัฐบาลประกาศชัดเจนว่าจะเป็นการระดมเงินจากในประเทศ หากอัตราดอกเบี้ยในประเทศอยู่ในระดับสูงย่อมเป็นภาระต่อรัฐบาลเพราะเงินเหล่านี้ถือเป็นหนี้สาธารณะ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยอาจทำให้หนี้สาธารณะขึ้นไปแตะที่ 60% ดังนั้นการหาทางให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศลดลงจึงเป็นความจำเป็นของรัฐบาล
โครงการเมกะโปรเจกต์ 2.2 ล้านล้านบาท
อสังหาฯ ใกล้นายกฯ รับโชค

อีกธุรกิจหนึ่งที่จะได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยขาลงนั่นคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยขณะนี้มุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทยกับรัฐบาลแตกต่างกัน แบงก์ชาติมองว่าเริ่มมีภาวะฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บ้างแล้ว เห็นได้จากการเปิดโครงการใหม่ๆ ของผู้ประกอบการ และเริ่มขยายไปเปิดตามต่างจังหวัดมากขึ้น แต่รัฐบาลกลับมองว่ายังไม่มีสัญญาณของภาวะฟองสบู่

เมื่อต้นปี 2556 บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศเปิดตัวโครงการใหม่ 45 โครงการ มูลค่า 6.1 หมื่นล้านบาท และบริษัท เอสซี แอสเซท จำกัด (มหาชน) เตรียมพัฒนาพื้นที่ 13 โครงการ มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท และยังมีผู้ประกอบการรายอื่นๆ อีก

การโฟกัสไปที่ 2 บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อย่างแสนสิริ ต้องยอมรับว่าในช่วงรัฐบาลนี้ แสนสิริที่มีหัวเรือใหญ่อย่าง นายเศรษฐา ทวีสิน มีความสนิทสนมกับรัฐบาลชุดนี้เป็นพิเศษ ทั้งเรื่องที่นายกรัฐมนตรีไปทำภารกิจพิเศษที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ หนึ่งในนั้นก็มีเจ้าของแสนสิริรวมอยู่ด้วย อีกทั้งเศรษฐายังเป็นคนสนิทของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ส่วนกรณีของเอสซี แอสเสทนั้น ทุกคนทราบดีว่าบริษัทนี้เป็นของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยาของทักษิณ ก่อนหน้านี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยนั่งเป็นผู้บริหารในบริษัทแห่งนี้

เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยแสดงความกังวลในเรื่องภาวะฟองสบู่ของภาคอสังหาริมทรัพย์ เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่า แบงก์ชาติอาจมีมาตรการเข้ามาควบคุม ทั้งเรื่องของเงินดาวน์ที่เคยบังคับใช้ไปก่อนหน้านี้หรืออาจใช้อัตราดอกเบี้ยสูง ดังนั้นมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทยจึงไม่เป็นผลดีต่อธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์

“เราเชื่อว่าการแก้ปัญหาค่าเงินบาท รัฐบาลคงไม่ได้เน้นไปที่ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าถ้าลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ตามแรงกดดันของรัฐบาล ภาคอสังหาริมทรัพย์จะได้รับประโยชน์ไปด้วย และบังเอิญที่ทั้ง 2 บริษัทนี้ใกล้ชิดกับรัฐบาล”

“ประสาร” กองหนุนเพียบ

อย่างไรก็ตาม การกดดันผู้ว่าแบงก์ชาติที่รัฐบาลกำลังดำเนินการในขณะนี้ ไม่ว่าเป้าหมายคือ ต้องการให้ลดอัตราดอกเบี้ย หรือเป้าหลักเพื่อต้องการเปลี่ยนตัวผู้ว่าการฯ แต่เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบที่เป็นอยู่ในเวลานี้ คงไม่ใช่เรื่องง่าย

เริ่มจากพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ถือว่าเป็นเกราะชั้นดีที่ลดอำนาจของนักการเมืองที่จะเข้ามาแทรกแซงแบงก์ชาติ เนื่องจากการเปลี่ยนตัวผู้ว่าการฯ ไม่สามารถทำได้ง่ายเหมือนในอดีต แม้ว่าภาคการเมืองจะส่ง ดร.วีรพงศ์ รามางกูร เข้ามาเป็นประธานแบงก์ชาติแล้วก็ตาม

ประการต่อมาบรรดานักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ หรืออดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่างออกมาสนับสนุนแนวทางของผู้ว่าการฯ แทบทั้งสิ้น อีกทั้งระหว่างแบงก์ชาติกับนักการเมือง ในสายตาของภาคประชาชนและต่างชาติ จะให้ความเชื่อถือต่อธนาคารกลางมากกว่านักการเมือง

นอกจากนี้สายสัมพันธ์ของ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการฯ ล้วนแล้วแต่มีเพื่อนในหลายวงการ ทั้งฝั่งของรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึงผู้บริหารสื่อเศรษฐกิจรายใหญ่ที่มีทั้งภาคภาษาอังกฤษและภาษาไทย

หากรัฐบาลเดินหน้าปลดผู้ว่าการฯ คงต้องเจอกับแรงต่อต้านจากนักวิชาการเหล่านี้ นักลงทุนต่างชาติและเครือข่ายอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของรัฐบาลกันขนานใหญ่

จะเห็นได้ว่าเป้าหมายที่รัฐบาลกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย มุ่งลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่านั้น น่าจะมีเป้าหมายอื่นพ่วงเข้าไปด้วย เพราะลำพังเพียงแค่การลดอัตราดอกเบี้ยคงไม่สามารถสกัดกั้นการไหลเข้ามาของเม็ดเงินต่างชาติได้ แต่ต้องมีมาตรการอื่นจากกระทรวงการคลังเพิ่มเข้ามาด้วย

แต่การลดอัตราดอกเบี้ยจะกลายเป็นประโยชน์ให้กับหลายโครงการของรัฐบาลที่ดำเนินการไปแล้วเกิดปัญหา รวมถึงยังเป็นการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลไปในตัว

กำลังโหลดความคิดเห็น