ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ที่นี่คือประเทศไทยในยุค“กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม ผู้ดีจะเดินตรอก ขี้ครอกจะเดินถนน”
และที่สำคัญที่สุด ที่นี่คือประเทศไทยในยุคระบอบทักษิณครองเมือง
ดังนั้น โปรดอย่าถามหาจริยธรรมและความรับผิดชอบของ “นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพราะนายยงยุทธสะกดคำนี้ไม่เป็นมาตั้งแต่ต้นแล้ว ไม่เช่นนั้นขณะนายยงยุทธเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย คงไม่ใช้อำนาจรักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทยรับรองการซื้อขายที่ดินวัดธรรมามิการามฯ กับบริษัทอัลไพน์ว่าถูกต้องตามกฎหมายทุกประการเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2545
ทั้งๆ ที่นายยงยุทธรู้อยู่เต็มอกแล้วว่า ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 เมื่อมีการยกที่ดินให้วัด แม้มีผู้นำที่ดินไปออก น.ส.3ก. และเปลี่ยนแปลงขึ้นทะเบียน ราชพัสดุ ที่ดินนั้นยังคงสภาพเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์เช่นเดิม
เพราะตรรกะดังกล่าวมิได้ต่างอะไรไปจากมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ที่ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงและมีมติปลดออกจากตำแหน่ง เพราะนอกจากนายยงยุทธจะไม่ลาออกและประกาศชัดเจนที่จะนั่งถ่างขาใน 2 เก้าอี้ต่อไปแล้ว นายยงยุทธยังยืนยันว่า มิได้ทำความผิดในคดีที่ดินอัลไพน์อีกต่างหาก
กระนั้นก็ดี สิ่งที่สังคมจำเป็นต้องตั้งคำถามอย่างหนักจากกรณีที่เกิดขึ้นก็คือ
หนึ่ง-โดยข้อเท็จจริงแล้ว พระราชบัญญัติล้างมลทิน พ.ศ.2550 มีผลต่อการประพฤติชั่วเมื่อครั้งเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทยของนายยงยุทธได้หรือไม่
และสอง-ถ้าในที่สุดเรื่องราวดำเนินไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ และมีการวินิจฉัยออกมาชัดเจนว่า พระราชบัญญัติล้างมลทินไม่มีผลต่อการลบล้างความผิด จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสถานะที่นายยงยุทธดำรงมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันอย่างไรบ้าง ทั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
แน่นอน เรื่องนี้ แม้ปากพรรคเพื่อไทย รัฐบาลและนายยงยุทธจะด้านหน้าออกมายืนยันว่า ความผิดถูกลบล้างไปหมดแล้ว แต่ลึกๆ แล้วเชื่อว่า พวกเขามีความหวั่นวิตกเกี่ยวกับกรณีนี้ไม่น้อย ไม่เช่นนั้นแล้ว นายยงยุทธที่มีกำหนดการนั่งเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2555 ที่ผ่านมาคงไม่ยกเลิกภารกิจดังกล่าวไปเสียเฉยๆ โดยอ้างว่าติดภารกิจน้ำ ท่วม พร้อมทั้งมอบหมายให้ ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง นั่งเป็นประธานแทน ทั้งๆ ที่มีวาระสำคัญยิ่งในการแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด
** 43 ปีธรณีสงฆ์อัลไพน์ “เสนาะ-ยงยุทธ” สุดท้ายไม่มีใครรับโทษ
20 พฤศจิกายน พ.ศ.2512
“ยายเนื่อม ชำนาญชาติศักดา” ได้บริจาคที่ดินจำนวน 924 ไร่ 2 งาน 75 ตารางวา ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ให้ “วัดธรรมิการาม วรวิหาร” ซึ่งตั้งอยู่ที่เขากระจก อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ดำรงสืบต่อไป จากนั้นถัดมาอีก 2 ปี คือวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2514 ยายเนื่อมเสียชีวิตและได้มีการโอนที่ดินให้แก่วัดตามเจตนารมณ์เพื่อเป็นที่ดินธรณีสงฆ์
