xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มกรีนยื่น กกต.สอบ “ยงยุทธ-ปลอด” ยันไม่เข้าข่ายล้างมลทิน จี้ชงศาล รธน.วินิจฉัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (แฟ้มภาพ)
ผู้ช่วยผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ยื่น กกต.สอบคุณสมบัติ “ยงยุทธ-ปลอดประสพ” สิ้นสุดตาม ม.102 (6) และ ม.174 (4) หรือไม่ ยัน หน.เพื่อไทยไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ล้างมลทิน 50 ทำขาดคุณสมบัติ รมต.-ส.ส.ชัด ฉงนผลย้อนทำนายทะเบียนพรรคโมฆะหรือไม่ ชี้คดีอดีตอธิบดีกรมป่าไม้ก็ยังไม่ได้รับโทษ จี้ชงศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

วันนี้ (26 ก.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายจาตุรันต์ บุญเบญจรัตน์ ผู้ช่วยผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ กกต.ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ส.ของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย และนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ว่าสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 102 ( 6) และมาตรา 174 (4) หรือไม่ และการทำหน้าที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยของนายยงยุทธในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองตลอดเวลาที่ผ่านมาเป็นโมฆะหรือไม่

โดยนายจาตุรันต์กล่าวว่า จากคำสั่งของคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย ที่มติไล่นายยงยุทธออกจากราชการกรณีทุจริตที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์และท้ายคำสั่งระบุว่า การลงโทษทางวินัยต่อนายยงยุทธอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ได้รับการล้างมลทินตามมาตรา 5 พ.ร.บ.ล้างมลทิน 2550 แต่ทางกลุ่มกรีนเห็นว่า นายยงยุทธไม่เข้าข่ายได้รับประโยชน์จากพ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะนับแต่อ.ก.พ.มีมติไล่ออก นายยงยุทธยังไม่ได้รับโทษบางส่วน หรือรับโทษทั้งหมด ตามหลักเกณฑ์มาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ล้างมลทิน ดังนั้น การที่ อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทยมีมติทำให้นายยงยุทธขาดคุณสมบัติในการเป็นรัฐมนตรีและส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งการที่ อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทยมีมติให้ไล่นายยงยุทธออกจากราชการโดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 30 ก.ย. 45 ทำให้น่าเป็นห่วงว่าการกระทำของนายยงยุทธในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยในช่วงเวลาหลังจาก 30 ก.ย. 45 ไม่ว่าจะเป็นการรับรองการส่งผู้สมัคร หรือการร่วมจัดตั้งรัฐบาล จะมีผลให้เป็นโมฆะไปด้วยหรือไม่

นายจาตุรันต์กล่าวต่อว่า ขณะที่ในส่วนของนายปลอดประสพ ทางกลุ่มกรีนก็เห็นว่า การที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีวันที่ 15 ธ.ค. 50 ไล่นายปลอดประสพออกจากราชการโดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. 48 จากกรณีเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ปฏิบัติหน้าที่มิชอบในการพิจารณาอนุญาตให้บริษัท ศรีราชาไทเกอร์ซู จำกัด ส่งออกเสือโคร่งเบงกอล 100 ตัวไปประเทศจีนนั้น เกิดขึ้นหลังจาก พ.ร.บ.ล้างมลทิน 50 มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ผู้ที่จะเข้าข่าย พ.ร.บ.ล้างมลทินต้อง เป็นผู้ที่ถูกลงโทษทางวินัยในกรณีซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธ.ค. 50 แต่นายปลอดประสพ คำสั่งลงโทษให้ปลดออกลงวันที่ 15 ธ.ค. 50 และนายปลอดประสพก็ยังไม่ได้เคยได้รับโทษใดๆ มาก่อนเช่นเดียวกับนายยงยุทธ

เมื่อถามว่า รัฐบาลอ้างว่านายยงยุทธ และนายปลอดประสพ เข้าข่ายได้รับการล้างมลทินตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินปี 2526 นายจาตุรันต์กล่าวว่า ตรงนี้เป็นความเห็นที่ต่างกัน โดยมีการหยิบยกกฎหมายคนละฉบับมาอ้าง ทำให้ประชาชนกำลังสับสน จึงอยากให้ กกต.ทำเรื่องนี้ให้ชัดเจนและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อสร้างความกระจ่างและเป็นบรรทัดฐาน
กำลังโหลดความคิดเห็น