xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิชา มหาคุณ “คดีอัลไพน์ ไม่มีหรอกที่จะเอาผิดอะไรไม่ได้” “คดีนี้คุณยงยุทธไม่ได้จะบริสุทธิ์ผุดผ่องไร้มลทิน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิชา มหาคุณ
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-นับเป็นประเด็นที่ท้าทายมาตรฐานจริยธรรมทางการเมืองอย่างยิ่งในกรณีของ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดร้ายแรง จากการไปรับรองการซื้อขาย “ธรณีสงฆ์” ของวัดธรรมิการาม เมื่อปี 2545 จากปมสนามกอล์ฟอัลไพน์อันลือลั่น เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการปลัดกระทรวงมหาดไทย

กระทั่งต่อมาคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย มีมติพิจารณาโทษทางวินัยด้วย “การปลดออก” ตามมูลความผิดที่ ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทย รวมทั้งนายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทยคนปัจจุบันระบุว่า กรณีนายยงยุทธเข้าข่าย พ.ร.บ.ล้างมลทิน ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 ทำให้นายยงยุทธไม่ต้องรับโทษเเละไม่ต้องออกจากตำเเหน่งทางการเมืองในปัจจุบัน พร้อมทั้งนำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการข้าการราชการพลเรือน(กพ.) ออกมายืนยัน
ขณะที่มีความเห็นจากหลายฝ่ายคัดค้านและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า ถึงที่สุดแล้วในกรณีของนายยงยุทธไม่สามารถใช้ พ.ร.บ.มลทิน เพื่อล้างผิดได้

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ ได้พูดคุยกับ นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ถึงความเป็นมาของการชี้มูลความผิดคดีดังกล่าวว่าถึงที่สุดแล้วคดีนายยงยุทธอยู่ในสถานะที่จะเข้าข่ายใช้ พ.ร.บ.มลทิน เพื่อล้างผิดได้หรือไม่ และรวมไปถึงว่าจุดสิ้นสุดของคดีที่ดินอัลไพน์จะจบลงเช่นไร

บทสรุปของคดีนี้ในฐานะที่เป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์มติลงโทษ คุณยงยุทธของทาง ป.ป.ช. ประเด็นใหญ่มาจากตรงไหนบ้าง

ประเด็นใหญ่มาจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ข้อกฎหมายมาที่บอกว่า ที่ธรณีสงฆ์ไม่สามารถซื้อขายกันได้ แต่ถ้าจะดำเนินการใดๆ ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติเสียก่อน คือข้อนี้ข้าราชการกรมที่ดินก็ทราบกันดีโดยทั่วกัน ถ้าไม่ติดว่าได้มีการโอนไปเป็นของบุคคลแล้ว มันเป็นเรื่องของการเอาที่ดินไปจัดสรร ซึ่งมีทั้งสนามกอล์ฟ หมู่บ้านต่างๆ เขาก็เลยพยายามจะอ้างว่ากรณีนี้มันจะเป็นผลกระทบต่อคนจำนวนมาก แต่ทำไมไม่ดำเนินการอย่างที่มีบางหน่วยงานแนะนำว่าให้ออกพระราชบัญญัติเอา ส่วนตัวเข้าใจว่าเขาคงจะไม่กล้าทำแบบนั้น เพราะถ้าออกพระราชบัญญัติก็อาจจะเจอข้อหาขัดในเรื่องการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม เพราะในพ.ร.บ.สงฆ์ ก็บัญญัติไว้ชัดเจนอยู่แล้ว