ต่อมาปัญหาทั้งหลายทั้งปวงก็ได้เกิดขึ้น เมื่อที่ดินผืนงามได้มีการโอนขายให้กับ บริษัท อัลไพน์เรียลเอสเตท จำกัด และบริษัท อัลไพน์กอล์ฟแอนด์ สปอร์ต คลับ จำกัด ทั้งๆ ที่พินัยกรรมยายเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ระบุชัดเจนว่า ยกที่ทั้ง 924 ไร่ ให้วัดธรรมามิการามวรวิหาร โดยซื้อขายกันในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2533 รวมเป็นเงินทั้งสิ้นราว 130 ล้านบาท
แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ บริษัท อัลไพน์เรียลเอสเตท จำกัด และบริษัท อัลไพน์กอล์ฟแอนด์ สปอร์ต คลับ จำกัด มีผู้ถือหุ้นคือ นางอุไรวรรณ เทียนทอง ภริยานายเสนาะ นายวิทยา เทียนทอง และนายชูชีพ หาญสวัสดิ์
โดยที่ในขณะนั้น นายเสนาะ เทียนทองดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแลกรมที่ดิน
และที่เด็ดที่สุดอยู่ตรงที่ หลังที่ธรณีสงฆ์ของยายเนื่อมตกเป็นของ บริษัท อัลไพน์เรียลเอสเตท จำกัด และบริษัท อัลไพน์กอล์ฟแอนด์ สปอร์ต คลับ จำกัด และจัดการแปลงสภาพเป็นสนามกอล์ฟสำเร็จสมใจนึก ในปี พ.ศ.2540 ก็มีการขายต่อให้กับ “คุณหญิงพจมาน ชินวัตร” ซึ่งขณะนั้นดำรงสถานะเป็นภริยาที่ถูกต้องตามกฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในราคา 500 ล้านบาท
ซื้อและขายทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มหัวใจทั้งสองฝ่ายว่า ที่ดินผืนดังกล่าวคือที่ธรณีสงฆ์ที่ยายเนื่อม ชำนาญชาติศักดิ์บริจาคให้วัดธรรมมิการามวรวิหาร
ซื้อและขายทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มหัวใจทั้งสองฝ่ายฝ่ายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม เมื่อความผิดปรากฏชัดแจ้งและระบบนิติรัฐของราชอาณาจักรไทยยังมิได้ล่มสลายเหมือนเช่นในปัจจุบัน อธิบดีกรมที่ดินในขณะนั้นก็ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2544 ให้ยกเลิกโฉนดที่แบ่งแยก และเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนมรดก และการโอนขาย อันส่งผลทำให้ที่ดินของยายเนื่อมกลับคืนเป็นที่ธรณีสงฆ์อีกครั้ง
ทว่า เรื่องเหลือเชื่อก็เกิดขึ้นตามมา เมื่อนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทยและรักษาราชการแทนปลัดมหาดไทย ได้ออกคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ให้ยกเลิกโฉนดที่ดินดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง ซึ่งกฎหมายเปิดช่องให้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจำนวนมากที่พักอาศัย หรือมีที่ดินในหมู่บ้านอัลไพน์
และอานิสงส์ในครั้งนั้น ก็ได้นำพาให้นายยงยุทธก้าวขึ้นไปเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคเพื่อไทย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามลำดับ
แต่ในที่สุด นายเสนาะ เทียนทองและนายยงยุทธ วิชัยดิษฐก็ไม่อาจหลุดรอดจากผลกรรมที่ทำเอาไว้
กล่าวสำหรับนายเสนาะนั้น เมื่อมีการนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และในปี พ.ศ.2553 ป.ป.ช. มีมติว่า นายเสนาะ เทียนทอง ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตจากนั้นได้ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) แต่ อสส.สั่งไม่ฟ้อง อ้างคดีขาดอายุความป.ป.ช.จึงได้ส่งเรื่องไปยัง "ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" แต่ศาลได้พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากไม่ได้ตัวจำเลยไปศาลภายในกำหนดอายุความ
