xs
xsm
sm
md
lg

กฤษฎีกา-เลขาฯ ก.พ.ฟันธง! “ยงยุทธ” พ้นผิดตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินปี 50 แล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (แฟ้มภาพ)
แฉหนังสือกฤษฎีกาลงวันที่ 22 ก.ย.ชี้ “ยงยุทธ” ถูกพ้นผิดอัลไพน์แล้ว เทียบของปี26 อยู่ในหลักเกณฑ์ ส่วนหนังสือเลขาฯ ก.พ.ระบุ คำสั่ง ป.ป.ช.มีผลย้อนหลังปี 45 อยู่ในข่าย กม.ล้างมลทินปี 50 บังคับใช้

วันนี้ (23 ก.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย ว่า ได้มีหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ทำถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อยืนยันว่านายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รมว.มหาดไทย ได้รับการล้างมลทิน หลังกระทรวงมหาดไทยได้ลงโทษ นายยงยุทธ กรณีมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งกรมที่ดินที่ให้ถอนเอกสารสิทธิที่ดินอัลไพน์ ดังนี้

ส่วนราชการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
วันที่ 22 กันยายน 2555
เรื่อง ความเห็นกรณีที่ อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทย มีมติลงโทษทางวินัยให้ปลดออกรองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ)
กราบเรียน นายกรัฐมนตรี
ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาให้ความเห็นกรณีที่ อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทย มีมติลงโทษทางวินัยให้ปลดออกรองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย จะมีผลทางกฎหมายอย่างไร นั้น
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอเรียนชี้แจงว่า การมีคำสั่งลงโทษทางวินัยข้าราชการนั้นจะต้องสั่งลงโทษในขณะที่ผู้นั้นยังคงดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการอยู่ หากพ้นจากตำแหน่งแล้วจะต้องออกคำสั่งย้อนหลังไปก่อนวันที่ผู้นั้นพ้นจากราชการ และถือว่าผู้นั้นถูกลงโทษทางวินัยตั้งแต่วันที่คำสั่งกำหนดให้มีผลย้อนหลังนั้น แต่เนื่องจากภายหลังจากคำสั่งลงโทษทางวินัยมีผลย้อนหลังใช้บังคับแล้ว ได้มีกฎหมายว่าด้วยการล้างมลทินใช้บังคับในเวลาต่อมา จึงทำให้ผู้ถูกลงโทษได้รับผลจากการล้างมลทิน โดยไม่ถือว่าผู้นั้นเคยถูกลงโทษมาก่อน ทั้งนี้ ตามบันทึก เรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติล้างมลทิน ในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ.2526 (กรณีคำสั่งลงโทษกำหนดให้ผลย้อนหลังไปยังวันที่ถูกสั่งพักราชการ) (เรื่องเสร็จที่ 440/2526) ซึ่งวินิจฉัยว่า การที่ผู้บังคับบัญชาได้ออกคำสั่งลงโทษย้อนหลังไปก่อนวันออกคำสั่งตามกรณีของข้อ 4 แห่งระเบียบ ก.พ.ว่าด้วยวันออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ.2518 นั้น เป็นกรณีที่ผู้บังคับบัญชาได้สั่งการตามระเบียบ ก.พ.ดังกล่าว หากผลของการออกคำสั่งลงโทษนั้นทำให้ข้าราชการผู้ใดได้รับโทษก่อน หรือในวันที่พระราชบัญญัติล้างมลทินฯ พ.ศ.2526 ใช้บังคับแล้ว ข้าราชการผู้นั้น ย่อมจะอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการล้างมลทินตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ พ.ศ.2526 ด้วย ดังนั้น กรณีของรองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) หากมีข้อเท็จจริงเป็นไปตามความเห็นดังกล่าวก็ย่อมได้รับการล้างมลทินไปแล้ว
จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

(นายอัชพร จารุจินดา)
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
----------------------------------
บันทึกข้อความ
ส่วนราชการ สำนักมาตรฐานวินัย สำนักงาน ก.พ.
ที่ นร 1011/พิเศษ วันที่ กันยายน 2555
เรื่อง การล้างมลทินกรณีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ
กราบเรียน นายกรัฐมนตรี
ตามที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้หารือกรณีการล้างมลทินราย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ซึ่งถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ โดยมติ อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทย นั้น
สำนักงาน ก.พ.ขอเรียนว่า กรณีดังกล่าว คำสั่งลงโทษมีผลย้อนหลังไปก่อนวันที่ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เกษียณอายุราชการ ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนที่พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับ จึงอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการล้างมลทิน ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ทำให้ถือว่าไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยมาก่อน ซึ่งในทางปฏิบัติกระทรวงเจ้าสังกัดจะบันทึกประวัติการได้รับการล้างมลทินดัง กล่าวไว้ใน ก.พ.7
อนึ่ง ตามที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ขอให้สำนักงาน ก.พ.เทียบเคียงเรื่องการล้างมลทินของนายปลอดประสพ สุรัสวดี กับ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ นั้น สำนักงาน ก.พ.ขอเรียนเป็นลำดับ ดังนี้
รายนายปลอดประสพ สุรัสวดี
1.นายปลอดประสพ สุรัสวดี ถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง แต่ที่สุดคณะกรรมการสอบสวนและนายกรัฐมนตรีผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เห็นว่า ไม่มีความผิดวินัยอย่างร้ายแรง จึงสั่งยุติเรื่อง และได้รับการล้างมลทินตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 แล้ว
2.ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ไต่สวนและสั่งการให้ต้นสังกัดสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ หลังจากที่ได้รับการล้างมลทินแล้ว
3.คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัย ว่า กรณีของ นายปลอดประสพ สุรัสวดี ได้รับการล้างมลทินแล้ว ป.ป.ช.จึงไม่อาจสั่งให้ลงโทษในกรณีเดียวกันได้อีก (ที่สั่งลงโทษไล่ออกจากราชการภายหลังจึงต้องออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งดังกล่าว)
รายนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ
1.นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ไม่เคยถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง ในเรื่องที่ ป.ป.ช.ชี้มูลมาก่อน
2.ป.ป.ช.ไต่สวนและชี้มูลให้ต้นสังกัดสั่งลงโทษตามมติ ป.ป.ช.ได้
3.กรณีของ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เนื่องจากเกษียณอายุราชการแล้ว จึงต้องสั่งลงโทษย้อนหลังไปจนถึงวันก่อนเกษียณอายุราชการ
4.คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยวินิจฉัยว่า คำสั่งลงโทษที่มีผลย้อนหลังไปก่อนหรือในวันที่กฎหมายว่าด้วยการล้างมลทินใช้บังคับ ย่อมได้รับการล้างมลทินตามกฎหมายล้างมลทินแล้ว
5.กรณีของ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ซึ่งถูกลงโทษและได้รับการล้างมลทินแล้ว เท่ากับปัจจุบันนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ จึงถือว่าไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยมาก่อน
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

(นายนนทิกร กาญจนะจิตรา)
เลขาธิการ ก.พ.
กำลังโหลดความคิดเห็น