นอกจากในเรื่องของ การผิด พ.ร.บ.สงฆ์แล้ว ศาลฎีกาก็เคยวินิจฉัยไว้แล้วว่า ที่ธรณีสงฆ์หากเกิดมีการโอนขายจะเป็นโมฆะในทันที เพราะว่ามันขัดกับกฎหมาย เท่ากับว่าพ้นสภาพที่ที่จะเป็นโฉนดของบุคคลซึ่งมันเป็นของวัดแล้ว ฉะนั้นจึงไม่อาจที่จะซื้อขายได้ แต่ว่าคุณยงยุทธ วิชัยดิษฐ ซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ก็ไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา แม้ว่าคุณชัยวัฒน์ (วงศ์วัฒนศานต์) ซึ่งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาจะมีข้อสังเกตและยืนยันมาว่า คณะกรรมการฤษฎีกามีความเห็นอย่างนี้นะ ขอให้ปฏิบัติตาม แต่ว่าคุณยงยุทธ ก็ไม่แคร์สิ่งที่คณะกรรมการกฤษฎีกาบอกไป กลับบอกว่าไม่ใช่เรื่องของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่จะเข้ามาแทรกแซง ตอนนั้นท่านยงยุทธไม่ได้ประโยชน์ก็ค้าน แต่มาวันนี้พอคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยรอบนี้ คุณยงยุทธบอกความเห็นของกฤษฎีกาดีมาก แต่ย้อนไปสมัยนั้นท่านก็ได้ตำหนิกฤษฎีกาด้วยซ้ำไป ว่าเรื่อง อะไรมาให้เพิกถอน ถึงที่สุดแล้วยังไงท่านก็ไม่เพิกถอน ทั้งที่ทางอธิบดีกรมที่ดินมีหนังสือมามีความเห็นมาเรียบร้อยแล้วว่าให้เพิกถอนเนื่องจากเป็นที่ธรณีสงฆ์อย่างที่ว่า เขาก็ไม่กล้าสั่งเป็นอย่างอื่น

มาถึงขณะนี้ คุณยงยุทธ ยืนยันให้สัมภาษณ์ว่า ทำถูกต้องแล้ว

เท่ากับว่าตอนนี้คุณยงยุทธ ฝืนกลไกของรัฐ ฝืนทั้งกฎหมาย ฝืนทั้งคำพิพากษาของศาลฎีกา เพราะฉะนั้น ป.ป.ช.จึงไม่อาจจะสั่งเป็นอย่างอื่นได้ ที่ได้ชี้มูลไปว่าผิดกฎหมายมาตรา 157 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ถึงแม้ว่าท่านจะได้รับประโยชน์อะไร เราไม่อยากไปยืนยันชัดเจนว่าหลังจากนั้นท่านได้ประโยชน์อะไรบ้าง ตำแหน่ง หน้าที่การงาน อะไรต่ออะไร ท่านก็เจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ เรื่องนี้ ป.ป.ช.ถือฐานเดียวกันกับที่สอบคุณเสนาะ เทียนทองมาแล้วว่าเป็นการกระทำอันมิชอบ คดีของคุณเสนาะขาดอายุความที่ว่าส่งไปที่ศาลฎีกาแล้ว ปรากฏว่ามีการโต้แย้งในประเด็นอายุความกับทางอัยการ ซึ่งทางป.ป.ช.เห็นว่าไม่ใช่แค่เรื่องการผิดมาตรา 157 แต่เป็นกรณีการใช้อำนาจรัฐที่ไม่ชอบ ในการแสวงหาผลประโยชน์ ทำให้ตัวเองได้ประโยชน์ก็คือว่า ได้ที่ดินผืนใหญ่มาทั้งผืน ทั้งภรรยาคุณเสนาะ บรรดาญาติ เพื่อนฝูง นอกจากนั้นก็ยังเคยมีการยอมรับกันกลางเวทีตอนที่คุณเจิมศักดิ์ ( ปิ่นทอง) มาให้ถ้อยคำกับ ป.ป.ช. ซึ่งคุณเจิมศักดิ์ถามกลางวงสัมมนาเลยว่าคุณทักษิณ ชินวัตร ไปซื้อที่ดินต่อมาจากคุณเสนาะใช่หรือไม่ ซึ่งคุณทักษิณก็ยอมรับว่าซื้อที่ดินต่อมาจากคุณเสนาะ ก็เลยได้สนามกอล์ฟอัลไพน์มา

ประเด็นปัญหาถัดมาที่มีการถกเถียงกันคือ พ.ร.บ.ล้างมลทิน ที่ทางกระทรวงมหาดไทย คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนกระทรวงมหาดไทย (อ.ก.พ.) คณะกรรมการกฤษฎีกา และหลายฝ่ายที่ออกมายืนยันว่าล้างผิดได้แน่นอน ความจริงแล้วเป็นอย่างไร