สรุปก็คือ นายเสนาะทำความผิดจริง แต่ผลกรรมไม่สามารถไล่ล่าลากคอเอามาลงโทษได้ ทำให้นายเสนาะยังคงลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคมได้ในปัจจุบัน
ขณะที่ความผิดของนายยงยุทธ นั้น เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2555 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาข้อกล่าวหานายยงยุทธ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย กรณีมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ให้ยกเลิกโฉนดที่ดินซึ่งจดทะเบียนในนามสนามกอล์ฟอัลไพน์ที่แบ่งแยกออกมาจากโฉนดที่ดิน เลขที่ 20 และเลขที่ 1446 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อันเป็นการโอนที่ธรณีสงฆ์โดยมิชอบ
โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติด้วยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง ชี้มูลความผิดว่า การกระทำของนายยงยุทธ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม, มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง
และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาแล้ว จึงมีมติว่า การกระทำของนายยงยุทธ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีความผิดวินัยร้ายแรง ให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
จากนั้นเมื่อวันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ.2555 ที่ประชุม อ.ก.พ.มหาดไทย ซึ่งมีนายชูชาติ หาญสวัสดิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน มีมติให้ปลดนายยงยุทธออกจากปลัดกระทรวงมหาดไทย ท่ามกลางความสงสัยว่า อ.กพ.มหาดไทยและนายชูชาติไปกินดีหมีมาจากไหนถึงกล้าลงดาบต่อเจ้านายและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
กระทั่งความจริงปรากฏจากคำอธิบายของ “นายไพฑูรย์ บุญวัฒน์” อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารและการจัดการ อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย ที่เปิดเผยความจริงว่า แท้ที่จริงแล้ว ที่ประชุม อ.ก.พ. มีมติเอกฉันท์ให้นายยงยุทธไม่มีความผิด แต่ต้องลงมติลงโทษวินัยร้ายแรงตามมติของ ป.ป.ช.
พร้อมทั้งมีข้ออ้างทางกฎหมายจากหน่วยงานงานสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนและกระทรวงมหาดไทยมารองรับ ราวกับมีการเตรียมการล่วงหน้าเอาไว้เรียบร้อยแล้ว
สรุปชัดๆ ก็คือ อ.กพ.มหาดไทย ไม่เห็นว่านายยงยุทธ มีความผิดตามที่ คณะกรรมการป.ป.ช.ชี้มูล และถึงแม้นายยงยุทธ จะผิดตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่ก็ได้รับการล้างมลทิน เรียบร้อยแล้วจึงถือว่าไม่เคยถูกลงโทษมาก่อน
ด้วยเหตุดังกล่าว นายยงยุทธก็ยังคงเหนียวแน่นอยู่กับเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยมิได้มีท่าทีสะทกสะท้านแต่ประการใด เพราะนายยงยุทธรู้อยู่เต็มอกว่า ไม่มีใครหรืออ้ายอีหน้าไหนสามารถสั่นสะเทือนเก้าอี้ของเขาได้ เพราะที่นี่คือประเทศไทยในยุคระบอบทักษิณซึ่งใครก็ตามที่จงรักภักดีย่อมได้รับการปกป้องและคุ้มครองดูแลอย่างถึงที่สุด
ยิ่งกับผู้ที่มีความดีความชอบสูงสุดสามารถจับฉลากให้พรรคเพื่อไทยได้หมายเลข 1 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกระทั่งสามารถนำพา “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยแล้ว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าจะได้รับการดูแลขนาดไหน
