xs
xsm
sm
md
lg

เปิด “พ.ร.บ.ล้างมลทิน ปี 50” ชี้ชัด “ยงยุทธ” ไม่เข้าข่ายถูกล้างผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชี้ชัดมาตรา 5 ใน พ.ร.บ.ล้างมลทินปี 50 ระบุชัด ล้างมลทินผู้ถูกลงโทษก่อนหรือในวันที่ 5 ธ.ค.50 แต่ “ยงยุทธ” ไม่เคยรับโทษ แถมถูก “ชูชาติ-อ.ก.พ.” เล่นแร่แปรธาตุนับวันเกษียณอายุราชการ แทนที่จะเป็นวันที่ต้องโทษ-ถูกลงโทษ

จากกรณีที่คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย มีมติไล่ออกจากราชการนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีเเละ รมว.มหาดไทย ในฐานะอดีตรักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทยออกจากราชการ เพราะกระทำผิดวินัยร้ายเเรงกรณีสนามกอล์ฟอัลไพน์ ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 546/2555 ลงนามโดยนายชูชาติ หาญสวัสดิ์ รมช.มหาดไทย เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2555 เเต่ อ.ก.พ.อ้างว่านายยงยุทธอยู่ในหลักเกณฑ์ พ.ร.บ.ล้างมลทิน ปี 2550 โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 30 ก.ย. 2545 ซึ่งเป็นวันที่นายยงยุทธมีอายุครบ 60 ปี ทำให้นายยงยุทธไม่ต้องรับโทษเเละไม่ต้องออกจากตำเเหน่งทางการเมืองในปัจจุบันนั้น

ผู้สื่อข่าว “ASTVผู้จัดการออนไลน์” ได้ทำการตรวจสอบเนื้อหาและสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ล้างมลทินในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา โดยละเอียด พบว่า ในมาตรา 5 ระบุอย่างชัดเจน ว่า “ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ถูกลงโทษทางวินัยในกรณีซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และได้รับโทษหรือรับทัณฑ์ทั้งหมดหรือบางส่วนไปก่อน หรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้นๆ”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีกล่าวหานายยงยุทธเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย กรณีมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ให้ยกเลิกโฉนดที่ดิน (ที่จดทะเบียนในนามสนามกอล์ฟอัลไพน์) ที่แบ่งแยกออกมาจากโฉนดที่ดินเลขที่ 20 และเลขที่ 1446 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อันเป็นการโอนที่ธรณีสงฆ์โดยมิชอบ หรือเรียกว่ากรณีสนามกอล์ฟอัลไพน์

โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติด้วยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง ชี้มูลความผิด เนื่องจากกรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างมากเห็นว่า การกระทำดังกล่าวมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง

ทั้งนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม, มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาแล้ว จึงมีมติว่า การกระทำนายยงยุทธผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีความผิดวินัยร้ายแรง ให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ก่อนหน้านี้ นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า พ.ร.บ.นี้ มาตรา 5 ระบุว่า ผู้ที่ได้รับการล้างมลทินต้องรับโทษทั้งหมดหรือบางส่วนก่อน อยู่ดีๆ จะล้างมลทินโดยที่ไม่ได้รับโทษจากความผิดนั้นไม่เคยปรากฏ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยแจ้งมายัง ป.ป.ช.ตั้งแต่สมัยนางพรทิพย์ จาละ ดำรงตำเเหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า กรณีที่ข้าราชการยังไม่รับโทษมาก่อนต้องดำเนินการตามกฎหมาย ป.ป.ช. จะใช้ พ.ร.บ.ล้างมลทินไม่ได้

---



พระราชบัญญัติ
ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จ
พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา
พ.ศ. ๒๕๕๐
__________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
เป็นปีที่ ๖๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา พ.ศ. ๒๕๕๐”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

“ผู้ต้องโทษ” หมายความว่า ผู้ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ลงโทษหรือให้กักกันและให้หมายความรวมถึงผู้ถูกลงโทษโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีผลเช่นเดียวกับการถูกลงโทษ โดยคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล

“ผู้ถูกลงโทษทางวินัย” หมายความว่า ผู้ถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์เพราะกระทำผิดวินัยตามกฎหมายระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนภูมิภาคราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และให้หมายความรวมถึงผู้ถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์โดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีผลเช่นเดียวกับการถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัย

มาตรา ๔ ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ

มาตรา ๕ ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ถูกลงโทษทางวินัยในกรณีซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ และได้รับโทษหรือรับทัณฑ์ทั้งหมดหรือบางส่วนไปก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้น ๆ

มาตรา ๖ บรรดาผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการอันมิใช่เป็นการลงโทษทางวินัยก่อนหรือในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ และบรรดาผู้ถูกดำเนินการทางวินัยในกรณีกระทำผิดวินัยซึ่งผู้บังคับบัญชาได้สั่งยุติเรื่องหรืองดโทษก่อนหรือในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ให้ผู้นั้นไม่ต้องถูกพิจารณาเพิ่มโทษหรือถูกดำเนินการทางวินัยในกรณีนั้น ๆ ต่อไป

มาตรา ๗ การล้างมลทินตามมาตรา ๔ และมาตรา ๕ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับการล้างมลทินในอันที่จะเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น

มาตรา ๘ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
รองนายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นมหามงคลกาลอันสำคัญยิ่ง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและให้เกิดสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสม เด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมควรล้างมลทินให้แก่ผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้พ้นโทษไปแล้ว และผู้ถูกลงโทษทางวินัยของกระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ซึ่งได้รับการลงโทษทางวินัยไปแล้วและสมควรให้ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการอัน มิใช่เป็นการลงโทษทางวินัยก่อนหรือในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ และบรรดาผู้ถูกดำเนินการทางวินัยในกรณีกระทำผิดวินัยซึ่งผู้บังคับบัญชาได้ พิจารณาสั่งยุติเรื่องหรืองดโทษก่อนหรือในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ให้ผู้นั้นไม่ต้องถูกพิจารณาเพิ่มโทษหรือถูกดำเนินการทางวินัยในกรณีนั้น ๆ ต่อไปด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

(ที่มา : ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๗๐ ก หน้า ๑, ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๐)


กำลังโหลดความคิดเห็น