เราไม่อยากออกไปโต้เถียง เพราะเรายังไม่ทราบจริงๆ ว่าได้มีการสั่งการหรือให้ความเห็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ เพราะว่าเห็นแค่เป็นในสื่อที่มีการเล่นข่าวประเด็นนี้กัน และสื่อเองก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีการลงวันที่ทางการ ในส่วนของกฤษฎีกาก็ไม่ใช่ส่วนของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่เป็นความเห็นของคุณอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่สำคัญมีคำสั่งในวันเสาร์ ถามว่าวันเสาร์เป็นวันทำการของข้าราชการด้วยหรือ รู้สึกว่าเป็นการขยันมากเป็นพิเศษ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่มั่นใจว่ามันจะใช่ของแท้หรือเปล่า ที่ให้สัมภาษณ์มันก็เป็นเพียงแค่ปากเปล่า ซึ่งมันไม่อาจนำไปเป็นหลักฐานยืนยันได้

สิ่งที่เราต้องการก็คือที่สั่งการทั้งหมดส่งกลับมาให้เรา หรือว่าทำไมจึงมีหนังสือนี้มา อยู่ดีๆ คุณมีหนังสือนี้มาหรือว่ามีใครซักถามไป ถามเมื่อไหร่อย่างไร อันนี้ก็จะเป็นกระบวนการที่เราจะสอบต่อไป อยู่ดีๆ ป.ป.ช.จะไปแบบว่าทำไมถึงทำอย่างนั้น อย่างนี้ เดี๋ยวอาจจะมีการบอกว่าสื่อว่ากันไปเอง ฉะนั้นเราต้องการให้ได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่าที่บางฝ่ายอ้างว่าล้างมลทินได้มันล้างกันยังไง เพราะเรายังถือหลักการในบันทึกของกฤษฎีกาที่เป็นคณะกรรมการกฤษฎีกา 3 ชุด ที่มาประชุมรวมกันเป็นชุดใหญ่ สมัยคุณพรทิพย์ จาละ ที่ยืนยันว่าหากเป็นกรณีที่ไม่ได้รับโทษมาก่อนเลย จะไม่กระทบการวินิจฉัยของป.ป.ช. กล่าวคือล้างมลทินไม่ได้นั่นเอง ซึ่ง ป.ป.ช.ยังยึดตัวนี้อยู่ตลอด

สมัยนั้นดูเหมือนว่ามีข้อขัดแย้งหรือข้อสงสัยมาก่อนหน้านี้พอสมควร

ข้อขัดแย้งก็คือกรณีคุณปลอดประสพ สุรัสวดี แต่ว่ากรณีนั้นไปเข้ามาตรา 6 ที่ว่าถูกดำเนินคดี โดยคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่มีคำสั่งมาก่อน ซึ่งถ้าเป็นกรณีนี้ทางกฤษฎีกาเมื่อปี 2552 บอกว่ากรณีนี้ไม่ควรจะถูกลงโทษ 2 ครั้ง ทางผู้บังคับบัญชามีการตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยแล้ว เพราะฉะนั้น ป.ป.ช.จะไปยุ่งไม่ได้ แต่ที่จริงแล้วมันมีกฤษฎีกาคณะที่ 11 ก่อนหน้านี้คือปี 2550 ได้เคยวินิจฉัยว่าถึงแม้จะเคยมีผู้บังคับบัญชาวินิจฉัยมาแล้ว ก็จะไม่ไปกระทบต่อกฎหมายของ ป.ป.ช.ต้องถือกฎหมายของ ป.ป.ช.เป็นหลัก ซึ่งเราก็ถือหลักการนี้มาโดยตลอด ฉะนั้นพอมามีความเห็นกลับ หมายความว่าถ้าเป็นกรณีที่ถูกสอบมาก่อนแล้ว แม้จะไม่ได้มีการลงโทษหรือลงโทษก็ตาม ถ้าหากมีกระบวนการสอบทางวินัยมาก่อน ทางป.ป.ช.จะเข้าไปยุ่งด้วยไม่ได้ กฎหมาย ป.ป.ช.ไม่ใช้บังคับก็คือหมายความว่าได้รับการล้างมลทินโทษ อย่างไรก็ตามเราก็ต้องพิจารณารายละเอียดตรงนี้ เพราะว่าเดือนพฤษภาคม 2552 ที่ได้ยกตัวอย่างไป เรื่องบันทึกของกฤษฎีกาที่กลับความเห็นก็ยังมีกรณีที่ยืนยันไว้ว่า ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่ายังไม่ได้โทษใดๆ มาก่อนเลย ไม่มีมลทิน ไม่มีการถูกตั้งกรรมการสอบมาก่อน อยู่ดีๆก็ไปปรากฏที่ชั้นของ ป.ป.ช.ที่มาชี้มูล อย่างนี้กฎหมายล้างมลทินไม่มีผล มันเป็นอย่างนั้น

มาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ล้างมลทิน ระบุชัดเจนอยู่แล้วว่าอย่างน้อยต้องเคยได้รับโทษมาบ้าง ถึงจะเข้าข่ายการล้างมลทิน

แต่ว่าอย่างไรก็ดี นี่เป็นเรื่องที่เรายังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ฉะนั้นก็จึงต้องรอให้มีเขาแจ้งมาเป็นทางการ ถ้าอย่างไรเสียเราก็ต้องมาว่ากันให้ละเอียดต่อไป ซึ่งเรื่องก็อาจจะยาวไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง อะไรก็สุดแล้วแต่

ถ้าคุณยงยุทธ ต้องโทษแล้วล้างมลทินไม่ได้ผลสุดท้ายจะออกมารูปแบบใด

ผลก็จะไปถึงมาตรา 102 ในเรื่องการขาดคุณสมบัติ การเป็นส.ส.รวมไปถึงการเป็นรัฐมนตรี ขณะนี้คงยังไม่ไปถึงขนาดนั้น ตอนนี้ต้องมาดูว่าคุณยงยุทธขาดคุณสมบัติอะไรหรือไม่ในโอกาสต่อไป แต่ว่าผลจะออกมาเป็นแบบนั้นตามข้อกฎหมายที่ระบุไว้อยู่แล้ว

ดูเหมือนว่าคุณยงยุทธค่อนข้างกลัวจุดนี้อยู่เหมือน ดูจากการหนีลงไปตรวจราชการเรื่องน้ำท่วม

เรื่องของคุณยงยุทธก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ว่าเรื่องนี้อาจจะลามไปถึงตัวท่านนายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ด้วย ซึ่งถ้านายกรัฐมนตรียังปล่อยให้มีการกระทำอันไม่ชอบ ท่านก็ต้องได้รับผลตรงนี้ด้วยนะ เพราะเท่ากับว่าท่านก็รู้ตัวดีอยู่แล้ว แต่ท่านก็ยังดำเนินการ ถ้าเป็นแบบนี้อยู่ก็อันตรายต่อตัวท่าน โดยที่แล้วมาส่วนตัวของท่านนายกฯ ก็ไม่อยากให้มีเรื่องมลทินติดตัวเขาอยู่แล้ว

มีการปล่อยข่าวออกมาจากทางมหาดไทยว่ากรณีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลคุณยงยุทธ อาจไม่ไปโยงถึงการเพิกถอนที่ดิน เพราะอำนาจของ ป.ป.ช.ทำได้แค่โทษส่วนบุคคล

ตามกระบวนการ ป.ป.ช.ได้แจ้งไปแล้วว่าให้เพิกถอนด้วย ความจริงแล้วต้องเป็นเรื่องที่กระทรวงมหาดไทยที่จะต้องดำเนินการ ซึ่งถ้าเป็นที่ดินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ต้องปฏิบัติตาม ทางป.ป.ช.ก็ต้องไปตามดูว่ามหาดไทยได้ดำเนินการอย่างนี้หรือไม่ ซึ่งมหาดไทยก็บอกว่าไม่ได้อยู่ในอำนาจของเขา เราก็ต้องรอดูกันต่อไป เพราะว่ามีมาตรา 99 อยู่ที่เป็นเรื่องของการเพิกถอน เรื่องนี้เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร โดยความเป็นจริงแล้ว ป.ป.ช.ไม่ได้มีอำนาจไปสั่งอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเรามีข้อเสนอถึงว่าให้ดำเนินการสั่งเพิกถอนเสียให้เรียบร้อยนะ ซึ่ง ป.ป.ช.ซึ่งทางเราก็ไม่ได้ไปก้าวล่วงอำนาจของมหาดไทย เพียงแต่เป็นข้อแนะนำที่จริงแล้ว ถ้าไม่ได้เพิกถอนมันก็เป็นโมฆะอยู่แล้ว ตามคำพิพากษาของศาลฎีกา