**พ.ร.บ.ล้างมลทิน คำโกหกจากเนติบริกร
ปัญหามีอยู่ว่า คำกล่าวอ้างของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และปลัดกระทรวงมหาดไทยชื่อ “พระนาย” นามสกุล “สุวรรณรัฐ” ที่บากหน้ามาปกป้องด้วยการอ้าง พ.ร.บ.ล้างมลทินนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่
ทั้งนี้ เนื่องเพราะคำว่า รับโทษ ตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินปี พ.ศ.2550 มีเสียงแย้งจากนักวิชาการและนักกฎหมายเป็นจำนวนมากว่าจะต้องได้รับโทษก่อน พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้แล้วเท่านั้นจึงจะใช้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ได้ แต่กรณีของนายยงยุทธ ยังไม่ได้รับโทษทางวินัย ได้รับบำเหน็จและบำนาญตามปกตินับตั้งแต่เกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2545 อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งที่มีคุณสมบัติต้องห้ามว่าต้องไม่เคยถูกปลดออก ไล่ออก ให้ออกได้ด้วย จึงเท่ากับว่านายยงยุทธไม่เคยรับโทษ ดังนั้น ทำให้ไม่มีสิทธิใช้ พ.ร.บ.ล้างมลทินมาเป็นประโยชน์กับตัวเอง
ยิ่งเมื่อเปิดดู พ.ร.บ.ล้างมลทินก็ยิ่งเห็นความตะแบงของเหล่าเนติบริกรของระบอบทักษิณได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะในมาตรา 5 ที่เขียนเอาไว้ว่า “...ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ถูกลงโทษทางวินัยในกรณีซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และได้รับโทษหรือรับทัณฑ์ทั้งหมดหรือบางส่วนไปก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้น ๆ”
แต่หลักฐานที่เด็ดที่สุดก็คือ คำให้สัมภาษณ์ของ “อำมาตย์หมวกแดง” ชื่อ “พระนาย สุวรรณรัฐ” ที่ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า การลงโทษทางวินัยนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ นั้นมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2545 ซึ่งเป็นวันสิ้นปีงบประมาณที่นายยงยุทธมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์เป็นต้นไป
คำถามก็คือ การลงโทษของกระทรวงมหาดไทยที่ให้ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2545 นั้น เป็นการลงโทษจริงหรือไม่ และนายยงยุทธได้รับโทษทัณฑ์ที่จะเข้าข่ายตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินที่ตรงไหน
เพราะนั่นเป็นการลงโทษพร้อมๆ กับการเกษียณอายุราชการของนายยงยุทธ
“เท่าที่ทราบกฎหมายฉบับนี้มีเจตนาที่จะล้างมลทินให้แก่ผู้ที่กระทำความผิดก่อนวันที่ 5 ธ.ค. 2550 ซึ่งต้องไปดูว่านายยงยุทธเคยถูกตั้งกรรมการสอบวินัยก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้หรือไม่ ถ้าไม่เคยแต่เพิ่งจะถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงในวันที่ 13 มิ.ย. 2555 ก็เท่ากับยังไม่เคยมีมลทินมาก่อน จนกระทั่งถูกชี้มูลดังกล่าว ดังนั้นเมื่อไม่เคยมีมลทินมาเลยจะใช้กฎหมายฉบับนี้มาเป็นประโยชน์คงไม่ได้ เพราะ พ.ร.บ.นี้ มาตรา 5 ระบุว่า ผู้ที่ได้รับการล้างมลทินต้องรับโทษทั้งหมดหรือบางส่วนก่อน อยู่ดีๆ จะล้างมลทินโดยที่ไม่ได้รับโทษจากความผิดนั้นไม่เคยปรากฏ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยแจ้งมายัง ป.ป.ช.ตั้งแต่สมัยคุณพรทิพย์ จาละ ดำรงตำเเหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า กรณีที่ข้าราชการยังไม่รับโทษมาก่อนต้องดำเนินการตามกฎหมาย ป.ป.ช. จะใช้ พ.ร.บ.ล้างมลทินไม่ได้
