xs
xsm
sm
md
lg

หนีไม่ออก มท.เช็กบิล “ยงยุทธ” อ้าง “ล้างมลทิน” เกาะเก้าอี้ รมต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

ต้องดูกันต่อไปว่าในทางข้อกฎหมายแล้ว ยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย จะทำอย่างไรหลังจากนี้ เมื่อกระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่ง ที่ 546/ 2555 เรื่องลงโทษไล่ออกจากราชการ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ!

อันเป็นผลมาจากคดีสมัยปี 2545 ยงยุทธเป็นรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ไปลงนามคำสั่งยกเลิกคำสั่งกรมที่ดิน ที่ให้เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินสนามกอล์ฟ และหมู่บ้านอัลไพน์ จนทำให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติด้วยเสียงข้างมากชี้มูลความผิดยงยุทธ เมื่อ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา ให้กระทรวงมหาดไทยลงโทษทางวินัยย้อนหลังยงยุทธไปเมื่อปี 45 ซึ่งยงยุทธเกษียณราชการในตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้วยการปลดออก หรือไล่ออก

ดูตามข้อกฎหมายแล้ว ยังมีช่องทางให้ยงยุทธได้หายใจอีกหลายยก

ทั้งการยื่นอุทธรณ์คำสั่งไล่ออกดังกล่าวที่ลงนามโดยชูชาติ หาญสวัสดิ์ รมช.มหาดไทย ที่ทำหน้าที่ประธานอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย แทนตัวยงยุทธ ที่ลงนามคำสั่งไล่ออกดังกล่าวเอาไว้เมื่อ 20 กันยายน 2555

โดยยงยุทธสามารถอุทธรณ์คำสั่งไล่ออกได้ ผ่านคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมหรือ ก.พ.ค. และหากผลการพิจารณาของ ก.พ.ค.ออกมาแล้วยงยุทธไม่พอใจ ก็ยังไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดได้อีก

อย่างไรก็ตาม ก็มีความเห็นในทางข้อกฎหมายมาจาก อ.กพ.กระทรวงมหาดไทย และแม้แต่กับฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ยงยุทธสามารถได้รับการล้างมลทินตาม พ.ร.บ.ล้างมลทิน ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษาฯ พ.ศ. 2550 อันจะมีผลทำให้ตัวยงยุทธ เป็นผู้ที่มิได้เคยถูกลงโทษ หรือถูกลงทัณฑ์ทางวินัยมาก่อน

ดังความเห็นตอนหนึ่งของนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ทำบันทึกเรื่องนี้ถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 22 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา หลังกระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งไล่ออกนายยงยุทธ เมื่อ 20 กันยายน 2555

“ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้ความเห็น กรณีที่ อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทย มีมติลงโทษทางวินัยให้ปลดออกรองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย จะมีผลทางกฎหมายอย่างไรนั้น

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอเรียนชี้แจงว่า การมีคำสั่งลงโทษทางวินัยข้าราชการนั้น จะต้องสั่งลงโทษในขณะที่ผู้นั้นยังคงดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการอยู่ หากพ้นจากตำแหน่งแล้วจะต้องออกคำสั่งย้อนหลังไปก่อนวันที่ผู้นั้นพ้นจากราชการ และถือว่าผู้นั้นถูกลงโทษทางวินัย ตั้งแต่วันที่คำสั่งกำหนดให้มีผลย้อนหลังนั้น แต่เนื่องจากภายหลังจากคำสั่งลงโทษทางวินัยมีผลย้อนหลังใช้บังคับแล้ว ได้มีกฎหมายว่าด้วยการล้างมลทินใช้บังคับในเวลาต่อมา จึงทำให้ผู้ถูกลงโทษได้รับผลจากการล้างมลทิน โดยไม่ถือว่าผู้นั้นเคยถูกลงโทษมาก่อน

ทั้งนี้ ตามบันทึกเรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติล้างมลทิน ในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ. 2526 (กรณีคำสั่งลงโทษกำหนดให้ผลย้อนหลังไปยังวันที่ถูกสั่งพักราชการ) (เรื่องเสร็จที่ 440/2526) ซึ่งวินิจฉัยว่า การที่ผู้บังคับบัญชาได้ออกคำสั่งลงโทษย้อนหลังไปก่อนวันออกคำสั่งตามกรณีของข้อ 4 แห่งระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยวันออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. 2518 นั้น เป็นกรณีที่ผู้บังคับบัญชาได้สั่งการตามระเบียบ ก.พ.ดังกล่าว หากผลของการออกคำสั่งลงโทษนั้นทำให้ข้าราชการผู้ใดได้รับโทษก่อน หรือในวันที่พระราชบัญญัติล้างมลทินฯ พ.ศ. 2526 ใช้บังคับแล้ว ข้าราชการผู้นั้น ย่อมจะอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการล้างมลทินตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ พ.ศ. 2526 ด้วย