ถึงที่สุดแล้วหากคดีที่ดินอัลไพน์ไม่สามารถเอาผิดใครได้เลย มองว่าเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

ไม่มีหรอกที่จะเอาผิดอะไรไม่ได้ คือคดีนี้มีการแยกสายกันออกไป ความผิดทางวินัย ป.ป.ช.ได้ส่งไปที่กระทรวงมหาดไทย ความผิดทางอาญาได้ส่งไปทางให้อัยการสูงสุด แต่ที่เป็นประเด็นข่าวส่วนใหญ่จะเทไปที่ความผิดทางวินัยมากกว่า ต้องไม่ลืมว่าคดีนี้คุณยงยุทธไม่ได้จะบริสุทธิ์ผุดผ่องไร้มลทิน ซึ่งเรื่องนี้ ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องไปพร้อมกันแต่ก็ต้องอย่าลืมว่าคดีอาญา ป.ป.ช.ก็ส่งไปแล้วเช่นกัน ซึ่งขณะนี้สำนวนก็ไปอยู่ที่อัยการสูงสุด โดยทางอัยการบอกว่าได้ตั้งคณะทำงานแล้วซึ่งก็เป็นความผิดอันเดียวกัน เรื่องนี้ไม่มีผลเรื่องอายุความเพราะได้ทำไปเรียบร้อย คิดว่าคุณยงยุทธจะไม่หลบหนีคดี

คดีที่ดินอัลไพน์ในส่วนของคุณยงยุทธนี้ใช้เวลาพิจารณานานแค่ไหน

ตั้งแต่ปี 2552 ต้องถือว่านานพอสมควร ติดขัดปัญหานิดหน่อยตรงที่คุณยงยุทธขอเลื่อนอยู่บ่อยครั้ง โดยทางเราก็ให้โอกาสท่านอย่างเต็มที่ในการชี้แจงเรื่องต่างๆว่าเป็นอย่างไรบ้าง ก็เลยเสร็จช้า

ในทางคดีอาญาดูจากสำนวนคดีคาดว่าจะเอาผิดคุณยงยุทธ ได้หรือไม่

อันนั้นมันเป็นเรื่องของข้อกฎหมาย ขึ้นอยู่กับศาลว่าจะฟังว่าการไม่ปฏิบัติตามกฤษฎีกามันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ เท่าที่เห็นก็คือปล่อยให้เกิดความเสียหายยืดเยื้อมายาวนาน ทาง ป.ป.ช.ทำคดีนี้ตามหน้าที่ ไม่ใช่ว่าตั้งแง่จะเอาผิดท่าเดียว เรื่องของกฎหมาย เรื่องของคดี ทาง ป.ป.ช.ไม่ได้เป็นผู้ตัดสิน เพราะฉะนั้นต้องมอบภาระนี้ให้กับผู้ที่ตัดสินคดีก็คือ ผู้พิพากษา ก็สุดแล้วแต่ผลจะออกมาเป็นอย่างไร

มีแรงกดดันมากแค่ไหน ในคดีที่ดินอัลไพน์

ไม่กดดัน ที่ผ่านมาก็ถูกกดจนชินไปแล้ว (หัวเราะ) สำหรับส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องเล็กไปหมดแล้ว เคยเจอมาทั้งขนาดบ้านถูกระเบิดยังเฉยๆ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด

หมายเหตุ : ตอนนี้ 'ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์' มีแฟนเพจแล้วนะครับ ขอเชิญท่านผู้อ่านร่วมพูดคุย แสดงความคิดเห็นกันได้ที่ http://www.facebook.com/#!/Astvmanagerweekend
กำลังโหลดความคิดเห็น