“ท่านทั้งหลาย ตอนนี้ก็เปรียบเสมือนช่างทำรองเท้า และกำลังจะตัดรองเท้าให้ท่านรัฐมนตรีเดินอย่างสง่างาม แต่อย่ามาใช้วิธีการตัดเท่าให้เข้ากับรองเท้า ที่ได้เตรียมทำไว้แล้ว เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็อาจจะบาดเจ็บ เดินเข้าไม่ถูก ต้องเข้าโรงพยาบาลผ่าตัด ช่วยตัดรองเท้าให้เข้ากับท่านดีกว่า ขณะนี้อยากให้ระวังเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะหากกระทำอะไรลงไปอาจมีปัญหาตามมาได้ จึงคิดว่าพรรคการเมืองใหญ่ควรต้องให้ความระมัดระวังในข้อนี้ให้มา ไม่อยากให้มาสะดุดกับเรื่องพวกนี้”นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ให้ความเห็น
ดังนั้น สังคมจึงไม่แปลกใจว่า ทำไมนายยงยุทธถึงตัดสินใจไม่เป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรีแทนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา
นายคมสัน โพธิคง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้ความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า ไม่เห็นด้วยที่นายยงยุทธจะอ้างกฎหมายล้างมลทินเพื่อเป็นรัฐมนตรีต่อ โดยเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และสะท้อนถึงการขาดจริยธรรมของนายยงยุทธที่ไม่สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนไทยได้ เนื่องจากการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.นั้นเกิดในวันที่ 13 มิ.ย. 2555 ดังนั้น การนับช่วงเวลาในการกระทำความผิดจึงควรนับตั้งแต่มีการชี้มูล ไม่ใช่เริ่มนับจากช่วงเวลาที่กระทำความผิด เพราะในขณะนั้นยังไม่มีใครชี้ว่านายยงยุทธได้กระทำผิดแล้ว
“ผมคิดว่านายยงยุทธควรมีความละอายใจบ้าง ไม่ควรใช้กฎหมายล้างมลทิน แต่ควรลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว เพราะตามกฎหมาย ป.ป.ช.ก็ระบุชัดว่าเมื่อมีการชี้มูลผู้ถูกชี้มูลต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพื่อที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงเรื่องพยานหลักฐาน แต่นายยงยุทธกลับทำหน้าที่ต่อไป โดยที่นายกรัฐมนตรีก็ไม่ดำเนินการอะไรในฐานะเป็นผู้นำรัฐบาล ซึ่งผมก็ไม่ได้คาดหวังกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะผมคิดว่าเธอไม่รู้เรื่องอะไรเลย งงๆ ไปหมดทุกเรื่อง จึงไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ผมคิดว่านายกฯ ออกจะเอ๋อๆ ดังนั้นจะหวังว่าให้นายกฯ สร้างมาตรฐานทางจริยธรรมคงยาก” นายคมสันอธิบาย
เช่นเดียวกับ นายเกรียงศักดิ์ วรมงคลชัย อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการสภาทนายความ ให้ความเห็นเอาไว้ว่า “คดีของนายยงยุทธถึงแม้มติของ อ.ก.พ.จะให้มีผลย้อนหลังไปเมื่อปี 2546 ซึ่งจะทำให้นายยงยุทธเข้าหลักเกณฑ์ พ.ร.บ.ล้างมลทิน แต่ในทางวงการกฎหมายนั้นเป็นที่รู้กันว่า ทาง อ.ก.พ. เพิ่งจะมีการชี้มูลความผิดและนายยงยุทธก็ไม่เคยได้รับโทษมาก่อนจึงไม่สามารถรับผลพวงจาก พ.ร.บ.ล้างมลทินฉบับนี้ได้”
ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็คือ เมื่อนายยงยุทธและรัฐบาลพรรคเพื่อไทยดึงดันที่จะใช้กฎหมายล้างมลทินก็ย่อมก่อให้เกิดปัญหาทางข้อกฎหมายตามมา และสุดท้ายเรื่องก็จะไปจบลงตรงที่การส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีคำวินิจฉัย ซึ่งขณะนี้มีหลายองค์กรดำเนินการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยสามารถดำเนินการได้สามช่องทาง คือ
หนึ่ง-ส.ส.เข้าชื่อ 1 ใน 10 ประมาณ 49 คนร้องประธานสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ
สอง-ยื่นคำร้องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินให้ดำเนินการในเรื่องนี้