ดังนั้น กรณีของรองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) หากมีข้อเท็จจริงเป็นไปตามความเห็นดังกล่าว ก็ย่อมได้รับการล้างมลทินไปแล้ว”

เช่นเดียวกันกับบันทึกข้อความของสำนักมาตรฐานวินัย สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. ที่ทำหนังสือเรื่องการล้างมลทินกรณีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ถึงนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า ตามที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้หารือกรณีการล้างมลทินรายนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ซึ่งถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ โดยมติ อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทย

“นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ไม่เคยถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง ในเรื่องที่ ป.ป.ช.ชี้มูลมาก่อน

กรณีของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เนื่องจากเกษียณอายุราชการแล้ว จึงต้องสั่งลงโทษย้อนหลังไปจนถึงวันก่อนเกษียณอายุราชการ

คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยวินิจฉัยว่า คำสั่งลงโทษที่มีผลย้อนหลังไปก่อนหรือในวันที่กฎหมายว่าด้วยการล้างมลทินใช้บังคับ ย่อมได้รับการล้างมลทินตามกฎหมายล้างมลทินแล้ว

กรณีของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ซึ่งถูกลงโทษ และได้รับการล้างมลทินแล้ว เท่ากับปัจจุบันนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ จึงถือว่าไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยมาก่อน

สำนักงาน ก.พ.ขอเรียนว่า กรณีดังกล่าว คำสั่งลงโทษมีผลย้อนหลังไปก่อนวันที่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เกษียณอายุราชการ ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนที่พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 ใช้บังคับ

จึงอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการล้างมลทิน ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ทำให้ถือว่าไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยมาก่อน”

ข้อสรุปนี้ยังไม่จบแน่ ต้องดูกันไปว่า ฝ่ายที่เห็นแย้งในข้อกฎหมายที่ไม่เห็นด้วยกับกระทรวงมหาดไทย-สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏี-สำนักงาน ก.พ. ที่อาจมองว่ากรณีคำสั่งไล่ออกยงยุทธไม่น่าจะเข้าข่ายการได้รับการล้างมลทินเขาจะโต้แย้งว่าอย่างไร

ส่วนข้อสงสัยว่า ทำไมกระทรวงมหาดไทย และชูชาติ หาญสวัสดิ์ รมช.มหาดไทย จากพรรคเพื่อไทยด้วยกันกับยงยุทธ ถึงกล้าลงดาบไล่ออกยงยุทธนั้น จริงๆ แล้ว อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทย และชูชาติ เองก็ไม่กล้าหรอก แต่เนื่องจากไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะข้อกฎหมายมันออกมาทางนี้ คือ ต้องทำตามมติของ ป.ป.ช. เห็นได้จากในคำสั่งไล่ออกยงยุทธ ก็พบว่าทาง อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทยเองก็เห็นว่า ยงยุทธไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูล แต่กระทรวงมหาดไทย ต้องทำตาม ป.ป.ช. สุดท้ายก็เลยต้องมีคำสั่งไล่ออกย้อนหลัง

หลังไปดูข้อกฎหมายแล้วเชื่อว่า ถึงไล่ออกไปก็ไม่มีผล เพราะจะได้รับการล้างมลทิน

แต่ที่น่าติดตามก็คือ เรื่องการเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ของยงยุทธ ทั้งในแง่กฎหมายเรื่องคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ และความชอบธรรมทางการเมืองนี่สิ ที่คงมีการพูดถึงกันมาก

เนื่องจากตาม รธน.ปี 50 บุคคลที่จะเป็นรัฐมนตรีได้นั้นต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 174 (4) ว่าด้วยคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามการเป็นรัฐมนตรี ประกอบมาตรา 102 (6) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือประพฤติมิชอบในวงราชการ

ก็ต้องดูกันว่า กรณียงยุทธจะเข้าข่ายคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมีหลายฝ่ายชี้ว่าเรื่องการได้รับการล้างมลทินกับคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีเป็นคนละเรื่องกัน หากออกมาแบบนี้ที่ยงยุทธต้องพ้นสภาพ การปรับ ครม.ก็คงเกิดขึ้นหลังจากที่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับจากสหรัฐอเมริกา
กำลังโหลดความคิดเห็น