“อุดมเดช” อ้าง อ.ก.พ.ระบุชัด “ยงยุทธ” เข้าข่ายล้างมลทินตาม ม.5 ยก ก.พ.-กฤษฎีกาเห็นตาม ส่วนเคส “ปลอด” ถูกล้างมลทินก่อนนั่ง รมต. หวั่นองค์กรอิสระ ตีความพลิกแพลงจากบรรทัดฐานในอดีต ส่วนรองเลขาฯ กก.กฤษฎีกา ยกเคส ตร.ถูกไล่ออก อ้าง พ.ร.บ.ระเบียบ ขรก. ต้องลงโทษย้อนหลังวันที่ทำผิด และถูกล้างมลทิน
วันนี้ (26 ก.ย.) นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล แถลงกรณีที่คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งโทษไล่ออกนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ออกจากราชการตามฐานความผิดที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลว่ากระทำความผิดวินัยร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการกรณีที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์นั้น โดยมีคำสั่งย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2545 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเกษียณอายุราชการของนายยงยุทธ ในตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทยว่า เรื่องนี้อนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) ก็ระบุชัดเจนแล้วว่าคำสั่งการลงโทษทางวินัยแก่นายยงยุทธ เข้าข่ายหลักเกณฑ์ได้รับอานิสงส์การล้างมลทิน ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ พ.ศ. 2550 อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ก็ให้ความเห็นตรงกันว่านายงยุทธก็ได้รับอานิงส์ตามพ.ร.บ.ล้างมลทิน โดยกรณีนายยงยุทธสามารถเทียบเคียงได้กับการลงโทษข้าราชการตำรวจนายหนึ่ง ที่ถูกคำสั่งให้ลงโทษไล่ออกจากเมื่อปี 2535 จากความผิดเมื่่อปี 2525 ทำให้นายตำรวจผู้นั้นจึงได้รับอานิสงส์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ พ.ศ. 2530
“กรณีนายยงยุทธจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยมีการวินิจฉัยโดยเทียบเคียงกับข้าราชการตำรวจที่เคยถูกลงโทษเช่นเดียวกับนายยงยุทธ ในส่วนของ ก.พ.ก็ยืนยันว่านายยงยุทธยังอยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับการล้างมลทิน และไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยมาก่อน จึงถือว่านายยงยุทธได้รับอานิสงส์ อีกทั้งหากเทียบกรณีของนายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ถูก ป.ป.ช.ชี้มูล แต่นายปลอดประสพได้รับการล้างมลทินเมื่อครั้งยังไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” นายอุดมเดชกล่าว
เมื่อถามว่า แต่ฝ่ายค้านจะใช้สิทธิเข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความนายยงยุทธ นายอุดมเดชกล่าวว่า เป็นสิทธิของฝ่ายค้าน แต่ประเด็นที่กังวล คือ องค์กรอิสระ เมื่อสังคมกังวลการทำหน้าที่องค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ป.ป.ช. ที่กังวลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญถึงที่มาขององค์กรอิสระ ถ้ามีการยื่นไปศาลรัฐธรรมนูญก็มีความกังวลต่อการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ เนื่องจากบรรทัดฐานในอดีตที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และ ก.พ.ที่เคยมีความเห็น ทำให้มีความกังวลว่าการวินิจฉัยขององค์กรอิสระอาจมีการพลิกแพลงทำให้เป็นประเด็นการเมืองไปแล้ว
ด้าน นายนิพนธ์ ฮะกิมี รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะคณะกรรมการวิปรัฐบาล กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แสดงควมกังวลในข้อกฎหมายกรณีของนายยงยุทธ โดยในอดีตตนขอยกตัวอย่างในปี 2535 ที่เป็นข้อเท็จจริงใกล้เคียงกับนายยงยุทธ โดยขณะนั้นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เคยมีความเห็นว่า ข้าราชการตำรวจผู้หนึ่งได้ทำผิดร้ายแรงในปี 2525 โดยถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนจนกระทั่งกรมตำรวจได้มีคำสั่งลงโทษให้ไล่ออกจากราชการในปี 2535 ซึ่งการลงโทษดังกล่าวให้ไล่ออกจากราชการไม่ใช่จะสั่งลงโทษได้ในวันนั้น คำสั่งลงโทษให้ออก ปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ ถ้าเกิดเป็นกรณีที่ข้าราชการได้เกษียณอายุราชการแล้ว ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 กำหนดเกณฑ์ว่าผู้สั่งต้องสั่งลงโทษย้อนหลังไปในวันที่ยังอยู่ในราชการ เช่นเดียวกันกับข้าราชการตำรวจนายนี้ ทำผิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2525 มีคำสั่งลงโทษเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2533 ทำให้การลงโทษต้องมีผลย้อนหลังไปเมื่อปี 2525 จนเมื่อมี พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ พ.ศ. 2530 กรณีนี้ทำให้ข้าราชการตำรวจผู้นี้ได้รับอานิสงส์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทิน
“เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาขณะนั้นได้ตรวจสอบข้อกฎหมายแล้ว พบว่าข้าราชการตำรวจผู้นั้นได้อานิสงส์และได้รับการล้างมลทินแล้ว เมื่อนายกฯได้สอบถามมายังคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีนี้ไม่ได้มีการทำความเห็นเข้ามาใหม่ เพราะมีความเห็นเมื่อปี 2535 และปี 2526 สรุปแล้วยังใช้ได้อยู่ อีกทั้ง พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ พ.ศ. 2530 มาตรา 5 ก็เขียนเหมือนกันกับมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ พ.ศ. 2550 ดังนั้น กรณีนายยงยุทธก็มีความเห็นเหมือนกัน เมื่อ อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทยมีมติให้ไล่ออกจากราชการ แต่พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน ที่มีคำสั่งให้ลงโทษข้าราชการผู้ใดภายหลังเกษียณอายุราชการแล้ว พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน ระบุว่าให้สั่งลงโทษย้อนหลังไปวันที่ยังอยู่ในราชการ ดังนั้น ความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงเป็นความเห็นหลัก เพราะข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเหมือนกัน” นายนิพนธ์ กล่าว