และสาม-ยื่นให้ กกต.ดำเนินการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ
เพราะต้องไม่ลืมว่า การที่คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทยมีมติไล่ออกนายยงยุทธ ทำให้สมาชิกภาพการเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทยของนายยงยุทธสิ้นสุดตามข้อบังคับพรรค อีกทั้งถ้าพิจารณาคำสั่งของ อ.ก.พ.ที่ให้ไล่ออกนายยงยุทธโดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ 30 ก.ย. 45 นั้น ก็เท่ากับว่าสมาชิกภาพการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยของนายยงยุทธ สิ้นสุดไปก่อนการเลือกตั้งครั้งล่าสุด 3 ก.ค. 2554
เมื่อนายยงยุทธขาดจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยแล้ว ก็ไม่มีสิทธิเซ็นอนุมัติการส่งสมาชิกพรรคลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และส.ส.แบบแบ่งเขต แต่นายยงยุทธกลับเซ็นอนุมัติการส่งสมาชิกพรรคลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และส.ส.แบ่งเขต จึงถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และพ.ร.ป.ว่าด้วย การเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.
และนั่นสามารถนำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทยได้
เมื่อเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงตอนนี้ ดูเหมือนว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ จะไม่ยอมเสี่ยงไปกับนายยงยุทธ จึงสั่งไม่ให้เขาทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยส่งไปตรวจพื้นที่น้ำท่วมจังหวัดปราจีนบุรีแทน ขณะที่นายยงยุทธ เดินเกมสยบ กระแสกดดันด้วยการส่ง "เด็จพี่" นายพร้อมพงษ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ยื่นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติความเป็นส.ส.หลังจากที่อ.กพ.กระทรวงมหาดไทย มีมติปลดออกจากราชการ แต่จะไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งเด็ดขาด
อย่างไรก็ตาม คงต้องบอกว่า การตะแบงอุ้มนายยงยุทธนั้น ไม่ใช่แค่ความพยายามหาช่องหลบเลี่ยงกฎหมายเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นคุณธรรมและจริยธรรมนักการเมืองที่ตกต่ำสุดขีดอีกด้วย ไม่นับว่า หากนายกรัฐมนตรี ออกมาอุ้มคนที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดว่าทุจริตต่อหน้าที่แล้วจะมากล่าวอ้างว่ารัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการต่อต้านทุจริตคอรัปชั่นได้อย่างไร
อาถรรพ์อัลไพน์ คนโกงที่ดินธรณีสงฆ์ มักมีอันเป็นไป ชดใช้กรรมที่ก่อ คราวนี้ถึงคิวของ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ - พระนาย สุวรรณรัฐ - ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น่าติดตามอย่างยิ่งว่าพวกเขาจะพบจุดจบเช่นใด
และนั่นคือสิ่งที่จะบ่งชี้ให้เห็นว่า วันนี้ประเทศไทยอยู่ในยุค“กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม ผู้ดีจะเดินตรอก ขี้ครอกจะเดินถนน” สมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่
และนั่นคือสิ่งที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่า วันนี้ประเทศไทยอยู่ในยุคระบอบทักษิณครองเมืองร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่
หมายเหตุ : ตอนนี้ 'ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์' มีแฟนเพจแล้วนะครับ ขอเชิญท่านผู้อ่านร่วมพูดคุย แสดงความคิดเห็นกันได้ที่ http://www.facebook.com/#!/Astvmanagerweekend